“หลวงพ่อแดง รัตโต” เกจิมากอภินิหาร แห่ง วัดเขาบันไดอิฐ เพชรบุรี ผู้สร้างเหรียญปืนไขว้

“หลวงพ่อแดง รัตโต” หรือ “พระครูญาณวิลาศ” พระเกจิดัง แห่ง วัดเขาบันไดอิฐ จ. เพชรบุรี
หลวงพ่อแดง รัตโต หรือ พระครูญาณวิลาศ พระเกจิดัง แห่ง วัดเขาบันไดอิฐ จ. เพชรบุรี (ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก วัดเขาบันไดอิฐ. อ เมืองฯ จ เพชรบุรี )

“หลวงพ่อแดง รัตโต” หรือ “พระครูญาณวิลาศ” ถือเป็นพระเกจิดัง แห่ง วัดเขาบันไดอิฐ จ. เพชรบุรี ที่ได้รับความเคารพอย่างมาก เพราะครั้งยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ช่วยเหลือผู้คนไว้มากมาย รวมทั้งด้วยความศักดิ์สิทธิ์ในการปัดเป่าคาถาหรือปลุกเสกวัตถุบูชาจำนวนมาก แม้ปัจจุบันท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่ก็ยังคงหลงเหลือเครื่องรางให้กับคนที่ยังนับถือท่านได้บูชา เช่น เหรียญปืนไขว้, เหรียญรุ่นนายทหาร-ตำรวจ จปร. เป็นต้น

หลวงพ่อแดง จากประวัติแล้ว ระบุไว้ว่า ท่านเกิดที่ ต. บางจาก อ. เมืองเพชรบุรี จ. เพชรบุรี เมื่อวันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2422 ในตระกูลอ้นแสง ครอบครัวทำสัมมาชีพเป็นชาวนา ในวัยเด็กหลวงพ่อแดงไม่ได้เรียนหนังสือ กระทั่งเข้าวัยหนุ่ม ครอบครังจึงส่งให้ไปบวชเรียนกับพระอาจารย์เปลี่ยน ที่ วัดเขาบันไดอิฐ จ. เพชรบุรี

จนอายุ 22 ปี ก็เข้าพิธีอุปสมบทที่ วัดเขาบันไดอิฐ มีพระครูญาณวิสุทธิ วัดแก่นเหล็ก จ. เพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า รัตโต แปลว่า สีแดง จากนั้นจึงขออนุญาตพระอาจารย์ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อฉุย แห่งวัดคงคาราม จ. เพชรบุรี

หลังจากได้เข้ามาอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ หลวงพ่อแดงก็มุ่งมั่น เคร่งครัดต่อพระวินัยและปฏิบัติตนดีมาเสมอ จึงทำให้พระอาจารย์เมตตาสอนวิชาต่าง ๆ ให้ เช่น วิปัสสนา วิธีนั่งปลงกัมมัฏฐาน และนานาคาถาอาคม

ต่อมา พระอาจารย์เปลี่ยน แห่งวัดเขาบันไดอิฐมรณภาพ หลวงพ่อแดงจึงขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดเขาบันไดอิฐ ตั้งแต่ พ.ศ. 2461 เป็นต้นมา แต่ท่านก็ยังไม่ทิ้งการปฏิบัติตนที่ทำมาตั้งแต่แรกเข้าเป็นพระสงฆ์ เช่น ปฏิบัติธรรม, นั่งสมาธิ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เรื่องความรู้วิชาของหลวงพ่อแดงก็แกร่งกล้า ว่ากันว่าท่านมีหูทิพย์ ตาทิพย์ แต่ท่านก็ไม่ได้อวดอ้างอะไรและมักประจักษ์ให้คนทั่วไปเห็นเองเสียมากกว่า

จนมีตำนานกล่าวขานกันว่า ในช่วง พ.ศ. 2477-2480 ขณะนั้นเกิดโรคระบาดในสัตว์ วัวควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้เป็นโรคติดต่อรุนแรง สัตวแพทย์ก็ไม่มี ต้องขอให้ทางการเข้ามาช่วยฉีดยา ส่วนอีกทางหนึ่ง ชาวบ้านก็ไปหาหลวงพ่อให้ช่วยปัดเป่าให้ช่วยปกป้องสัตว์ทำมาหากินให้

หลวงพ่อแดงจึงปลุกเสกลงเลขยันต์แจกชาวบ้านที่เลี้ยงวัวควาย ในที่สุดคอกสัตว์ที่ปักผ้าประเจียดยันต์ของหลวงพ่อไว้ก็แคล้วคลาดปลอดภัยจากโรคอันตราย

นอกจากนี้ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางระเบิดที่ลงทุกวันคืน แต่ผู้ใดที่พกยันต์ของท่านก็ปลอดภัย ไม่ได้รับภยันตรายใด ๆ

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2502 หลวงพ่อแดง รัตโต ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร สุดท้ายที่พระครูญาณวิลาศ พร้อมรับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ ดังที่เรารู้จักในปัจจุบัน

พระครูญาณวิลาศ ปลุกเสกและผลิตเหรียญต่าง ๆ ออกมามากมาย เพื่อให้คนที่เคารพนับถือได้บูชาสักการะ เสริมความสิริมงคล ช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป เช่น เหรียญรุ่นแรกได้จัดสร้างขึ้นในปี 2503 สร้างเป็นเนื้อเงิน จำนวน 83 เหรียญ ตามอายุของท่านขณะนั้น และเนื้อทองแดงรมดำ จำนวน 15,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีรูปเหมือนของหลวงพ่อแดง ระบุปีที่สร้างและนามของท่าน ทั้งยังมียันต์ครูภาษาขอมสลักไว้

นอกจากนี้ก็ยังมีเหรียญรุ่นนายทหาร-ตำรวจ จปร. พ.ศ. 2513 ที่สร้างขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี ในการรับราชการของนายทหารและตำรวจรุ่น 12 นี้อีกด้วย 

เหตุที่ทำให้ได้ชื่อรุ่นนี้เป็นเพราะว่า พล. ท. ฉลาด หิรัญศิริ ประธานรุ่น ซึ่งในรุ่นนั้นประกอบไปด้วย พล. อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ, พล. อ. สายหยุด เกิดผล และ พล. ต. ต. สง่า กิตติขจร (น้องชาย จอมพลถนอม กิตติขจร) ได้เป็นผู้ขออนุญาตจัดสร้าง และดำเนินการ เพื่อนำรายได้ทั้งหมดสร้างอุโบสถ วัด 12 ธันวาราม หรือวัดหัวลำภูทอง จ. สมุทรปราการ 

ทำให้ได้ชื่อว่ารุ่น จปร. หรือในวงการพระเครื่องนิยมเรียกว่า “เหรียญปืนไขว้” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

โคมคำ. เหรียญปืนไขว้หลวงพ่อแดงที่ระลึก 30 ปี-รุ่น12 นายทหาร-ตำรวจ ‘จปร.’. มติชนสุดสัปดาห์. 23 ธันวาคม 2565.

https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/amulets/news_44590

https://www.matichonweekly.com/column/article_604165


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2567