พระมหากัสสปะ พระสาวกผู้เลิศในการสมาทานธุดงค์

ภาพเขียน พระมหากัสสปะประนมมือไหว้ที่พระบาทพระพุทธเจ้าก่อนถวายพระเพลิง  

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบาย “ธุดงค์” ว่า “องค์ประกอบเครื่องกำจัดกิเลส, ชื่อวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดของภิกษุซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลส มี 13 อย่าง เช่น การอยู่ในป่า การอยู่โคนไม้” ซึ่งใบรรดาพระสาวกทั้งหลาย “พระมหากัสสปะ” คือผู้ที่พระพุทธเจ้ายกย่องว่า เป็นเลิศในการสมาทานธุดงค์

พระมหากัสสปะ เป็นบุตรกปิลพราหมณ์กัสสปโคตร บ้านมหาติฏฐะ จังหวัดมคธรัฐ มีชื่อว่า “ปิปผล” ภายหลังบิดามารดาจัดให้ท่านแต่งงานกับ “ภัททกาปิลานี” แต่ทั้งสองไม่ได้ต้องการแต่งงานสร้างครอบครัว ไม่ได้อยากมีบุตรธิดา จึงไม่เคยถูกเนื้อต้องตัวกัน เมื่อบิดามารดาเสียชีวิต ทั้งสองจึงบริจาคทรัพย์ทั้งหมดแล้วต่างก็ออกบวช

ขณะนั้นพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ในพระเวฬุวันมหาวิหารทรงทราบถึงเหตุว่า ปิปผลิกับภัททกาปิลานี แยกทางกันออกบวช จึงเสด็จไปประทับนั่งรอรับที่ใต้ร่มไทรเรียกว่า “พหุปุตตนิโครธ” ซึ่งอยู่ในระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทา พระมหากัสสปะก็เข้าไปขอบวชเป็นพระสาวก

พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุ แล้วประทานโอวาท 3 ข้อ 1. กัสสปะเธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงใจไว้ในภิกษุที่เป็นผู้เฒ่าปานกลาง และผู้บวชใหม่อย่างดีที่สุด 2. เราจักฟังธรรมซึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักตั้งใจฟังธรรมนั้นแล้วพิจารณาเนื้อความ 3. เราจักไม่ละสติ ที่เป็นไปในกาย คือ พิจารณาเอาร่างกายเป็นอารมณ์

หลังออกบวชแล้ว พระมหากัสสปะก็สมาทานธุดงควัตร 3 ข้อ อย่างเคร่งครัดเรื่อยมา คือ

1. การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ใช้เฉพาะแต่ผ้าบังสุกุล คือ ไม่รับจีวรจากทายก เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลมาเย็บย้อมทำจีวรเอง

2. ถือการฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ไม่รับนิมนต์ หรือลาภพิเศษอื่นใด ฉันเฉพาะอาหารที่บิณฑบาตมาได้

3. การอยู่ป่าเป็นวัตร คือ ไม่อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน แต่อยู่ป่า

ภายหลังท่านได้เพิ่มวิริยะมากขึ้น จึงสมาทานธุดงค์เพิ่มขึ้นอีก 10 ข้อ คือ

1. ถือการใช้ไตรจีวรเป็นวัตร คือ ถือผ้าเพียงสามผืน ได้แก่ จีวร สบง สังฆาฏิ อย่างละผืนเท่านั้น ไม่ใช้จีวรนอกจากผ้าสามผืนนั้น

2. ถือการบิณฑบาตรไปตามลำดับบ้านเป็นวัตร คือ รับตามลำดับบ้านตามแถวเดียวกัน ไม่รับข้ามบ้านข้ามแถว หรือเที่ยวบิณฑบาตรไปตามใจชอบ

3. ถือการฉันที่อาสนะเดียวเป็นวัตร คือ การฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีกในวันนั้น

4. ถือการฉันเฉพาะในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่น

5. การห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลัง คือ เมื่อลงมือฉันแล้ว มีผู้นำอาหารมาถวายอีกก็ไม่รับ

6. การอยู่โคนไม้เป็นวัตร ไม่อยู่ในที่มุงบัง

7. การถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร คือ อยู่เฉพาะกลางแจ้ง ไม่อยู่ในที่มุงบัง หรือแม้แต่โคนไม้ (ห้ามถือในฤดูฝน)

8. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร คือ การอยู่แรมคืนในป่าช้าเป็นประจำ

9. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามแต่เขาจัดให้ ไม่เลือกเสนาสนะเอาตามพอใจตัวเอง

10. ถือการนั่งเป็นวัตร คือ การถือนั่ง ยืน และเดิน เท่านั้น ไม่นอน

ระดับการถือหรือระดับของการปฏิบัติในธุดงค์ของพระมหากัสสปเถระนั้นมี 3 ระดับ คือ 1. ระดับเคร่งครัด เช่น ถืออยู่ป่าตลอดไป 2. ระดับกลาง เช่น สามารถอยู่ในเสนาสนะชายบ้านได้ตลอดฤดูฝน 4 เดือน อีก 8 เดือนที่เหลืออยูในป่า 3. ระดับต้น เช่น ผู้ถืออยู่ป่า สามารถอยู่ในเสนาสนะชายบ้าน คือแถวละแวกบ้าน ได้ตลอดฤดูฝนและฤดูหนาวรวม 8 เดือน อีก 4 เดือนอยู่ป่า

สำหรับพระมหากัสสปเถระนั้น นับแต่วันที่ 8 ที่ท่านบวชนอกจากการบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา ก็ถือปฏิบัติธุดงค์ระดับเคร่งครัดเรื่อยมา พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญพระมหากัสสปะหลายประการ เช่น พระมหากัสสปะเสมือนดวงจันทร์ใองใส ไม่มีเมฆหมอก, เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัย 4 ประการ ฯลฯ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พระครูรัตนญาณโสภิต(บุญเลิศ  รตฺนญาโณ). “ศึกษาปฏิปทาในการถือธุดงค์ของพระมหากัสสปเถระ” ใน, วารสารวนัมฎองแหรกพุทธศาสตรปริทรรศน์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน พ.ศ. 2558) ศูนย์บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์

พระมหาวาสุเทพาณเมธี (น้ำพุ). ศึกษาเปรียบเทียบการบรรลุธรรมของพระมหากัสสปเถระกับพระอานนทเถระ สารนิพนธ์ หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 18 มีนาคม 2565