กรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานสาเหตุ “ช้างป่า” หมดกรุงเทพฯ

จิตรกรรมฝาผนัง วัดใหม่เทพนิมิตร ช้าง ช้างป่า
ภาพขบวนเสด็จพระราชดำเนินของเหล่ากษัตริย์ แวดล้อมด้วยข้าราชบริพารและเครื่องอิสริยยศพร้อมพรั่งไปยังเขาวงกต จิตรกรรมฝาผนังวัดใหม่เทพนิมิตร,กรุงเทพฯ (ภาพจากหนังสือ "จิตรกรรมฝาผนังหนึ่งในสยาม" จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เมืองโบราณ)

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานสาเหตุ “ช้างป่า” หมดกรุงเทพฯ

นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ช้าง ถือได้ว่าเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน สัมพันธ์กับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนไทยในอดีตมาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว เวียดนาม พม่า กัมพูชา ฯลฯ ก็ล้วนให้ความสำคัญกับช้างมาตั้งแต่โบราณเช่นกัน

Advertisement

ในสังคมไทยถือได้ว่า ช้าง เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง มีความสำคัญกับสังคมไทยมาแต่อดีตกาล ไม่ว่าจะเป็นในช่วงสุโขทัย อยุธยา หรือรัตนโกสินทร์ สัญลักษณ์ของช้างนั้นถูกทำให้กลายเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์โดยตลอด ในฐานะของพาหนะในการทำสงครามและเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิราช ช้างจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและบุญบารมี ไปจนถึงเป็นสัญลักษณ์ของชาติ

การล่าช้างเป็นสิ่งที่กษัตริย์ไทยนิยมทำกันมากแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา มาจนถึงรัตนโกสินทร์ ในราชสำนักมีเพนียดสำหรับคล้องช้างและมีกรมพระคชบาลไว้คอยดูแล เลี้ยงช้างหลวง ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปประเทศรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเพื่อให้ทันสมัยมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ช้างถูกลดบทบาทและความสำคัญลง และความเจริญที่เข้ามานั้น ทำให้ ช้างเถื่อน หรือ ช้างป่า ในทุ่งหลวง ต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัยและลดจำนวนลงไป

ช้างเถื่อน หรือ ช้างป่า ในทุ่งหลวงนั้น ต่างจากช้างเถื่อนในพื้นที่อื่น ๆ เพราะเป็นช้างโขลงของหลวงที่แต่เดิมเคยอาศัยในทุ่งหลวง เพื่อไว้เลือกจับที่เพนียดเป็นครั้งคราว ส่วนช้างที่ไม่จับก็ปล่อยกลับทุ่งหลวงตามเดิม ในรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ว่าจะมีการจับช้างให้แขกต่างชาติดู เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของชาวต่างชาติ แต่การจับช้างก็ได้เสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆ

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยกล่าวถึงช้างเถื่อนหรือช้างป่าในหนังสือนิทานโบราณคดีว่า เคยมีอยู่มากในกรุงเทพฯ “ในเมืองไทยนี้มีช้างเถื่อน (คือช้างป่า) อยู่มากมาแต่ดึกดำบรรพ์ถึงเดียวนี้ ที่ไหนมีช้างเถื่อนยังอยู่ได้ก็ยังมีช้างเถื่อนแทบทุกมณฑล ในมณฑลกรุงเทพฯ นี้ แต่ก่อนก็ยังมีช้างเถื่อนอยู่ในทุ่งหลวงทางภาคตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่แขวงจังหวัดนครนายกตลอดลงมาจนทุ่งบางกระปิในแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2543 : 420)

ท่านยังได้อธิบายถึงการพัฒนาและการขยายตัวทางการเกษตร ที่ได้สร้างปัญหาระหว่างช้างเถื่อนและชาวบ้าน “การจับช้างก็เสื่อมทรามลงโดยลำดับ เพราะเป็นเครื่องขัดขวางความเจริญของบ้านเมืองในอย่างอื่น เป็นต้นแต่การบำรุงกสิกรรม ด้วยช้างโขลงอยู่ในทุ่งหลวงกีดขวางการทำนาแต่ยังพอผ่อนผันกันมาได้หลายปี” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2543 : 423)

จนเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น “คืนวันหนึ่งมีช้างเถื่อนในทุ่งหลวงตัวหนึ่ง เห็นจะเป็นเวลาตกน้ำมัน ขึ้นไปยืนอยู่บนทางรถไฟที่ย่านเชียงราก พอรถไฟบรรทุกสินค้าแล่นขึ้นไปก็ตรงเข้าชนรถไฟช้างก็ตาย รถไฟก็ตกรางทั้งสาย” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2543 : 424) หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ช้างเถื่อนทั้งหมดได้ถูกกวาดต้อนจากทุ่งหลวงไปอยู่ในป่าเชิงเขาใหญ่ในจังหวัดนครนายก การจับช้างที่เพนียดจึงถูกยกเลิก และช้างเถื่อนก็หมดไปจากกรุงเทพฯ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว

การจากไปของช้างเถื่อนในกรุงเทพฯ จึงเกิดมาจากการพัฒนาของประเทศที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย สะท้อนให้เห็นว่าความเจริญและความเป็นสมัยใหม่ที่ในบางครั้งอาจทำให้เราหลงลืมรากเหง้าของบรรพบุรุษที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน แม้แต่ช้างที่ถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของเรามาแต่โบราณก็ตาม

หรือบางที” การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไม่ได้พรากช้างเถื่อนไปจากกรุงเทพฯ แต่อาจเป็นเราเองที่เลือกจะพัฒนาจนผลักไสสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของเราออกไปเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หนังสือ “นิทานโบราณคดี”. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ดอกหญ้า. 2543.

หนังสือ “อยุธยา ยศยิ่งฟ้า ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมกรุงศรีอยุธยา ว่าด้วย วิถีชีวิตไพร่ฟ้าข้าไทย”. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กองทุนแบ่งปันเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ. 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 13 มีนาคม 2562