สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 แห่งโมร็อกโก ช่วยยิว 250,000 คน พ้นความตายนาซี

สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 แห่ง โมร็อกโก การประชุมคาซาบลังกา
สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 แห่งโมร็อกโก ประทับด้านซ้าย ในการประชุมคาซาบลังกา ปี 1943

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนับล้านคน และหากมีโอกาสที่จะทำลายล้างชาวยิวให้สิ้น นาซีก็ไม่ลังเลที่จะทำ เช่นเดียวกับใน “โมร็อกโก” แต่ สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 ไม่ทรงยินยอมให้นาซีกระทำการดังกล่าวกับชาวยิว 250,000 คน ทำให้พวกเขาพ้นความตายไปได้อย่างหวุดหวิด

โมร็อกโก ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา เป็นรัฐสุลต่านในอารักขาของฝรั่งเศสมาตั้งแต่ ค.ศ. 1912 ซึ่งการเป็นรัฐในอารักขา หมายถึงรัฐที่สามารถปกครองตนเอง แต่ยินยอมยกอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจอื่นๆ ที่มี ให้กับรัฐที่เป็น “ผู้อารักขา”

ในทศวรรษ 1940 สุลต่านที่ปกครองโมร็อกโกคือ โมฮัมเหม็ด เบน ยูเซฟ (Mohammed ben Youssef) หรือที่รู้จักในพระนาม สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 พระโอรสของยูเซฟ เบน ฮัสซัน (Yusef ben Hassan) สุลต่านองค์ก่อน ตอนแรกผู้ที่ต้องสืบทอดตำแหน่งสุลต่านคือพี่ชายคนโตของสุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 แต่ฝรั่งเศสตัดสินใจเลือกพระองค์ขึ้นมา เพราะคิดว่าสามารถควบคุมเป็นหุ่นเชิดได้

แต่ฝรั่งเศสคิดผิดอย่างมหันต์!

หันไปดูสถานการณ์โลก หลังจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซีเยอรมัน ขึ้นสู่อำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1933 เขาก็แผ่อำนาจนาซีไปทั่วยุโรป ควบคู่กับการเผยแผ่ลัทธิต่อต้านชาวยิว

เดือนพฤษภาคม ปี 1940 กองทัพนาซีเยอรมันบุกฝรั่งเศส หลังจากนั้นไม่นานก็เกิด “ระบอบวิชี” (Vichy) คือรัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การกำกับของเยอรมัน ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ รวมทั้งดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส

รัฐบาลฝรั่งเศสเขตวิชีออกคำสั่งต่อต้านชาวยิว 250,000 คน ที่อาศัยอยู่ในโมร็อกโก แม้โมร็อกโกจะมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่ชาวยิวก็ผสมผสานเข้ากับสังคมที่นี่ได้ และอยู่ภายใต้การอารักขาของราชวงศ์

“ไม่มีชาวยิวในโมร็อกโก มีเพียงชาวโมร็อกโกในความดูแลเท่านั้น” สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 ทรงกล่าวไว้ แน่นอนว่าย่อมสร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลฝรั่งเศสเขตวิชี นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงต่อต้านคำสั่งของระบอบวิชี ที่จำกัดที่อยู่อาศัยของชาวยิว จำกัดการทำงานและการไปโรงเรียน อีกด้วย

โรเบิร์ต อัสซาราฟ (Robert Assaraf) นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวโมร็อกโกเชื้อสายยิว ระบุไว้ในการศึกษาเรื่อง “Mohammed V and the Jews of Morocco During the Vichy Era” ในปี 1997 ว่า “พระองค์ทรงเป็นผู้ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติโดยเนื้อแท้” และอีกเหตุผลที่ทรงดูแลชาวยิวเหล่านี้ ก็เพราะทรงเชื่อว่า เป็นความรับผิดชอบที่พระผู้เป็นเจ้ามอบหมายแก่พระองค์

สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 โมร็อกโก
(ซ้าย) สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 และพระโอรส ในปี 1950 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

แม้ทรงมีอำนาจ แต่นั่นก็เพียงในนาม ท้ายสุดรัฐบาลฝรั่งเศสเขตวิชีบีบให้สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 ต้องลงพระนามในเอกสารที่จำกัดสิทธิเสรีภาพชาวยิว ส่งผลให้ชาวยิวโมร็อกโกจำนวนมากต้องออกจากงาน เด็กๆ ถูกไล่ออกจากโรงเรียน และเช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในยุโรป ครอบครัวชาวยิวถูกบีบให้ออกจากที่พักไปอาศัยในชุมชนแออัดแสนสกปรก

สถานการณ์ของชาวยิวในโมร็อกโกยังคงไม่สู้ดีนัก กระทั่งเดือนพฤศจิกายน ปี 1941 มีเทศกาลเฉลิมฉลองประจำปี ปรากฏภาพสุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 อยู่กับเหล่าแรบไบ (ผู้นำศาสนาของชาวยิว) และบุคคลผู้ทรงเกียรติชาวยิวอีกหลายคน อันมีนัยถึงการเคียงข้างชาวยิว

เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลฝรั่งเขตเขตวิชีโกรธจัด เพราะถือเป็นการท้าทายอำนาจอย่างชัดเจน และเป็นการนำสุลต่านเข้าสู่ความเสี่ยง เพราะนาซีอาจกำจัดพระองค์ได้ทุกเมื่อ ถึงอย่างนั้นพระองค์ก็ทรงอยู่รอดปลอดภัยมาได้

วันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 1942 ทหารสหรัฐฯ 35,000 นาย ยกพลขึ้นบกที่เมืองซาฟีและเมืองเฟดาลา เมืองท่าชายฝั่งของโมร็อกโก รัฐบาลฝรั่งเศสเขตวิชีต้านกำลังไม่ไหว และเสียการควบคุมพื้นที่ในที่สุด สุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 ทรงต้อนรับกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร และส่งกองทหารของโมร็อกโกร่วมรบ

เดือนมกราคม ปี 1943 พระองค์ทรงเป็นเจ้าภาพจัด “การประชุมคาซาบลังกา” (Casablanca Conference) ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรมาร่วมวางยุทธศาสตร์พิชิตฝ่ายอักษะในยุโรป มี แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เข้าร่วม และผลก็เป็นอย่างในหน้าประวัติศาสตร์ ฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยเหนือฝ่ายอักษะ

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การปกครองของสุลต่านโมฮัมเหม็ดที่ 5 ไม่มีชาวยิวโมร็อกโกรายใดถูกส่งไปค่ายกักกันเพื่อเผชิญความตาย แต่ก็ต้องสูญเสียชาวยิวโมร็อกโกไปราว 2,100 ราย พวกเขาถูกระบอบวิชีจับกุมตัวในฐานะนักโทษการเมือง แล้วส่งไปใช้แรงงานในค่ายที่ซาฮารา จำนวนไม่น้อยเสียชีวิตเนื่องจากหิวโหย อ่อนเพลียจนหมดแรง และด้วยโรคภัยไข้เจ็บ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Theo Zenou. The Moroccan Sultan Who Protected His Country’s Jews During World War II. Smithsonian Magazine. Accessed 12 March 2024.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2567