“สงครามดาร์ฟูร์” ในซูดาน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกแห่งศตวรรษที่ 21

สงครามดาร์ฟูร์ ชาว ซูนดาน ผู้พลัดถิ่น
แม่และลูกๆ ชาวซูดาน ที่ต้องย้ายไปอยู่ในค่ายลี้ภัย ในประเทศชาด เนื่องจากสงครามดาร์ฟูร์ (ภาพจาก United Nations: https://bit.ly/48wyvUS)

ซูดาน ประเทศในทวีปแอฟริกา มีความขัดแย้งภายในสูง เหตุทั้งจากความแตกต่างทางศาสนา และความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ทำให้เกิดสงครามในประเทศขึ้นหลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือ สงครามดาร์ฟูร์ ในภูมิภาค ดาร์ฟูร์ ที่โหดร้ายทารุณเสียจนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเรียกสงครามนี้ว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกแห่งศตวรรษที่ 21”

สงครามดาร์ฟูร์ (Darfur War) เกิดขึ้นใน “ดาร์ฟูร์” ภูมิภาคทางตะวันตกของซูดาน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2003 มีชนวนจากข้อพิพาทการถือครองที่ดิน ชุมชนชาวแอฟริกันผิวดำบางแห่งกล่าวหา โอมาร์ อัล-บาเชียร์ (Omar al-Bashir) ประธานาธิบดีซูดาน ที่มีฐานการปกครองอยู่ที่คาทูม เมืองหลวงของซูดาน ว่า สนับสนุนชนเผ่าอาหรับเร่ร่อนมากกว่าชาวแอฟริกันผิวดำ

อัล-บาเชียร์ ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 1993 ยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการบริหารประเทศ รวมทั้งเรื่องการทุจริต เมื่อหลายเหตุผลประกอบกันเข้า กลุ่มที่ไม่พอใจจึงลุกขึ้นจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลของอัล-บาเชียร์ สร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้นในดาร์ฟูร์ ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างโหดเหี้ยม

ช่วงแรก กลุ่มกบฏสามารถเอาชนะกองทัพซูดานได้หลายครั้ง แต่ต่อมารัฐบาลหนุนหลังกลุ่มติดอาวุธอาหรับ รู้จักกันในชื่อ “จันจาวีด” (Janjaweed) ให้สู้รบกับกลุ่มกบฏ กลุ่มจันจาวีดเข่นฆ่าชาวเมืองดาร์ฟูร์อย่างเลือดเย็น ข่มขืนและกระทำการรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เผาหมู่บ้าน ทำลายทรัพย์สิน ทั้งยังขัดขวางความช่วยเหลือขององค์การนานาชาติ ไม่ให้ส่งอาหารและยาจำเป็นเข้ามาในดาร์ฟูร์ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำอย่างหนัก

สงครามดาร์ฟูร์ คือโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ซูดาน เพราะมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 300,000 คน และต้องพลัดที่อยู่อีกเกือบ 3 ล้านคน

ค่ายผู้ลี้ภัย จาก สงครามดาร์ฟูร์ ประเทศชาด
ค่ายผู้ลี้ภัยที่พลัดถิ่นจากสงครามดาร์ฟูร์ ตั้งอยู่ในประเทศชาด (ภาพจาก Mark Knobil from Pittsburgh, USA via Wikimedia Commons)

สงครามดำเนินต่อเนื่องหลายปี จนปี 2008 องค์การสหประชาชาติและสหภาพแอฟริกาก็จัดกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปในดาร์ฟูร์ เพื่อรักษาความสงบในภูมิภาค แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสงครามดาร์ฟูร์จะยุติ

วันที่ 4 มีนาคม ปี 2009 ศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับอัล-บาเชียร์ ในข้อหาอาชญากรสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นับเป็นครั้งแรกที่ศาลอาญาระหว่างประเทศติดตามจับกุมประมุขประเทศ

อย่างไรก็ตาม อัล-บาเชียร์ ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป ท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ กระทั่งปลายปี 2018 เกิดการประท้วงใหญ่ขึ้นอีกครั้ง และยาวไปถึงปี 2019 คราวนี้กองทัพไม่อยู่ข้างอัล-บาเชียร์ แต่กลับลุกขึ้นมายึดอำนาจและโค่นล้มรัฐบาลในเดือนเมษายน ปิดฉากประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 26 ปี

สงครามดาร์ฟูร์ ยุติเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ปี 2020 จากการทำข้อตกลงสันติภาพร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ความเสียหายที่เกิดจากสงครามยังคงอยู่ และต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกนาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Ray, Michael. “8 Deadliest Wars of the 21st Century”. Encyclopedia Britannica, 18 Apr. 2023, https://www.britannica.com/list/8-deadliest-wars-of-the-21st-century. Accessed 25 February 2024.

ดาร์ฟูร์: ผู้คนเฝ้ารอความยุติธรรม ‘จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกของศตวรรษที่ 21’. บีบีซี นิวส์ ภาษาไทย. https://www.bbc.com/thai/international-51517189.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2567