ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
แคร์แบร์ (Care Bear) ตุ๊กตาหมีสัญชาติอเมริกันที่มีคาแรกเตอร์สุดน่ารัก มีต้นกำเนิดจากตัวละครในการ์ดอวยพรทั่วไป แต่เมื่อเวลาผ่าน ความนิยมใน “แคร์แบร์” ที่สูงขึ้น ทำให้มันกลายเป็นตุ๊กตาที่มีมูลค่าสูงถึง 300,000 บาท!
คาแรกเตอร์สุดน่ารักบนโปสต์การ์ด
แคร์แบร์ อยู่ภายใต้ American Greetings บริษัทผลิตการ์ดอวยพรแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) โดย เจคอบ ซาเปียร์สตีน (Jacob Sapirstein) ผู้อพยพชาวโปแลนด์ ที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ
ซาเปียร์สตีนอยากเปิดร้านขายโปสต์การ์ด จึงกู้เงินธนาคารมา 50 เหรียญสหรัฐเพื่อทำฝันให้เป็นจริง ช่วงแรกเขานำเข้าโปสต์การ์ดจากเยอรมนีมาขายให้พ่อค้าท้องถิ่น กระทั่งต่อมาความนิยมในโปสต์การ์ดก็กระจายไปทั่วเมือง
ปี 1929 (พ.ศ. 2472) สหรัฐฯ ประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “The Great Depression” ถึงอย่างนั้นธุรกิจของซาเปียร์สตีนก็ไม่ได้รับผลกระทบ เขาสามารถเปิดร้านขายการ์ดอวยพรในรูปแบบบริการตนเอง มีลูกค้าเข้ามาซื้อการ์ดอวยพรแทบไม่ขาดสาย เพราะผู้คนต่างหาที่พักพิงใจ ซึ่งประโยคต่าง ๆ ในกระดาษอวยพรราคาย่อมเยาของ American Greetings สามารถทำหน้าที่นั้นได้เป็นอย่างดี
เข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทต่าง ๆ เริ่มประสบวิกฤตการเงิน แต่ American Greetings สามารถปรับตัวด้วยการออกแบบโปสต์การ์ดที่เน้นสีแดง ขาว และน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีธงชาติสหรัฐฯ โปสต์การ์ดใหม่นี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะครอบครัวที่มีลูกหลานไปออกรบ ต่างส่งโปสต์การ์ดนี้แทนความห่วงใย ช่วยเชื่อมสัมพันธ์ให้ใกล้ชิด
ทศวรรษ 1950 นับเป็นช่วงขารุ่งของบริษัทก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว ก็ยังขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เช่น แคนาดา รวมทั้งคิดค้นการ์ดอวยพรแบบใหม่อยู่เสมอ
นอกจากนี้ ยังสร้างสรรค์คาแรกเตอร์น่ารัก ๆ บนการ์ดอวยพรออกมา อย่าง ฮอลลี ฮ็อบบี (Holly Hobbie) เด็กสาวบุคลิกร่าเริงสดใส ขวัญใจชาวอเมริกัน จากนั้นก็มีคาแรกเตอร์อื่นตามมา เช่น สตรอว์เบอร์รี ชอร์ตเค้ก (Strawberry Shortcake) ที่ปรากฏตัวครั้งแรกในปี 1972 (พ.ศ. 2515) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก จนมีการผลิตเป็นตุ๊กตา การ์ตูน ภาพยนตร์ หรือแม้แต่เกม
กำเนิด “แคร์แบร์”
เมื่อมีโมเดลความสำเร็จอย่าง ฮอลลี ฮ็อบบี และ สตรอว์เบอร์รี ชอร์ตเค้ก บริษัทจึงเฟ้นหาคาแรกเตอร์ใหม่อีกเพื่อตีตลาดให้ได้มากขึ้น ในที่สุดก็ได้ “แคร์แบร์” ซึ่งปรากฏอยู่บนการ์ดอวยพรของบริษัทในปี 1981 (พ.ศ. 2524) มาสร้างความสุขให้ทุกคน
จากตุ๊กตาหมีบนการ์ดอวยพร เมื่อถึงปี 1983 (พ.ศ. 2526) American Greetings ก็นำแคร์แบร์มาผลิตเป็นตุ๊กตาหมีตัวนุ่มน่ากอด ซึ่งตุ๊กตาแต่ละตัวจะมีเสน่ห์เฉพาะของตนเอง เช่น “ฮาร์โมนี แบร์” (Harmony Bear) แคร์แบร์สีม่วงเข้ม มีนิสัยรักสงบ ไม่ชอบการแบ่งแยก, “เทนเดอร์ฮาร์ท แบร์” (Tenderheart Bear) แคร์แบร์สีส้ม มีความเป็นผู้นำ
แคร์แบร์ ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อย่างในปี 1983 ที่เปิดตัวตุ๊กตาแคร์แบร์ในงานทอย แฟร์ (Toy Fair) ที่นครนิวยอร์ก พบว่าขายหมดภายในชั่วพริบตา!
ปรากฏการณ์แคร์แบร์ยังแรงข้ามปี เช่นที่ มาร์กาเร็ต วอลช์ (Margaret Walsh) อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม กล่าวไว้ในผลงาน “Plush Endeavors: An Analysis of the Modern American Soft-Toy Industry” ว่า
“ในปี 1984 บริษัทสามารถขายตุ๊กตาแคร์แบร์มากกว่า 17 ล้านตัวจนหมดเกลี้ยง ทำรายได้ให้มากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ”
ไม่นานหลังจากผลิตตุ๊กตาแคร์แบร์ American Greetings ก็เนรมิตแคร์แบร์ให้เป็นตัวการ์ตูนผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในปี 1985 (พ.ศ. 2528) ทั้งยังสร้างภาพยนตร์เรื่อง “The Care Bears Movie” ซึ่งสามารถกวาดรายได้ทั่วโลกไปกว่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งยังเป็นหนังที่ทำเงินได้มากสุดในปี 1985 ของประเทศแคนาดาอีกด้วย
เมื่อได้รับความนิยมอย่างฉุดไม่อยู่ บริษัทจึงแตกไลน์แคร์แบร์ออกมาเยอะขึ้น เช่น “เบดไทม์ แบร์” (Bedtime Bear) ตุ๊กตาที่มีลักษณะนิสัยขี้เซา, “เบิร์ธเดย์ แบร์” (Birthday Bear) ตุ๊กตาแห่งวันเกิด ทั้งยังออกตุ๊กตาแบบพิเศษตามเทศกาลต่าง ๆ อย่าง คริสต์มาส เรียกว่าสร้างดักทุกเทศกาลสำคัญเลยก็ว่าได้
แม้ทศวรรษ 1990 กระแสตุ๊กตาจะเริ่มซบเซา ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันทุกด้าน ทว่าเจ้าแคร์แบร์ก็ไม่หวั่น ยังคงมีคอลเลกชันใหม่ ๆ ออกมาต่อเนื่อง และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เช่น นำตุ๊กตาแคร์แบร์มาสวมใส่ชุดบทบาทสมมติ ไม่ว่าจะเป็นหมอ นักดับเพลิง ซึ่งขายหมดตั้งแต่เริ่มวางตลาด และกวาดรายได้ไปกว่า 70 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนแคร์แบร์ในจอแก้วก็ยังอยู่ โดย American Greetings ได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ สร้างแคร์แบร์ในรูปแบบซีรีส์โทรทัศน์ สร้างความชื่นชอบและผูกพันกับเจ้าตุ๊กตาหมีให้เด็ก ๆ และครอบครัวมากกว่าเดิม แคร์แบร์มีซีรีส์ถึง 9 เรื่อง ทั้งยังไปแจมซีรีส์ของ สตรอว์เบอร์รี ชอร์ตเค้ก ส่วนในปี 2018 (พ.ศ. 2561) ก็จับมือกับเน็ตฟลิกซ์ ปล่อยซีรีส์ของตนเองในชื่อ “Care Bears & Cousins”
ด้วยความน่ารักอันโดดเด่นไม่เหมือนใคร รวมถึงความพิเศษที่ American Greetings ขยันสร้างเพื่อทำให้แคร์แบร์ยังเป็นขวัญใจคนอเมริกันและทั่วโลก ทำให้ในปี 2018 (พ.ศ. 2561) ตุ๊กตาแคร์แบร์รุ่น “VTG Care Bears Cousins Pink Monkey One Of A Kind 1983 PROTOYPE Plush Animal” ซึ่งเป็นรุ่นหายาก ถูกประมูลไปในราคา 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทยราว 330,000 บาท
ปัจจุบันแคร์แบร์ยังเป็นคาแรกเตอร์ที่รักษาระดับความนิยมได้เป็นอย่างดี ทั้งในสหรัฐฯ และนานาประเทศ อย่างในประเทศไทย เซเว่น อีเลฟเว่น จับมือกับแคร์แบร์ผลิตขนมสุ่มที่มีคาแรกเตอร์เจ้าตุ๊กตาหมีบรรุจุอยู่ ออกมาตีตลาดสาวกผู้ชื่นชอบ หรือบางคนก็พรีออเดอร์ตุ๊กตาแคร์แบร์มาจากสหรัฐฯ เพื่อเชยชมความน่ารักของมันก่อนใครอีกด้วย
ทั้งความเป็นมาของแคร์แบร์ และความน่ารักนุ่มนิ่มน่ากอดของมัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ถึงได้ตกหลุมรักคาแรกเตอร์เจ้าตุ๊กตาหมีตัวนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- 15 กุมภาพันธ์ 1903 “Teddy Bear” ตัวแทนนายพรานในคราบนักอนุรักษ์ วางขายเป็นครั้งแรก
- ตุ๊กตาเป็ดยักษ์สีเหลือง ศิลปะสะท้อนความทรงจำวัยเด็ก ทำไมแสลงใจรัฐบาลจีน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
American Greetings. “About us.” Access March 1, 2023. https://corporate.americangreetings.com/about-us/history/.
Jake Rossen. “The Fur Trade: How the Care Bears Conquered the ’80s.” Access February 28, 2023. https://www.mentalfloss.com/article/624675/how-care-bears-conquered-1980s.
Care Bear Expert. “A History of the Care Bears.” Access February 28, 2023. https://www.carebeartoys.com/article/a-history-of-the-care-bears/.
Margaret Walsh. “Plush Endeavors: An Analysis of the Modern American Soft-Toy Industry.” The Business History Review , no. 4 (Winter, 1992) pp. 637-670.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2566