“พระพิบูลย์” พระเกจิอีสาน ที่ทางการไม่ไว้วางใจ จนถูกไต่สวน, ถ่วงน้ำ สั่งคุมตัวจนมรณภาพ

พระพิบูลย์
พระพิบูลย์ วัดพระแท่น จังหวัดอุดรธานี (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2556)

พระพิบูลย์ วัดพระแท่น อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะพระนักพัฒนา, พระนักบุญ, พระเกจิชื่อดัง หนึ่งในความภาคภูมิใจของจังหวัดอุดรธานี

แต่อีกด้านหนึ่ง พระพิบูลย์กลับถูกทางการคุมตัวจน “มรณภาพ” 

คำตอบในเรื่องนี้ เชิดชาย บุตดี ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “พระพิบูลย์ : ผู้มีบุญหรือนักบุญแห่งอุดรธานี” ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” เดือนกรกฎาคม 2556

พระพิบูลย์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านพระเจ้า ตำบลมะอึ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด พระพิบูลย์มีชื่อในการใช้เวทมนตร์คาถา และอภินิหารช่วยเหลือชาวบ้านมาตลอด หลังบวชได้ระยะหนึ่งก็ออกธุดงค์ไปร่ำเรียนวิชาคาถาอาคมกับอาจารย์ผู้วิเศษนานหลายปี ภายหลังกลับมาสร้างวัดในพื้นตามที่ที่อาจารย์แนะนำ เรียกว่า “วัดพระแท่น”

นอกจากนี้ พระพิบูลย์ยังเป็น “พระนักพัฒนา” นำพาชาวบ้านตัดถนนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับวัดพระแท่น เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับชุมชนและหมู่บ้านที่ขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งนำพาชาวบ้านตั้งธนาคารข้าวเปลือก ธนาคารโค- กระบือ การซื้อจอบ-เสียมให้ชาวบ้านหยิบยืม และการชักชวนชาวบ้านให้นุ่งขาวห่มขาวเพื่อเข้าวัดถือศีล 

จนเกิดคำเล่าลือเกี่ยวกับพระพิบูลย์แผ่กระจายอย่างกว้างขวาง เช่น ปราบจระเข้ยักษ์ในลำน้ำปาว, ปราบอาคมขับไล่ภูตผีให้กับชาวบ้าน, ใช้น้ำมนต์รักษาผู้เจ็บป่วย, ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าถูกต้อง ฯลฯ ชาวบ้านจึงเกิดศรัทธาเดินทางมากราบไหว้อยู่ไม่ขาด

ทั้งหมดนั่นทำให้พระพิบูลย์ถูกพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในมณฑลอุดรจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะมีพฤติการณ์คล้ายกับ “ผู้มีบุญ” (บุคคลที่อ้างตนเป็นผู้วิเศษ) และมีการคุมตัวพระพิบูลย์ในที่สุด

แม้จะไม่ทราบปีเกิดที่แน่นอนของพระพิบูลย์ หากการจับกุมของพระพิบูลย์ประเมินว่า คงเกิดขึ้นในระหว่างกลางทศวรรษ 2460 เป็นต้นมา เพราะในกลางทศวรรษ 2460 คือช่วงเวลาที่รัฐบาลสยามมีการตั้งพระสงฆ์ท้องถิ่นที่ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ เพื่อให้กลับมาฟื้นฟูงานด้านคณะสงฆ์ในมณฑลอุดรอย่างจริงจัง

การบริหารจัดการคณะสงฆ์หัวเมืองอีสาน รัฐสยามจัดส่งพระท้องถิ่นเข้าไปเรียนวัตรปฎิบัติที่กรุงเทพฯ จากนั้นจึงส่งกลับไปเป็นผู้ปกครองในพื้นที่ เช่น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) จากอุบลฯ เป็นผู้ปกครองและดูแลทั้งที่มณฑลอุบล และมณฑลนครราชสีมา

ส่วนในมณฑลอุดร ที่พระพิบูลย์อยู่นั้น พระสงฆ์ท้องถิ่นในมณฑลนี้ได้เรียนรู้วัตรปฏิบัติและจารีตสงฆ์อย่างกรุงเทพฯ ล่าช้ากว่ามาก พ.ศ. 2465 รัฐสยามแต่งตั้ง พระเทพเมธี (อ้วน ติสฺโส) ขึ้นเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะมณฑลอุดร และแต่งตั้งให้ พระครูสังฆวุฒิกร (จูม พนฺธุโล) เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ (วัดที่ต่อมาเป็นสถานที่กักตัวพระพิบูลย์ถึง 15 ปี) อยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลเพื่อเรียนรู้งานไปด้วย หลังจากนั้นอีก 3 ปีต่อมา จึงได้รับตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอย่างเป็นทางการ

จากเอกสารหลักฐานในพื้นที่ พระพิบูลย์ถูกคุมตัวด้วยข้อหาใด พอสรุปได้เป็น 2 ประเด็น คือ

1. บทบาทของพระพิบูลย์คล้ายกับพระสงฆ์เมืองยโสธรที่ถูกกล่าวหาว่ามีไปเข้าร่วมกับ “กลุ่มมีผู้บุญ” จึงถูกเพ่งเล็งจากคณะสงฆ์ในมณฑลอุดร แต่ไม่สามารถชี้ได้ชัดเจนว่า มีการซ่องสุมกำลังคนเพื่อเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐหรือสถานที่ราชการ, หลอกลวงเพื่อให้ผู้คนงมงายแล้วแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน

เป็นแต่มีกระทำการให้ผู้คนจำนวนมากนิยม จึงมิอาจลงโทษขั้นรุนแรงระดับเป็น “กบฏผู้มีบุญ” ทำได้เพียงการตักเตือนในการคุมตัวครั้งที่ 1 และคุมตัวไว้อย่างถาวรในครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้พระพิบูลย์กลับไปดำเนินบทบาทในลักษณะเช่นเดิมได้อีก เพราะถือว่ามีการตักเตือนแล้วแต่ก็ยังปฏิบัติดังเดิม

2. ความหมายของ “การสำรวมในความเป็นสมณเพศ” สำหรับพระพิบูลย์กับพระในมุมของรัฐสยามแตกต่างกันสิ้นเชิง พระพิบูลย์มีวัตรปฏิบัติเรียบง่ายตามอย่างครูอาจารย์อย่าง “พระครองลาว” ไม่ว่าการครองผ้าจีวรอย่างง่ายตามความสะดวก, การช่วยเหลือชาวบ้านผู้ตกทุกข์ได้ยาก, การนำชาวบ้านพัฒนาชุมชนรอบวัด ฯลฯ แต่ในมุมของรัฐ หรือเจ้าคณะมณฑลอุดร ต้องครองผ้าจีวรอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยในทุกโอกาส, วางตนเหมาะสมกับคฤหัสถ์, มีหน้าที่หลักพระสงฆ์คือศึกษาพระธรรมวินัย ฯลฯ

ส่วนการคุมตัวพระพิบูลย์นั้น โดยทั่วไปกล่าวว่าพระพิบูลย์ถูกทางการคุมตัว 2 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 ถูกคุมตัวไปที่วัดโพธิสมภรณ์ วัดของเจ้าคณะมณฑลอุดร ก่อนถูกคุมตัวไปไต่สวนต่อที่กรุงเทพฯ โดยไม่ได้ระบุว่าถูกนำตัวไปไต่สวนที่วัดใด หรือที่หน่วยงานใด ต่อมาถูกนำตัวไปถ่วงน้ำที่เกาะสีชัง เมื่อไม่มรณภาพเจ้าหน้าที่ที่คุมตัวจึงปล่อยพระพิบูลย์เพราะเลื่อมใส และการคุมตัวครั้งนี้ไม่สามารถระบุเวลาปีได้แน่นอน แต่คาดว่าคงจะปลายทศวรรษ 2460 เพราะใน พ.ศ. 2466 ได้มีการปฏิรูปงานคณะสงฆ์ในมณฑลอุดรขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งที่ 2 พระพิบูลย์ถูกคุมตัว/กักตัวไว้ที่วัดโพธิสมภรณ์ โดยเจ้าคณะมณฑลอุดรจัดให้พระพิบูลย์จำพรรษาที่กุฏิด้านท้ายวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ารกจนมรณภาพ รวมเวลานานถึง 15 ปี เมื่อมรณภาพแล้วศพของพระพิบูลย์ก็ต้องถูกเก็บไว้ที่วัดโพธิสมภรณ์ต่อไปอีกเกือบ 4 ปี จึงสามารถนำศพท่านไปบำเพ็ญกุศล

การคุมตัวพระพิบูลย์ในครั้งนี้ สามารถคาดการณ์ช่วงเวลาได้ว่าคงจะเกิดขึ้นในราว พ.ศ. 2474 เพราะจากหลักฐานบอกว่าพระพิบูลย์มรณภาพ พ.ศ. 2489 และ พ.ศ. 2493 คือปีที่สามารถนำศพพระพิบูลย์กลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดพระแท่นได้ จากนั้นอีก 11 ปี (พ.ศ. 2504) จึงมีการฌาปนกิจศพพระพิบูลย์ที่สนามพิบูลย์รังสรรค์ ตรงข้ามกับวัดพระแท่น

หากข้อมูลพระครูมัญจาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระแท่น และเจ้าคณะอำเภอพิบูลรักษ์ (ผู้สืบปณิธานพระพิบูลย์ในการพัฒนาสังคมชุมชนรอบวัดพระแท่น) พระพิบูลย์ถูกคุมตัวถึง 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกถูกคุมตัวไปที่วัดโพธิสมภรณ์ และก็ปล่อยตัวกลับวัดพระแท่นในระยะเวลาไม่นานนัก ครั้งที่ 2 ถูกคุมตัวไปที่วัดโพธิสมภรณ์ และถูกนำตัวเข้ากรุงเทพฯ ก่อนจับไปถ่วงน้ำที่เกาะสีชัง (โดยรายละเอียดเช่นดังที่กล่าวข้างต้น) และครั้งที่ 3 พระพิบูลย์ถูกคุมตัว/กักตัวไว้ที่วัดโพธิสมภรณ์จนมรณภาพ

ปัจจุบันเรื่องราวของพระพิบูลย์ได้ถูกขยายการรับรู้อย่างกว้างขวางในฐานะ “พระพัฒนา” และ  “พระนักบุญ” ใน พ.ศ. 2540 อันเป็นปีที่มีการตั้งอำเภอพิบูลยรักษ์ จังหวัดอุดรธานี ก็นำชื่อของ “พระพิบูลย์” ในฐานะพระนักพัฒนารุ่นบุกเบิก มาเป็นชื่ออำเภอใหม่แห่งนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2567