จาก “ศรีเทพ” สู่ “วิเชียรบุรี” ประวัติศาสตร์พันปีที่เชื่อมโยงถึงกัน

เมืองใน เมืองนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ศรีเทพ
เมืองใน เมืองนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อ. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ (ภาพจากเฟซบุ๊กอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)

“ศรีเทพ” เป็นเมืองโบราณที่มีความเก่าแก่ย้อนไปไกลตั้งแต่สมัยทวารวดี เมืองแห่งนี้มีพัฒนาการสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และมีความเชื่อมโยงกับ “วิเชียรบุรี”

เมืองโบราณศรีเทพในวัฒนธรรมแบบทวารวดีมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 เรื่อยมาจนถึงประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ต่อพุทธศตวรรษที่ 16 วัฒนธรรมเขมรโบราณได้แพร่ขยายครอบคลุม และเข้ามาทับซ้อนในพื้นที่เมืองศรีเทพที่แต่เดิมเป็นวัฒนธรรมแบบทวารวดี 

ซึ่งวัฒนธรรมเขมรก็กินเวลาสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งภายหลัง เมื่ออำนาจจากอารยธรรมเขมรเริ่มอ่อนกำลังลง ประกอบกับการสถาปนารัฐของคนไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นอยุธยา ที่ภายหลังก็ต่างขยายอำนาจเข้ามาบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก

จนเมื่อเมืองศรีเทพได้มีการขยับขยายย้ายออกมาจากพื้นที่เดิมบริเวณที่เป็นเมืองนอก-เมืองใน ก็มีการตั้งเมืองใหม่ ซึ่งเมืองนั้นต่อมาก็ถูกเรียกว่า “เมืองท่าโรง” 

เมืองท่าโรงในสมัยอยุธยาก็ปรากฏว่า มีเจ้าเมืองที่มีราชทินนามว่า “พระศรีถมอรัตน์” และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็โปรดให้เปลี่ยนชื่อเมือง จากเมืองท่าโรงเป็น “วิเชียรบุรี”

วิเชียรบุรีชื่อนี้ไม่ได้เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาอย่างโดด ๆ หรือไร้ความหมาย แต่กลับมีความเชื่อมโยงกับความเป็นเมืองศรีเทพ กล่าวคือ…

วิเชียรบุรี มาจากคำว่า วิเชียร ที่แปลว่า เพชรหรือแก้ว ซึ่งก็สืบคติมาจาก “เขาถมอรัตน์” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองโบราณศรีเทพ โดยคำว่า ถมอ ในภาษาเขมร แปลว่า หิน และคำว่า รัตน์ แปลว่า แก้ว เพราะฉะนั้น เขาถมอรัตน์ ก็คือ เขาหินแก้ว

เพราะฉะนั้น วิเชียรบุรีนี้ก็สัมพันธ์กับความเป็นเขาหินแก้ว หรือเขาถมอรัตน์ แล้วก็ไปสัมพันธ์กับราชทินนามของพระศรีถมอรัตน์ผู้เจ้าเมืองนั่นเอง

ติดตามเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST ทะลุเพดานความรู้ “เมืองศรีเทพ” EP.3 “ศรีเทพ” ในจารึกโบราณ โลกคู่ขนานอารยธรรมเขมร โดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ วันที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 20.00 น. ได้ที่ YouTube : Silpawattanatham

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566