“ซูดานใต้” ครองบัลลังก์ “ประเทศเกิดใหม่ล่าสุดของโลก” มาแล้วกี่ปี?

ธงชาติ สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน หรือ ซูดานใต้
ธงชาติซูดานใต้ (ภาพโดย ภาพโดย David Peterson จาก Pixabay)

สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน หรือ “ซูดานใต้” ไม่ได้เป็นประเทศเกิดใหม่เมื่อไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปีก่อน แต่เพราะกว่าจะเป็นประเทศได้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ แม้จะมีขอบเขตพรมแดนชัดเจน ก็ใช่จะได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติหรือนานาประเทศ เพราะฉะนั้นนับถึง ค.ศ. 2024 สาธารณรัฐเซาท์ซูดานที่ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 จึงยังคงรักษาสถานะประเทศใหม่ล่าสุดของโลกมาแล้วกว่า 12 ปี

การได้รับการรับรองเป็นประเทศ วางอยู่บนหลักเกณฑ์ 4 ข้อ โดย Montevideo Convention on Rights and Duties of States 1933 (อนุสัญญามอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ ค.ศ. 1933) ระบุองค์ประกอบแห่งความเป็นรัฐว่า ประชากรมีถิ่นที่อยู่ถาวร มีดินแดนที่มีเขตกำหนดอย่างแน่ชัด มีรัฐบาล และมีความสามารถที่จะมีความสัมพันธ์กับรัฐอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าหากมีทั้งหมดนี้แล้วจะมีสถานะเป็น “ประเทศ” เพราะยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมาก

Advertisement

แต่เดิม สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน เป็นส่วนหนึ่งของ สาธารณรัฐซูดาน ซึ่งซูดานได้รับเอกราชเมื่อ ค.ศ. 1956 หลังจากถูกปกครองโดยอียิปต์และเกรตบริเตน ประชากรของซูดานค่อนข้างหลากหลาย หากแบ่งตามพื้นที่ก็จะเป็นทางเหนือและทางใต้

ประชากรทางเหนือนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนมากพูดภาษาอาหรับ และนิยามตัวเองว่าเป็นชาวอาหรับ

ส่วนประชากรทางใต้เป็นคริสเตียน หรือนับถือศาสนาพื้นถิ่นของแอฟริกา ใช้ทั้งภาษาพื้นเมืองและภาษาอังกฤษในการสื่อสาร และเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์แอฟริกันมากกว่า

ในแง่การปกครอง ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังได้รับเอกราช รัฐบาลจะมาจากทางเหนือ ทำให้ชาวซูดานทางตอนใต้ไม่พอใจ เนื่องจากไม่ค่อยมีตัวแทนเข้าไปอยู่ในรัฐบาล

สงครามกลางเมือง แยกซูดานกับซูดานใต้

ความตึงเครียดยิ่งก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ นำสู่การปะทะระหว่าง 2 ฝ่าย และลุกลามกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” 2 ครั้งใหญ่ คือระหว่าง ค.ศ. 1955-1972 และ ค.ศ. 1983-2005 ซึ่งครั้งหลังประมาณการว่า มีชาวซูดานเสียชีวิตถึงราว 2 ล้านคน

สงครามกลางเมืองก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ซึ่งด้วยความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากนานาประเทศ ในที่สุดก็เกิด Comprehensive Peace Agreement 2005 (ความตกลงสันติภาพเบ็ดเสร็จ ค.ศ. 2005) มีการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลซูดานกับกองกำลังเคลื่อนไหวปลดแอกประชาชนซูดาน/กองทัพปลดแอกประชาชนซูดาน ยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อกินเวลารวมแล้วเกือบ 40 ปี

ความตกลงดังกล่าวอนุญาตให้มีการทำประชามติเรื่องเอกราช ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 2011 ผลปรากฏว่า 99% ของผู้ลงประชามติมีความเห็นให้แยกตัว

กระทั่งวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 ก็เป็นวันที่ซูดานใต้ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ ถือเป็น “วันชาติ” ของประเทศ ถัดจากนั้น ในวันที่ 14 กรกฎาคมปีเดียวกัน ก็เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ

ทั้งหมดคือที่มาคร่าวๆ ของสาธารณรัฐเซาท์ซูดาน ประเทศเกิดใหม่ล่าสุดของโลกนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

รัฐบาลพลัดถิ่น: สถานะตามกฎหมายระหว่างประเทศ.
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=49330. เข้าถึงเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2567.

McKenna, Amy. “What Is the Newest Country in the World?”. Encyclopedia Britannica, 23 Aug. 2019, https://www.britannica.com/story/what-is-the-newest-country-in-the-world. Accessed 5 February 2024.

The Comprehensive Peace Agreement between The Government of The Republic of The Sudan and The Sudan’s People Liberation Movement/Sudan’s Liberation Army. https://peacemaker.un.org/sites/peacemaker.un.org/files/SD_060000_The%20Comprehensive%20Peace%20Agreement.pdf. Accessed 5 February 2024.

Center for Preventive Action. Civil War in Sudan. https://www.cfr.org/global-conflict-tracker/conflict/power-struggle-sudan. Accessed 5 February 2024.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2567