“ศรีจนาศะ” อยู่ที่นครราชสีมา จริงหรือ?

ปราสาทหินพิมาย จ. นครราชสีมา พื้นที่ใกล้เคียง ศรีจนาศะ เดิม
ภาพ ปราสาทหินพิมาย จาก มติชน อคาเดมี

มีความเชื่อว่า “ศรีจนาศะ” อยู่ที่ จ. นครราชสีมา หรือ ในพื้นที่แถบที่ราบสูงโคราช แต่แท้จริงแล้วศรีจนาศะอยู่บริเวณนั้นจริงหรือ?

“ศรีจนาศะ” ถือเป็นหนึ่งในรัฐโบราณที่มีความสำคัญในอดีต และหลายคนคาดว่าเป็นชื่อดั้งเดิมของเมืองแถบที่ราบสูงโคราช

Advertisement

ก่อนหน้าที่จะมีความเชื่อเรื่องศรีจนาศะ อยู่บริเวณที่ราบสูงโคราช ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยสันนิษฐานว่ารัฐโบราณแห่งนี้เคยอยู่ที่ จ. พระนครศรีอยุธยา หรือ จ. ลพบุรี มาก่อน 

จนกระทั่งเซเดส์ได้ค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญอย่าง “ศิลาจารึกบ่ออีกา” ทำให้ข้อสันนิษฐานเปลี่ยนไปและเชื่อว่าน่าจะอยู่ที่นครราชสีมามากกว่า

นอกจากนี้ ในวงการโบราณคดียังค้นพบ “ศิลาจารึกหลักที่ 117” หรือ “จารึกศรีจนาศะ” ที่โบสถ์พราหมณ์ จ. พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจากร่องรอยอารยธรรมที่อยู่ในช่วงร่วมสมัยกับศักราชที่ปรากฏอยู่ในจารึกไม่สอดคล้องกับสถานที่ที่พบ และตัวอักษรบนศิลาจารึกทั้ง 2 นั้นคล้ายคลึงกับรูปแบบที่นิยมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

จึงทำให้วงการวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับกับข้อเสนอนี้ 

ต่อมา ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา ยังเพิ่มเติมข้อมูลไว้อีกด้วยว่า “เมืองศรีจนาศะควรจะตั้งอยู่บริเวณแอ่งที่ราบสูงโคราชแถบลุ่มแม่น้ำมูลตอนต้น ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่อำเภอเมือง อำเภอปักธงชัย อำเภอสูงเนิน ขึ้นไปจรดเทือกเขาพนมดงรักและดงพญาเย็นทางทิศตะวันตก แต่ไม่ได้ไปถึงบริเวณจังหวัดบุรีรัมย์ หรือพื้นที่ที่ราบสูงโคราชบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลาง

ก่อนที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติม โดย ดร. ธิดา สาระยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่ง ได้เรื่องว่า ศรีจนาศะ อาจครอบคลุมถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักและลุ่มแม่น้ำมูล และมีจุดศูนย์กลางที่เมืองศรีเทพในเขตลุ่มแม่น้ำปาสัก จ. เพชรบูรณ์

ซึ่งมีเหตุผลดังนี้…

“1. ศรีเทพเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่พบหลักฐานกำหนดอายุได้เก่าที่สุดในบริเวณเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก โดยมีร่องรอยหลักฐานโบราณวัตถุสถานทั้งที่สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาและศาสนาพรหมณ์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-15 จึงน่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับข้อความในจารึกกลุ่มศรีจนาศะ

2. รูปแบบศิลปะของกลุ่มศิลปวัตถุจากเมืองศรีเทพมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มประติมากรรมที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับศรีจนาศะ

3. จารึกที่พบที่เมืองศรีเทพมีเนื้อหาที่สอดคล้องกันกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในจารึกศรีจนาศะ”

ทว่าข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการท่านอื่นมากนัก เพราะมีการโต้แย้งและยืนยันจากนานานักวิชาการว่าศรีจนาศะยังเป็นรัฐที่ตั้งอยู่ที่เขตราบสูงโคราช และมีศูนย์กลางที่เมืองเสมา ด้วยหลักฐานทางศิลปกรรม โบราณคดี และความเชื่อต่าง ๆ ที่ปรากฏ

แม้แนวโน้มส่วนใหญ่จะมองว่า ศรีจนาศะ อยู่ที่ จ. นครราชสีมา หรือ พื้นที่แถบที่ราบสูงโคราช แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ารัฐโบราณแห่งนี้อยู่ที่ไหนกันแน่ และยังคงต้องหาคำตอบกันต่อไป…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ศิวพงศ์ สีเสียดงาม. ศรีเทพสถาปัตย์-ปฏิมาเมืองมรดกโลก. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. จารึกศรีจนาศะ เมืองเสมา (สูงเนิน โคราช) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของอโยธยา-อยุธยา โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. https://www.matichon.co.th/columnists/news_4343827.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2567