“สุริยเทพ” ที่หายไปยังต่างแดน จิ๊กซอว์บอกเล่าเรื่องราวพัฒนาการ “เมืองศรีเทพ”

สุริยเทพ โบราณวัตถุ ศรีเทพ
“สุริยเทพ” ที่พิพิธภัณฑ์ Norton Simons (ภาพจาก www.nortonsimon.org)

ทำไม “สุริยเทพ” จากศรีเทพ ที่หายไปยังต่างแดน ถึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวพัฒนาการของ “เมืองศรีเทพ”

ประติมากรรม “สุริยเทพ” ที่พิพิธภัณฑ์ Norton Simon ชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในรายการโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่หายไปจากเมืองโบราณศรีเทพ

สุริยเทพ ที่ พิพิธภัณฑ์ Norton Simons
“สุริยเทพ” ที่พิพิธภัณฑ์ Norton Simon

ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี กล่าวถึงประติมากรรมสุริยเทพ ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 องค์นี้ว่า คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกถึงพัฒนาการทางเชิงช่างชั้นสูงในแบบอย่างสกุลศรีเทพ 

เนื่องจากประติมากรรมชิ้นนี้มีลักษณะพิเศษเห็นได้ชัด คือยืนแบบเอียงตนหรือที่เรียกว่า “ตริภังค์” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ สกุลช่างสารนาถ ที่ปรากฏในเทวรูปที่พบในเมืองศรีเทพ เช่น พระวิษณุ พระกฤษณะ ต่างจากประติมากรรมสุริยเทพในเมืองศรีเทพที่ยืนตรงไม่เอียงตนแต่อย่างใด 

ประกอบกับเมื่อระยะเวลาผ่านไป ช่างศรีเทพได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบผ้าคลุมยาวหรือชุดแซ็ค อย่างชาวเปอร์เซีย ที่พบในประติมากรรมสุริยเทพของเมืองศรีเทพในยุคก่อนหน้า กลายเป็นผ้าโจงกระเบนนุ่งสั้นแบบแนบลำตัว 

อาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า ช่างผู้สร้างอาจไม่ได้มีความทรงจำในการสร้างสุริยเทพตามแบบรุ่นแรก ๆ เมื่อครั้งที่ศาสนาฮินดู เข้ามาในดินแดนศรีเทพ 

ประติมากรรมชิ้นนี้จึงบอกเรื่องราวพัฒนาการของเมืองศรีเทพที่มีรูปแบบเป็นของตนเอง

อย่างไรก็ตาม ประติกรรมสุริยเทพดังกล่าวอาจให้คำตอบแก่คนที่ศึกษาเรื่องราวเมืองศรีเทพได้มากยิ่งขึ้น หากโบราณวัตถุชิ้นสำคัญนี้กลับคืนดินแดนไทยให้ศึกษาอีกครั้ง

ติดตามเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST ทะลุเพดานความรู้ “เมืองศรีเทพ” EP.4 “ศรีเทพ” ประวัติศาสตร์ที่หายไป จากมรดกไทยในต่างแดน โดย ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ วันที่ 25 ธันวาคม 2566 เวลา 20.00 น. ได้ที่ YouTube : Silpawattanatham

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2566