
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ความเป็นมาของเขตแดนไทย-พม่า เกิดขึ้นครั้งแรกที่ไหน? ใช้อะไรเป็นสัญลักษณ์?
ทุกวันนี้ เขตแดนไทย-พม่า มีเส้นแบ่งชัดเจน ต่างจากหลายร้อยปีก่อนที่ความคิดเรื่อง “รัฐชาติ” ยังไม่เกิด ทำให้ “ดินแดน” ของแต่ละฝ่ายอาจมีพื้นที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการแผ่อำนาจผ่านสงคราม กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 เขตแดนไทย-พม่า ถึงเริ่มมีความชัดเจน โดยเป็นผลจากลัทธิล่าอาณานิคม เพราะอังกฤษยึดอินเดียได้แล้วก็ขยายอำนาจมาทางทิศตะวันออก
พ.ศ. 2368 (ค.ศ. 1825) รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากอังกฤษใกล้จะรบชนะพม่า ก็ส่ง ร้อยเอก เฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) เป็นทูตเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อเจรจาทางไมตรี และหารือเกี่ยวกับแนวเขตแดน ทั้งเขตแดนด้านมลายูและด้านพม่า
สมัยนั้นความเข้าใจเรื่องเส้นเขตแดนของฝ่ายไทยและฝ่ายอังกฤษยังแตกต่างกันมาก ฝ่ายไทยเข้าใจว่า เป็นอาณาบริเวณกว้างๆ เช่น อาณาเขตไทยแผ่ไปถึงหัวเมืองนั้นๆ แต่ฝ่ายอังกฤษมีความเข้าใจในแง่เส้นแบ่งเขตที่แน่ชัดว่าอยู่พิกัดใด
เมื่อเข้าใจกันคนละแบบ จึงยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องเขตแดน

กระทั่ง พ.ศ. 2369 ที่ไทยและอังกฤษทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี ที่เรียกกันว่า “สนธิสัญญาเบอร์นี” ทั้งสองฝ่ายตกลงเรื่อง เขตแดนไทย-พม่า ไว้ในข้อ 3 ความว่า
“…ถ้าอังกฤษสงสัยด้วยเขตแดนยังไม่รู้แน่ ก็ให้เจ้าเมืองข้างฝ่ายอังกฤษมีหนังสือแต่งคนแลชาวด่านมาไต่ถามเจ้าเมืองฝ่ายไทยที่อยู่ใกล้กัน เจ้าเมืองฝ่ายไทยจะแต่งกรมการแลชาวด่านพร้อมด้วยคนเจ้าเมืองฝ่ายอังกฤษไปกำหนดชี้ที่แดนต่อกัน ให้รู้เป็นแน่ทั้งสองข้างโดยทางไมตรี
ถ้าเจ้าเมืองฝ่ายไทยสงสัยด้วยเขตแดนยังไม่รู้แน่ ก็ให้เจ้าเมืองข้างฝ่ายไทยมีหนังสือแต่งคนแลชาวด่านมาไต่ถามเจ้าเมืองฝ่ายอังกฤษที่อยู่ใกล้กัน เจ้าเมืองฝ่ายอังกฤษจะแต่งกรมการแลชาวด่านพร้อมด้วยคนเจ้าเมืองฝ่ายไทยไปกำหนดชี้ที่แดนต่อกัน ให้รู้เป็นแน่ทั้งสองข้างโดยทางไมตรี”

ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอังกฤษมีชัยเหนือพม่าอย่างสมบูรณ์แล้ว อังกฤษได้เสนอให้มีการสำรวจและปักปันเขตแดนทางบกระหว่าง สยาม กับ มณฑลตะนาวศรี (Tenasserim) กล่าวคือจากสบเมย (บริเวณที่แม่น้ำเมยไหลลงแม่น้ำสาละวิน) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปจนถึงปากน้ำของแม่น้ำกระบุรี หรือแม่น้ำปากจั่น จังหวัดระนอง
จุดนี้จึงได้เกิดแนวเขตแดนตามหลักสากลนิยมระหว่างกันขึ้นเป็นครั้งแรก และมีการจัดทำอนุสัญญาฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) โดยมีการจัดทำหลักเขตแดนไว้ทั้งสิ้น 51 หลัก ด้วยการใช้กองหินหรือบากต้นไม้ใหญ่ไว้เป็นสำคัญ
อ่านเพิ่มเติม :
- กองหิน 3 กอง กลายเป็นเจดีย์ที่ “ด่านเจดีย์สามองค์” ตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่?
- เบื้องหลังอันน่าสลด พระศพพระเจ้าธีบอไม่ได้หวนคืนพม่า ทั้งที่สิ้นพระชนม์กว่าร้อยปี
- แนวคิดเรื่องเขตแดนสมัยใหม่ จากภาพเขียนภายในพระอุโบสถ “วัดเบญจมบพิตร”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กระทรวงการต่างประเทศ. “ความเป็นมาของเขตแดนไทย-พม่า”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2546.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2567