กองหิน 3 กอง กลายเป็นเจดีย์ที่ “ด่านเจดีย์สามองค์” ตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่?

พระเจดีย์ 3 องค์ ด่านเจดีย์สามองค์ สังขละบุรี
พระเจดีย์ 3 องค์ ที่สังขละบุรี (ภาพจาก Z3144228 via Wikimedia Commons)

พระเจดีย์ 3 องค์ ที่มาของชื่อ “ด่านเจดีย์สามองค์” ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี สันนิษฐานว่า มีร่องรอยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กระทั่งเมื่อมีการกำหนดเขตแดนรัฐชาติอย่างชัดเจน พระเจดีย์ 3 องค์ ก็กลายเป็นเขตสิ้นสุดชายแดนไทยด้านทิศตะวันตก ตรงช่องเขาของเทือกเขาตะนาวศรีอย่างเป็นทางการ ภาพที่คุ้นตาในปัจจุบันคือ พระเจดีย์มีสีขาว ฐานกว้าง โดดเด่นสะดุดตา แต่หากย้อนไปในอดีต พระเจดีย์ที่ “ด่านเจดีย์สามองค์” มีลักษณะเป็น กองหิน 3 กอง เท่านั้น

เว็บไซต์จังหวัดกาญจนบุรี ให้ข้อมูลว่า แต่เดิมพระเจดีย์ 3 องค์ ที่ “ด่านเจดีย์สามองค์” เป็นเพียงก้อนหินวางซ้อนๆ กัน 3 กอง จึงเรียกที่แห่งนี้ว่า “หินสามกอง” ต่อมาใน พ.ศ. 2432 พระศรีสุวรรณคีรี (ทะเจียงโปรย เสตะพันธ์) เจ้าเมืองสังขละบุรี ผู้เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนแถบนั้น ได้ร่วมกับราษฎรในพื้นที่ก่อสร้างองค์เจดีย์ขึ้นบนหินสามกอง พระเจดีย์แต่ละองค์สูงประมาณ 6 เมตร ตั้งห่างกันประมาณ 5-6 เมตร

เรื่องพระเจดีย์ 3 องค์ ที่สังขละบุรีนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยกล่าวถึงไว้ มีบันทึกใน “ประชุมพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ด” ว่า

“…ส่วนพระเจดีย์ ๓ องค์นั้นเมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เคยพรรณนาลักษณะให้หม่อมฉันฟังว่า ดูรูปทรงสัณฐานเป็นแต่กองหินยิ่งกว่าเป็นพระเจดีย์ และที่สร้างพระเจดีย์ ๓ องค์นั้นก็สร้างในแดนไทยห่างเข้ามาจากสันเขาที่ต่อแดนพม่า ได้ฟังเล่าอย่างนั้นหม่อมฉันจึงมิได้พยายามไปดูพระเจดีย์ ๓ องค์”

ต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา (พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอ่อน) ได้เสด็จไปถึงพระเจดีย์ 3 องค์ และฉายพระรูปมาประทานกรมดำรง

“แต่เมื่อสักสองสามปีมานี้ พระองค์หญิงอดิศัยสุริยาภาได้เสด็จไปถึงพระเจดีย์ ๓ องค์และฉายรูปมาประทานหม่อมฉัน (เสียดายที่หารูปนั้นไม่พบเมื่อเขียนจดหมายนี้) พิจารณาดูในรูปฉายก็เห็นอย่างหินกองโดยจำนงจะให้เป็นรูปพระเจดีย์เช่นพระยากาญจนบุรีว่า หามีที่สังเกตว่าลักษณะจะเป็นพระเจดีย์อย่างใดไม่ แต่ก็ไม่น่าประหลาดใจ ด้วยสร้างในป่าเปลี่ยวชายแดนเช่นนั้น ใครจะเอาช่างไปตั้งแรมทำอย่างประณีต” กรมดำรงทรงระบุ

หากพิจารณาจากข้อมูลทั้ง 2 แหล่ง จะพบว่า มีความแตกต่างเรื่องระยะเวลา เนื่องจากกรมดำรงทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ระหว่าง พ.ศ. 2435-2458 ซึ่งหากอิงจากประชุมพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ด ช่วงที่ทรงเป็นเสนาบดีมหาดไทย พระเจดีย์ทั้ง 3 องค์ยังเป็น “กองหิน” อยู่ (อย่างน้อยก็ในทศวรรษที่ 2430) ขณะที่ข้อมูลของจังหวัดกาญจนบุรีบอกว่า พ.ศ. 2432 มีการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นบน “หินสามกอง” นั้นแล้ว

ประเด็นนี้ มีข้อพิจารณาอีกประการ เพราะพระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภาประสูติในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2432 ดังนั้นหากพระองค์จะเสด็จยัง ด่านเจดีย์สามองค์ ย่อมต้องเป็นหลังปีประสูติเป็นแน่ และหากทรงตั้งพระทัยประทานรูปแก่กรมดำรง ก็หมายความว่า พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภาน่าจะเจริญพระชันษาพอจะรู้ความแล้ว

อย่างไรก็ตาม พอจะอนุมานได้ว่า มีการก่อสร้าง “พระเจดีย์” ขึ้นอย่างน้อยเมื่อราวๆ ร้อยปีก่อนนั่นเอง แต่จะเป็นปีใดที่แน่ชัด เห็นจะต้องสอบทานหลักฐานประวัติศาสตร์กันต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประชุมพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ด. เว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี. https://bit.ly/3TgMAS2

“พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ”. เว็บไซต์กระทรวงมหาดไทย. https://bit.ly/4bURqvE

“พระเจดีย์สามองค์”. เว็บไซต์จังหวัดกาญจนบุรี. https://ww2.kanchanaburi.go.th/travel/detail/34

“มหามกุฏราชสันตติวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา พระราชธิดาจากเจ้าจอมเมืองเพชรบุรี”. เว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี. https://bit.ly/3wKkvcV


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2567