“แมนสรวง” ชื่อพ่อ-เมือง “พระลอ” แท้จริงคือหลวงพระบาง?

วัดใหม่สุวรรณภูมาราม หลวงพระบาง แมนสรวง
วัดใหม่สุวรรณภูมาราม, หลวงพระบาง (ภาพโดย DEZALB จาก Pixabay)

ชื่อ “แมนสรวง” ปรากฏอยู่ในวรรณคดีโบราณของไทยอย่าง “ลิลิตพระลอ” ทั้งในฐานะบ้านเกิดเมืองนอนของพระเอกในเรื่องอย่าง “พระลอ” และเป็นนามของพระบิดา คือ “ท้าวแมนสรวง”

ลิลิตพระลอ ถือเป็นคำบอกเล่าเก่าแก่ เป็นทั้งนิทานและตำนาน อาจเรียกว่าเป็น “นิยายโบราณ” ดี ๆ นี่เอง ความโดดเด่นคือการจบเรื่องแบบชวนสลดหดหู่ใจ เราไม่ทราบว่าบุคคลในเรื่องมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์หรือไม่ พอจะพิสูจน์ได้เพียงต้นกำเนิดของงานประพันธ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราว ๆ พุทธทศวรรษ 1990-2070 และเรื่องราวอาศัยเค้าโครงจากสังคมและการเมืองในยุคโบราณเมื่อราว พ.ศ. 1700

ลิลิตพระลอเล่าถึง พระลอ โอรสท้าวแมนสรวงกับพระนางบุญเหลือ นี่คือครอบครัวฝ่ายพระเอก มีบ้านเมืองชื่อเมือง “แมนสรวง” ชื่อเดียวกับเจ้าเมือง ส่วนฝ่ายนางเอกคือคู่พี่น้อง “พระเพื่อนพระแพง” เป็นธิดาหัวแก้วหัวแหวนของท้าวชัยพิษณุกรกับพระนางดาราวดี ฝั่งนี้มีชื่อบ้านนามเมืองว่า “สรอง”

ก่อนท้าวชัยพิษณุกรจะเถลิงราชย์เป็นเจ้าเมืองสรองนั้น พระบิดาของพระองค์ (ปู่ของพระเพื่อนพระแพง) คือ ท้าวพิมพิสาคร เคยรบทัพจับศึกกับท้าวแมนสรวง ด้วยฝ่ายหลังได้ยกทัพไปล้อมเมืองสรอง เกิดเป็นยุทธหัตถีชนช้างระหว่างสองเจ้า คือ ท้าวแมนสรวง-ท้าวพิมพิสาคร เป็นผลให้ท้าวพิมพิสาครสิ้นชีพในสนามรบ แต่พระโอรส (ท้าวชัยพิษณุกร) เข้ากันพระศพบิดากลับเมืองได้ ฝ่ายท้าวแมนสรวงแม้ปลิดชีพท้าวพิมพิสาครได้ ก็ไม่อาจตีหักเอาเมืองสรองได้ จึงยกทัพกลับเมืองแมนสรวงไป

ความร้าวฉานดังนี้ของผู้เป็นบุพการีย่อมส่งผลต่อพระ-นางอย่าง พระลอ พระเพื่อน-พระแพง อย่างมิอาจหลีกหนีไปได้ แม้ท้าวแมนสรวงจะสิ้นพระชนม์หลังสงครามครานั้นจบลงไม่นาน และพระลอขึ้นครองเมืองแทน แต่เมืองแมนสรวงกับเมืองสรองได้ขึ้นชื่อว่าเป็นอริกันโดยสมบูรณ์แล้ว

นี่คือปูมหลังอันร้าวฉานของมหากาพย์ความรักระหว่าง พระลอ กับสองนาง “พระเพื่อนพระแพง” ความขัดแย้งระหว่างสองตระกูล ทำให้พระ-นางตกอยู่ในสถานะความสัมพันธ์แบบ “รักต้องห้าม” ทันที แต่ด้วยความปรารถนาอันรุนแรงของพวกเขา ทำให้มีห้วงเวลาที่ได้สุขสมอารมณ์รัก แต่มิวายจบด้วยความตายแบบ “โศกนาฏกรรม” ที่สะเทือนอารมณ์ผู้อ่านทุกยุคทุกสมัย

กลับมาที่เมืองแมนสรวง อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ลิลิตพระลอ มีพื้นหลังเป็นบ้านเมืองสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา หรือเก่ากว่านั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ ชี้ว่า “พระลอ อยู่เมืองแมนสรวง คือ เมืองหลวงพระบาง ในลาว ดินแดนล้านช้าง หลักแหล่งของลาวในตระกูลไทย-ลาว” ส่วน “พระเพื่อน พระแพง อยู่เมืองสรอง คือ เมืองพะเยา ในจังหวัดพะเยา ดินแดนล้านนา หลักแหล่งของลัวะในตระกูลมอญ-เขมร แม่น้ำกาหลง คือ แม่น้ำโขง”

ที่กล่าวดังนั้น เพราะสุจิตต์วิเคราะห์ว่า ความเป็นอริระหว่างเมืองแมนสรวงกับเมืองสรอง คือภาพสะท้อนความขัดแย้งของชาติพันธุ์สองฝั่งโขง เช่น ตระกูลมอญ-เขมร, ตระกูลไทย-ลาว หรือแม้แต่ตระกูลม้ง-เย้า ที่ต้องการอำนาจการควบคุมเส้นทางคมนาคมอย่างแม่น้ำโขง หรือดินแดนลุ่มน้ำโขงในสมัยโบราณ

บ่อเกิดความขัดแย้งก็ไม่ใช่เรื่องอื่นไกล แต่คือการเปลี่ยนแปลงและเติบโตทางการค้าทั่วภูมิภาค เมื่อจีนนำเรือสำเภาขนาดใหญ่ออกค้าขายทางทะเลโดยตรงแบบไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางดังเช่นในอดีต พ่อค้าชาวจีนที่มาถึงดินแดนแถบอุษาคเนย์ด้วยตนเอง จึงมีความต้องการสินค้าของป่ามากขึ้นตามไปด้วย

ลิลิตพระลอว่าไว้ชัดเจน พระลออยู่เมืองแมนสรวง “ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกาหลง” หากแม่น้ำกาหลงคือแม่น้ำโขง ย่อมหมายความว่า กษัตริย์หนุ่มรูปงามองค์นี้คือเชื้อสาย “แถน” แห่งล้านช้าง และแน่นอนว่า เมืองแมนสรวง คือหลวงพระบาง ศูนย์กลางแต่โบราณของลาวล้านช้าง

หากเราลองพิจารณาคำว่า “สรวง” ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า ฟ้า, สวรรค์ หรือ เทวดา แต่ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พบว่า สรวง-สวง หมายถึง “ผี” หรือผีร้ายที่มีอำนาจมาก

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีความคิดสอดคล้องกัน ดังว่า “… แมนสรวง ก็แปลว่า ผีฟ้า คือ เทวดา คนเราถือผีเป็นที่ตั้ง god ก็คือผี ทั้งนี้ก็สมด้วยคาถาที่ว่า พหุํ เว สรณํ ยันติ ปัพพตานิ วนานิ จ ก็คือถือผีเข้าว่าเปนสรณะ…”

จะเห็นว่า “แมนสรวง” ยังหมายถึง “เมืองแห่งแถน” หรือเมืองเทวดา-เมืองฟ้าเมืองสวรรค์ได้ด้วย  เพราะ “แมน” ก็แปลว่า เทวดา แมนสรวงจึงมีความหมายเดียวกับหลวงพระบาง มีประจักษ์พยานเช่นกันว่า “บาง” แปลว่า ฟ้า นั่นคือชื่อของ “พ่อขุนบางกลางหาว”

เมื่อเชื้อวงศ์เมืองหลวงพระบางเป็นเชื้อสายแถน เป็นผู้เคลื่อนย้ายมาจากเมืองแถน (เชื่อว่าคือบริเวณ เดียนเบียนฟู ภาคเหนือของเวียดนาม) ตามตำนานการอพยพของบรรพชนคนตระกูลไทย-ลาว ใน ตำนานขุนบรม ซึ่งเล่าว่า ขุนบรมเป็นเชื้อสายแถน มีบุตรชาย 7 คน ส่งไปครองเมืองต่าง ๆ บุตรคนโตครองเมืองหลวงพระบางชื่อ “ขุนลอ”

อดคิดไม่ได้จริง ๆ ว่า ผู้แต่ง “ลิลิตพระลอ” ได้แรงบันดาลใจนามพระลอมาจากชื่อในตำนานขุนบรม จึงให้ท้าวแมนสรวง เจ้าเมืองแมนสรวง มีลูกชายชื่อ “พระลอ” …

ความขัดแย้งระหว่าง 2 เมือง (แมนสรวง-สรอง) ในลิลิตพระลอ ยังสะท้อนความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ล้านช้างกับล้านนา โดยมีแม่น้ำโขง (แม่น้ำกาหลง) คั่นระหว่างกลางอย่างเหมาะเจาะอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ลิลิตพระลอ. ใน ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2566. (ออนไลน์)

 ลิลิตพระลอ, เนื้อเรื่องย่อ. ใน ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2566. (ออนไลน์)

สุจิตต์ วงษ์เทศ. พระลอ อยู่ล้านช้าง(ในลาว) พระเพื่อน พระแพง อยู่ล้านนา(ในไทย) แม่น้ำกาหลง คือ แม่น้ำโขง. วันที่ 3 พฤษภาคม 2564. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_66656


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2566