หลักฐานฟ้อง! ทำไมจึงเชื่อได้ว่า “ศรีเทพ” คือศูนย์กลางทวารวดี

เขาคลังนอก เมืองโบราณ ศรีเทพ จังหวัด เพชรบูรณ์

“ศรีเทพ” เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของไทย เป็นเมืองโบราณสำคัญในลุ่มแม่น้ำป่าสัก มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ที่สำคัญคือมีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา เรื่อยมาถึงรัตนโกสินทร์ หลักฐานและข้อสนับสนุนหลายอย่างยังบ่งชี้ด้วยว่าเมืองโบราณแห่งนี้คือศูนย์กลางของ “ทวารวดี” รัฐโบราณที่เคยเจริญรุ่งเรืองในดินแดนไทยเมื่อครั้งอดีต

“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชวนเจาะลึกแบบ “ทะลุเพดานความรู้” เกี่ยวกับเมืองศรีเทพ โดยเฉพาะประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างศรีเทพกับวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งจากหลักฐานต่าง ๆ ที่มีการค้นพบ อ. รุ่งโรจน์ ได้อธิบายให้เห็นว่าศรีเทพนี่แหละ คือศูนย์กลางของ “ศรีทวารวดี”

“ศรีเทพน่าจะเป็นศูนย์กลางในยุคแรกของทวารวดี เวลาเราพูดถึงทวารวดี ทุกคนจะนึกถึงนครปฐม คนแรกที่เสนอว่าเป็นนครปฐมนั้นคือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ได้พูดเอาไว้ในตำนานพระพุทธเจดีย์สยามว่าศูนย์กลางของทวารวดีอยู่ที่นครปฐม หนึ่ง เพราะเจอธรรมจักร สัญลักษณ์ก่อนการสร้างพระพุทธรูป มีอายุร่วมสมัยกับพระเจ้าอโศก สอง พระโสณะเถระและพระอุตตระเถระ สมณทูตของพระเจ้าอโศกมาที่นครปฐม” 

“เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ศิลป์รู้แล้วนะครับว่าลวดลายที่ปรากฏบนธรรมจักรที่นครปฐมไม่ได้มีอายุร่วมสมัยกับพระเจ้าอโศกแต่ประการใด… (ส่วน) เรื่องราวของพระโสณะเถระและพระอุตตระเถระนั้นปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหาวงศ์ ซึ่งแต่งขึ้นหลังจากพระเจ้าอโศกสิ้นไปแล้ว 700 ปี แต่ในหลักฐานร่วมสมัยของพระเจ้าอโศกไม่เคยมีการกล่าวถึงการส่งพระเถระสองรูปนี้มายังสุวรรณภูมิ”

“ศูนย์กลางของทวารวดีอยู่ที่นครปฐม จึงต้องกลับมาทบทวนใหม่” อ. รุ่งโรจน์ กล่าว

แต่อะไรล่ะคือหลักฐานที่บ่งบอกว่าศรีเทพคือศูนย์กลางทวารดี? เรื่องนี้ดูจะเกี่ยวพันกับชื่อบ้านนามเมืองคือ ทวารวดี ที่มีรากคำมาจาก “กรุงทวารกา” เมืองของ พระกฤษณะ ผู้เป็นอวตารของพระนารายณ์ (วิษณุ) ในเทวปกรณัมของฝ่ายฮินดู และยังสอดแทรกอยู่ในตำนานทางพุทธศาสนาด้วย ประจวบเหมาะกับการค้นพบเทวรูปพระกฤษณะในพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ

อ. รุ่งโรจน์ อธิบายว่า “การพบ ‘พระกฤษณะ เป็นจำนวนมาก (ที่ศรีเทพ) นครปฐมเจออยู่แค่องค์เดียวเท่านั้น นครปฐมบวกอู่ทอง สองเมืองรวมกันยังเยอะไม่เท่าที่เมืองศรีเทพ ตรงนี้มันจึงเป็นตัวย้ำให้เห็นว่าศรีเทพคือศรีทวารวดี”

นอกจากเทวรูปพระกฤษณะแล้ว อ. รุ่งโรจน์ ได้ยกเรื่องการค้นพบก้อนศิลาขนาดใหญ่ซึ่งเอ่ยถึงทวารวดี ที่วัดจันทึก บริเวณริมลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นหลักฐานที่หนักแน่นกว่าเหรียญทวารวดีที่กระจายอยู่ทั่วภาคกลางและเมืองนครปฐมโบราณ เพราะเหรียญขนาดเล็กพกพาง่าย แต่ก้อนศิลาไม่ได้เคลื่อนย้ายกันได้ง่าย ๆ ศูนย์กลางของทวารวดีมีแนวโน้มที่จะอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งเดียวกับเมืองศรีเทพ มากกว่าฝั่งตะวันตก (เมืองนครปฐมโบราณ)

อ. รุ่งโรจน์ ยังวิเคราะห์ตำแหน่งของของเมืองในบันทึกหลวงจีนเหี้ยนจังเทียบกับเมืองโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนสถานะศูนย์กลางทวารวดีของศรีเทพ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ศรีเทพค่อย ๆ ถูกลืมไปจากความทรงจำของคนยุครัตนโกสินทร์ และข้อสันนิษฐานว่าเมืองร้างเพราะโรคระบาด

“ตัวเมืองศรีเทพเอง มันไม่เคยร้างนะ อย่าไปเข้าใจผิดว่าศรีเทพร้าง เพียงแค่ลดบทบาทเท่านั้น การบอกว่าเมืองร้างด้วยโรคระบาดเป็นบทสรุปที่จบได้ง่ายสุด คือไม่ต้องหาเหตุผล นึกไม่ออกตอบไม่ถูกบอกเมืองร้างเพราะโรคระบาด… ศรีเทพไม่เคยร้าง เพียงลดขนาดจากเมืองที่เคยเป็นเซ็นเตอร์ ลดลงเรื่อย ๆ จนเป็นเมืองขนาดเล็ก”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการศึกษาและความเข้าใจเกี่ยวกับศรีเทพในยุคแรก สถานะรัฐตอนในของศรีเทพ ที่เชื่อได้ว่าต่อมากลายเป็นบรรพชนส่วนหนึ่งของผู้คนในกรุงศรีอยุธยา ราชธานีต้นกำเนิดความเป็นไทย รวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับดินแดนข้างเคียง โดยเฉพาะหลักฐานแวดล้อมอันตอกย้ำว่า “ศรีเทพ” เป็นเมืองที่ไม่เคยร้าง และเป็นศูนย์กลางของทวารวดีอย่างแท้จริง

ติดตาม ได้ใน PODCAST นี้ :

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2566