ไทม์ไลน์ของชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอล ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์

ชาว อาหรับ ปาเลสไตน์ อพยพ ออกจาก หมู่บ้าน เมื่อ กองทหาร อิสราเอล บุก เข้าใกล้
ชาวอาหรับปาเลสไตน์ อพยพออกจากหมู่บ้าน galilee เมื่อกองทหารอิสราเอลบุกเข้าใกล้พื้นที่ ในช่วงสงคราม เดือนตุลาคม ค.ศ. 1948 หรือ สงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 1

ปัจจุบันดินแดนที่เรียกว่า ปาเลสไตน์ (Palestine) และ อิสราเอล (Israel) หรือที่ดินศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land) นั้นตั้งอยู่ในดินแดนที่มีชื่อในสมัยโบราณว่า “คานาอัน” (Canaan) ของภูมิภาคตะวันออกกลาง (Middle East) ในพื้นที่ราบตามชายฝั่งด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean) โดยทางทิศเหนืออยู่ติดกับประเทศเลบานอน (Lebanon) ทิศใต้ติดกับประเทศอียิปต์ (Egypt) ทิศตะวันออกด้านบนคือประเทศซีเรีย (Syria) และด้านล่างคือประเทศจอร์แดน (Jordan)

แผนที่จาก Public Domain : https://www.un.org/Depts/Cartographic/map/profile/israel.pdf

รัฐปาเลสไตน์ (State of Palestine) มีเนื้อที่ 6,020 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยดินแดนฉนวนกาซ่า (Gaza Strip) และบริเวณเวสต์แบงก์ (West Bank) รัฐปาเลสไตน์ได้รับการรับรองว่าเป็นรัฐเอกราช (Sovereign State) จากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และมีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก (Non-Member Observer) ของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012

แผนที่จาก Public Domain : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:West_Bank_%26_Gaza_Map_2007_%28Settlements%29.png

ส่วนรัฐอิสราเอล ซึ่งมีเนื้อที่ 20,770 ตารางกิโลเมตร ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 และเป็นสมาชิกลำดับที่ 59 ของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1949

เหตุการณ์ที่สรุปในไทม์ไลน์ต่อไปนี้ (ไทม์ไลน์ประมาณ และเหตุการณ์ในดินแดนอิสราเอลและปาเลสไตน์) เป็นการประมาณที่ขึ้นอยู่กับที่มาของหลักฐานที่ใช้ ซึ่งมาจากหลายแหล่งที่ข้อมูลไม่ตรงกันนัก หากข้อมูลที่เสนอมานี้มีความผิดพลาดไปมาก ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง

ตอน 1 : สรุปประวัติศาสตร์ของอิสราเอลและปาเลสไตน์

ก่อน 10,000 ปีมาแล้ว มีกลุ่มมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินกลาง (Mesolithic) ที่เร่ร่อนเข้ามาอาศัยอยู่ตามถ้ำในดินแดนคานาอัน หรือในปาเลสไตน์ และอิสราเอล ผลิตเครื่องมือหิน กระดูก ไม้ (?) ออกล่าสัตว์ จับปลาและเก็บพืชผักผลไม้

10,000 – 4,000 ปีมาแล้ว เริ่มมีการตั้งชุมชนแบบถาวรในดินแดนคานาอันโดยชาวคานาอัน ในสมัยก่อนที่ชาวอิสราเอล (Israelites) หรือชาวฮีบรู (Hebrews) ได้อพยพเข้ามา เช่นที่เมืองโบราณชื่อเจริโค (Jericho) ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์

เดิมชุมชนนี้มีวัฒนธรรมชื่อนาตูเฟียน (Natufian) ที่รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มีการสร้างกำแพงสูงล้อมเมืองพร้อมป้อม เพื่อป้องกันพลเมืองสองพันกว่าคนจากข้าศึก จนนับได้ว่าเป็นเมืองโบราณที่มีอายุเก่าที่สุดในโลก ที่มีการสร้างกำแพงเพื่อป้องกันศัตรู

3,500 – 1,100 ปีมาแล้ว บนดินแดนคานาอันมีกลุ่มชนชาวฟิลิสไตน์ (Philistines) ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลของดินแดนปาเลสไตน์ปัจจุบัน ในเอกสารอียิปต์โบราณมีการกล่าวถึงชาวฟิลิสไตน์ว่า เป็นชนกลุ่มหนึ่งของ “คนของทะเล” (Peoples of the Sea) เป็นกลุ่มชนที่ไม่พูดภาษากลุ่มเซมิติก (Non-Semitic Language) และมีชนชาวโฟนีเซียน (Phoenicians) นักค้าและนักเดินเรือที่อาศัยอยู่ตามเมืองท่าโบราณของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่นที่เมืองบีบลอส (Byblos) ในประเทศเลบานอน และชื่อนี้เป็นที่มาของคำภีร์ไบเบิล (Bible)

มีนักวิชาการเสนอว่า ชาวฟิลิสไตน์อพยพมาจากทางใต้ของยุโรป เช่น ประเทศกรีซแถวหมู่เกาะครีต (Crete) ซึ่งชื่อกลุ่มชนนี้ก็ได้กลายมาเป็นที่มาของคำว่า “ปาเลสไตน์” หรือชาวกรีกเรียกชาวฟิลิสไตน์ว่า ฟิลิสเตีย (Philistia) มีการขุดค้นทางโบราณคดีของหลุมฝังศพชาวฟิลิสไตน์จำนวนหนึ่ง และผลวิเคราะห์ทาง DNA ปรากฏว่าเหมือนกับ DNA ของกลุ่มคนทดลองชาวเลบานอน (Lebanese) ที่อาศัยอยู่ในประเทศเลบานอนปัจจุบัน ชนชาติที่พูดภาษาเซมิติก (Semitic) มีเช่นชาว อาหรับ ยิว อมอไรต์ อัสสีเรีย อัคคาเดีย เบบีโลเนีย โฟนีเซีย ซีเรีย คานาอัน 

3,950 – 3,750 ปี มาแล้ว (?) อับราฮัม (Abraham) หัวหน้าชนเผ่าฮีบรู เกิดที่เมืองอูร์ (Ur) ในดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัก ที่พระเจ้า (God/Yahweh) ได้มอบให้อับราฮัมนำชนเผ่าฮีบรูออกจากดินแดนเมโสโปเตเมีย ไปตั้งชนชาติใหม่บนที่ดินศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land) หรือดินแดนแห่งพันธสัญญา (Promised Land) ที่อยู่ในคานาอัน ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิลให้คำอธิบายถึงดินแดนนี้ว่า “ที่ดินของน้ำนมและน้ำผึ้ง” (Land of Milk and Honey)

3,750 ปีมาแล้ว (?) เมื่ออับราฮัมอพยพมาถึงดินแดนคานาอัน ก็พบว่า มีกลุ่มชนท้องถิ่นชาวคานาอัน (Canaanites) อาศัยอยู่บนที่ดินนี้อยู่ก่อนแล้ว ปัจจุบันชาวคานาอันโบราณสันนิษฐานว่าเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มชนที่ไม่ใช่ชาวฮีบรูที่อาศัยอยู่ในประเทศ อิสราเอล ปาเลสไตน์ เลบานอน จอร์แดน และบางส่วนของซีเรีย 

3,700 ปีมาแล้ว ในดินแดนคานาอันเกิดภัยพิบัติข้าวยากหมากแพง (Famine) ยากต่อการดำรงชีวิต ทำให้ชาวฮิบรูหรือชาวอิสราเอล (Israelites) ภายใต้ผู้นำชื่อเจคอบ (Jacob) ในคานาอันได้ตัดสินใจละทิ้งดินแดนคานาอัน และมุ่งลงใต้เข้าไปในอียิปต์ที่มีอาหารสมบูรณ์กว่า แต่กลับถูกฟาโรห์ (Pharoh) ผู้นำอียิปต์กักตัวเป็นทาสอยู่นานหลายร้อยปี

3,150 ปีก่อนหรือหลังมาแล้ว โมเสส (Moses) ผู้นำชาวฮีบรูได้ช่วยเหลือ และอพยพชาวฮีบรูออกจากอียิปต์ที่เรียกว่าเอ็กโซดัส (Exodus) มุ่งกลับไปที่ดินแดนคานาอัน ที่โมเสสเสกทะเลแดง (Red Sea) ให้เปิดช่องทางให้ชาวอิสราเอลเดินข้ามไปสำเร็จ เมื่อคณะอียิปต์ตามไล่มาจะนำชาวอิสราเอลกลับ แต่โมเสสได้เสกให้น้ำทะเลกับสู่สภาพเดิม ทำให้กลุ่มทหารอียิปต์จมน้ำตาย

ประมาณสองเดือนหลังจากนั้น พระเจ้าทรงประทานบัญญัติ 10 ประการ (Ten Commandments) บนภูเขาไสไน (Mount Sainai) ให้กับโมเสส เพื่อนำไปใช้สั่งสอนการปฏิบัติตัวรวมทั้งโทราห์ (Torah) ชุดคัมภีร์ชุดแรกของชาวฮีบรู หรือชาวอิสราเอล

3,110 ปีมาแล้ว ในที่สุดหลังเดินทางมา 40 ปี ชาวอิสราเอลภายใต้การนำของโจชัว (Joshua) ได้กลับมาถึงดินแดนคานาอันอีกครั้ง ปรากฏว่า ดินแดนคานาอัน ได้ตกเป็นของชาวฟิลิสไตน์ (Philistines) ความแตกต่างทางศาสนา และวัฒนธรรม ระหว่างชาวอิสราเอลที่นับถือพระเจ้าพระองค์เดียว และชาวฟิลิสไตน์ที่นับถือพระเจ้าหลายพระองค์ ทำให้สองกลุ่มชนนี้ไม่ถูกกัน และเป็นปรปักษ์ทำสงครามต่อกันมา

2,970 ปีมาแล้ว ซาอูล (Saul) ผู้นำของชาวฮีบรูได้ถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของชาวฮีบรูในดินแดนคานาอัน ในช่วงนี้มีเด็กหนุ่มชื่อ เดวิด (David) ได้สร้างวีรกรรมดังไปทั่วชาวฮีบรู ในการสังหารแม่ทัพร่างใหญ่ชื่อ โกไลแอธ (Goliath) ของฟิลิสไตน์

2,960 ปีมาแล้ว เดวิด ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ของชาวฮีบรู หรืออิสราเอล และสถาปนาอาณาจักรอิสราเอล (Kingdom of Israel) โดยมีเมืองหลวงที่ เยรูซาเล็ม (Jerusalem) หลังจากนี้ ชาวอิสราเอลได้เอาชนะชาวฟิลิสไตน์อย่างสิ้นเชิง

2,920 – 2,881 ปีมาแล้ว อาณาจักรอิสราเอลได้ถึงจุดรุ่งเรืองที่สุดในสมัยของกษัตริย์โซโลมอน (King Solomon) ที่มีการสร้างมหาวิหารโซโลมอน (Solomon’s Temple) อันเป็นศาสนสถานที่สำคัญของชาวฮิบรูนานถึง 400 ปีได้

2,672 ปีมาแล้ว อาณาจักรอิสราเอลล่มสลาย จากการบุกโจมตีของจักรวรรดิอัสซีเรียน (Assirian Empire)

2,646 ปีมาแล้ว เป็นช่วงของสมัยของพระพุทธเจ้าในอินเดีย 

2,537 ปีมาแล้ว มหาวิหารโซโลมอน (Solomon’s Temple) ถูกทำลายโดยกษัตริย์เนบุชชาเนซซาของบาบิโลน (King Nabuchanezzar of Babylon) ที่บุกมายึดเมืองเยรูซาเล็ม ชาวฮีบรูหรือชาวอิสราเอลถูกกวาดต้อนกลับไปที่กรุงบาบิโลน 

2,480 ปีมาแล้ว จักรวรรดิเปอร์เซีย (Persian Empire) ขยายอำนาจและบุกยึดครองบาบิโลน (Babylon) กษัตริย์เปอร์เซีย พระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great) ทรงปลดปล่อยชาวฮีบรูหรือชาวอิสราเอลในบาบิโลน ให้เดินทางกลับมายังดินแดนบ้านเกิดที่อิสราเอล เมื่อกลับไปแล้วชาวฮีบรูได้ฟื้นฟูกรุงเยรูซาเล็ม และก่อสร้างมหาวิหารเฮรอด (Herod’s Temple) เพื่อทดแทนมหาวิหารโซโลมอนที่ถูกทำลายไป

2,280 ปีมาแล้ว พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) แห่งจักรวรรดิมาซิโดเนียของกรีซ (Macedonia Empire of Greece) บุคเข้ายึดครองอิสราเอล

2,014 ปีมาแล้ว จักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) ได้ขยายอำนาจผนวกอิสราเอลให้เป็นส่วนหนึ่งของโรมัน ในชื่อแคว้นยูเดีย (Judea) ซึ่งในช่วงนี้เองที่ชาวโรมันเรียกชาวอิสราเอลว่า ชาวยิว (Jews)

ค.ศ. 5 – 30 เป็นช่วงชีวิตของพระเยซู (Jesus) ศาสดาของศาสนาคริสต์ ที่พระองค์เป็นชาวยิวที่อาศัยอยู่ในแคว้นยูเดีย

ค.ศ. 66 – 73 ชาวยิวในแคว้นยูเดียก่อกบฏเพื่อต่อต้านอำนาจปกครองของชาวโรมัน (Roman) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กรุงเยรูซาเล็มและมหาวิหารเฮรอดถูกเผาทำลาย และชาวยิวถูกฆ่าเป็นจำนวนมาก

ค.ศ. 131 – 135 ชาวยิวได้พยายามก่อกบฏต่อต้านชาวโรมันอีกครั้งแต่ไม่สำเร็จ ชาวยิวจึงได้เริ่มอพยพออกจากแคว้นยูเดีย และเดินทางไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วทวีปยุโรป

ค.ศ. 500 ดินแดนอิสราเอลตกอยู่ภายใต้อำนาจของจักวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) หรืออาณาจักรโรมันฝั่งตะวันออก (Eastern Roman Empire) มีเมืองหลวงที่คอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ปัจจุบันคือ มหานครอิสตันบูล (Istanbul) ในประเทศตุรกี ในช่วงนี้มีการปราบปรามชาวยิวครั้งใหญ่ ทำให้ชาวยิวอพยพออกจากอิสราเอลเป็นจำนวนมากขึ้น

ค.ศ. 610 เริ่มศาสนาอิสลาม (Islam) โดยศาสดาโมฮัมหมัด (Prophet Mohammad)

ค.ศ. 700 ดินแดนอิสราเอลตกอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิอิสลาม (Islamic Empire) ชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลามเริ่มอพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนอิสราเอล ซึ่งพวกเขาได้กลายมาเป็นชาวปาเลสไตน์ในเวลาต่อมา ดินแดนอิสราเอลเริ่มถูกเรียกชื่อเป็นดินแดนปาเลสไตน์ (Palestine)

ค.ศ. 1100 – 1300 นครเยรูซาเล็มและดินแดนปาเลสไตน์ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ระหว่างชาวยิว ชาวคริสต์เตียน และชาวมุสลิม จนเกิดสงครามครูเสด (Crusade) โดยชนชาติยุโรป

ค.ศ. 1516 ดินแดนปาเลสไตน์ตกอยู่ภายใต้อำนาจมุสลิมของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) 

ค.ศ. 1500 – 1900 ชาวยิวที่กระจัดกระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป ได้ตกอยู่ในสภาวะที่ถูกกดขี่ยากลำบาก พวกเขาต้องอยู่อย่างเร่ร่อนไม่มีหลักแหล่ง และเป็นที่รังเกียจของชาวยุโรป ทำให้พวกเขาต้องการที่จะเดินทางกลับมายังดินแดนอิสราเอล หรือดินแดนปาเลสไตน์ที่เขาจากมากว่าพันปี

ตอน 2 : กำเนิดรัฐอิสราเอล

ค.ศ. 1897 เกิดกระบวนการไซออนิสต์ (Zionist) ที่ก่อตั้งโดยชาวออสเตรียเชื้อสายยิวชื่อนาย ธีโอดอร์ เฮิร์ตเซิล (Theodor Herzi) โดยมีเป้าหมายในการก่อตั้งรัฐของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์

ค.ศ. 1917 เกิดปฏิญญาบัลฟอร์ (Balfour Declaration) ที่สหราชอาณาจักร (UK) สนับสนุนขบวนการไซออนิสต์ ในการก่อตั้งรัฐชาวยิวในปาเลสไตน์

ค.ศ. 1918 ดินแดนภายใต้จักรวรรดิออตโตมันที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษและฝรั่งเศส โดยดินแดนปาเลสไตน์อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในสถานะรัฐอารักขา (Protectorate State)

ทศวรรษ ค.ศ. 1920 ชนกลุ่มชาวยิวเริ่มอพยพเข้าไปในอาศัยอยู่ดินแดนปาเลสไตน์ เกิดการขัดแย้งกับชาวปาเลสไตน์ที่อยู่มาก่อน ชาวยิวที่มีฐานะร่ำรวยกว่าบางคนได้กว้านซื้อที่ดินจากชาวปาเลสไตน์ ซึ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์บางส่วนไร้ที่อยู่ และต้องอพยพออกจากปาเลสไตน์ไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และที่อื่นๆ

ทศวรรษ ค.ศ. 1930 ความขัดแย้งระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวยิวเริ่มลุกลามมากขึ้น ทำให้ทางอังกฤษพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ย และออกนโยบายจำกัดจำนวนของชาวยิวที่จะอพยพเข้ามาในปาเลสไตน์

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 – 1945) ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในยุโรป ถูกนาซีเยอรมัน (Nazi German) จับเข้าค่ายกักกันและถูกสังหาร ซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ชาวยิวที่เรียกว่า โฮโลคอสท์ (Holocaust) ทำให้มีชาวยิวล้มตายไปมากกว่า 6 ล้านคน

ค.ศ. 1945 สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ชาวยิวนับหลายล้านคนที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้เดินทางเข้าไปในปาเลสไตน์ ทำให้ปัญหาระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวยิวเพิ่มขึ้นอีก

ค.ศ. 1947 ในปาเลสไตน์ อังกฤษไม่สามารถยุติความขัดแย้งระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวยิวได้ อังกฤษจึงถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ และนำเรื่องนี้เสนอให้สหประชาชาติเพื่อให้แก้ปัญหา ผลคือ สหประชาชาติลงมติให้แบ่งดินแดนของปาเลสไตน์ออกเป็นสองส่วนคือ ดินแดนของชาวยิวและดินแดนของชาวปาเลสไตน์ โดยกรุงเยรูซาเล็มจะอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ

ค.ศ. 1948 วันที่ 14 พฤษภาคม มีการประกาศการก่อตั้งรัฐอิสราเอล (State of Israel) ในดินแดนของชาวยิวในปาเลสไตน์ การประกาศการก่อตั้งรัฐอิสราเอลทำให้กลุ่มประเทศอาหรับไม่พอใจ จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่ประกอบไปด้วย อียิปต์ ซีเรีย จอร์แดน เลบานอน และอิรัก ได้ก่อตั้งสันนิบาตอาหรับ (League of Arab) เพื่อต่อต้านอิสราเอล

ค.ศ. 1948 – 1949 สันนิบาตอาหรับส่งกองทัพบุกโจมตีอิสราเอล ทำให้เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 1 ผลคือ อิสราเอล ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา สามารถเอาชนะกองทัพสันนิบาตอาหรับได้ แต่สันนิบาตอาหรับก็ยังสามารถยึดครองดินแดนบางส่วนของอิสราเอลได้ โดยอียิปต์เข้ายึดครองดินแดนที่เรียกว่า “ฉนวนกาซ่า” ส่วนจอร์แดนก็ได้เข้ายึดครองดินแดนที่เรียกว่า “เวสต์แบงก์”

นอกจากนี้ กรุงเยรูซาเล็มถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ อิสราเอลได้ฝั่งตะวันตกของเยรูซาเล็ม และจอร์แดนได้เยรูซาเล็มฝั่งตะวันออก ผลของสงครามทำให้ชาวปาเลสไตน์นับแสนคนต้องอพยพออกจากดินแดนปาเลสไตน์ ที่ได้กลายเป็นของอิสราเอลไปอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศอาหรับรอบ ๆ ข้างแทน เช่น เลบานอน

ค.ศ. 1956 เกิดวิกฤตการณ์ที่คลองสุเอซ (Suez Canal) ที่ก่อให้เกิด สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 2 ที่อังกฤษและฝรั่งเศสสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับอียิปต์ แต่อียิปต์ได้ชัยชนะ

ค.ศ. 1964 ผู้นำชาวปาเลสไตน์ชื่อ ยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต (Yasser al-Arafat) ได้ก่อตั้งองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ชื่อขบวนการ PLO (Palestine Liberation Organization) เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล และทวงคืนดินแดนปาเลสไตน์จากชาวยิว

ตอน 3 : ความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน

ทศวรรษ ค.ศ. 1960 – 1980 ขบวนการขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ PLO ก่อวินาศกรรมและก่อการร้ายภายในอิสราเอล

ค.ศ. 1967 เกิดสงครามหกวัน (Six-Day War) หรือ สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 3 ที่อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะ และสามารถยึดครองฉนวนกาซ่าและเวสต์แบงก์จากฝ่ายอาหรับได้ และอิสราเอลยังได้ยึดครองแหลมไซนาย (Sainai) จากอียิปต์ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ที่สำคัญคือ อิสราเอลได้ยึดครองเยรูซาเล็มฝั่งตะวันออกที่เป็นของจอร์แดนกลับคืนมา กรุงเยรูซาเล็มทั้งหมดได้ตกเป็นของอิสราเอล และใน ค.ศ. 1980 อิสราเอลได้ประกาศให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของประเทศ

ค.ศ. 1973 เกิด สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 4 มีชื่อว่า สงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) ที่อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะ และได้ยึดครองดินแดนบางส่วนของซีเรียและอียิปต์

ค.ศ. 1978 อิสราเอล และอียิปต์ ได้ทำข้อตกลงสันติภาพแคมป์เดวิด (Camp David Accord) โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวกลาง

ค.ศ. 1982 อิสราเอลได้ส่งกองทัพไปกวาดล้างกลุ่ม PLO ที่ซ่อนตัวอยู่ทางใต้ของประเทศเลบานอน

ค.ศ. 1983 เดือนเมษายน สถานทูตอเมริกันในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ถูกวางระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 63 คน เดือนตุลาคมที่พักของกองทัพอเมริกันและฝรั่งเศสถูกมือพลีชีพเข้าไประเบิด ผลคือ มีทหารเสียชีวิตถึง 305 คน ศาลอเมริกันลงความเห็นว่า เป็นผลงานของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah)

ค.ศ. 1983 – 1992 ชาวเลบานอนบางส่วนที่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ (Shia Islamist) และเป็นกลุ่มทางการเมือง ได้จัดตั้งกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์เพื่อขับไล่และต่อต้านอิสราเอลจากเลบานอน และอำนาจตะวันตกที่ดำเนินการในตะวันออกกลาง

ค.ศ. 1988 วันที่ 15 พฤศจิกายน ยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต ประกาศก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ (State of Palestine) และได้ประกาศยุติการก่อการร้ายของ PLO โดยจะใช้สันติวิธีเพื่อเจรจากับอิสราเอล PLO ได้ก่อตั้งกลุ่มทางการเมืองที่มีชื่อว่า กลุ่มฟะตะห์ (Fatah) ที่เน้นการต่อสู้แบบสันติวิธี ทำให้ชาวปาเลสไตน์บางส่วนไม่พอใจ จึงเกิดกลุ่มใหม่ชื่อฮามาส (Hamas) ที่เน้นความรุนแรงในการต่อสู้

ค.ศ. 1993 อิสราเอล และปาเลสไตน์ ได้ตกลงทำสนธิสัญญาสันติภาพออสโล (Osolo Accord) โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวกลาง นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเส้นเขตแดนใหม่ โดยฉนวนกาซ่า และเวสต์แบงก์ ให้ตกเป็นดินแดนของปาเลสไตน์ โดยมีเมืองรามัลเลาะห์ (Ramallah) ในเวสต์แบงก์เป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์

ค.ศ. 1997 สหรัฐอเมริกาได้ระบุว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์เป็นองกรก่อการร้ายต่างประเทศ

ค.ศ. 2005 นายกรัฐมนตรีของเลบานอน นายราฟิค ฮารีรี (Rafiq Hariri) ถูกสังหาร ทางคณะศาลสหประชาชาติชี้ว่า เป็นผลงานของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์

ค.ศ. 2018 อิสราเอลค้นพบว่า มีการขุดอุโมงค์ใต้ดินยาวหลายกิโลเมตรผ่านเข้าไปในอิสราเอลจากทางใต้ของเลบานอน ที่เชื่อว่าเป็นผลงานของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์

ค.ศ. 2019 อิสราเอลได้ถอนออกจากการเป็นสมาชิกองค์การยูเนสโก (UNESCO)

ค.ศ. 2020 กลุ่มฮิซบอลเลาะห์สาบานว่าจะแก้แค้นที่โดรนของอเมริกันได้โจมตีสังหารผู้บัญชาการอิหร่าน (Iranian Quds Force Commander) ชื่อ คาซิม โซเลไมนิ (Qasem Solemaini) ต่อมาในปีเดียวกันเกิดระเบิดใหญ่ที่ท่าเรือในกรุงเบรุต มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และมีบ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่สอบสวนเชื่อว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์มีความสัมพันธ์กับการระเบิดใหญ่นี้

สถานการณ์ปัจจุบัน

ค.ศ. 2018 – 2023 ข้อมูลเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 จากกรมจัดหางานระบุว่า มีแรงงานไทยที่ลงทะเบียนเข้าไปทำงานเช่นภาคเกษตรในอิสราเอล 25,962 คน

ค.ศ. 2023 องค์การยูเนสโกได้ลงมติให้เขตโบราณเจริโคที่ตั้งอยู่ในเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์เป็นหนึ่งของแหล่งมรดกโลก (World Heritage Site)

ความขัดแย้งในปาเลสไตน์ ทำให้มีการแบ่งแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ (1) บริเวณฉนวนกาซ่าที่อยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มฮามาส และ (2) บริเวณเวสต์แบงก์ที่อยู่ใต้อำนาจของกลุ่มฟะตะ (Fatah) ซึ่งเป็นรัฐบาลของปาเลสไตน์

วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566 กลุ่มฮามาสติดอาวุธได้บุกโจมตีภาคพื้นดินและทางอากาศบนดินแดนนอกฉนวนกาซ่าตาม คีบุช (Kibutz) ของชาวอิสราเอล รวมหลายพื้นที่เป็นสวนผักและผลไม้ที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่นานแล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตและถูกจับไปเป็นตัวประกันหลายเชื้อชาติ รวมทั้งแรงงานไทยเป็นจำนวนมาก

วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ทางฝ่ายอิสราเอลได้ตอบโต้กลุ่มฮามาสอย่างสาหัสในฉนวนกาซ่า

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ข่าวข้อมูลจากออนไลน์รายงานว่ามีแรงงานไทยเสียชีวิตจากสงครามนี้ถึง 31 ราย แจ้งความประสงค์ขอกลับบ้าน 8,439 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 19 คน บาดเจ็บ 18 ราย นำศพกลับมาแล้ว 8 ศพ และมีคนไทยกลับมาแล้วรวม 3,849 คน

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2566 มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตในกาซ่าแล้วประมาณ 5,000 กว่าคน และ มากกว่า 1,400 คนได้เสียชีวิตในอิสราเอลนับจากวันที่ 7 ตุลาคม เป็นต้นมา

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ คนไทยในอิสราเอล เสียชีวิต 32 ราย บาดเจ็บ 19 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 22 ราย ช่วยเหลือกลับประเทศไทยแล้ว 33 เที่ยวบิน 7,282 คน

จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่กินเวลายาวนานกว่า 100 ปี หรืออาจเรียกได้ว่า 3,250 ปีมาก็ได้ นับจากที่ชาวอิสราแอลได้อพยพออกมาจากอียิปต์ เพื่อกลับไปสู่ดินแดนคานาอัน หรือปาเลสไตน์ตามที่พระเจ้าได้บอกกับโมเสสไว้ ความขัดแย้งยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนในเวลานี้และคงมีอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เอกสารอ้างอิง :

* Betty Dunn, 2021, Who Exactly Were the Philistines?, ดูจาก: https://www.biblestudytools.com/bible-study/topical-studies/who-exactly-were-the-philistines.html

* Donald Harden, 1963, Ancient Peoples and Places: The Phoenicians, Thames and Hudson, London

*  Werner Keller, 1981, The Bible As History: What Archaeology Reveals About Scripture, 2nd Revised Edition, William Morrow and Company, Inc., New York

* Aldo Massa, 1977, The Phoenicians, Editions Minerva, S.A., Genève

* James Mellart, 1965, Earliest Civilizations of the Near East, Thames and Hudson, London

*  N. K. Sanders, 1978, The Sea Peoples: Warriors of Ancient Mediterranean, Thames and Hudson, London

* Terry Tastard, 2002, World Religions, Pitkin Guides, Pitkin Unichrome, Great Britain

* International League of Peoples’ Struggles (ILPS), ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ 8 ตุลาคม 2566

* แผนที่จาก Public Domain #1: https://www.un.org/Depts/Cartographic/map/profile/israel.pdf

* แผนที่จาก Public Domain #2:  https://commons.wikimedia.org/wiki/File:West_Bank_%26_Gaza_Map_2007_%28Settlements%29.png

* Google search ในหัวข้อเช่น: Jericho, Natufian culture, Canaanites, Philistines, Babylon, Mesopotamia, Palestine, Phoenicians, Moses, Saul,  Jerusalem, Solomon, Assyria, Herold’s Temple, Roman Empire, Old & New Testaments, Jesus, Lord Buddha, Prophet Mohammad, Byzantine, Crusade, Ottoman Empire, Alexander the Great, Balfour Declaration, Theodor Herzl, Zionist, Nazi Germany, League of Arab, Gaza Strip, West Bank, Hamas, PLO, Hezbollah, Fatah, Yasser al-Arafat, Oslo Accord, ILPS, UNESCO, แรงงานไทยในอิสราเอล etc


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2566