“พระพุทธเจ้า” ปรินิพพานที่ใด ใช่ตามที่มหาปรินิพพานสูตรว่าไว้จริงหรือ?

พระพุทธเจ้า ใน บทความ พระพุทธเจ้า ปรินิพพาน ที่ใด
ภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพระพุทธประวัติตอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ภายในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ภาพจิตรกรรมภายในวิหารพระภิกษุหลวงพ่อเพ็ชร ข้างวิหารหลวงพ่อเพ็ชร วัดท่าถนน (ภาพ : wikicommon)

เคยสงสัยกันไหมว่า “พระพุทธเจ้า” ปรินิพพาน ที่ใด?

เรื่องราวนี้ปรากฏอยู่ใน บทความ “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร?” โดย พระมโน เมตฺตานนฺโท ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 21 ฉบับที่ 9 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2543 

ในบทความพูดถึงเหตุที่ทำให้พระพุทธเจ้าปรินิพพาน วันเวลาที่เกิด และอีกมากมาย แต่ครั้งนี้ จะขอยกเรื่อง “พระพุทธเจ้า” ปรินิพพาน ที่ใด ให้ทุกคนได้รู้กัน…

พระมโน เมตฺตานนฺโท ได้วิเคราะห์และอธิบายไว้ดังนี้

“ความในมหาปรินิพพานสูตรเล่าเรื่องปาฏิหาริย์มากมายเมื่อทรงทอดพระองค์ลงระหว่างต้นสาละทั้งคู่ในป่าใกล้กรุงกุสินารา แต่สิ่งที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ไม่น่าจะเป็นบริเวณแท้จริงที่ปรินิพพาน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

๑. เมื่อทรงประชวรหนักนั้น ภิกษุผู้ติดตามน่าจะขวนขวายพาพระองค์ไปหาแพทย์ที่อยู่ในเมืองมากกว่าที่จะพาไปประทับในป่า โดยเฉพาะเมื่อทรงมีอาการหนาวสั่น ปวดท้อง และกระหายน้ำมาก เนื่องจากสภาพความต้องการของร่างกายผู้ป่วย จะเป็นปัจจัยที่บังคับให้ผู้ใกล้ชิดทั้งหลายขวนขวาย ให้พระองค์ทรงพระชนม์ให้นานที่สุด 

การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมให้อบอุ่นเป็นความจำเป็นที่ต้องการในการดูแลผู้ป่วยที่หนาวจัด จึงน่าจะเป็นไปได้มากกว่าที่ว่าสาวกทั้งหลายพาพระองค์เข้ารับการรักษาภายในที่มุงบังที่ให้ความอบอุ่น

ซึ่งอาจมีแพทย์ดูแลใกล้ชิด ผู้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้พระองค์สบายที่สุด ในสภาวะเช่นนี้ผู้ที่ดูแลน่าจะพยายามให้น้ำ (ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นน้ำสมุนไพรบางอย่าง) ให้พระองค์จิบทีละน้อยเพื่อประทังความกระหาย ในสภาพนี้พระองค์เองไม่น่าจะทรงดื่มน้ำได้ทีละมากๆ

๒. เมื่อพระอานนท์ทราบว่า พระพุทธองค์จะปรินิพพานแน่แล้วได้เกิดความเสียใจจนกระทั่งจะเป็นลมไม่อาจประคองตนไว้ได้ ต้องยืนเหนี่ยวกลอนประตูรูปหัวสิงห์อยู่ กลอนประตูนี้อยู่ในป่าตามลำพังไม่ได้แน่นอน นอกเสียจากว่าพระพุทธองค์กำลังประทับอยู่ในห้องของอาคารที่อยู่ในเมืองกุสินารานั่นเอง

๓. หลังจากปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายมีมติที่จะเคลื่อนพระศพออกจากเมืองไปประตูทางทิศใต้ แต่ไม่อาจเคลื่อนพระศพได้ มิได้ระบุว่าต้องนำพระศพเข้าเมืองก่อน 

แสดงว่าสถานที่ปรินิพพานนั้นอยู่ในเมืองกุสินารานั่นเอง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2567