เอเลนา มูคินา นักยิมนาสติกหญิงโซเวียต “แบกเพื่อชาติ” จนเป็นอัมพาตตลอดชีวิต

เอเลนา มูคินา
เอเลนา มูคินา (ภาพจาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=2041963135927209&set=pcb.2041968829259973)

ยิมนาสติก เป็นกีฬาที่ต้องอาศัยการฝึกฝนความแข็งแกร่งของร่างกาย และเป็นกีฬาที่อันตรายไม่แพ้กีฬาอื่น พลาดนิดเดียวอาจหมายถึงชีวิต เอเลนา มูคินา นักยิมนาสติกหญิงอันดับหนึ่งของสหภาพโซเวียต รู้ความจริงข้อนี้ดี เพราะเธอสัมผัสความเจ็บปวดนั้นด้วยตัวเอง จนวาระสุดท้ายของชีวิต

เอเลนา มูคินา นักยิมนาสติกโลกไม่ลืม

เอเลนา มูคินา (Elena Mukhina ค.ศ. 1960-2006) เกิดที่กรุงมอสโก เธอชื่นชอบกีฬายิมนาสติกกับสเกตลีลามาตั้งแต่เล็กๆ พอโตขึ้นมาหน่อยก็ฝึกฝนยิมนาสติกอย่างจริงจัง โดยมี มิคาอิล คลีเมนโก (Mikhail Klimenko) อดีตนักยิมนาสติกแชมป์เยาวชนแห่งชาติของโซเวียตเป็นผู้ฝึกสอน เขาเห็นแววรุ่งของลูกศิษย์คนนี้ จึงฝึกฝนเธออย่างเข้มงวดจนกระทั่งเปล่งประกาย กลายเป็นนักยิมนาสติกที่โดดเด่นที่สุดของโซเวียต

Advertisement
นาเดีย โกเมอเนช นักยิมนาสติก คู่แข่ง เอเลนา มูคินา
นาเดีย โกเมอเนช ขณะฝึกซ้อม (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Nadia Comaneci)

ปี 1978 มูคินาในวัย 18 ปี ฉายแสงให้ทุกคนได้เห็น เพราะในการแข่งขัน เวิลด์ แชมเปียนชิพ ที่ฝรั่งเศส มูคินากวาดไป 3 เหรียญทองในประเภททีม คะแนนรวม และฟลอร์ เอ็กเซอร์ไซส์ และอีก 2 เหรียญเงินในประเภทบาร์ต่างระดับและคานทรงตัว

ในบรรดาเหรียญทองที่ได้ มูคินาทำคะแนนเฉือน นาเดีย โกเมอเนช (Nadia Comăneci) แชมป์โอลิมปิก ปี 1976 เจ้าของตำนาน “เพอร์เฟกต์ 10” (นักยิมนาสติกคนแรกที่ทำคะแนนเต็ม 10 ในการแข่งขันบาร์ต่างระดับ ในโอลิมปิก ปี 1976 และต่อมาก็ทำได้ในอีกหลายประเภท) แถมยังเอาชนะ เนลลี วลาดิมีรอฟนา คิม (Nellie Vladimirovna Kim) แชมป์โอลิมปิก ปี 1976 เพื่อนร่วมชาติได้อีกต่างหาก

เอเลนา มูคินา
เอเลนา มูคินา (ภาพจาก https://www.ighof.com/inductees/2021_Yelena_Mukhina.php)

ถึงใครจะบอกว่ากีฬาไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่ในยุคนั้นที่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากับโซเวียตยังไม่ราบรื่น ประกอบกับโซเวียตบุกอัฟกานิสถานในปลายเดือนธันวาคม ปี 1979 รู้จักกันในชื่อ “สงครามโซเวียต-อัฟกัน” เพื่อสนับสนุนรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในการปราบกองกำลังมุสลิมต่อต้านคอมมิวนิสต์

สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวแทนโลกเสรีนิยมประชาธิปไตย เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ จึงคว่ำบาตรโซเวียตด้วยการไม่เข้าร่วม โอลิมปิก ปี 1980 ที่โซเวียตเป็นเจ้าภาพ พร้อมเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรบอยคอตต์ ผลปรากฏว่า มีกว่า 60 ประเทศ ที่ไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วม เช่น แคนาดา เยอรมนีตะวันตก อาร์เจนตินา ชิลี อียิปต์ จีน ญี่ปุ่น ไทย ฯลฯ กลายเป็นหนึ่งในโอลิมปิกครั้งที่มีชาติต่างๆ บอยคอตต์มากสุดในประวัติศาสตร์

โซเวียต ที่ไม่คิดว่าตัวเองเป็นสองรองใคร จึงต้องทุ่มสุดตัว คว้าชัยชนะมาให้ได้มากที่สุด และหนึ่งในนักกีฬาที่ถูกคาดหวังให้ล่าเหรียญทองก็คือ เอเลนา มูคินา

อุบัติเหตุเปลี่ยนชีวิต

นอกจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่พลิ้วไหวเป็นธรรมชาติดูเพลินตา สิ่งที่จะดึงคะแนนจากกรรมการได้ก็คือ “ท่ายาก” ทั้งหลาย

ตอนนั้นท่าที่ขึ้นชื่อว่า โหดหิน ยาก และอันตรายที่สุด คือ “ท่าตีลังกาโธมัส” (Thomas salto) ตั้งตามชื่อ เคิร์ท โธมัส (Kurt Thomas) นักยิมนาสติกชาวอเมริกัน ที่คิดท่าขึ้นสำหรับยิมนาสติกประเภทฟลอร์ เอ็กเซอร์ไซส์ ความยากคือต้องพุ่งไปข้างหน้า ตีลังกาหลายรอบ หมุนตัว 1 รอบครึ่งกลางอากาศ ตอนใกล้ลงฟลอร์ต้องคำนวณระยะให้ดี เพื่อม้วนตัวขึ้นมาทำท่าจบ ไม่งั้นอาจพลาดท่าเอาศีรษะลงพื้นจนคอหัก

ดูท่าดังกล่าวได้จากคลิปนี้

ที่ผ่านมามูคินาทำผลงานได้ยอดเยี่ยม แต่นั่นยังไม่พอ เธอต้องพัฒนาตัวเองและเค้นศักยภาพออกมาให้ถึงขั้นสุด เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับโอลิมปิก 1980 ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งท่าตีลังกาโธมัสก็เป็นอีกท่าที่มูคินาต้องฝึกฝนอย่างหนัก เธอเหมือนแบก “ชาติ” ไว้บนบ่า ต้องฝึกซ้อมให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อย่างที่ชาติอื่นไม่สมควรจะมีข้อกังขาใดๆ กับความยิ่งใหญ่ของโซเวียต

มูคินาทุ่มเทชีวิตเพื่อยิมนาสติกอย่างหนัก เค้าลางเริ่มมาเยือนเมื่อวันหนึ่งเธอประสบอุบัติเหตุจากการฝึกซ้อมจนขาหัก ทำให้ไม่สามารถลงแข่งเวิลด์ แชมเปียนชิพ ในปี 1979 ได้อย่างที่โซเวียตหวัง

แม้รู้ว่ามูคินาทรมานจากอาการบาดเจ็บ แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ให้เธอพักผ่อนจนฟื้นตัวเต็มที่ กลับให้ฝึกซ้อมตามปกติ ซึ่งอาการบาดเจ็บเรื้อรังนี้เอง ที่ทำให้เธอไม่สามารถตีลังกาได้อย่างทรงพลังเหมือนเดิม

มูคินาประเมินตัวเองแล้วว่า หากทำท่าตีลังกาโธมัสอาจคอหักได้ และพยายามบอกโค้ชทีมชาติหลายครั้ง แต่โค้ชก็ยังเชื่อมั่นว่าเธอทำได้ บรรดาแฟนๆ กีฬาก็เช่นกัน พวกเขาคาดหวังให้นักกีฬาขวัญใจต้องแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะบาดเจ็บแค่ไหนก็ต้องกลับมาโลดแล่นในสนามให้ได้

ขณะเดียวกัน มูคินาเองก็มีความขัดแย้งในใจ “ฉันต้องการพิสูจน์ความเชื่อมั่นที่ทุกคนมีให้ฉัน และฉันจะเป็นฮีโร่ให้ได้”

แล้วเหตุการณ์ช็อกโลกก็เกิดขึ้น วันที่ 3 กรกฎาคม ก่อนโอลิมปิก ปี 1980 จะเริ่มต้นขึ้นเพียง 2 สัปดาห์ ขณะที่มูคินาฝึกซ้อมท่าตีลังกาโธมัส เพียงเสี้ยววินาทีของจังหวะลงพื้น มูคินาพลาดเอาคางลง ส่งผลให้เธอได้รับบาดเจ็บหนัก

ร่างกายของมูคินาตั้งแต่ส่วนคอลงมาเคลื่อนไหวไม่ได้ ปิดฉากนักยิมนาสติกดาวเด่นนับแต่นั้น

เอเลนา มูคินา
เอเลนา มูคินา (ภาพจาก https://themedalcount.com/2020/09/02/the-elena-mukhina-tapes/)

จากนักยิมนาสติกที่มีทักษะการควบคุมร่างกายอย่างเยี่ยมยอด ขึ้นแท่นนักยิมนาสติกผู้ยิ่งใหญ่ของโซเวียต หลังประสบอุบัติเหตุ มูคินาต้องค่อยๆ ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวร่างกาย ฝึกการช่วยเหลือตัวเอง ควบคู่กับการเยียวยาสุขภาพจิตใจอย่างหนัก เธอใช้ชีวิตเงียบๆ ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ และเป็นนักเขียนรับเชิญให้หนังสือพิมพ์มอสโก นิวส์ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980

“ฉันได้แต่รอให้ชื่อเสียงผ่านไปเสียที ฉันไม่ต้องการมันอีกต่อไปแล้ว จดหมายเหรอ? ก็มีส่งมานะ พวกเขาเขียนจดหมายมาหาฉัน แต่ส่วนมากก็เอาแต่ถามว่าเมื่อไหร่ฉันจะกลับไปลงแข่งซะที ซึ่งสิ่งที่ฉันต้องการอย่างเดียวเลยก็คือปล่อยให้ฉันอยู่เงียบๆ เถอะ”

“แฟนๆ ถูกบ่มเพาะให้เชื่อในความเป็นฮีโร่ของนักกีฬา นักกีฬาขาหักต้องกลับมาลงเตะในสนาม นักกีฬาที่ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองต้องกลับมาเล่นบนลานน้ำแข็งอีกครั้ง ทำไม? เพื่ออะไร? เพื่อที่จะได้กลับมารายงานตัวว่า ‘ภารกิจเพื่อชาติเสร็จสิ้นแล้ว’ งั้นเหรอ?” มูคินาให้สัมภาษณ์

มูคินายังวิจารณ์ด้วยความเจ็บปวดอีกว่า โปรแกรมยิมนาสติกของโซเวียมต้มตุ๋นประชาชน และกระเหี้ยนกระหือรือจะเอาแต่เหรียญทอง ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม

ที่เธอบอกอย่างนี้ ส่วนหนึ่งเพราะหลังเกิดอุบัติเหตุ รัฐบาลโซเวียตพยายามปกปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดกับนักกีฬาระดับ “ความหวังของชาติ” อาจส่งผลกระเทือนภาพลักษณ์ของโซเวียตอย่างใหญ่หลวง

แม้เธอจะไม่ได้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาระดับโลกในปี 1980 อย่างที่หวังไว้ แต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International olympic Committee-IOC) ก็ไม่ลืมว่ามูคินามีความสำคัญต่อวงการกีฬาโอลิมปิกเพียงใด และด้วยความกล้าหาญในการต่อสู้กับอัมพาต IOC จึงมอบเครื่องอิสริยาภรณ์โอลิมปิก (Olympic Order) แก่มูคินาในเวลาถัดมา ส่วนท่าตีลังกาโธมัสก็ถูกแบนไปในที่สุด เพราะมีนักยิมนาสติกหลายรายนอกจากมูคินา ที่เกิดอุบัติเหตุจากการฝึกฝนท่านี้

มูคินาเสียชีวิตในปี 2006 ขณะอายุ 46 ปี ด้วยภาวะแทรกซ้อนจากอัมพาต เหลือเพียงตำนานความยิ่งใหญ่ของนักกีฬายิมนาสติกแห่งยุคสมัยให้จดจำเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

A brief history of Olympic boycotts. https://www.trtworld.com/magazine/a-brief-history-of-olympic-boycotts-52406. Accessed 22 February 2024.

“Yelena Mukhina: Grown-up Games”. https://www.oocities.org/graf_de_la_fer/mukhina-int.html. Accessed 22 February 2024.

Yelena Mukhina. https://www.ighof.com/inductees/2021_Yelena_Mukhina.php. Accessed 22 February 2024.

Britannica, The Editors of Encyclopaedia. “Soviet invasion of Afghanistan”. Encyclopedia Britannica, 25 Dec. 2023, https://www.britannica.com/event/Soviet-invasion-of-Afghanistan. Accessed 22 February 2024.

Mike Davis. “After Her Injury a Soviet Coverup Hurt Elena Mukhina Even More”. https://themedalcount.com/2020/02/25/after-her-injury-a-soviet-coverup-hurt-elena-mukhina-even-more/. Accessed 22 February 2024.

Mike Davis. “Shortly After Her Paralysis Elena Mukhina Wrote a Letter”. https://themedalcount.com/2019/10/21/shortly-after-her-paralysis-elena-mukhina-wrote-a-letter/. Accessed 22 February 2024.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567