ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อไม่นานมานี้ “ศรีเทพ” หรือ “เมืองโบราณศรีเทพ” ได้รับการประกาศยกย่องรับรองจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก เนื่องจาก เมืองโบราณศรีเทพ นั้นมีความสำคัญในด้านวัฒนธรรม เห็นได้ว่า ศิลปะ ของศรีเทพมีความโดดเด่นจนได้รับฉายานามว่า “สกุลช่างศรีเทพ” นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการหลายท่านกล่าวไว้ว่า “ศรีเทพ” มีอิทธิพลสำคัญในการเป็นรากฐานบรรพชนคนไทยในปัจจุบัน
รศ. ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 1 ใน 4 นักวิชาการ จากโปรเจกต์สุดพิเศษ SILPA PODCAST ทะลุเพดานความรู้ “เมืองศรีเทพ” ได้พูดถึงประเด็นนี้ใน SILPA PODCAST ทะลุเพดานความรู้ “เมืองศรีเทพ” EP.1 “ศรีเทพ” แหล่งรวมศิลปกรรมหลายหลาก ฐานรากบรรพชนคนไทย พร้อมเกร็ดความรู้สนุก ๆ ที่อิ่มแน่นไปด้วยสาระ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวศิลปกรรมต่าง ๆ ของศรีเทพ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “สกุลช่างศรีเทพ” โดยศิลปะดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากหลากหลายวัฒนธรรม เช่น อินเดีย ทวารวดี เขมร
รวมถึงเล่าเรื่องความผิดปกติในการหันหน้าหันทางของปราสาท 2 องค์ ที่สำคัญในเมืองศรีเทพ คือ “ปรางค์ศรีเทพ” และ “ปรางค์สองพี่น้อง” โดยปราสาท 2 องค์นี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก แทนที่จะหันไปทางทิศมงคล อย่างทิศตะวันออกเหมือนศาสนสถานอื่น ๆ ในวัฒนธรรมเขมรหรือศาสนาอื่น ๆ
โดยหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม. ศิลปากร ได้ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไว้ว่า
“การที่ปราสาท 2 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ผิดกับศาสนสถานอื่นๆ ในวัฒนธรรมเขมรหรือในศาสนาอื่น ๆ ซึ่งจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ที่เป็นทิศมงคล ก็มีผู้สันนิษฐานไว้หลายทาง ว่าการหันหน้าหันทางของศาสนสถานเขมร 2 หลังนี้เป็นไปเพื่ออะไร บางท่านก็บอกว่าหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเพื่อที่จะเป็นสถานที่สำหรับบูชาเขาถมอรัตน์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง
แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอย่าลืมว่าศาสนสถาน 2 หลังนี้ เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู อาจจะเป็นเพราะว่า ที่บริเวณปรางค์สองพี่น้องมีการขุดค้นพบรูปของพระสุริยะด้วย แสดงให้เห็นว่าการหันหน้าไปทางทิศตะวันตกของปราสาท 2 หลัง น่าจะสัมพันธ์กับการที่ปราสาท 2 หลัง เคยเป็นศาสนสถานของพระวิษณุมาก่อน ซึ่งตามความเชื่อของศาสนาฮินดูเชื่อกันว่าทิศทางที่องค์พระวิษณุหรือพระนารายณ์ประทับอยู่คือทางทิศตะวันตก
ดังนั้น ปราสาทต้องสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเพื่อบูชาองค์พระวิษณุ”
นอกจากนี้ยังพูดว่ามรดกทางวัฒนธรรมเมืองศรีเทพเป็นรากฐานของคนไทยปัจจุบัน แม้ศรีเทพ จะเสื่อมลง แต่มรดกต่าง ๆ ยังสืบทอดลงมา ทั้งในกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างที่เห็นได้ชัดคือการนับถือพระวิษณุเป็นใหญ่
“การนับถือองค์พระวิษณุเป็นใหญ่ จะได้พบอีกครั้งหนึ่งในระบบที่เรียกกันว่า คติสมมติเทพในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเราได้ยกย่องพระมหากษัตริย์เทียบเท่ากับอวตารของพระนารายณ์ ซึ่งมีการเฉลิมนามขององค์กษัตริย์ว่ารามาธิบดีทุกๆ พระองค์ไป
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการนับถือองค์พระวิษณุเป็นใหญ่ ซึ่งมีร่องรอยมาที่เมืองศรีเทพ ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ได้ส่งผ่านลงมาถึงการเป็นคติที่ใช้ในการปกครองจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา รวมถึงตกทอดมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบันด้วย ซึ่งเราจะได้เห็นว่ากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์เองก็ยังสืบทอดการเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ คือ พระราม ลงมาจนถึงปัจจุบัน” ประภัสสร์กล่าว
ติดตามได้ใน PODCAST นี้ :
อ่านเพิ่มเติม :
- “สุริยเทพ” ที่หายไปยังต่างแดน จิ๊กซอว์บอกเล่าเรื่องราวพัฒนาการ “เมืองศรีเทพ”
- จากศรีเทพ สู่ “วิเชียรบุรี” ประวัติศาสตร์พันปีที่เชื่อมโยงถึงกัน
- “ศรีเทพ-เสมา” เมืองเครือข่าย ศรีทวารวดี-ศรีจนาศะ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ธันวาคม 2566