ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2558 |
---|---|
ผู้เขียน | พิศาลศรี กระต่ายทอง |
เผยแพร่ |
…สมัยโบราณมนุษย์รู้จักกำหนดเวลาโดยสังเกตการเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างคร่าวๆ เช่น แบ่งช่วงเวลาออกเป็นกลางวัน-กลางคืน ฤดูร้อน-ฤดูหนาว เป็นต้น ต่อมาเมื่อมนุษย์ต้องการที่จะกำหนดเวลาให้ชัดเจนและแม่นยำมากยิ่งขึ้น จึงเริ่มมีการสมมติชั่วโมง และแบ่ง ๑ วัน ออกเป็น ๒๔ ชั่วโมง แบ่งเป็นกลางวันมี ๑๒ ชั่วโมง กลางคืนมี ๑๒ ชั่วโมง โดยให้นับเวลาจากการขึ้นและตกของพระอาทิตย์
ต่อมามีการประดิษฐ์นาฬิกาที่วัดด้วยเงา วัดชั้นฉาย นาฬิกาแดด นาฬิกาทราย เพื่อเป็นเครื่องกำหนดวันและคืน แต่ยังพบข้อจำกัดของเครื่องบอกเวลาเหล่านี้ที่ไม่สามารถกำหนดเวลาในแต่ละวันให้ตรงกันได้ จนกระทั่งนักดาราศาสตร์ชาวบาบิโลเนียได้กำหนดให้ ๑ ชั่วโมงยาวเท่ากันหมดใน ๑ วันและตลอดปี อีกทั้งยังได้แบ่ง ๑ ชั่วโมง ออกเป็น ๖๐ นาทีด้วย
จนในที่สุดมนุษย์สามารถประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือที่จะนำมาใช้บอกเวลา โดยไม่ต้องอิงกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอีก นั่นคือ “นาฬิกากล” เดิมมักใช้นาฬิกากลกันในโบสถ์ เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและใช้บอกเวลาสำหรับคนทั่วไป ต่อมานักประดิษฐ์ได้ลดขนาดเป็น “นาฬิกาพก” ที่สามารถพกติดตัวไปได้ในทุกที่ จนพัฒนาไปสู่การออกแบบและผลิตนาฬิการูปแบบอื่นๆ อีกมากดังเห็นได้ในปัจจุบัน
ว่าด้วยความคิดเรื่องเวลาของชาวสยามในสังคมแบบจารีต ที่มีความผูกพันกับความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยา ที่เชื่อว่ามนุษย์เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ นับชาติไม่ถ้วนจนกว่าจะบรรลุนิพพาน ซึ่งความหมายของ “เวลา” เช่นนี้ อาจแบ่งได้เป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ เวลาของมนุษย์กับเวลาของสังคม โดยเวลาของมนุษย์ส่วนใหญ่มีอายุขัยไม่เกิน ๑๐๐ ปี ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนแต่เป็นสิ่งไม่จีรังยั่งยืน แม้แต่ตัวมนุษย์เองยังเป็นสิ่งไม่มีตัวตน ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
ดังนั้นมนุษย์จึงควรใช้เวลาของตนไปกับการปฏิบัติตามหลักธรรมเพื่อบรรลุนิพพาน ส่วนเวลาของสังคมแม้จะมีระยะเวลายาวนานกว่า แต่เชื่อว่ามีลักษณะเป็นอนิจจังเช่นกัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว เวลาของสังคมจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลงจนถึงกลียุคที่มนุษย์ต้องล้มตายลง
ความคิดเกี่ยวกับเวลาในข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการยึดหลักความเชื่อในพุทธศาสนา ซึ่งจะสอดคล้องไปกับความเชื่อเรื่อง “กรรม” หมายถึงผลจากการกระทำของมนุษย์ในชาติที่แล้ว โดยชาวสยามจะถูกปลูกฝังให้ยอมรับชะตากรรมและวิถีชีวิตที่ดำเนินในปัจจุบันว่าเป็นผลมาจากการกระทำของตนเองในอดีตชาติที่ผ่านมา ซึ่งต่างไปจากความคิดเกี่ยวกับเวลาแบบตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับเวลาใน ๑ วันของมนุษย์ สะท้อนให้เห็นถึงการให้คุณค่ากับวันใหม่ และการให้คุณค่ากับตนเอง หรือการมีชีวิตอยู่มากกว่าแต่การคิดถึงในโลกหน้า ความคิดเช่นนี้จะกระตุ้นให้ผู้คนคิดไปในทางที่ก้าวหน้า เพื่อพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพตลอดเวลา
ในเวลาต่อมา ชาวสยามได้เริ่มเรียนรู้วิธีการนับเวลาตามความเข้าใจของตนเอง เช่น การนับเวลาจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ การนำวัสดุอย่างกะลามาใช้ในการจับเวลา หรือการตั้งชื่อหน่วยนับเวลาตามเสียงของอุปกรณ์ที่ใช้บอกเวลา เป็นต้น ซึ่งความรู้แบบจารีตเช่นนี้ถูกถ่ายทอดและปฏิบัติตามกันในสังคมสยาม จนกระทั่งการนำเข้ามาของนาฬิกากล ที่นับได้ว่าเป็นทั้งประดิษฐกรรมใหม่และความรู้ชุดใหม่ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงโลกทรรศน์แบบจารีตของชาวสยาม เวลาที่แม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนความคิดของชาวสยามในทันที แต่ค่อยๆ ก้าวเข้ามาแทนที่ในที่สุด
ดังนั้น ก่อนที่จะพิจารณากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกี่ยวกับเวลาของชาวสยามจากแบบจารีตไปสู่แบบตะวันตก จึงควรทำความเข้าใจการกำหนดเวลาแบบจารีตเสียก่อน
การกำหนดเวลาแบบจารีต
การกำหนดเวลาแบบจารีตของชาวสยามในอดีตมีอยู่หลายแบบ แบบที่ ๑ เป็นการนับเวลาตามคติไตรภูมิ กล่าวคือ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวสยามนับตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินจนถึงประชาชนต่างให้ความสำคัญและความเชื่อถือทางไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ควบคู่ไปกับความเชื่อในทางพุทธศาสนา ซึ่งความเชื่อในทางไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ได้มีคำทำนายเกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้ว่า จะมีอายุเพียง ๕,๐๐๐ ปี หรือเรียกว่า ความเชื่อในอันตรธาน ๕ ประการ (ปัญจอันตรธาน)
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้ว่า ภายใต้กรอบความคิดทางเวลาแบบไตรภูมิ มนุษย์ไม่สามารถประมาณระยะเวลาได้ว่าเมื่อใดพระพุทธศาสนาถึงจะสิ้นกัลป์ แล้วไม่สามารถทราบได้ว่าหากสิ้นกัลป์ เวลาจะดำเนินต่อไปอีกหรือไม่ หากเทียบเวลาที่มนุษย์กำหนดขึ้นให้ตรงกันกับเวลาเวียนว่ายตายเกิดในไตรภูมิ จะพบว่าเวลาตามคตินั้นเป็นเพียงเวลาสมมติขึ้นมา ต่างจากเวลาใน ๑ วัน ที่มนุษย์สามารถรับรู้เวลาที่เกิดขึ้นได้จากการหมุนครบ ๑ รอบของเข็มนาฬิกา
การนับเวลาแบบจารีตของสยามแบบที่ ๒ เป็นการนับเวลาตามจันทรคติ คือการนับเวลาจากการโคจรของระบบสุริยจักรวาล ได้แก่ การนับเวลาจากดาวฤกษ์ ซึ่งเป็นวิธีที่สยามได้รับการเผยแพร่มาจากอินเดียและลังกา โดยกำหนดว่า หากวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงที่ตำแหน่งดาวฤกษ์ดวงใด ให้ถือเป็นวันสิ้นสุดของเดือนตามชื่อดาวฤกษ์นั้น และให้นับวันรุ่งขึ้นเป็นต้นเดือนถัดไป ซึ่งการนับเช่นนี้ทำให้มีความสัมพันธ์กับฤดูกาล กล่าวคือ กำหนดให้วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึงวันเพ็ญเดือน ๘ เป็นฤดูร้อน วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นฤดูฝน และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงวันเพ็ญเดือน ๔ เป็นฤดูหนาว
การนับเวลาแบบที่ ๓ เป็นวิธีการนับเวลาแบบสุริยคติ ซึ่งเป็นระบบการนับเวลาที่ใช้ในปัจจุบัน ระบบนี้
เริ่มใช้ขึ้นเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ภายหลังจากกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้นำปฏิทินสุริยคติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระองค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นปฏิทินราชการนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา โดยนับเดือนเมษายนเป็นต้นปี ซึ่งในปีนั้น วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันตรุษไทยหรือวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ ตรงกับวันที่ ๑ เมษายน จึงเหมาะสมแก่การเปลี่ยนแปลงจากปฏิทินจันทรคติมาเป็นระบบปฏิทินสุริยคติ
นอกจากนั้นแล้วยังมีการดูเวลาจากดาว โดยการสังเกตดาวฤกษ์ว่าอยู่ตรงตำแหน่งใด พอคืนถัดมาให้สังเกตว่าอยู่ในตำแหน่งเดิมหรือไม่ ซึ่งตำแหน่งของดาวจะเหมือนกันทุกวัน เป็นเวลานาฬิกามัธยมกาล ๒๓ ชั่วโมง ๕๖ นาที กับ ๔ วินาที เพราะเป็นเวลาของโลกหมุนครบ ๑ รอบในแต่ละวัน จึงไม่มีช้าหรือเร็วไปกว่ากัน แต่การนับเวลาเช่นนี้จะใช้กันเฉพาะแต่ในการเดินเรือและโหราศาสตร์เท่านั้น และยังพบการนับเวลาจากการสังเกตปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น “บ่ายควาย” หรือ “ควายเข้าคอก” หมายถึง การสังเกตดวงอาทิตย์เพื่อดูเวลาอย่างหยาบ “ชั้นฉาย” เป็นการนั่งสังเกตเงา สำหรับใช้ในงานบวชนาค เป็นต้น
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีการกำหนดวิธีเรียกเวลาแบบจารีตเพื่อความเข้าใจตรงกัน คือ การเรียกแบบ “โมง” และ “ทุ่ม” ซึ่งถือเป็นคำสำคัญที่ใช้แบ่งภาคกลางวันและกลางคืน เพื่อให้เรียกแยกกันอย่างชัดเจน โดยคำว่า “โมง” นั้น มาจากเสียงของฆ้อง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตีสัญญาณบอกเวลาตอนกลางวัน ส่วนคำว่า “ทุ่ม” เรียกตามเสียง “กลอง” อุปกรณ์ที่ใช้ตีสัญญาณบอกเวลาตอนกลางคืน โดยพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการเรียกระบบเวลาเช่นนี้มากจนถึงกับทรงออกประกาศเตือนสติเรื่องว่าด้วยทุ่มโมง และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรื่องทุ่มยาม เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเรียกเวลาในแต่ละช่วงให้ถูกต้อง
วิธีการนับเวลาแบบจารีตของสังคมสยามที่พบหลักฐานกล่าวถึงมากที่สุด คือ การใช้ “กะลา” จับเวลา ซึ่งคำว่า “กะลา” พบว่ามีความหมายเดียวกันกับ “นาฬิกา” ดังปรากฏเรื่อง “นาฬิกา” ในเอกสารวชิรญาณวิเศษ อธิบายว่า “นาฬิกา” เป็นภาษามคธ หมายถึงหมากพร้าว ซึ่งเป็นศัพท์ที่เรียกเพี้ยนมาจาก “นาฬิเก” อีกที หรือจากในหนังสือสาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๐ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลายพระหัตถ์ว่าใช้กะลามะพร้าวในการนับเวลาเช่นกัน ใจความว่า
“เครื่องกำหนดเวลาของไทยเดิมเรียกเป็นภาษาไทยตามวัตถุที่ใช้ว่า ‘กะลาลอย’ มาเปลี่ยนใช้เป็นคำภาษาสันสกฤตว่า ‘นาฬิกา’ ต่อมาภายหลัง แต่ก็หมายความว่ากะลาเหมือนกัน ครั้นว่าได้เครื่องกลอย่างฝรั่งสำหรับกำหนดเวลาเข้ามาก็เอาชื่อเครื่องใช้ที่อยู่ก่อนมาเรียก ‘นาฬิกา’ ยังคิดเห็นต่อไปว่าคำชั่วโมงเดิมเห็นจะเรียกว่า ‘ล่ม’ หรือ ‘กะลาล่น’ แล้วจึงเปลี่ยนไปเรียกว่า นาฬิกา…”
วิธีการนับเวลาจากกะลา ในขั้นแรกต้องเริ่มจากการแบ่งกะลาออกเป็นซีกหนึ่งก่อน โดยกะลาซีกหนึ่ง
จะแบ่งเป็น ๑๐ ส่วน จากนั้นจึงบากรอยลงไปในกะลา ๙ เส้น เรียกว่า บาด (๑ เส้น มีค่าเท่ากับ ๑ บาด) และเจาะรูที่ก้นกะลาเพื่อให้น้ำไหลเข้า เมื่อวางกะลาลงในน้ำ น้ำไหลเข้าถึงเส้นไหน นับเป็นเศษของนาฬิกาเท่านั้น จนกระทั่งน้ำไหลเข้าเต็มกะลาและกะลาจมลงจึงนับเป็น ๑ ชั่วโมง
ตัวอย่างของการนำกะลา หรือนาฬิกามาใช้จับเวลา พบในเหตุการณ์ตัดสินโทษในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ที่ให้คนดำน้ำพิสูจน์ความบริสุทธิ์โดยใช้ “นาระกา” เป็นเครื่องจับเวลา แต่พระองค์ทรงมีข้อกังขาว่า ถ้าหากนาระกาล่ม แล้วทั้งโจทก์และจำเลยยังไม่ผุดขึ้นจากน้ำ หรือหากนาระกายังไม่ล่ม แต่ทั้งโจทก์และจำเลยผุดขึ้นจากน้ำก่อนจะตัดสินคดีเช่นไร พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ให้เปลี่ยนแปลงวิธีการตัดสินคดีเสียใหม่ เนื่องจากเป็นการฉ้อโกงราษฎร โดยมีพระราชกำหนดว่าหากฝ่ายโจทก์และจำเลยเป็นชายและหญิง จะให้ลุยเพลิงกัน เพื่อไม่ให้มีฝ่ายใดเสียเปรียบ แต่ถ้าเป็นชายหรือหญิงด้วยกันทั้งคู่ จะให้ดำน้ำและตีฆ้องเป็นสัญญาณแทนการตั้งนาระกา
นอกจากนั้นแล้วยังพบการนำกะลาหรือนาฬิกาไปใช้จับเวลาเมื่อเล่นพนันสัตว์ต่างๆ อีกด้วย เช่น ที่โรงนาฬิกาหลวงเก่า ใช้กะลาจับเวลาสำหรับชนไก่ ชนนก และชนปลา หรือการตีไก่ที่ใช้จอกเจาะก้นลอยในขัน เมื่อจอกจมลง จะเรียกว่า “อันจม” ก็จับไก่แยกออก และนำไปให้น้ำส่วนวิธีนับเวลาแบบอื่นๆ ยังพบการจุดธูปเป็นเครื่องวัดเวลาสอบไล่หนังสือพระ ถ้าหากธูปหมดดอกแล้ว ยังแปลไม่สำเร็จ แสดงว่าสอบไม่ผ่าน
การใช้เข็มทิศ การนับเวลาของชาวป่าแถบเมืองเหนือ “จะยกมือเหยียดแขนตรงออกไปด้านหน้าตามทิศเวลาเช้าและบ่าย แล้วกางนิ้วมือเป็นคืบ จากนั้นจึงไล่ดูตั้งแต่หัวแม่มือของตนเองไปจับขอบฟ้า
แล้ววัดคะเนคืบขึ้นไปจนถึงดวงอาทิตย์ ถ้าดวงอาทิตย์สูงคืบหนึ่ง ก็กำหนดว่าโมงหนึ่ง และนับไปจนถึง ๖ คืบเท่ากับเวลาเที่ยง” หรือตัวอย่างของนาฬิกาแดด ที่มีลักษณะเป็นตลับไม้ มีเข็มแม่เหล็กตรงกลอง ใช้งานคล้ายเข็มทิศ แต่ในตลับไม่มีบอกองศา นาที หรือวินาที มีเพียงเส้นขีดสำหรับบอกโมง เมื่อจะใช้งานให้นำไปวางตั้งไว้กลางแดด แล้วคอยสังเกตว่าเงาตกส่วนไหนจึงนับโมง
ในบริเวณสนามหญ้าด้านหน้าหอสมุดพระวชิรญาณ มีแผ่นศิลาทองเหลี่ยมสลักโมงข้างละ ๕ ส่วน ตั้งอยู่บนแท่นแปดเหลี่ยม ก่อปูน ตรงกลางแผ่นเป็นรูปคล้ายฉากหูช้างตั้ง ทำด้วยทองเหลือง และที่แท่นมีเครื่องรองน้ำฝนอยู่ สันนิษฐานว่าอาจเป็นนาฬิกาที่ใช้สำหรับจับเวลาเมื่อฝนตกลงมาในเขตพระบรมมหาราชวัง เพื่อตรวจสอบว่าในแต่ละวันมีน้ำฝนปริมาณเท่าใด รวมทั้งพบปืนทองเหลืองบรรจุดินดำและดินฉนวนติดกับรางตั้งอยู่บนแผ่นศิลา ท้ายรางปืนมีเสาทองเหลือง ๒ เสา โดยบนปลายเสาจะมีแว่นส่องไฟอยู่ด้านบน ซึ่งตั้งมุมองศาอย่างพอดีเมื่อแสงส่องลงมาถึงกระบอกปืน ตรงมุมเสาที่ติดกับรางปืนนั้นสลักรูปลูกศรทองเหลืองติดอยู่กลางเสา และได้สลักวงกลมแบ่งเป็นซีกๆ เพื่อแบ่งองศาและนาทีให้เอนแว่นรับแสงอาทิตย์ได้ง่าย
ดังนั้น เมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนมาอยู่ตรงหัวและส่องแสงลงในแว่นนั้น แว่นก็จะส่องสะท้อนไปถูกปืน ทำให้ปืนลั่นบอกเวลาเที่ยงได้ นอกจากนั้นแล้ว ยังพบนาฬิกาแดดที่พระนิเทศชลธีได้ประดิษฐ์ตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ ได้แก่ พระราชวังอุทยานสราญรมย์ พระนคร หอมิวเซียม และวัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
อีกทั้งยังมีการนับเวลาตามจารีตอีกรูปแบบหนึ่งของสังคมสยาม คือ การยิงปืน บริเวณป้อมมุมพระราชวังเดิมที่จะมีปืนใหญ่ประจุอยู่ ๔ ป้อม ป้อมละกระบอก ปืนใหญ่จะถูกยิงพร้อมกันทุกป้อมเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งการยิงเช่นนี้อาจเป็นสัญญาณได้ ๒ ความหมาย หนึ่งคือเป็นการเปลี่ยนดินปืน หรือเป็นสัญญาณเปิดประตูวัง อีกความหมายคือเป็นสัญญาณแจ้งเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งถ้าไฟไหม้นอกพระนครจะยิงปืนนัดเดียว หรือหากไฟไหม้ในพระนครจะยิงถึง ๓ นัด แต่ถ้าไหม้ภายในพระราชวังจะยิงต่อไปหลายๆ นัดจนกว่าไฟจะดับ และยังมีสัญญาณการยิงปืนอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า “ยิงปืนเที่ยง” สันนิษฐานว่าได้ยินชาวอังกฤษยิงสัญญาณที่สิงคโปร์สำหรับให้คนตั้งนาฬิกา สยามจึงเริ่มให้ทหารเรือยิงขึ้นที่ตำหนักแพก่อน ครั้นกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจัดให้มีทหารปืนใหญ่ขึ้นในกรมทหารล้อมวัง จึงให้ทหารปืนใหญ่ล้อมวังยิงที่ป้อมทัศนากรอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับไปเป็นหน้าที่ของทหารเรืออีก ประเพณีการยิงปืนเที่ยงดำเนินเรื่อยมาจนมีไฟฟ้า ภายหลังโรงไฟฟ้าจึง “รับขยิบตา” เวลาสองทุ่มเป็นสัญญาณตั้งนาฬิกาแทน
นาฬิกาพก นาฬิกากลเข้ามาในสยามครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นาฬิกาพกมีลักษณะเป็นนาฬิกาตลับเล็กๆ ถือเป็นของสำคัญและมีราคาแพง เพราะมักถูกมอบเป็นเครื่องบรรณาการถวายแด่กษัตริย์ จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงได้รับเครื่องราชบรรณาการจากประเทศโปรตุเกส เป็นนาฬิกาเล็กๆ จำนวนหลายตลับ โดยชาวโปรตุเกสจะนิยมนำนาฬิกาเล็กๆ นี้ใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อด้านหน้าสำหรับใช้ดูเวลา แต่ชาวสยามในสมัยนั้นยังไม่ได้สวมเสื้อ จึงนำนาฬิกานั้นห่อไว้ในผ้านุ่ง จึงเป็นที่มาของคำว่า “นาฬิกาพก”
ส่วนล่วมหมากก็พกไว้ในผ้านุ่งเช่นเดียวกัน จึงเรียกว่า “ล่วมพกหมาก” นั่นเอง และในสมัยเดียวกันนี้เองยังพบ “นาฬิกากล” แบบอื่นๆ ด้วย เช่น จีนห้องเสง นายสำเภาหลวง เดินทางไปค้าขายในประเทศจีน และได้พบ “นาฬิกาซุ้ม” จึงนำมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โดยแลกกับเรือสำเภาหลวงลำหนึ่งเป็นการตอบแทน ความพิเศษของนาฬิกาเรือนนี้เมื่อถึงเวลานาฬิกาตี จะมีแก้วเป็นเกลียวบิดหมุนคล้ายน้ำกำลังไหล เรียกชื่อว่า นาฬิกาห้องเสง
หรือนาฬิกานกร้อง ซึ่งกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมกล่าวว่าน่าจะเป็นนาฬิกาลำดับที่ ๔ ที่เข้ามาในสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ สร้างขึ้นโดยช่างชาวจีน นาฬิกามีลักษณะเป็นลูกตุ้มแกว่งไปมาคล้ายผลน้ำเต้า เมื่อเวลานาฬิกาตีครบรอบ จะมีนกโผล่ออกมาจากซุ้มร้องกุ๊กๆ อีกทั้งยังกล่าวว่า นาฬิกานกร้องนี้ได้ถูกนำไปตกแต่งหลังตู้ลายรดน้ำพื้นแดง ติดกับเสาที่มุขเหนือภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
จนภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเรียกนาฬิกาเรือนนี้ว่า “ฝรั่งยิงนก” แทน และยังพบนาฬิกาที่เป็นเครื่องบรรณาการที่คณะทูตเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) ประเทศอังกฤษ ได้นำมาถวายพระองค์ หรือจะเป็นนาฬิกาที่เข้ามาเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์ โดยนาฬิกาเรือนนี้ด้านบนทำเป็นซุ้ม ส่วนด้านล่างทำเป็นหีบเพลง เมื่อเข็มสั้นเดินไปครบ ๑๕ นาที ระฆังเถาจะตี ๑ ที ถ้าเดินไปครบ ๓๐ นาที ระฆังเถาจะตี ๒ ที นาฬิกาเรือนนี้มีอยู่ ๒ เรือน คือ ตั้งอยู่ภายในหน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา และในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
แม้จะปรากฏว่ามีการเข้ามาของ “นาฬิกากล” ในสยามมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สมัยกรุงศรีอยุธยา) เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ไม่ได้ทำให้การนับเวลาแบบจารีตหมดความหมายลงแต่อย่างใด เพราะ “นาฬิกากล” ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานจริง แต่กลับมีไว้เพื่อเป็นสิ่งแสดงสถานะ เพราะถือเป็นของสำคัญและมีราคาสูงที่สามารถแสดงสถานะของผู้ครอบครองได้เป็นอย่างดี
การนับเวลาแบบจารีตได้ก่อให้เกิดการสร้างงานสถาปัตยกรรมประเภทหอกลองขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ตีบอกเวลาและสัญญาณต่างๆ ตามแบบจารีต เป็นงานสถาปัตยกรรมที่รับใช้การนับเวลาในแบบเดิมของสังคมสยาม หลักฐานเกี่ยวกับหอกลองที่เก่าที่สุดย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา (แม้ว่าจะไม่ใช่หอสูงที่ถูกสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในสยามก็ตาม) ดังหลักฐานในภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงหอกลองสูง ๑๐ วา ขนาด ๔ ชั้น กลองใบใหญ่อยู่ชั้นล่าง ชื่อ “ย่ำพระสุรศรี” สำหรับตีเวลาพระอาทิตย์ตก เพื่อเป็นสัญญาณให้ปิดประตูพระนคร กลองใบชั้นกลางชื่อ “อัคคีพินาศ” ใช้สำหรับตีเมื่อเกิดเพลิงไหม้ เพื่อเป็นสัญญาณเรียกราษฎรให้มาช่วยดับไฟ ซึ่งมีกำหนดว่าถ้าไฟไหม้นอกพระนครจะตี ๓ ครั้ง แต่ถ้าไหม้ในพระนครจะตีมากกว่านั้น และกลองใบยอดสุดชื่อ “พิฆาตไพรินทร์” ตีเมื่อมีข้าศึกมาประชิดพระนครเพื่อให้ทุกคนมาประจำตามหน้าที่ของตน
จะเห็นได้ว่า ชาวสยามใช้ “กลอง” ตีเพื่อเป็นสัญญาณบอกหรือแจ้งข่าวให้ผู้คนในเมืองได้รับรู้ โดยกลองในแต่ละชั้นจะมีเสียงที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของกลอง นอกจากนี้แล้วยังพบว่ามีการนำกลอง หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ทำให้เกิดเสียงดังมาใช้เพื่อปัดเป่าเคราะห์ร้ายตามความเชื่อไสยศาสตร์และโหราศาสตร์อีกด้วย
การนับเวลาแบบจารีตของสยามดำเนินไปอย่างเป็นปกติ แต่อย่างไรก็ตามปรากฏหลักฐานว่าการนับเวลาแบบเดิมของสยามเริ่มไม่เป็นที่ยอมรับของชาวตะวันตก เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ล้าหลัง ไม่ละเอียดและเที่ยงตรงมากพอ ดังปรากฏหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพระราชปรารภถึงความไม่เที่ยงของวิธีการนับเวลาแบบเดิม จนเป็นเหตุให้อับอายขายหน้าชาวต่างชาติ ดังความว่า
“…ฝ่ายพนักงานเมื่อจะบอกบาทนาฬิกาตามฤกษ์ยามที่โหรให้ในกาลใดๆ เมื่อฤดูต้องหนุนต้องล่มก็คะเนบอกบาทขาดๆ เกินๆ ผิดๆ ไปคงให้ได้ว่าความแต่ว่าโมงละ ๑๐ บาทอยู่นั้นเอง ดูการฟั่นเฟือนเลื่อนเปื้อนเลอะเทอะนักน่าเป็นที่อัปยศอดสูแก่แขกเมืองคนนอกประเทศที่เขาใช้นาฬิกากล ใส่พกติดตัวเที่ยวมาเที่ยวไป เขาจะได้ยินทุ่มโมงที่ตีสั้นๆ ยาวๆ ผิดไปกว่าทุ่มโมงที่จริงนั้นจะเป็นเหตุให้เขาหัวเราะเยาะเย้ยได้ ว่าเมืองเราใช้เครื่องมือนับทุ่มโมงเวลาหยาบคายนักไม่สมควรเลย…”
จากความข้างต้นเป็นหลักฐานสำคัญว่ารัชกาลที่ ๔ ได้ทรงตระหนักว่าการนับเวลาแบบจารีตไม่สามารถตอบสนองความต้องการยอมรับจากชาติตะวันตกของชนชั้นนำสยามได้อีกต่อไป แม้ว่าก่อนหน้านี้พระองค์ทรงเคยกล่าวยกย่องภูมิปัญญาของคนโบราณเกี่ยวกับการนับกำหนดเวลาก็ตาม
และคำวิจารณ์จากชาวตะวันตกนี้เองที่ทำให้ชนชั้นนำสยามเริ่มตระหนักและเห็นความจำเป็นว่าต้องปรับระบบการนับเวลาให้เป็นแบบสากล เพื่อการยอมรับจากชาติตะวันตก ดังนั้น การที่รัชกาลที่ ๔ ทรงให้ความสำคัญกับการบอกเวลาด้วย “นาฬิกากล” จึงได้นำไปสู่การสร้างงานสถาปัตยกรรม “หอนาฬิกา” ขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม โดยมีลักษณะเป็นหอสูงที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมประเภทหอกลอง
งานสถาปัตยกรรมประเภทหอนาฬิกาจึงเป็นหลักฐานอีกประเภทหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโลก
ทรรศน์ของชนชั้นนำสยามเกี่ยวกับเรื่องเวลา และสะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างความคิดเรื่องเวลาแบบจารีต และความคิดเรื่องเวลาเมื่อได้รับอิทธิพลตะวันตก
การนับเวลาแบบใหม่เมื่อได้รับอิทธิพลตะวันตก
ดังได้กล่าวในข้างต้นถึงความสำคัญของการนับเวลาแบบสากล อันเป็นระบบการนับเวลาแบบใหม่ที่เริ่มปฏิบัติใช้กันในสมัยรัชกาลที่ ๔ ดังมีการออกประกาศเตือนสติเรื่องว่าด้วยทุ่มโมง และออกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรื่องทุ่มยาม รวมทั้งการจัดตั้งกรมนาฬิกา ส่งช่างไปเรียนซ่อมนาฬิกาที่ต่างประเทศ สั่งซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศ และมีการสร้างงานสถาปัตยกรรมประเภทหอนาฬิกาขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม เพื่อรองรับการใช้งานตามระบบการนับเวลาแบบใหม่
กล่าวถึงการจัดตั้งกรมนาฬิกา หรือกรมแสงคุมนาฬิกาในพระบรมมหาราชวัง นับว่าเป็นครั้งแรกของสยามที่มีการจัดตั้งกรมนี้ขึ้น โดยมีผู้บังคับบัญชาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา และผู้ทำหน้าที่ในกรมนาฬิกาจะมีชื่อตำแหน่งว่า “พันทิวาทิตย์ และพันพินิตจันทรา” หรือเรียกว่า “ชาวพนักงานรักษานาฬิกา”
ในบันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทาน ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้อธิบายถึง
ที่มาและหน้าที่ของกรมนาฬิกาไว้ว่า กรมนาฬิกาจะมีหน้าที่คอยเฝ้าและตั้งเวลาภายในหอนาฬิกา โดยหอนาฬิกามีลักษณะเป็นหอสูง ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลการสร้างหอนาฬิกามาจากอินเดีย วิธีการตั้งเวลาของกรมนาฬิกาเริ่มจากเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น กรมนาฬิกาต้องลอยกะลาจนจมลงจึงไปตีฆ้องที่แขวนไว้ชั้นบนของหอนาฬิกา ๑ ครั้ง และปักไม้ติ้วบนราว ทำเช่นนี้ไปจนครบ ๑๒ อัน
ซึ่งนอกจากจะมีพนักงานนาฬิกาคอยรักษาเวลาให้เที่ยงตรงและแม่นยำอยู่เสมอแล้ว ยังมีพระโหราจารย์คอยกำกับอยู่อีกด้วย อีกทั้งได้พบหลักฐานกล่าวถึงการนำนาฬิกากลมาใช้จับเวลากะลาลอยว่า
“…เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเด็กเคยเข้าไปดูในโรงนาฬิกา ยังจำได้เป็นเค้าว่าอ่างน้ำสำหรับลอยกะลายังอยู่ แต่ใช้นาฬิกากลอย่างฝรั่งดูเวลา ถึงกระนั้นยังมีไม้คะแนนทำด้วยไม้ไผ่เหลาขนาดไม้ตีกลองของเจ๊กผูกเชือกล่ามติดกันดูเหมือน ๑๒ อัน ถึงเวลาชั่วโมง ๑ ก็เอาไม้คะแนนขึ้นปักราวไว้เป็นสำคัญอัน ๑ เรียงกันไป คงถอนออกเมื่อย่ำรุ่งครั้ง ๑ ย่ำค่ำครั้ง ๑ หม่อมฉันนึกว่าที่โรงนาฬิกาหลวงเห็นจะใช้กะลาลอยมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ เพิ่งเอานาฬิกาฝรั่งไปตั้งต่อเมื่อรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมได้ทรงประดิษฐ์เครื่องหมายเวลาขึ้นอย่าง ๑ เป็นแผ่นกระดานขนาดสักเท่ากระดานเครื่องเล่นน้ำเต้ากุ้งปูปลา เขียนหน้านาฬิกาติดทั้งเข็มยาวและเข็มสั้นเรียงไว้เป็น ๒ แถว หลายๆ วัน เห็นเอาไปถวายทรงตั้งเข็มหน้านาฬิกาในแผ่นกระดานนั้นครั้ง ๑ ดูเหมือนมีพระราชประสงค์จะให้ตีระฆังตรงกับเวลาโคจรพระอาทิตย์ แต่ยังเด็กนักไม่เข้าใจได้แน่”
แสดงให้เห็นว่ามีการใช้ระบบนับเวลาทั้งแบบสากลควบคู่กับระบบการนับเวลาของสยามแบบจารีตปนอยู่ด้วยกัน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า หากมีการใช้นาฬิกากลเป็นระบบนับเวลาแล้ว เหตุใดจึงต้องมีการใช้ระบบการนับเวลาแบบจารีตรวมอยู่ด้วย การใช้ระบบทั้งสองปนกันเช่นนี้ขัดแย้งกับเนื้อหาใน บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทาน ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล ที่ได้ทรงบันทึกไว้ว่า “…แต่เมื่อเกิดนาฬิกากลอย่างฝรั่ง จึงเลิกลอยกะลา และใช้นาฬิกากลอย่างฝรั่งแทน รวมทั้งเลิกตีกลองในเวลากลางคืน…” ทั้งนี้เพราะยังคงมีการนำวิธีการนับเวลาแบบจารีตมาใช้นับเวลาอยู่ แม้ว่าจะเริ่มใช้ระบบการนับเวลาแบบสากลแล้วก็ตาม
ดังนั้นการเข้ามาของนาฬิกากลจึงไม่ได้แทนที่ระบบการจับเวลาแบบจารีตของสยาม แม้จะมีการใช้นาฬิกากลแล้ว การลอยกะลาแบบเดิมยังคงอยู่ จึงเป็นที่มาของคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงยังใช้วิธีลอยกะลาอยู่ การจะเข้าใจการดำรงอยู่ของวิธีนับเวลาแบบเดิม จำเป็นต้องพิจารณาหลักฐานเพิ่มเติม ดังปรากฏหลักฐาน “การคำนวณนาฬิกากลเทียบกับการนับเวลาแบบจารีต” “หากเทียบเวลาแล้วไม่เท่ากัน ก็จงอย่าตำหนิว่านาฬิกากลนั้นไม่เที่ยงตรงเท่าการนับเวลาแบบเดิม และอย่าไกวหรือหยุดลูกตุ้มเพื่อให้เวลาตรงกัน แต่ถ้านาฬิกาแดดถึงเที่ยงวันแล้ว แต่นาฬิกากลเดินช้ากว่า ให้ผ่อนผันไกวลูกตุ้มให้เท่ากัน แล้วเทียบเวลากันไปทุกวัน” และการทำนายเหตุการณ์สุริยุปราคา ซึ่งทรงทำนายทั้งในรูปแบบการนับเวลาแบบจารีต และยึดตามเวลานาฬิกากลของชาวนาฬิกา
จากหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ ๔ ยังไม่อาจทรงละทิ้งวิธีการนับเวลาแบบจารีตไปได้ ยังคงใช้รูปแบบการนับเวลาทั้งแบบจารีตและแบบสากลผสมปนเปกันอยู่ในช่วงแรก ก่อนจะเลิกวิธีนับแบบจารีตโดยใช้กะลาไป หรืออาจตีความได้ในอีกแง่หนึ่งว่า พระองค์ทรงต้องการพิสูจน์ว่านาฬิกากลมีความเที่ยงตรงจริง สามารถเชื่อถือได้ จึงต้องนำนาฬิกากลมาสอบเทียบกับการนับเวลาระบบจารีต เพื่อให้ชาวสยามยอมรับการนับเวลาด้วยระบบสากลสอดคล้องกับลายพระหัตถ์เรื่องนาฬิกาของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระองค์เจ้าธานีนิวัต) ได้กล่าวถึงกลอนในมูลบทบรรพกิจ ว่า
“แบ่งเวลาไม่ตรงกันกับนาฬิกากล แต่พระองค์ก็ทรงเชื่อว่า ไม่ว่าเครื่องวัดอะไรก็ตาม ย่อมไม่มีเที่ยงตรงทั้งนั้น แม้กระทั่งนาฬิกากลเองก็ตาม ไม่เที่ยงตรงเช่นกัน แต่ก็ดีกว่าวัดเวลาด้วยวิธีอื่น เราจึงต้องใช้”
จึงแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีความจำเป็นต้องใช้ระบบเวลาแบบสากล แต่ชนชั้นนำสยามเองไม่ได้เชื่อถือและยอมรับในความแม่นยำของนาฬิกากลไปทั้งหมด…
หมายเหตุ : คัดจากเนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความ “หอสูงกับการบอกเวลา” โดย พิศาลศรี กระต่ายทอง ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2558
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561