รู้หรือไม่? ชุดเกราะซามูไร ยุคโชกุน “ตระกูลโทกุงาวะ” ทำจาก “หนังกวาง” อยุธยา

กรุงศรีอยุธยา ส่งออก ของป่า เช่น หนังกวาง ไป ญี่ปุ่น
ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ใครที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคเซ็นโกคุ ต้องคุ้นชื่อ โทกุงาวะ อิเอยาสุ เป็นอย่างดี เพราะเขาคือผู้รวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่น และขึ้นเป็นโชกุนคนแรกของตระกูลเมื่อ พ.ศ. 1603 ก่อนที่ต่อมา ตระกูลโทกุงาวะ หรืออีกชื่อคือ “รัฐบาลเอโดะ” จะครองอำนาจสืบต่อมาอีกราว 265 ปี ซึ่งช่วงต้นๆ ของยุคนั้น กรุงศรีอยุธยาก็มีของดีส่งออกไปญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นคือ ของป่า อย่าง “หนังกวาง” ที่นำไปใช้ผลิตชุดเกราะซามูไร

ตอนหนึ่งในหนังสือ “The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร” โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เล่าเรื่องนี้ว่า

สมัยกรุงศรีอยุธยาคือยุคทองของการค้าสัตว์ป่า สมัยก่อนเมื่อพระมหากษัตริย์เกณฑ์ไพร่หรือชาวบ้านมาใช้งาน งานที่พวกเขากลัวที่สุดคือการเข้าป่าล่าช้างหรือล่ากระทิง เพราะการเข้าป่าแต่ละครั้งเหมือนเดินเข้าสู่ความตาย เนื่องจากต้องเผชิญกับโรคภัยสารพัด ความยากลำบาก ไม่นับอันตรายจากสัตว์ต่างๆ อย่าง เสือโคร่ง งูพิษ ที่พร้อมคร่าชีวิตทุกคนได้ทุกเมื่อ

เมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ จำนวนสัตว์ป่านานาชนิดก็มากมายตามไปด้วย เห็นได้จากสินค้าขาออกในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ที่รัฐบาลมีรายได้จากการค้าสัตว์ป่ามากกว่ารายได้จากสินค้าชนิดอื่นๆ

ประเทศที่ต้องการหนังสัตว์ โดยเฉพาะ “หนังกวาง” ในปริมาณมหาศาล คือ ญี่ปุ่น

นายพรานที่เข้าป่าไปล่ากวางชำแหละหนัง ต้องมีทักษะและความชำนาญสูง ต้องรอบรู้เรื่องภูมิประเทศ ถิ่นที่อยู่ของกวาง ระดับน้ำ รวมไปถึงธรรมชาติของกวาง เมื่อล่าได้แล้วจะมีผู้รับซื้อคือชาวญี่ปุ่น ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนชาวญี่ปุ่น

ชาวญี่ปุ่นกลุ่มนี้มีความชำนาญด้านการฟอกหนัง เมื่อได้หนังสัตว์มาแล้วก็จะรีบฟอกหนังให้นิ่มและเหนียวทนทาน เพราะถ้าทิ้งไว้นาน หนังสัตว์จะเน่าเสียได้ง่าย จากนั้นเตรียมจัดส่งออกไปญี่ปุ่น เพื่อนำไปทำเครื่องหนัง ถุงมือ ชุดศึก ชุดเกราะซามูไร และซองปืน

ชาวญี่ปุ่นแห่งหมู่บ้านญี่ปุ่นมีด้วยกันหลายกลุ่ม ดังที่ กำพล จำปาพันธ์ บอกไว้ในหนังสือ “Downtown Ayutthatya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์” ว่า

หมู่บ้านญี่ปุ่น หรือ “ค่ายญี่ปุ่น” ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับหมู่บ้านโปรตุเกส ในพื้นที่ย่านตำบลเกาะเรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน

ชาวญี่ปุ่นในหมู่บ้านนี้มี 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มพ่อค้าที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยา กลุ่มผู้นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเจอปัญหาการถูกเบียดเบียนทางศาสนาในญี่ปุ่นช่วง ตระกูลโทกุงาวะ เรืองอำนาจ สุดท้ายคือ กลุ่มโรนิน หรือซามูไรไร้นาย ที่เกิดจากสงครามกลางเมืองในญี่ปุ่น เมื่อเจ้านายที่ญี่ปุ่นเสียชีวิต จึงมีอิสระในการเดินทางออกนอกประเทศ และมาเป็นทหารรับจ้างให้รัฐพื้นเมืองในอุษาคเนย์

หนังสือ “The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร” บอกอีกว่า ผู้ผูกขาดการค้าส่งสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ พระคลังสินค้า แต่ต่อมาได้ให้สัมปทานแก่ VOC (บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา)

ช่วง พ.ศ. 2176-2206 (ค.ศ. 1633-1663 อยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ถึงช่วงต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ในรายงานของ VOC ปรากฏรายชื่อ ของป่า ที่เป็นสินค้าส่งออกไปญี่ปุ่นหลายรายการ ได้แก่

1. หนังกวาง 1,970,124 ผืน
2. ไม้ฝาง 78,343 หาบ (4,700,580 กิโลกรัม)
3. หนังปลากระเบน 464,126 ผืน
4. ครั่ง 3,163 หาบ (189,780 กิโลกรัม)
5. หนังวัว หนังควาย 116,005 ผืน
6. ไม้กฤษณา 8,353 แคตตี (5,200 กิโลกรัม)
7. ดีบุก 307 หาบ (18,420 กิโลกรัม)
8. งาช้าง 309 หาบ (18,540 กิโลกรัม)
9. เขาวัว เขาควาย 79,700 เขา

จากรายการสินค้าข้างต้น จะเห็นว่า “หนังกวาง” เกือบ 2 ล้านผืน เป็นสินค้าส่งออกอันดับแรก สะท้อนว่าสมัยนั้นจำนวนกวางในยุคกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในที่ราบภาคกลาง มีจำนวนมหาศาลเพียงใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567

กำพล จำปาพันธ์. Downtown Ayutthatya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2567