ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
นิทาน “ขุนบรม” เป็นตำนานเก่าแก่ของ ชนชาติไทย สะท้อนการอพยพโยกย้ายและเคลื่อนตัวของชนชาติที่พูด ภาษาตระกูลไท-ไต จากจ้วง-ผู้ไท ทางตอนใต้ของจีนบริเวณมณฑลกวางสีและภาคเหนือของเวียดนาม สู่ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง และค่อย ๆ กระจายตัวสู่บริเวณโยนก ต่อเนื่องถึงลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำเจ้าพระยา
ในตำนาน ขุนบรมเป็นทายาท “แถน” (ผีฟ้าพญาแถน) อยู่เมืองแถน (เดียนเบียนฟูในปัจจุบัน) ขุนบรมมีลูกชาย 7 คน เมื่อเติบโตจึงแยกย้ายกันไปสร้างบ้านแปงเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ เกิดเป็นเครือข่าย เครือญาติ ของเมืองต่าง ๆ ทั่วอุษาคเนย์ในภาคพื้นทวีป ได้แก่
1. ขุนลอ เมืองหลวงพระบาง ในลาว 2. ยี่ผาลาน เมืองหอแต สิบสองปันนา ในจีน 3. สามจูสง เมืองแกวช่องบัว ในเวียดนาม 4. ไสผง เมืองยวนโยนก ลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำโขง ในไทย 5. งั่วอิน เมืองอโยธยา-สุพรรณภูมิ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในไทย 6. ลกลม เมืองคำเกิด ลุ่มแม่น้ำโขง ในลาว และ 7. เจ็ดเจือง เมืองพวน แขวนเชียงขวาง ในลาว
จะเห็นว่าทายาทขุนบรม มาสร้างบ้านเมืองในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันอยู่ในดินแดนไทย 2 เมือง ได้แก่ อโยธยา-สุพรรณภูมิ และยวนโยนก แม้จะมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติใกล้ชิด (ตามตำนาน) แต่ขณะเดียวกันก็เป็นคู่สงครามขับเคี่ยวกันอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะยวนโยนกพัฒนาเป็น รัฐล้านนา ส่วนอโยธยา-สุพรรณภูมิพัฒนาเป็น รัฐอยุธยา ในกาลต่อมา
ความสัมพันธ์ข้างต้นยังเกิดขึ้นกับเมืองเชื้อสายขุนบรมอีกแห่งในลาว คือ หลวงพระบาง ซึ่งต่อมาคือรัฐล้านช้าง
ประจักษ์พยานสำคัญของการเป็นเชื้อสายว่านเครือขุนบรมของรัฐอยุธยาคือ การที่กษัตริย์อยุธยาในวงศ์สุพรรณภูมิมีพระนามว่า “บรมราชา” ต้นตอของคำนี้มาจาก “ขุนบรม” เพราะถือเป็นวีรบุรุษในตำนานและเป็นทายาทของแถน
แม้ปัจจุบันเมืองแถน หรือเดียนเบียนฟูจะอยู่ในเวียดนาม แต่ถือเป็นเมืองลาวเก่า ดังระบุในตำนานขุนบรมตอนหนึ่งว่า “…พระยาผีแถน จักให้ท้าวขุนบรมลงมาเกิดใน ‘เมืองลาวเก่า’ …”
เป็นหลักฐานกลาย ๆ ว่า ล้านช้าง (หลวงพระบาง) นับถือเมืองแถนเป็นถิ่นบรรพชน
ร่องรอย “เส้นทาง” หรือการเคลื่อนย้ายผ่านตำนานขุนบรม สะท้อนการโยกย้ายของคนพูดภาษาไท-ไต และวัฒนธรรมไท-ไต จากเมืองแถน ในเวียดนาม ก่อนลงใต้มาถึงไทยหรือรัฐอยุธยาได้เป็นอย่างดี เพราะสอดคล้องกับเส้นทางการค้าของดินแดนภายในภาคพื้นทวีป
แม้เส้นทางจะไม่ถูกระบุชัดเจน แต่เชื่อได้ว่ามีการเคลื่อนไหวทางการค้าบริเวณนี้มาร่วมพัน ๆ ปีแล้ว ก่อนจะขยายตัวเมื่อการค้าสำเภาจีนเติบโตเมื่อราวหลัง พ.ศ. 1500 ทำให้เราพบหลักฐานการโยกย้ายของผู้คนในกลุ่มภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต จากดินแดนภายในสู่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายเรื่องนี้ในหนังสือ อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย (สนพ. นาตาแฮก, 2566) ว่า เนื้อหาในเรื่องขุนบรมและลูกชายทั้ง 7 นั้น เชื่อว่าถูกสมมุติขึ้น (แม้แต่คำว่า “บรม” ก็ไม่ใช่คำในตระกูลภาษาไท-ไต แต่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า อย่างยิ่ง, ที่สุด, ประเสริฐ จึงเชื่อได้ว่าแต่งขึ้นภายหลัง – ผู้เขียน) แต่ตำแหน่งบ้านเมืองและชื่อบ้านนามถือว่าใกล้เคียงและสัมพันธ์กับความจริง
อนึ่ง บริเวณมณฑลกวางสีถึงตอนเหนือของเวียดนามมีร่องรอยของบ่อเกิดของวัฒนธรรมที่เรียกว่า วัฒนธรมดงเซิน-ซาหวิ่น ก่อนเกิดการโยกย้ายลงใต้ของคนพูดภาษาไท-ไต มาตามเส้นทางบกสู่ลุ่มแม่น้ำโขงกับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (รวมถึงแม่น้ำท่าจีน)
เส้นทางดังกล่าวทำให้เกิดเครือข่ายเส้นทางการค้าทางบก ที่ทอดยาวข้ามคาบสมุทรจากตอนใต้ของจีนผ่านดินแดนตอนในของอุษาคเนย์และเชื่อมทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ผ่านเครือข่ายเมืองของกลุ่มชนที่พูดภาษาไท-ไต
หลักฐานสนับสนุนคือ ความคล้ายคลึงกันทางภาษาของ ชนชาติไทย กับผู้คนในบางส่วนของเวียดนาม และตอนใต้ของจีน คือพูดภาษาตระกูลไท-ไต เหมือนกัน ความเชื่อเรื่องแถนและขวัญ การทำนาทดน้ำ ประเพณีทำศพครั้งที่ 2 รวมถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับโลหะสำริด
ทั้งหมดคือความเชื่อมโยงที่สะท้อนรากเหง้าทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมของคนไทย กับกลุ่มชนที่พูด “ภาษาตระกูลไท-ไต” ทั้งในเวียดนาม ลาว และจีนตอนใต้ โดยมี “ตำนานขุนบรม” เป็นกุญแจสำคัญ
อ่านเพิ่มเติม :
- “น่านเจ้า” ไม่ใช่บรรพชนเผ่า “ไท” !?
- “แมนสรวง” ชื่อพ่อ-เมือง “พระลอ” แท้จริงคือหลวงพระบาง?
- กว่าจะเป็นเมืองไทย-คนไทย-ภาษาไทย อพยพจากไหนไปไหนกันมาบ้าง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2566). อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ : นาตาแฮก.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2567