คลูนิส, แกรซี, คาร์ดู “3 นายช่างฝรั่ง” ที่เฟื่องฟูและล้มละลายในสมัยรัชกาลที่ 5

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท นานช่างฝรั่ง
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ผลงานของ นานช่างฝรั่ง จอห์น คลูนิส (ภาพจาก ไปรษณียบัตรโบราณของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา)

สมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็น “ยุคทอง” ของสถาปัตยกรรมตะวันตกขั้นสูงสุด และ “นายช่างฝรั่ง” ในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะภายหลังการเสด็จประพาสสิงคโปร์และปัตตาเวีย (พ.ศ. 2413) และอินเดีย (พ.ศ. 2414) ที่ได้ทอดพระเนตรความงดงามของสถาปัตยกรรมยุโรปด้วยพระองค์เอง

ตั้งแต่การเสด็จประพาสสิงคโปร์ครั้งแรก พ.ศ. 2413 ถึงยุคแห่งการจัดระเบียบงานโยธาครั้งแรก พ.ศ. 2431 เป็นช่วงเวลาของการวางรากฐานสถาปัตยกรรมยุโรปในรูปลักษณ์ต้นแบบ โดยช่างฝรั่งในสไตล์ดั้งเดิม และปราศจากการแทรกแซงของผู้ว่าจ้างโดยตรง

นายช่างฝรั่ง 3 ท่านในยุคบุกเบิกนี้นามว่า คลูนิส แกรซี และคาร์ดู คือผู้อยู่เบื้องหลังความอลังการของสถาปัตยกรรมฝรั่งสมัยแรกในบางกอก มีหลักฐานปรากฏอยู่จนบัดนี้

จอห์น คลูนิส (John Clunis) ชาวอังกฤษ เจ้าของผลงาน “จวนผู้สำเร็จราชการอังกฤษ” สถานที่ประทับของรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสสิงคโปร์ พ.ศ. 2413 ทำให้ทรงประทับใจในฝีมือของนายคลูนิสอย่างมาก

ต่อมาอีก 2 ปี มีการว่าจ้างคลูนิสเป็นช่างหลวงชาวตะวันตก “คนแรก” ของรัฐบาลสยาม มีบทบาทมากในการแปลงสถาปัตยกรรมไทยให้เป็นฝรั่ง ในฐานะ “อากีเต็กหลวง” ให้เข้ามารับราชการกับรัฐบาลสยามตามนโยบายใหม่ของรัฐบาลที่จะเร่งสร้างความเจริญแบบตะวันตกในเมืองบางกอก โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารทรงฝรั่งในพระบรมมหาราชวัง

คลูนิสออกแบบและก่อสร้างหมู่พระที่นั่งอย่างตะวันตกหลายองค์ ได้แก่ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, พระที่นั่งอมรพิมานมณี, พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์, พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์, พระที่นั่งราชปรีดีวโรทัย ฯลฯ

โยอาคิม แกรซี (Joachim Grassi) สัญชาติอิตาเลียน-ออสเตรีย ผู้เข้ามาแสวงโชคเป็นช่างอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ในจีน พ.ศ. 2413 ท่ามกลางเสียงเล่าลือถึงความต้องการช่างฝรั่งในสยาม แกรซีจึงเดินทางเข้ามาเผชิญโชค

แกรซี กลายเป็นนายช่างฝรั่งผู้สร้างชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง จากงานรับเหมาจิปาถะของรัฐบาลไทย และเจ้านายไทยที่พากันสร้างวังที่พำนักแบบฝรั่ง โดยจัดตั้งบริษัทเอกชนต่างด้าว ที่ชื่อว่า Grassi Brothers and Co. ในบางกอก เมื่อ พ.ศ. 2418 ขึ้นเพื่อรับงานรับเหมาก่อสร้างโดยเฉพาะ

ผลงานชิ้นโบว์แดงของนายแกรซี ได้แก่ พระราชวังบางปะอิน, วัดนิเวศธรรมประวัติ, วังบูรพาภิรมย์, วังท่าพระ, วังวินด์เซอร์, โรงพยาบาลศิริราช, ป้อมพระจุลจอมเกล้า, กระทรวงกลาโหม, ตึกเก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ฯลฯ

สเตฟาโน คาร์ดู (Stefano Cardu) นายช่างชาวอิตาเลียน ที่เดินทางเข้ามายังเมืองบางกอก ต่อจากคลูนิสและแกรซี ราว พ.ศ. 2420 ซึ่งงานของช่างฝรั่งนับว่าเป็นที่ยอมรับของราชสำนักอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าคาร์ดูสามารถตั้งตัวบริษัทรับเหมาก่อสร้างของตนอย่างรวดเร็วใน พ.ศ. 2422

ผลงานเด่นๆ ของคาร์ดู ได้แก่ พระตำหนักของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร (ในพระบรมมหาราชวัง), ไปรสนียาคาร, พระราชวังสราญรมย์, อาคารโรงเรียนทหารสราญรมย์, ตึกแถวที่หน้าวัดราชบูรณะ ฯลฯ

แต่ก็เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า “การเปิดซองประมูล” เพื่อให้ลูกค้าได้ราคาเป็นธรรม และป้องกันการผูกขาดของช่างฝรั่ง นายช่างทั้งสามจึงจำเป็นต้องแข่งกันเสนอราคา เพื่อมิให้งานหลุดไปยังผู้รับเหมารายอื่นที่ถูกกว่าตน ขณะที่ช่างฝรั่งมากหน้าต่างก็หลั่งไหลกันเข้ามาขุดทอง เวลานั้นเมืองบางกอกเป็นที่รวมของสถาปนิกและช่างฝรั่งต่างด้าวมากที่สุดในเอเชีย

ที่สำคัญคือ พ.ศ. 2431 รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้เริ่ม “ปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน” 

ทำให้เกิดหน่วยงานใหม่อย่าง “กรมโยธาธิการ” ที่ตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมหน่วยราชการที่กระจัดกระจาย และให้เป็นที่สำหรับฝึกหัดนายช่างไทยรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีแบบตะวันตก ให้สามารถทำหน้าที่วางแผน ออกแบบ และจัดทำงบประมาณ ตลอดจนดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุด้วยตนเอง

ที่สำคัญคือเป็นการจำกัดบทบาทของช่างฝรั่ง ซึ่งผูกขาดงานด้านนี้กว่า 20 ปี

นายช่างฝรั่งยุคบุกเบิก จึงต้องหันไปทำงานเบื้องหลังงานโยธาที่เคยเป็นงานประจำ เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบ และผู้นำเข้าอุปกรณ์และเครื่องมือจากต่างประเทศ แต่ปัญหาก็คือเงินลงทุนในกิจการใหม่นั้นมหาศาลและหนี้เก่าจากงานรับเหมาก่อสร้างที่ตามเก็บไม่ได้ คือวิกฤติใหญ่ที่เหล่านายช่างฝรั่งต้องเผชิญ

คลูนิส เริ่มประสบปัญหาจากการเปิดซองประมูลแข่งกับช่างฝรั่งอื่นๆ ทำให้ทุนหายกำไรหด และหนี้เก่าที่ค้างจ่ายก็ยังไม่สามารถเก็บจากรัฐบาล เมื่อตั้งกรมโยธาธิการ เขาก็ไม่ได้รับงานออกแบบจากรัฐบาลอีก เขาเปลี่ยนไปทำโรงงานทำอิฐแทน แต่กิจการไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายก็เป็นคนล้มละลาย ถูกศาลกงสุลอังกฤษบังคับให้ขายทรัพย์สินที่มีอยู่ และสิ่งปลูกสร้างที่ท่าเตียน คลองมอญ และหนองแขม

การตั้งกรมโยธาธิการ มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกิจการของ แกรซี ไม่ว่าจะเป็นจำนวนงานใหม่ที่แทบจะไม่มีเข้ามาเลย หรือพนักงานของเขาที่ลาออกไปเข้ารับราชการในกรมโยธาธิการ เขาจึงต้องเปลี่ยนไปผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐ หิน และปูน และทำธุรกิจอื่นๆ อย่าง รับเหมาสร้างทางรถไฟ ทำเหมืองแร่ สร้างระบบชลประทาน และจัดสรรที่ดิน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ประกอบกับปัญหาหนี้เก่าจากงานออกแบบก่อสร้างที่ยังเก็บเงินไม่ได้ ในที่สุดแกรซีก็ออกจากสยามประเทศ ทิ้งธุรกิจก่อสร้างใหญ่ที่สุดของฝรั่งในบางกอกไว้เบื้องหลัง

ช่างฝรั่งต้องเผชิญแรงสั่นสะเทือนอีกครั้ง เมื่อกรมโยธาธิการถูกยกระดับขึ้นเป็น “กระทรวงโยธาธิการ” ใน พ.ศ. 2435 ภายใต้การกำกับดูแลของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ชีวิตอันโลดโผนและครึกครื้นของช่างฝรั่งอิสระต้องผันตัวมาเป็นลูกจ้างประจำที่มีสัญญาว่าจ้าง มีบำนาญ และไม่อาจรับงานนอกอันฝันเฟื่องอีกต่อไป

นายช่างฝรั่งและน้องคนเล็กแจ้งเกิดภายหลังอย่างคาร์ดู ดูจะไหวตัวทันและเอาตัวรอดมาได้ ภายหลังตั้งกรมโยธาธิการ แต่ก็ต้องเผชิญระบบ “ผู้รับเหมาช่วง” ที่เป็นคนไทยและจีน สามารถรับงานจากช่างฝรั่งตามกฎระเบียบใหม่ได้ เช่น งานไม้ งานปูหิน และงานปูกระเบื้อง ทำให้งานของช่างฝรั่งไม่สามารถรับผิดชอบแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้เช่นเคย

แต่ที่ตัดอนาคตคาร์ดูก็คือ การที่เขาฟ้องร้องเอาผิดกับเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เรื่องที่กระทรวงไม่จ่ายเงินค่างวดให้ตามสัญญา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงโต้แย้งว่าคาร์ดูบิดพลิ้วไม่ก่อสร้างได้เท่ากับที่อ้างว่าได้ทำไปแล้ว

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ไกรฤกษ์ นานา. “ความรุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมฝรั่งในบางกอก สวนทางกับชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ของผู้สร้าง” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2567