“เล่นจริงเจ็บจริง” ผ่องศรีจำฝังใจ โดนสุรพล สมบัติเจริญ ตบหน้า – นางอิจฉาถีบ!

สุรพล สมบัติเจริญ ผ่องศรี วรนุช
สุรพลโอบไหล่ผ่องศรีในละคร เพลงน้ำตาเมียหลวง หลังกลับมาง้อขอคืนดี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2566)

ผ่องศรี วรนุช สตรีผู้มีสมญานามว่า “ราชินีลูกทุ่ง” (คนแรก) เคยมีประสบการณ์จำฝังใจกับราชาเพลงลูกทุ่งอย่าง สุรพล สมบัติเจริญ จากการร่วมงานกันใน “ละครเพลง” แต่อีกฝ่ายเข้าถึงบทบาทเกินไป จนผ่องศรีร้องไห้น้ำตาตก ขุ่นเคืองใจกันอย่างรุนแรง โดยฝ่ายชายก็ไม่ยอมยกโทษ ผูกใจเจ็บจนวันสุดท้ายของชีวิต เรียกได้ว่า “จำจนตาย” 

จุดเริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นหลังสองศิลปินระดับตำนานอย่าง ผ่องศรี วรนุช ได้รู้จักกับ สุรพล สมบัติเจริญ พ.ศ. 2503 ผ่องศรีทำเพลง “ไหนว่าไม่ลืม” เพื่อแก้กับเพลง “ลืมไม่ลง (ไม่ลืม)” ของสุรพล ที่ขับร้องมาก่อนหน้าร่วมขวบปีแล้วแต่ไม่ดังเสียที โดยทั้งสองเพลงแต่งคำร้องโดย สำเนียง ม่วงทอง 

Advertisement

ปรากฏว่าเพลง “ไหนว่าไม่ลืม” ดังระเบิดระเบ้อ ทั้งยังฉุดเพลงของสุรพลให้ดังไปด้วยกัน สุรพลจึงดึงผ่องศรีมาร่วมงานในวงดนตรี พร้อมแต่งเพลงให้ร้องอีกหลายเพลง กลายเป็น “นักร้องคู่ขวัญ” ร้องเพลงแก้กันและดันกันดังไปด้วย 

วันหนึ่งสุรพลเกิดไอเดียใหม่ โดยพัฒนาการร้องเพลงแก้กันหน้าเวทีให้เป็นรูปแบบ “ละครเพลง” คือเป็นเรื่องราวเหมือนละคร ใส่เพลงหรือเนื้อร้องให้เข้ากับเนื้อเรื่อง มีสุรพลกับผ่องศรีเป็นผู้แสดงหลักและร้องเพลงประกอบ และมีตัวละครอื่น ๆ แทรกเข้ามา ทำให้โชว์น่าสนใจยิ่งขึ้น

การนำเสนอแบบใหม่นี้เองเป็นที่มาของการผิดใจกันอย่างรุนแรงของทั้งคู่ โดย บุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่) เล่าไว้ในบทความ “ผ่องศรีร้องไห้… จำจนวันตาย โดนสุรพลตบหน้า – นางอิจฉาถีบ กระทืบ” ศิลปวัฒธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2566 ดังนี้  [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

ผ่องศรีเล่าว่า ละครเพลงที่แสดงเกี่ยวกับเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ เพลง “น้ำตาเมียหลวง” และ “น้ำตาผัว” ถูกนำมาร้องประกอบละคร เพลงน้ำตาเมียหลวง ไพฑูรย์ ไก่แก้ว เป็นคนแต่งให้ผ่องศรีร้อง ส่วนเพลงน้ำตาผัว สุรพลแต่งและร้องเอง

รวมทั้งเพลง “ลูกแก้วเมียขวัญ” ที่สุรพลเป็นคนแต่ง คนร้องบอกเล่าถึงการจะต้องจากลูกเมียไปรบทัพจับศึก และเพลง “อาลัยรัก” ที่แต่งให้ผ่องศรีร้องแก้ก็เข้ากับบทละครเพลง เพราะเป็นการอาลัยอาวรณ์เมื่อผัวต้องห่างไกลไปทำหน้าที่ให้สมชายชาติทหาร

ในเนื้อเรื่อง สุรพลกับผ่องศรีอยู่กินเป็นผัวเมียอย่างมีความสุข มีลูกด้วยกัน ต่อมาสามีซึ่งเป็นทหารไปราชการต่างจังหวัด ก่อนไปก็ต้องร้องเพลงแก้ร่ำลากัน แต่แล้วสุรพลเกิดไปมีเมียน้อย ผ่องศรีเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน เฝ้ารอวันที่ผัวจะกลับมา

วันหนึ่ง ผัวกลับมาบ้าน พาผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นเมียน้อยมาด้วย เมื่อมาถึงบ้านก็เรียก ผ่องศรีก็ออกมาต้อนรับ อารมณ์ดีใจที่เห็นหน้าผัว กลับกลายเป็นความเศร้า เมื่อ “พี่พล” และผู้หญิงคนใหม่ด่าทอและลงไม้ลงมือกับเธอ…

ดนตรีขึ้นเพลงน้ำตาเมียหลวง ผ่องศรีขับร้อง ระหว่างนั้นสุรพลก็เดินออกมาจากข้างเวทีในสภาพเมาเหล้า ซมซานกลับมาบ้านเพราะถูกเมียน้อยจับได้ว่ามีลูกมีเมียอยู่แล้วจึงไล่ส่ง สุรพลเล่นบทงอนง้อผ่องศรี ซึ่งกำลังคร่ำครวญบทเพลงโศก “น้ำตาเมียหลวง” เรียกความสงสารและความเห็นใจจากคนดู

……..

รอยแผลเป็น… จดจำไปจนวันตาย

อาชีพนักร้องนักแสดงของผ่องศรี ที่สร้างความสุขให้กับผู้ชมและผู้ฟังด้วยการเล่นละครประกอบเพลง กลับฝากรอยแผลเป็นเอาไว้ให้ผ่องศรีจดจำไปจนวันตาย

ผ่องศรีทบทวนความจำแต่หนหลังว่า การแสดงละครเพลงน้ำตาเมียหลวงร่วมกับสุรพลนั้น เธอได้รับความเจ็บปวดเพราะโดนสุรพลตบหน้าจริง ๆ โดนนางอิจฉา วันทนา สังข์กังวาล นักร้องในวงสุรพล ซึ่งเล่นบทเมียน้อย แสดงถึงบทมากเกินไปเพื่อให้ดูสมจริงสมจัง 

“พี่วันทนาแสดงได้ถึงบท เขาถีบเราจริง ๆ ส้นสูงรองเท้าที่ถีบเราเกิดมาโดนจริง ๆ จนเป็นแผลเป็นมาจนถึงวันนี้”

ราชินีลูกทุ่งเล่าพลางชี้ไปที่บริเวณต้นขาซึ่งได้รับบาดเจ็บในครั้งนั้น เพราะส้นสูงตำไปที่เนื้อ ขณะที่นางอิจฉาใช้เท้าถีบจนผ่องศรีล้มลงกับพื้นเวที แล้วยังลากไปกับพื้นอีกด้วย คนดูเกิดความรู้สึกสงสาร

“พี่วันทนาเป็นตัวร้ายของเรื่องฉุดกระชากลากถู ตบตี กระทืบเราจริงๆ จนคนดูเกลียดชัง โกรธแค้น ตะโกนด่าว่า ‘อีตอแหล’ ทั้งยังโดนขว้างด้วยกระป๋องนมผูกเชือกที่คนดูบ้วนใส่น้ำหมากขึ้นไปจนเปรอะเปื้อนกระโปรงแกหมดเลย แถมคนดูจะขึ้นไปบนเวที จะไปกระทืบอีนางตอแหล มาแย่งผัวเขา”

วันทนา สังข์กังวาล ทำร้าย ผ่องศรี วรนุช
วันทนา สังข์กังวาล ผลัดและถีบผ่องศรีล้มลงนอนบนพื้นเวที จิกผม ลากและกระทืบด้วยเท้าที่สวมรองเท้าส้นสูงทำด้วยเหล็กแหลม ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลเป็น สุรพล ยืนดูอยู่ข้างหลังดูเมียน้อยทำร้ายเมียตัวเอง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2566)

สำหรับสุรพลที่หลงเมียน้อยจนลืมเมียแรกที่เคยตกระกำลำบากมาด้วยกัน ก็เล่นบททำร้ายเมียหลวงด้วยการตบหน้า เพื่อเอาใจเมียน้อย มือที่ตบอย่างแรงไปโดนใบหน้าผ่องศรีจนเจ็บระบม

“เวลาพี่พลตบเราก็มีที่ตบพลาด ก่อนแสดงได้นัดกันไว้หลังโรง พี่พลบอกว่า ฉันออกมา เวลาฉันจะตบแก ถ้าตบทางนี้ แกหลบซ้ายนะ ตบขวาก็หลบซ้าย ตบซ้ายก็หลบขวานะ จ้ะๆๆ ทีนี้ พอแกเล่น แล้วแกลืมตัวไง แกตบขวาซ้ายเลย แล้วเราจะหลบไปทางไหนล่ะ เราถูกตบหน้าดังพัวะพะๆ หน้าเราบวม ร้องไห้ใหญ่เลย”

การแสดงละครเพลงทั้งเล่น ทั้งร้องเพลง มีตัวตลกคอยสอดแทรกเพื่อสร้างความขบขัน ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก็ปิดฉากการแสดง

ผ่องศรีเล่าต่อไปว่า “พอเข้าไปหลังโรง เราเข้าไปด่าพี่พลเลย ไม่เล่นกับโคตรพ่อโคตรแม่เอ็งแล้ว เอ็งเล่นแรง ตบจริง เจ็บนะโว้ย หนูไม่เล่นแล้ว เลิก พี่เล่นตบจริงอย่างนี้ เล่นเจ็บ หน้าตาหนูบวมแล้วนี่ จะไปร้องเพลงได้ยังไง หนูไม่ไปร้องแล้ว ไม่เอาแล้ว หนูเจ็บหนู พี่พลก็ทำทีหันไปด่าพี่วันทนาว่า มึงไปเล่นเขาจริง ๆ เราพูดว่า ก็มึงนั่นแหละ ไอ้พล มึงเล่นกับมันจริง ๆ น่ะ แล้วพี่วันทนาเขาก็ถีบเรา รองเท้าส้นสูงเหล็ก คึ่ก ๆ ๆ ๆ ส้นสูงทิ่มเรา พอถีบเข้าไป เขาคลึงอย่างนี้ เนื้อมันก็ทะลุเลยสิ แล้วลาก จิกผมลาก ลากจากเวที การแสดงละครเพลงถึงเลือดถึงเนื้อนี้ เราจดจำไปจนวันตาย ไม่มีลืม”

ราชินีลูกทุ่งกล่าวว่า ละครเพลงของวงสุรพลตอนนั้น ดังเป็นพลุแตก คนดูชื่นชอบกันมาก ตนเองได้ค่าตัวคืนละ 500 บาท แสดงอยู่ 3 – 4 ครั้งก็ไม่ได้แสดงอีก จากนั้นก็แยกตัวออกจากวงสุรพล ซึ่งอยู่ในช่วง พ.ศ. 2504 – 2505

……..

ผ่องศรี วรนุช
ผ่องศรี วรนุช สมัยยังสาว อายุ 18 ปี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2566)

ละครเพลงของวงสุรพลเป็นที่โจษขานวงการเพลงลูกทุ่ง ทำให้วงดนตรีคณะอื่น ๆ ต้องมีละครเพลงแบบเดียวกันให้แฟนเพลงได้ชม 

เมื่อผ่องศรีออกจากวงสุรพล สุรพลก็ยังคงละครเพลงเอาไว้ โดยตัวเองเป็นตัวเอกของเรื่อง ทั้งแสดงทั้งร้องเพลง ศรีนวล สมบัติเจริญ ซึ่งเป็นภรรยาเคยขึ้นร่วมแสดงบนเวทีด้วย

สุรพลถูกคนร้ายลอบยิงกลางดึกของคืนวันที่ 16 สิงหาคม 2511 ขณะขึ้นรถเบนซ์กลับกรุงเทพฯ หลังเลิกการแสดงที่หน้าวิกแสงจันทร์ วัดหนองปลาไหล ถนนมาลัยแมน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จบชีวิตขณะอายุ 38 ปี 

ส่วน ผ่องศรี วรนุช ปัจจุบัน (พ.ศ. 2567) อายุ 84 ปี ประสบความสำเร็จบนเส้นทางนักร้อง เคยได้รับแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลอันทรงเกียรติจำนวนมาก ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2534

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2567