กษัตริย์ฮาวาย เสด็จฯ เยือนสยาม หวังยลช้างเผือก คณะติดใจ “ไวน์แห่งปะการัง”

พระเจ้าคาลาคาอูอา กษัตริย์ฮาวาย
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างเสด็จฯ เยือนประเทศอินเดียในปี พ.ศ. ๒๔๑๕/ค.ศ. ๑๘๗๒, (ขวา) พระเจ้าคาลาคาอูอา (จากหนังสือ Around the World with a King)

พระเจ้าคาลาคาอูอา กษัตริย์ฮาวาย เสด็จฯ เยือนสยาม หวังยลช้างเผือก คณะติดใจ “ไวน์แห่งปะการัง”

พระเจ้าคาลาคาอูอา ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรฮาวาย ได้เสด็จฯ มาเยือนสยามในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน พ.ศ. 2424/ค.ศ. 1881 ระหว่างการเสด็จประพาสรอบโลก เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ

พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ฮาวายพระองค์แรกที่เสด็จประพาสรอบโลก โดยแวะไปที่แคลิฟอร์เนียก่อนแล้วจึงทรงเยือนญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก จากนั้นทรงแวะจีน ฮ่องกง สยาม สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า อินเดีย อียิปต์ อิตาลี อังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรป ก่อนแวะสหรัฐ ระหว่างการเดินทางกลับสู่ฮาวายในปลายเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน ขณะที่เสด็จประพาสนั้น เจ้าหญิงลิลิอูโอคาลานีทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ

นายวิลเลียม เอ็น. อาร์มสตรอง ซึ่งเป็นอัยการสูงสุดของรัฐบาลฮาวาย ได้ตามเสด็จในครั้งนี้ด้วย เขาได้บันทึกการเดินทางครั้งนั้นไว้และตีพิมพ์เป็นหนังสือใน ค.ศ. 1904 ชื่อ “Around the World with a King” ในที่นี้จะขอตัดตอนบางส่วนที่เห็นว่าน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง

เมื่อ “กษัตริย์ฮาวาย” เสด็จฯ เยือนสยามครั้งแรก 

เนื่องจากราชอาณาจักรฮาวายและสยามไม่ได้มีสนธิสัญญาต่อกัน ฮาวายจึงไม่มีทูตอยู่ในสยาม ด้วยเหตุนี้ กระบวนเสด็จของกษัตริย์ฮาวายจึงมิได้หวังว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด และเข้าใจว่าทางสยามคงเห็นฮาวายเป็น “แผ่นดินที่ห่างไกลและไม่เป็นที่รู้จัก” แต่พระเจ้าคาลาคาอูอาก็ทรงหวังว่าจะได้เห็นช้างเผือกที่โด่งดังของสยาม เช่นเดียวกับผู้คนทั่วโลกในสมัยนั้น

เมื่อเรือของพระองค์เข้ามาถึงอ่าวไทย และคณะผู้ติดตามกำลังว่าจ้างเรือไอน้ำเพื่อเดินทางเข้าบางกอกอยู่นั้น ปรากฏว่ามีเรือหลวงไปจอดใกล้ๆ พร้อมตัวแทนจากฝ่ายสยามไปต้อนรับ โดยที่ทางฝ่ายฮาวายไม่คาดคิดมาก่อน

เรื่องของเรื่องคือกงสุลสยามในฮ่องกงได้ส่งข่าวมาล่วงหน้าแล้วว่ากษัตริย์แห่งฮาวาย ซึ่งทางฮ่องกงให้
การต้อนรับในฐานะอาคันตุกะของพระราชินีแห่งอังกฤษ ทรงอยู่ในระหว่างการเดินทางมายังสยาม ฉะนั้น ทางการสยามจึงเห็นสมควรให้การต้อนรับอย่างเต็มที่ตามฐานันดรศักดิ์

ขณะที่เรือหลวงนำกษัตริย์แห่งฮาวายและผู้ติดตามเข้ามาในบางกอกนั้น ชาวฮาวายเห็นต้นมะพร้าวและสภาพที่คุ้นตาเข้า จึงร้องออกมาว่า “นี่คือฮาวาย” และ “ถึงบ้านในที่สุด” พร้อมทั้งหวังว่าทางสยามจะต้อนรับขับสู้ด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน

ขณะนั้น หลักวิวัฒนาการของดาร์วินคงกำลังบูมน่าดู เพราะเมื่อนายอาร์มสตรองเห็นว่าชาวสยามหลายพันคนเกิดแก่เจ็บตายบนเรือนแพหรือเรือนริมฝั่งน้ำ จึงได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าขำว่าชาวสยามน่าจะมีเท้าเป็นพังผืด คงจะแปลกดีพิลึกหากชาวสยามมีเท้าเหมือนตีนเป็ดจริง

บัตรเชิญที่นายอาร์มสตรองได้รับเพื่อเข้าร่วมงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ (จากหนังสือ Around the World with a King)

นายอาร์มสตรองได้ตั้งข้อสังเกตหลายอย่างเกี่ยวกับประสบการณ์ครั้งนั้น เป็นต้นว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบก.ออนไลน์) “เราก้าวขึ้นรถหลวง ซึ่งขับโดยพนักงานขับรถที่แต่งกายด้วยชุดสีแดงและทองขลิบด้วยสีเหลือง และสวมหมวกผ้าไหม เท้าและขาเปลือยเปล่า”

“เราก้าวเข้าสู่อาณาบริเวณของพระราชวัง เฟอร์นิเจอร์ สไตล์อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และสยามคละเคล้ากัน

เจ้าฟ้าหลายพระองค์ตรัสภาษาอังกฤษได้ บางองค์เคยเสด็จไปยุโรปมาแล้ว แต่เมื่อเทียบกับจีนและญี่ปุ่นแล้ว เห็นได้ชัดว่าเป็นเชื้อชาติที่ด้อยกว่า”

เมื่อเราเข้าสู่ห้องพัก ก็พบว่า มีการมอบหมายบ่าวรับใช้แปดนายให้พระเจ้าคาลาคาอูอา และห้าคนสำหรับผู้ตามเสด็จแต่ละคน บ่าวเหล่านี้เป็นชายหนุ่มที่มาจากตระกูลดี และได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่นี้ ทุกคนไม่เข้าใจวิถีชีวิตตามแบบต่างชาติ และพูดแต่ภาษาของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งคอยออกคำสั่งและทำหน้าที่เป็นล่าม”

ในความดูแลของคนเหล่านี้ ข้าพเจ้าไม่ต้องทำอะไรเองเลย คนเหล่านี้คิดว่าหน้าที่ที่มีต่อตัวแทนจากรัฐต่างชาติคือคอยคาดหมายและตอบสนองความต้องการทุกด้าน เมื่อข้าพเจ้าล้างหน้า คนเหล่านั้นก็ห้อมล้อมอยู่รอบตัว คนหนึ่งถือผ้าเช็ดตัว อีกคนหนึ่งยื่นสบู่ให้ อีกคนหนึ่งนำหวีและแปรงมาให้ก่อนที่ข้าพเจ้าต้องการใช้ อีกคนหนึ่งถือเสื้อคลุมของข้าพเจ้า

ส่วนอีกคนหนึ่งถือกางเกงเผื่อว่าข้าพเจ้าต้องการที่จะเปลี่ยน ทุกคนยืนก้มโค้งขวางทางข้าพเจ้า และสูบบุหรี่ ข้าพเจ้านั่งลงเพื่อจดบันทึกลงสมุดบันทึกประจำวัน บ่าวคนหนึ่งถือขวดหมึก อีกคนหนึ่งส่งปากกาให้ อีกคนถือกระดาษซับ และอีกคนหนึ่งเลื่อนกระดาษบันทึกมาหาข้าพเจ้าด้วยมือข้างหนึ่งขณะที่มืออีกข้างหนึ่งถือซองจดหมายไว้ พวกเขาไม่เข้าใจคำสั่งและภาษาใบ้ของข้าพเจ้า พอข้าพเจ้าเปิดหีบเสื้อผ้า คนหนึ่งก็รีบหยิบเครื่องแบบทางการทูตออกมา อีกคนหนึ่งหยิบดาบ

ขณะที่อีกคนหยิบหมวกของข้าพเจ้า แล้วถือสิ่งเหล่านั้นไว้ขณะยืนเรียงแถวต่อหน้าข้าพเจ้า โดยไม่เห็นว่าข้าพเจ้าเพียงแค่ต้องการแขวนสิ่งดังกล่าวเท่านั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถไล่พวกเขาไปได้ พวกเขาล้อมรุมข้าพเจ้าอย่างสุภาพที่สุด เมื่อข้าพเจ้าเข้านอนในตอนดึก บ่าวห้าคนก็หลับผล็อยบนโซฟาและเก้าอี้ในห้องของข้าพเจ้า โดยที่เสื้อผ้า รองเท้าบู๊ต และหมวกวางอยู่บนเตียงอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย”

พวกเราทุกคนกระหายที่จะดื่มน้ำมะพร้าวกัน ข้าพเจ้าจึงวาดรูปต้นมะพร้าวคร่าวๆ ลงบนกระดาษ โดยวาดลูกมะพร้าวให้โดดเด่นที่สุด และชี้ไปที่ลูกมะพร้าวนั้น หลังจากที่สูบบุหรี่และปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับภาพวาดของข้าพเจ้า หนึ่งในนั้นก็ฉุกคิดได้ว่าคืออะไร และรีบรุดออกจากที่นั่นทันที

ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง ก็มีลูกมะพร้าวกองมหึมาอยู่ในสนามพระราชวัง แต่ละลูกมีขนาดใหญ่และอ่อน มีเนื้อนุ่มเป็นใยและน้ำมะพร้าวที่อร่อยที่สุด ข้าพเจ้าทูลให้พระมหากษัตริย์ทราบ และเป็นครั้งแรกในการเดินทางของเราที่เราได้ดื่ม ‘ไวน์แห่งปะการัง’…

นายวิลเลียม อาร์มสตรอง (จากหนังสือ Around the World with a King)

2 กษัตริย์ทรงพบปะ 

นายอาร์มสตรองเล่าต่อว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสต้อนรับพระเจ้าคาลาคาอูอาเป็นภาษาอังกฤษ แต่หลังจากนั้นทรงลังเลที่จะรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ และส่วนใหญ่จะรับสั่งผ่านล่าม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามว่า เหตุใดพระเจ้าคาลาคาอูอาจึงรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว และรับสั่งว่าไม่มีใครในราชสำนักที่พูดได้คล่องแคล่วอย่างนั้น แม้หลายคนเคยไปพำนักอาศัยในอังกฤษมาแล้ว

ในระหว่างที่พระเจ้าคาลาคาอูอา (45 พรรษา) และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (28 พรรษา) มีพระราชปฏิสันถารต่อกันนั้น พระเจ้าอยู่หัวตรัสกับกษัตริย์แห่งฮาวายด้วยพระสุรเสียงที่แสดงความเสียพระทัยว่า พระองค์ทรงรู้สึกว่าเป็นการยากเหลือแสนที่จะเปลี่ยนจารีตประเพณีและแนวความคิดที่ฝังรากลึกอยู่ในใจชาวสยาม เพราะทุกคนมีความพออกพอใจที่จะไม่พัฒนาตนให้ก้าวหน้า และไม่มีความต้องการที่จะหาเงินให้มากไปกว่าความต้องการในชีวิตประจำวัน (คงจะเป็นในลักษณะพ่อที่เห็นว่าลูกไม่เอาใจใส่การเรียนทั้งๆ ที่มีความสามารถ – ผู้เขียน)

แล้วพระองค์ก็ทรงถามกษัตริย์แห่งฮาวายว่า พลเมืองของฮาวายชอบทำงานและมีอุตสาหกรรมมากมายในประเทศหรือไม่ นายอาร์มสตรองแสดงความเห็นของเขาไว้ในบันทึกว่า กษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ทรงปกครองพสกนิกรที่สุรุ่ยสุร่ายและขี้เกียจ แต่กษัตริย์แห่งฮาวายทรงลังเลที่จะเล่าความจริงเกี่ยวกับประชาชนของพระองค์เอง จึงรับสั่งเลี่ยงว่า ราชอาณาจักรฮาวายไม่ได้ผลิตอะไรในทางอุตสาหกรรม แต่ชาวฮาวายเป็นกะลาสีที่ดี

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรัสถามว่า พลเมืองในฮาวายสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่เช่นที่ทอดพระเนตรเห็นในเมืองหรือไม่ กษัตริย์แห่งฮาวายตรัสตอบว่า ชาวต่างชาติได้นำสถาปัตยกรรมแบบใหม่มาสร้างโบสถ์ตรงนี้ นายอาร์มสตรองได้แสดงความเห็นในหนังสือว่า วัดของชาวฮาวายนั้นเป็นสิ่งที่ก่อขึ้นง่ายๆ ด้วยหินและรั้วหยาบๆ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่แทบไม่เกินขีดความสามารถของตัวบีเวอร์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสถามถึงศาสนาดั้งเดิมของฮาวาย พระเจ้าคาลาคาอูอาก็ทรงลังเลที่จะตอบว่า ศาสนาของชาวฮาวายถูกลบล้างไปเรียบร้อยแล้ว เพราะนั่นเท่ากับการยอมรับศาสนาดั้งเดิมเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ ดังนั้นพระองค์จึงตรัสเลี่ยงว่า รัฐบาลของพระองค์ส่งเสริมให้พลเมืองนับถือทุกศาสนา และพระองค์เองไม่ทรงจำกัดว่าพลเมืองควรเลือกนับถือศาสนาใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าดีมาก

นายอาร์มสตรองกล่าวชมความรู้ทางภูมิศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขาเล่าว่าพระองค์ทรงแปลกพระทัยที่กษัตริย์ฮาวายทรงมีพระวรกายสูงใหญ่ และตรัสถามว่ากษัตรย์ฮาวายทรงมีเชื้อชาติอะไร พระเจ้าคาลาคาอูอาทรงตอบว่าชาวฮาวายมีเลือดมาเลย์ปนอยู่ด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงกล่าวว่า “ชาวสยามมีเลือดมาเลย์เป็นบางส่วน เรามีความเกี่ยวดองกัน”

นายอาร์มสตรองยังเล่าด้วยว่า ชาววังของสยามคงซุบซิบกันเกี่ยวกับฐานะของกษัตริย์แห่งฮาวาย เพราะตนเองได้รับคำถามจากเหล่าพระราชวงศ์ว่ากษัตริย์แห่งฮาวายทรงตกอยู่ในอุ้งมือของชาวต่างชาติหรืออย่างไร เพราะเห็นผู้ติดตามเป็นชาวผิวขาวเสียส่วนใหญ่

นายอาร์มสตรองบันทึกว่า “โครงกระดูกในตู้เสื้อผ้าของเราสั่นเล็กน้อยเมื่อกษัตริย์แห่งสยามตรัสถามว่า กองทัพของฮาวายมีขนาดใหญ่เพียงใด คำตอบที่คลุมเครือทำให้หัวข้อสนทนาเปลี่ยนไป” วลีว่า “โครงกระดูกในตู้เสื้อผ้า” เป็นสำนวนฝรั่ง ซึ่งหมายถึงความลับที่น่าอับอายหรือไม่ต้องการให้ใครทราบ

เมื่อถึงวาระที่กษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ทรงร่ำลากัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรัสกับกษัตริย์แห่งฮาวายว่า พระองค์ (กษัตริย์แห่งฮาวาย) ทรงมีโชคมหันต์ที่ได้ปกครองพลเมืองที่ดี ซึ่งอยู่อย่างเงียบสงบในขณะที่กษัตริย์ไม่ทรงอยู่ในประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหวังไว้เหนือสิ่งอื่นใดว่า จะมีโอกาสเสด็จประพาสยุโรปและอเมริกา แต่พระองค์ไม่อาจละทิ้งพลเมืองของพระองค์ไปได้ ไม่ทราบว่านายอาร์มสตรองมีเหตุผลใดที่ระบุไว้ในบันทึกว่า “หากพระองค์ทรงสามารถที่จะตรัสตรงๆ ได้ พระองค์คงจะตรัสว่าพระองค์ไม่สามารถประพาสต่างประเทศได้ หาไม่แล้วฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ก็จะบุกขึ้นรัฐนาวา แล้วเข้าคุมหางเสือแทน”

ไม่ทราบว่านายอาร์มสตรองตีความไปเอง หรือมีข้อมูลสนับสนุนความคิดของตน หากที่นายอาร์มสตรองเล่าไว้นี้เป็นจริง ก็ดูเหมือนว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ยังทรงวิตกกังวลกับเสถียรภาพของประเทศในขณะนั้น ทั้งๆ ที่เหตุการณ์กบฏวังหน้าครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2417/ค.ศ. 1874) ได้ผ่านมา 7 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตามน่าจะเป็นไปได้ว่า นายอาร์มสตรองคงเข้าใจอะไรไปเอง เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสอินเดียและพม่าเป็นเวลา 3 เดือนใน พ.ศ. 2415/ค.ศ. 1872 โดยไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น แต่เหตุการณ์กบฏวังหน้าเกิดขึ้นในขณะที่พระองค์ทรงอยู่ในประเทศ

น่าเสียดายที่นายอาร์มสตรองไม่ได้เล่าว่า การเมืองภายในของฮาวายเองก็เปรียบเสมือนภูเขาไฟที่รอเวลาระเบิดไม่ต่างไปจากภูเขาไฟตามธรรมชาติบนเกาะต่างๆ ของฮาวาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561