ราชอาณาจักรฮาวาย บทเรียนแห่งการสูญแผ่นดิน สิ้นชาติ ขาดกษัตริย์ (ตอนที่ 1)

ฮาวาย

ราชอาณาจักร “ฮาวาย” บทเรียนแห่งการสูญแผ่นดิน สิ้นชาติ ขาดกษัตริย์ (ตอนที่ 1)

ปี พ.. 2436/.. 1893 เป็นปีที่สยามประเทศจำเป็นต้องยอมสูญเสียแผ่นดินส่วนหนึ่งให้แก่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเอกราชและอธิปไตย แต่ในปีเดียวกันนั้น ราชอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งโชคร้ายกว่าสยามมาก เพราะต้องสูญเสียสิ่งเดียวกันนั้นให้แก่ประเทศซึ่งเคยเป็นที่พึ่งพาและจะกลายเป็นมหาอำนาจของโลกในศตวรรษต่อมา

หากคลี่แผนที่โลกออก แล้วมองไปที่จุดกึ่งกลางในมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปอเมริกา เราจะเห็นหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งในทางภูมิศาสตร์แล้วคือส่วนหนึ่งของโพลีนีเชีย และมีกำเนิดมาจากภูเขาไฟ ปัจจุบันนี้ ฮาวาย มีสถานะเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐ โดยประกอบด้วย 8 เกาะใหญ่ ซึ่งเรียงตามลำดับจากตะวันตกเฉียงเหนือไปใต้ตามลำดับดังนี้คือ นิอิฮาว คาวาย โออาฮู มอลาคาย ลานาย คาโฮโอลาวี
เมาอี และ ฮาวาย [1]

เกาะหลังสุดนี้มีขนาดใหญ่ที่สุด และมักเรียกกันว่าเกาะใหญ่คงไม่ต้องบอกก็เดาได้ว่า ทำเลที่ตั้งของหมู่เกาะฮาวายมีความสำคัญต่อสหรัฐมากเพียงใด ทั้งในแง่เศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ทางทหาร หลายคนอาจไม่ทราบว่า ก่อนกลายมาเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐ ฮาวาย เคยมีสถานะเป็นราชอาณาจักรที่มีกษัตริย์ปกครองดูแลนานถึง 93 ปี ความเสื่อมทางศาสนา การสูญเสียจิตวิญญาณและวัฒนธรรม ความพยายามที่จะใช้ระบอบการปกครองแบบใหม่ ประกอบกับทรัพยากรอันเป็นที่ต้องการของประเทศที่ใหญ่กว่า เป็นเหตุที่นำพาให้ราชอาณาจักรแห่งนี้มุ่งหน้าสู่จุดอวสานอย่างรวดเร็วจนแทบไม่น่าเชื่อ

ฮาวายแต่ปางก่อน

คนที่ทำให้โลกรู้จักหมู่เกาะฮาวายคือกัปตันชื่อดังเจมส์ คุกซึ่งแม้ว่ายน้ำไม่เป็น แต่กลับล่องเรือมาถึงเกาะโออาฮูในปี พ.. 2321/.. 1778 ระหว่างที่ออกสำรวจทางเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก กัปตันคุกตั้งชื่อให้ว่าหมู่เกาะแซนด์วิช เพื่อเป็นเกียรติแก่เอิร์ลแห่งแซนด์วิช ในระยะแรกชาวฮาวาย [2] หลงเข้าใจว่ากัปตันคุกเป็นพระเจ้า แต่ในที่สุดพระเจ้าอุปโลกน์องค์นี้ก็ถูกชาวฮาวายสังหาร แม้รายละเอียดในบันทึกยังคงสับสน แต่ข้อมูลกระแสหนึ่งกล่าวว่ากัปตันคุกถูกฟาดที่ศีรษะด้วยกระบอง ตามด้วยการกระหน่ำแทงจนเสียชีวิตด้วยกริชที่ชาวฮาวายได้รับมาจากการแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวอังกฤษนั่นเอง

กัปตันเจมส์ คุก

ในอดีต ฮาวาย มีการปกครองที่คล้ายคลึงกับระบบศักดินาของยุโรป และแบ่งคนออกเป็น 3 ชนชั้น (หรือวรรณะ) คือ ชนชั้นปกครอง พระ (อาจรวมถึงบรรดาผู้รู้และผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการนำทาง) และสามัญชน สังคมของชาวฮาวายมีศาสนา ภาษาพูด และวัฒนธรรมของตัวเอง โดยมีจารีตประเพณีเป็นเครื่องมือในการปกครอง และไม่มีการบัญญัติกฎหมาย จารีตบางอย่างอาจฟังดูไม่น่าเชื่อว่าใช้บังคับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้แนวคิดสมัยใหม่เป็นเกณฑ์ เช่น ห้ามผู้ชายและผู้หญิงรับประทานอาหารร่วมกัน ชาวบ้านจะเดินให้เงาของตัวเองพาดขวางทางเดินของชนชั้นปกครองไม่ได้ เป็นต้น ศาสนาของชาวฮาวาย
ยังครอบคลุมถึงการบูชาเทพเจ้าต่างๆ ตั้งแต่เทพเจ้าสำหรับไฟ ไปจนถึงเทพเจ้าสำหรับฉลาม

โปสการ์ด หมู่เกาะ ฮาวาย
โปสการ์ดในรูปแบบแผนที่โบราณแสดง 8 เกาะใหญ่ ของหมู่เกาะฮาวาย

สภาพภูมิอากาศที่เกือบสมบูรณ์แบบตลอดปี ผืนดินและแผ่นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ชาวฮาวายมีการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ต้องดิ้นรนกับการหาเลี้ยงชีพ แต่รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างฉลาด ยามนั้น ชาวต่างชาติที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน ฮาวาย ต่างรู้สึกว่า ชาวฮาวายไม่มีความทะเยอทะยาน ขาดความเป็นปัจเจกบุคคล ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ และขาดแนวคิดเกี่ยวกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์
ส่วนตัว ลักษณะเหล่านี้เป็นที่ขัดตาขัดใจของชาวตะวันตกอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นความไม่ศิวิไลซ์ ดังจะเห็นได้จากบันทึกที่ชาวต่างชาติคนหนึ่งเขียนไว้ว่า

การที่ชาวฮาวายสามารถทำมาหากินบนผืนแผ่นดินของตนได้อย่างง่ายดาย เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและอุตสาหกรรมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะทำให้ชาวฮาวายไม่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน และทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับคนต่างถิ่นได้

ข้อเท็จจริงที่ว่าธรรมชาติหยิบยื่นอาหารให้อยู่แล้ว ทำให้ชาวฮาวายขาดความต้องการที่จะแสวงหาที่ดินเพิ่มเติม อาหารมีพอให้เก็บเกี่ยว ทั้งในวันนี้และวันหน้า แต่แทนที่ชาวฮาวายจะฉกฉวยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ กลับแบ่งปันให้เพื่อนบ้าน และมั่นใจว่าเพื่อนบ้านจะแบ่งปันให้ตนเป็นการตอบแทน

เชื่อกันว่าก่อนหน้าที่กัปตันคุกย่างเท้าลงบนเกาะสวรรค์แห่งนี้ ชาวฮาวายอาจมีจำนวนถึงล้านคน (ข้อมูลบางกระแสบอกว่ามีประมาณ 3 แสนคน ในปี ค.. 1778/.. 2321) แต่เมื่อกัปตันคุกเดินทางไปถึง ชาวฮาวายหลายพันคนต้องเสียชีวิตลง เพราะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคใหม่ๆ ที่ชาวตะวันตกนำติดตัวมาฝากโดยไม่เจตนา ตั้งแต่ไข้หวัดใหญ่ ไอกรน ฝีดาษ ไปจนถึงโรคหนองใน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นความสัมพันธ์แบบผิวเผินหรือลึกซึ้ง

เกือบจะพูดได้ว่า จากนั้นเป็นต้นมา ประชากรชาวฮาวายก็มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเกือบสูญพันธุ์เลยทีเดียว บันทึกระบุว่าในปี ค.. 1853/.. 2396 ชาวฮาวายมีจำนวน 70,000 คน (70% ของประชากรทั้งหมด) ต่อมาเหลือเพียง 50% ในปี ค.. 1884/.. 2427 และอีก 6 ปีต่อมา เหลืออยู่ 38% เท่านั้น

หาด ไวกิกิ เกาะ ฮาวาย
(ซ้าย) โปสการ์ดเก่ารูป “หาดไวกิกิ”, (ขวา) โปสการ์ดเก่ารูป “นักเต้นระบำฮาวาย”

กำเนิดราชอาณาจักรฮาวาย

เดิมนั้น เกาะแต่ละแห่งของฮาวายมีผู้ปกครองเกาะแยกกันต่างหาก พระเจ้าคาเมฮาเมฮา (Kamehameha) ที่ 1 หรือพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช ทรงใช้เวลานานถึง 15 ปี (.. 2338/.. 1795 ถึง พ.. 2353/.. 1810) กว่าจะรวบรวมเกาะทั้งหมดเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสถาปนาราชอาณาจักรฮาวายขึ้นมาได้ พระปรีชาสามารถของพระองค์ทำให้มีผู้ตั้งสมญานามว่านโปเลียนแห่งแปซิฟิกหลังจากที่สถาปนาราชอาณาจักรแล้ว พระองค์ทรงแต่งตั้งบุคคลในชนชั้นปกครองเพื่อดูแลเกาะแต่ละแห่ง การทำเช่นนี้ทำให้ชนชั้นปกครองเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องแก่งแย่งอำนาจกันอีกต่อไป และนำสันติสุขมาสู่ราชอาณาจักรแห่งนี้

ในรัชสมัยของพระองค์ ฮาวาย มีการติดต่อกับชาวตะวันตกค่อนข้างมากและได้รับอิทธิพลจากฝ่ายหลังอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศอังกฤษ ซึ่งทรงมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ธงสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรฮาวายจึงสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างเปิดเผย หลังจากรัชสมัยของพระองค์ อิทธิพลจากชาวต่างชาติยังคงแทรกซึมลึกเข้าไปในสังคมฮาวาย เสมือนโรคร้ายที่กัดกินจากภายใน และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ชาวอังกฤษนี่แหละที่ปลดธงของพระองค์ลงจากยอดเสา

กษัตริย์ 8 พระองค์แห่งฮาวาย และช่วงเวลาที่ครองราชย์
1. พระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช (พ.ศ. 2338/ค.ศ. 1795 – พ.ศ. 2362/ค.ศ. 1819)
2. พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 (พ.ศ. 2362/ค.ศ. 1819 – พ.ศ. 2367/ค.ศ. 1824)
3. พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 (พ.ศ. 2367/ค.ศ. 1824 – พ.ศ. 2397/ค.ศ. 1854)
4. พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 4 (พ.ศ. 2398/ค.ศ. 1855 – พ.ศ. 2406/ค.ศ. 1863)
5. พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 5 (พ.ศ. 2406/ค.ศ. 1863 – พ.ศ. 2415/ค.ศ. 1872)
6. พระเจ้าลูนาลิโล (พ.ศ. 2416/ค.ศ. 1873 – พ.ศ. 2417/ค.ศ. 1874)
7. พระเจ้าคาลาคาอูอา (พ.ศ. 2417/ค.ศ. 1874 – พ.ศ. 2434/ค.ศ. 1891)
8. พระนางลิลิอูโอคาลานี (พ.ศ. 2434/ค.ศ. 1891 – พ.ศ. 2436/ค.ศ. 1893)

แปดรัชกาล สามราชวงศ์

พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์คาเมฮาเมฮา พระองค์ทรงปกครองโดยมีที่ปรึกษา 4 คน ซึ่งทำหน้าที่คล้ายสภาองคมนตรี ต่อมาพระองค์ทรงเกรงว่ารัชทายาทในอนาคตอาจไม่สามารถปกครองราชอาณาจักรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ จึงทรงแต่งตั้งพระมเหสีองค์โปรดคือพระนางคาอาฮูมานูให้ดำรงตำแหน่งคูฮีนา นูอี (เปรียบเหมือนนายกรัฐมนตรี) ซึ่งมีอำนาจเทียบเท่ากษัตริย์ และคัดคานอำนาจกันได้หากมีผลประโยชน์ของชาติเป็นเดิมพัน พระนางทรงจุดชนวนการเปลี่ยนแปลงในฮาวายด้วยการล้มเลิกจารีตประเพณีโบราณ ซึ่งเท่ากับการปลดแอกที่เคยจำกัดบทบาทของสตรีเพศในสังคมฮาวาย และเปิดโอกาสให้พระนางทรงแสดงบทบาททางการเมืองได้อย่างเต็มที่ บทบาทของพระนางยังคงดำเนินต่อไปอีก 2 รัชสมัย โดยทรงมีฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการของพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3

รัชสมัยของพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้ศาสนาดั้งเดิมของฮาวายเสื่อมสลายลง ชาวฮาวายจึงหันไปพึ่งพาศาสนาคริสต์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมของชาวฮาวายอย่างลึกซึ้งและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะนับถือศาสนาคริสต์ เพราะไม่มีพระประสงค์ที่จะผละออกจากอ้อมอกของมเหสีทั้ง 4 หรือห่างเหินจากน้ำจัณฑ์

พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์ในขณะที่มีพระชนมายุเพียง 10 พรรษา และทรงครองราชย์นานถึง 29 ปี ซึ่งนับว่ายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรแห่งนี้ รัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงที่ฮาวายประสบปัญหาต่างๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนและมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายด้าน อาทิ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับปี พ.. 2395/.. 1852 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า ฮาวาย มีการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และให้สิทธิแก่สามัญชนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับนานาประเทศ การปฏิรูประบบจัดสรรที่ดินและการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันส่งผลให้ชาวต่างชาติมีสิทธิซื้อที่ดินได้ แนวคิดเรื่องการผนวกฮาวายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐ ก็เริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของพระองค์เช่นกัน

เมื่อพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะยึดมั่นต่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.. 2395/.. 1852 แต่ไม่เห็นด้วยกับการผนวกดินแดนเข้ากับสหรัฐ แนวคิดนี้จึงมีความขัดแย้งกับแนวคิดของเจ้าของไร่และนักธุรกิจชาวต่างชาติ คนเหล่านั้นเริ่มต้นรณรงค์ให้มีการผนวกดินแดนอย่างจริงจัง เพราะเห็นว่าราชอาณาจักรฮาวายไม่มีทรัพยากรหรือทักษะที่จะจัดการและปกครองตัวเองได้ นอกจากนี้ชาวต่างชาติยังต้องการมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันกลับไม่ต้องการมีฐานะเป็นพลเมืองฮาวาย และถ้าเป็นไปได้ ก็ต้องการให้สามัญชนที่เป็นชาวฮาวายมีสิทธิน้อยลง เพราะต้องการกุมอำนาจทางการเมือง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนตนไว้ให้มากที่สุด

พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 5 ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่เสด็จขึ้นครองราชย์โดยการสืบสันตติวงศ์ พระองค์ทรงปกครองประเทศโดยยึดหลักการของพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช กล่าวคือชนชั้นปกครองมีสิทธิและหน้าที่ที่จะเป็นผู้นำสามัญชน พระองค์ไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.. 2395/.. 1852 และทรงให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นในปี พ.. 2407/.. 1864 เพื่อให้กษัตริย์มีอำนาจมากขึ้น พร้อมทั้งรวมสภาสูงกับสภาล่างเป็นสภาเดียว นอกจากนั้นยังยกเลิกสิทธิการเลือกตั้งแบบไม่จำกัดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ และระบุว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องสามารถอ่านออกเขียนได้ รวมทั้งมีทรัพย์สินพอสมควร

พระองค์โปรดอังกฤษมากกว่าสหรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจที่พระองค์ทรงต่อต้านการผนวกดินแดนเข้ากับสหรัฐ ในรัชสมัยของพระองค์ ฮาวาย มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ พระองค์จึงทรงอนุญาตให้ว่าจ้างคนงานจากจีน ญี่ปุ่น และโปรตุเกสเข้ามาทำงาน

คงเป็นเพราะพระองค์ทรงประจักษ์ถึงความจริงที่ว่าชาวฮาวายมีจำนวนลดน้อยลงจนน่ากลัวอยู่แล้ว ดังนั้นในปี พ.. 2408/.. 1865 เมื่อมีผู้เสนอร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติเพื่ออนุญาตให้จำหน่ายสุราแก่ชาวฮาวาย พระองค์จึงทรงให้คำตอบที่ฝ่ายเสนอได้ยินแล้วต้องสะอึกไปนาน โดยรับสั่งว่าข้าพเจ้าจะไม่ยอมลงนามในหนังสือที่จะประกันความตายให้พสกนิกรของข้าพเจ้าโดยเด็ดขาด ในขณะนั้น โรคพิษสุราเรื้อรังเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ชาวฮาวายลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 5 เสด็จสวรรคต โดยไม่ได้ทรงระบุองค์รัชทายาทที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ไว้ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.. 2407/.. 1864 ระบุให้สภานิติบัญญัติดำเนินการเลือกตั้ง ผลปรากฏว่าวิลเลียม ลูนาลิโลซึ่งเป็นพระนัดดาของพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราชได้รับคะแนนท่วมท้นจากการเลือกตั้ง พระองค์จึงทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์โดยผ่านกระบวนการแบบประชาธิปไตย และเป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ใหม่ ในช่วงเวลาเพียงปีเศษที่ครองราชย์ พระองค์ทรงดำเนินการเพื่อให้สหรัฐไม่เรียกเก็บภาษีน้ำตาลจากฮาวาย โดยทรงพิจารณาที่จะอนุมัติให้สหรัฐใช้พื้นที่อ่าวบริเวณน่านน้ำไข่มุก” (ต่อมาสหรัฐเรียกว่าเพิร์ลฮาร์เบอร์) เป็นฐานทัพเรือได้ ประเด็นการยอมยกที่ดินเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนี้เป็นเหตุให้ประชาชนส่วนหนึ่งนึกตำหนิพระองค์ อย่างไรก็ตามพระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อนที่จะดำเนินการได้สำเร็จ มีข่าวลือว่าพระองค์ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงห่วงใยในพสกนิกรชาวฮาวายและมีพระประสงค์ที่จะปฏิรูปรัฐบาล

เนื่องจากไม่มีรัชทายาท พระองค์จึงเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในราชวงศ์นี้ และการเลือกตั้งกษัตริย์จำเป็นต้องเกิดขึ้นอีกครั้ง คราวนี้เป็นการช่วงชิงกันระหว่างเจ้าชายคาลาคาอูอากับราชินีเอมมา ซึ่งเป็นมเหสีของกษัตริย์คาเมฮาเมฮาที่ 4 ผลลัพธ์คือเจ้าชายคาลาคาอูอาได้รับชัยชนะ แต่ฝ่ายที่สนับสนุนราชินีเอมมารู้สึกไม่พอใจ จึงก่อการจลาจลขึ้น พระเจ้าคาลาคาอูอาทรงขอความช่วยเหลือจากอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งส่งเรือรบมาข่มขวัญและสยบจลาจลลงได้

เมื่อพระเจ้าคาลาคาอูอาเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงดำเนินการต่อยอดภารกิจเรื่องน้ำตาลที่ค้างคาไว้ในรัชสมัยก่อน โดยทรงลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญาต่างตอบแทนกับสหรัฐ เพื่อให้ฮาวายมีสิทธิพิเศษในการส่งน้ำตาลเข้าไปขายในสหรัฐได้โดยไม่ต้องเสียภาษี (จะเล่าเพิ่มเติมในภายหลัง)

พระองค์ทรงได้รับฉายาว่ากษัตริย์เจ้าสำราญเพราะทรงนิยมจัดงานสังคมเอิกเกริกและความบันเทิงกับพระสหาย เป็นต้นว่า งานเลี้ยงอาหารแบบลูเอา (Luau) สำหรับแขกนับหมื่นคน การดื่มสุราข้ามคืน การพนัน การแข่งม้า แม้ทรงนิยมความสำเริงสำราญก็จริง แต่พระองค์ก็ทรงส่งเสริมวัฒนธรรมและศิลปะของชาวฮาวาย เพราะทรงวิตกว่าวัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองจะสูญหายไปจนหมดสิ้น จึงรับสั่งให้บันทึกจารีตประเพณีต่างๆ ที่เล่าสืบต่อกันมา เพื่อเก็บไว้เป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งทรงฟื้นฟูดนตรีพื้นเมือง สถาปัตยกรรม ระบำฮูลาในที่สาธารณะ (ซึ่งเคยถูกมิชชันนารีสั่งห้ามไว้ในตอนต้นศตวรรษ) และแม้กระทั่งการเล่นกระดานโต้คลื่น รายงานบางกระแสมีข้อมูลละเอียดกว่านั้นคือบอกว่า พระองค์ทรงนิยมระบำฮูลามากถึงขนาดรับสั่งให้หานางระบำฮูลาไว้คอยเปลือยกายส่ายสะโพกถวายในวังด้วย

พระราชกรณียกิจอีกประการหนึ่งที่ส่งผลตกทอดมาถึงธุรกิจการท่องเที่ยวของฮาวายในวันนี้ คือการสร้างพระราชวังอิโอลานีในเมืองโฮโนลูลูแทนพระราชวังเดิมที่เสื่อมโทรมลง แม้ว่าในขณะนั้นจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู เนื่องจากค่าก่อสร้างสูงถึง 350,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาลในเวลานั้น นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากโรงงานแห่งเดียวกันกับที่ผลิตเครื่องเรือนให้ทำเนียบขาวของสหรัฐ แถมด้วยการติดตั้งระบบไฟฟ้าที่มีราคาแพงเกือบเท่ากับค่าก่อสร้างพระราชวังทั้งหลัง ว่ากันว่าพระราชวังแห่งนี้มีไฟฟ้าใช้ก่อนทำเนียบขาวของสหรัฐด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ยังมีพระบรมราชโองการให้สร้างพระรูปของพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราชเพื่อประดิษฐานไว้ตรงข้ามกับพระราชวังอิโอลานีอีกด้วย ในปัจจุบันนี้พระราชวังอิโอลานีกลายมาเป็นพระราชวังแห่งเดียวในประเทศสหรัฐ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของฮาวาย

เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต เจ้าหญิงลิลิอูโอคาลานีได้เสด็จขึ้นครองราชย์ตามพระประสงค์ของพระองค์ และเป็นราชินีองค์เดียวและองค์สุดท้ายที่ทรงปกครองราชอาณาจักรฮาวาย

พระเจ้าคาลาคาอูอาและพระนางลิลิอูโอคาลานี ทรงเป็นราชนิกุลที่ได้รับการศึกษาสูง มีพระปรีชาสามารถ และพระอิริยาบถที่งดงาม ทรงชื่นชมจารีตประเพณีของฮาวายและพิธีรีตองในรั้วในวัง เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดคือทั้ง 2 พระองค์ทรงห่วงใยในความเป็นอยู่ของพลเมืองชาวฮาวาย และเอกราชของราชอาณาจักร ทั้ง 2 พระองค์ทรงเห็นว่าไม่สมควรที่จะสละราชบัลลังก์เพียงเพื่อให้ชาวอเมริกัน
ที่รวยอยู่แล้วร่ำรวยยิ่งขึ้นไปอีก

มิชชันนารีกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของฮาวาย

แต่เดิมนั้น ศาสนาของชาวฮาวายเป็นความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาฟ้าดินตามแบบชุมชนโบราณ กล่าวคือมีเทพเจ้าที่ปกปักรักษาทุกอย่าง ตั้งแต่น้ำ ฟ้า ป่า เขา ภูเขาไฟ สงคราม และแม้กระทั่งปลาฉลาม ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้นแล้วว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาของฮาวายคือ พระนางคาอาฮูมานู พระองค์ทรงสังเกตเห็นว่าเมื่อชาวต่างชาติหรือพระสวามีของพระองค์ไม่กระทำตามจารีตประเพณีของฮาวาย ก็ไม่เห็นว่าสายฟ้าจะผ่าหรือแผ่นฟ้าจะคำรามแต่อย่างใด

พระนางคาอาฮูมานู

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังจากที่พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง 6 เดือน พระนางคาอาฮูมานูทรงร่วมมือกับพระมารดาของพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 ในการเกลี้ยกล่อมให้พระองค์เสวยพระกระยาหารร่วมกับสตรีเพศต่อหน้าพสกนิกร อันถือเป็นการฉีกม่านประเพณี ซึ่งห้ามผู้ชายและผู้หญิงรับประทานอาหารร่วมกัน ประเด็นนี้ไม่เพียงแต่จุดชนวนที่ทำให้ศาสนาของฮาวายเสื่อมความขลังลงเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดประเพณีใหม่คือลูเอา ซึ่งนักท่องเที่ยวในปัจจุบันนิยมชมชอบกันนักหนา

เท่านั้นยังไม่พอ พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 มีรับสั่งให้ทำลายวัดและสัญลักษณ์อื่นๆ ทางศาสนาของฮาวาย เช่น เทวรูป จนเป็นเหตุให้ชาวฮาวายรู้สึกสับสนและเคว้งคว้าง แม้จะมีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ แต่ในที่สุดศาสนาดั้งเดิมของฮาวายก็สูญสิ้นไปเกือบหมดในปี พ.. 2362/.. 1819 นักประวัติศาสตร์บางคนถึงกับกล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่ชนชาติหนึ่งละเลิกศาสนาของตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ ในเวลาอีกไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อมิชชันนารี [3] ชาวอเมริกันนิกายโปรเตสแตนต์คณะแรกลงเรือเดินทางจากเมืองบอสตันมาเยือนฮาวายเป็นครั้งแรก ชาวฮาวายจึงต้อนรับขับสู้อย่างอบอุ่นตามประสาชาวเกาะที่ยังไร้เดียงสาและขาดที่พึ่งทางใจ ในทางตรงกันข้าม ภาพของชาวฮาวายกลับทำให้มิชชันนารีบางคนถึงกับน้ำตาคลอเบ้าและเบือนหน้าหนี คนที่ฝืนใจมองดู ก็เกือบหลุดปากออกมาว่านี่เป็นคนแน่หรือตาสีน้ำข้าวของฝรั่งในยุคนั้นให้ความสำคัญกับผิวสีขาวสีเดียวเท่านั้น ส่วนผิวสีน้ำตาลอย่างชาวฮาวายหรือเชื้อชาติอื่นๆ คือสัญลักษณ์ของความป่าเถื่อนที่ยอมรับไม่ได้ มิชชันนารีคู่หนึ่งที่ย่างเท้าลงฮาวายในครั้งนั้นคือสามีภรรยาเจ้าของนามสกุลเทอร์สตันขอให้จำนามสกุลนี้ไว้ เพราะหลานชายของคนคู่นี้จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในภายหลัง

เหล่ามิชชันนารีอาศัยพระเจ้าในกล่องดำ” (คัมภีร์ไบเบิล) เพื่อหว่านล้อมให้พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 ทรงเชื่อว่า หากไม่ปฏิบัติตามคำสอนตามแบบนิกายโปรเตสแตนต์แล้ว พระเจ้าจะลงโทษไปชั่วกัลปาวสาน ด้วยกุศโลบายนี้ มิชชันนารีจึงสามารถแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปแทรกแซงได้ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของฮาวาย

มิชชันนารีที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในฮาวายมีจุดประสงค์เช่นเดียวกันกับกลุ่มที่เดินทางไปยังประเทศต่างๆ คือต้องการนำวิทยาการความรู้ใหม่ๆ ไปเผยแพร่เป็นสื่อเพื่อแทรกซึมศาสนาคริสต์เข้าไปในจิตใจของชาวพื้นเมือง มิชชันนารีเหล่านี้ช่วยพัฒนาภาษาท้องถิ่นของฮาวายให้อยู่ในรูปภาษาเขียน ภายในเวลาไม่ถึง 20 ปี ก็สามารถก่อตั้งระบบโรงเรียนตามแบบฉบับชาวตะวันตกได้ รวมทั้งสอนให้ชาวฮาวายไหวตัวทันกลโกงของชาวตะวันตกที่เอาเปรียบในการแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ในขณะเดียวกัน ก็ห้ามมิให้ชาวฮาวายประกอบพิธีกรรมดั้งเดิม เพราะคำสอนของศาสนาคริสต์ในเวลานั้นระบุว่าลัทธิความเชื่ออื่นๆ ทั้งหมดมีความชั่วร้ายแอบแฝงอยู่ ใครที่ถูกจับได้ว่าพูดภาษาฮาวายหรือแอบไปเต้นระบำส่ายสะโพกเป็นต้องถูกจับมาลงโทษ

เรื่องการล้มเลิกศาสนาของชาวฮาวายทำให้อดซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้ เพราะทุกพระองค์ทรงตระหนักถึงหลักสัจธรรมของพุทธศาสนา และมีสายพระเนตรกว้างไกล ศาสนาพุทธจึงยังคงดำรงอยู่ในประเทศไทยสืบมาจนบัดนี้

กลับไปยังเรื่องฮาวายอีกที ใช่ว่ามิชชันนารีเหล่านั้นสามารถดำเนินการเผยแผ่ศาสนาในฮาวายได้โดยปราศจากอุปสรรคใดๆ เลยก็หาไม่ มีอยู่ช่วงหนึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 พระองค์ทรงรู้สึกอึดอัดกับศาสนาใหม่นี้จนถึงกับออกมาประกาศสงครามกับศีลธรรมตามแบบฉบับชาวคริสต์ เริ่มตั้งแต่ทรงดื่มสุราประชด จำนวน 32 บาร์เรล [4] ใน 1 สัปดาห์ จากนั้นก็นำตัวคริสต์ศาสนิกชนมาบังคับให้ดื่มเหล้ายิน พร้อมส่งเสริมให้พระสหายละทิ้งข้อห้ามต่างๆ แล้วกลับไปรื่นรมย์กับระบำส่ายสะโพกกระดานโต้คลื่น และการพนัน อันเป็นวิถีทางชีวิตดั้งเดิมของชาวฮาวาย ที่หนักไปกว่านั้นคือทรงส่งคนไปประกาศตามถนนว่า ทางการยกเลิกบทลงโทษว่าด้วยการประพฤติผิดทางประเวณีและอาชญากรรมต่างๆ ยกเว้นฆาตกรรมและโจรกรรม ปรากฏว่าได้ผล เพราะชาวฮาวายละทิ้งโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์และโบสถ์จนเกลี้ยง

พระราชวังอิโอลานี ฮาวาย
พระราชวังอิโอลานี

แต่ในภายหลัง ศาสนาคริสต์ภายใต้การชี้นำของมิชชันนารีชาวอเมริกันกลับมีอิทธิพลต่อแนวทางการปกครองของพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ค่อนข้างมาก เพราะทำให้พระองค์ทรงเชื่อในสิทธิของพลเมือง ดังนั้นจึงทรงประกาศปฏิญญาสิทธิในปี พ.. 2382/.. 1839 ตามด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.. 2383/.. 1840 ซึ่งลดทอนพระราชอำนาจลง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากศาสนาคริสต์อย่างเห็นได้ชัด

ในช่วงทศวรรษปี พ.. 2383/.. 1840 อีกเช่นกันที่ลูกหลานของมิชชันนารีได้ร่วมกันก่อตั้งพรรค
การเมืองซึ่งชาวฮาวายเรียกว่าพรรคมิชชันนารี (ต่อมาคือพรรครีพับลิกันของฮาวาย) พรรคนี้มีเป้าหมายเช่นเดียวกันกับกลุ่มมิชชันนารีที่เป็นบรรพบุรุษ กล่าวคือต้องการทำให้ฮาวายเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองแบบใหม่ตามแบบอเมริกัน พรรคการเมืองนี้มีบทบาทในการกดดันให้พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ทรงยกเลิกระบบการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแบบเดิม โดยอาศัยความช่วยเหลือจากกองกำลังรบกึ่งทหารที่เรียกว่า โฮโนลูลูไรเฟิลส์ (Honolulu Rifles) ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.. 2397/.. 1854 (บางแหล่งบอกว่าก่อนปี 1846) เพื่อใช้จัดการกับปัญหาความขัดแย้งภายใน กองกำลังนี้มีความจงรักภักดีต่อพรรคมิชชันนารี

สิทธิการถือครองที่ดิน

ในอดีต ชาวฮาวายไม่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นการส่วนตัว แต่มีชนชั้นปกครองทำหน้าที่แบ่งส่วนที่ดิน ตั้งแต่ยอดเขาถึงฝั่งทะเล และอนุญาตให้สามัญชนใช้ที่ดินทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ที่ดินแต่ละแปลงมีขนาดแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการเมืองในทำเลที่ตั้งแต่ละแห่ง ชนชั้นปกครองจะแต่งตั้งผู้ดูแลเพื่อให้ความช่วยเหลือในการควบคุมดูแลการใช้ที่ดินในแต่ละวัน ผู้ดูแลต้องเป็นคนที่รอบรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและมีทักษะในการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้ชาวบ้านร่วมมือกันใช้ทรัพยากร โดยรักษาสมดุลระหว่างการยังชีพและปริมาณผลผลิต ผู้ดูแลจะออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ไว้บังคับใช้ เช่น การอนุญาตให้จับปลาบางชนิดเฉพาะในบางฤดู การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ทุกคนที่อาศัยอยู่ในที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิใช้ทรัพยากรและรับส่วนแบ่งที่เก็บเกี่ยวจากแผ่นดินและท้องทะเล โดยเสียภาษีในรูปผลผลิต ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามความเหมาะสมกับธรรมชาติทำให้ชาวฮาวายมีเวลาพักผ่อนและสร้างสรรค์งานศิลปะแบบชาวเกาะ รวมทั้งศิลปะการต่อสู้ กีฬา และนาฏศิลป์

หลังจากที่มิชชันนารีได้เข้ามาลงหลักปักฐานแล้ว ก็แน่นอนอยู่เองที่ย่อมมีชาวตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะชาวอเมริกัน ในช่วงแรกนั้น ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นคนระดับแรงงาน จึงไม่ค่อยมีปากเสียงอะไรมากนัก แต่ต่อมา บรรดาพ่อค้า ช่างฝีมือ บุคคลอาชีพต่างๆ ก็หลั่งไหลเข้ามากันมากขึ้น ขณะเดียวกันลูกหลานของมิชชันนารีก็เติบโตขึ้น และประกอบอาชีพต่างๆ กัน ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ บุคคลดังกล่าวย่อมต้องเรียกร้องเพื่อให้มีสิทธิเช่นเดียวกับที่เคยมีมาก่อนเมื่ออยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง รวมทั้งสิทธิการถือครองที่ดินด้วย ชาวต่างชาติ มิชชันนารีและลูกหลานจึงร่วมกันสร้างแรงกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อตน

ในที่สุดกลุ่มชาวต่างชาติก็ประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมให้พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน โดยจัดตั้งระบบจัดสรรที่ดินและสิทธิ์ในการถือครอง พร้อมทั้งออกพระราชบัญญัติที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติมีสิทธิซื้อที่ดินได้ ประเด็นนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจคนในราชอาณาจักรไทยได้ว่า ถ้าชาวต่างชาติมีสิทธิซื้อที่ดินของชาวนาไทยได้แล้ว (ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม) สักวันหนึ่งอาจจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษหลังจากนั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวนมากก็ตกไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติ แม้กระทั่งที่ดินส่วนพระองค์ก็ถูกขายหรือให้ชาวต่างชาติเช่า เพื่อชำระหนี้สินหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างชาติ กล่าวได้ว่า พื้นที่ทำไร่เกือบทั้งหมดอยู่ในกำมือของชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของมิชชันนารีกลุ่มแรก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การปฏิรูปที่ดินครั้งนี้เปิดโอกาสให้ระบอบคณาธิปไตยเบ่งบาน เพราะชนส่วนน้อยของประเทศสามารถแผ่อิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่ออำนวยประโยชน์ให้ตัวเองได้อย่างเต็มที่

หลายคนคงพอตั้งข้อสังเกตได้ว่า ในกรณีของราชอาณาจักรฮาวาย ชาวตะวันตกใช้ศาสนาของตนเพื่อเปิดประตูนำชาวฮาวายเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบตะวันตก ซึ่งจะเปิดประตูบานถัดไปให้สถาบันการปกครองแบบตะวันตกเข้ามามีบทบาท อันนำมาซึ่งการล้มล้างระบบจัดการที่ดินแบบดั้งเดิม และในที่สุดก็นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับการทำไร่อ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล

ท้องพระโรง ใน พระราชวังอิโอลานี ฮาวาย
ท้องพระโรงในพระราชวังอิโอลานี

ทรัพยากรรสหวาน

น้ำตาลคือผลิตผลหลักที่ค้ำจุนเศรษฐกิจของฮาวายในยุคนั้น โดยมีสหรัฐเป็นตลาดสำคัญ แต่เดิม แม้ชาว
ฮาวายปลูกอ้อยได้ก็จริง แต่ไม่มีการผลิตน้ำตาลในระดับอุตสาหกรรมหรือส่งออก ฉะนั้น เมื่ออุตสาหกรรมน้ำตาลเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างฮาวายกับสหรัฐ มีความผูกพันกันเหนียวแน่นยิ่งขึ้น อุตสาหกรรมน้ำตาลไม่เพียงแต่มีบทบาทต่อการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนประชากรของฮาวายมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะต้องมีการจ้างแรงงานจากต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ให้เข้ามาช่วยทำไร่อ้อย ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า ผลพวงจากแรงงานต่างชาตินี้คือโรคติดต่อที่ชาวฮาวายไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงทำให้ประชากรมีจำนวนลดน้อยลงจนน่ากลัว

แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ชาวอเมริกันและชนเชื้อสายยุโรปยังคงดำรงสถานะเจ้าของไร่ส่วนใหญ่ไว้ได้ แม้จะมีจำนวนน้อยกว่าชาวฮาวายก็ตาม ว่ากันว่าในเวลานั้น ฮาวายมีบริษัทผลิตน้ำตาลอยู่ 5 แห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นของชาวอเมริกันทั้งสิ้น ในปี พ.. 2369/.. 1826 สหรัฐยอมรับว่าฮาวายเป็นรัฐเอกราช และกำหนดอัตราภาษีอากรการนำเข้าน้ำตาลจากฮาวายตามธรรมเนียม ประเด็นนี้เป็นเหตุให้เจ้าของไร่อ้อยรู้สึกไม่พอใจ เพราะต้องสูญเสียผลกำไรบางส่วนไป และเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นฝ่ายได้รับผลประโยชน์มากกว่าตนเอง ดังนั้นหนทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงภาษีอากรได้ก็คือการหาทางทำให้ฮาวายกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐ นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา

ในปี พ.. 2418/.. 1875 บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งห้านี้สามารถเจรจาหว่านล้อมจนรัฐบาลของฮาวายและสหรัฐตกลงลงนามกันในสนธิสัญญาการค้าเสรีที่เรียกว่าสนธิสัญญาต่างตอบแทน (Reciprocity Treaty) ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ ฮาวายได้รับสิทธิพิเศษในการส่งน้ำตาลและข้าวไปขายในสหรัฐ โดยไม่ต้องเสียภาษี ส่วนสหรัฐก็สามารถส่งสินค้าไปขายในฮาวายได้โดยปลอดภาษีเช่นกัน รวมทั้งยังได้รับสิ่งที่สำคัญกว่านั้น นั่นคือการใช้พื้นที่อ่าวตรงบริเวณน่านน้ำไข่มุกเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือสหรัฐ เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ฮาวาย ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในนาม เพิร์ลฮาร์เบอร์ ชาวฮาวายเชื่อว่า
น่านน้ำแห่งนี้เป็นที่สถิตของเทพเจ้าสำหรับฉลาม

ในยามนั้น ชาวฮาวายเดาไม่ออกเลยว่า สนธิสัญญาการค้าเสรีฉบับนี้จะทำให้ฮาวายตกเป็นรัฐใต้อารักขาของสหรัฐโดยปริยาย และนี่คือจุดเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุดของราชอาณาจักรฮาวาย ดูเหมือนว่านี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สนธิสัญญาการค้าเสรีบางฉบับนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเล็กในระยะสั้น และเอื้อประโยชน์ต่อประเทศใหญ่ในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายหลังเป็นประเทศที่ฉลามเรียกพ่อ

ข่าวเกี่ยวกับสัญญาฉบับนี้ทำให้ชาวฮาวายรู้สึกไม่พอใจและก่อความวุ่นวายขึ้น จนพระเจ้าคาลาคาอูอาทรงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากขอให้กองกำลังนาวิกโยธินของสหรัฐเข้ามาช่วยรักษาความสงบ

5 ปีหลังจากที่สัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ปรากฏว่าไร่อ้อยมีจำนวนเพิ่มขึ้น 3 เท่า ปริมาณน้ำตาลส่งออกมีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และทำกำไรให้เจ้าของไร่อ้อยอย่างเป็นกอบเป็นกำ

จำนวนไร่อ้อยที่เพิ่มมากขึ้นนี้นำมาซึ่งปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงจำเป็นอยู่เองที่รัฐบาลของราชอาณาจักรฮาวายต้องอนุญาตให้มีการนำเข้าแรงงานต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นและจีน ต่อมาชาวโปรตุเกสได้ตามมาสมทบด้วย ทว่าการแก้ไขปัญหาแรงงานเช่นนี้กลับทำให้ชาวฮาวาย ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำต้องรับชะตากรรมอีกครั้งหนึ่งจากโรคติดต่อที่ติดมากับแรงงานต่างชาติเหล่านี้ อันเป็นเหตุให้ชาวฮาวายยิ่งมีจำนวนลดน้อยลงไปอีก

การทหาร

หลังจากที่พระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราชสถาปนาราชอาณาจักรฮาวายขึ้นมาแล้ว ชาวฮาวายก็ได้ลิ้มรสสันติสุขที่ขจรขจายไปยังเกาะใหญ่น้อยต่างๆ จนไม่ไยดีกับกองกำลังทหารมากนัก นอกจากนั้นยังมีผู้กล่าวหาว่าพระนางคาอาฮูมานูอีกเช่นกันที่มีส่วนทำลายจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เยี่ยงชายชาตรีด้วยการสั่งยกเลิกศิลปะการชกมวยแบบชาวฮาวาย ทั้งนี้เพราะทนแรงคะยั้นคะยอจากบรรดามิชชันนารีไม่ไหว อันที่จริงแล้ว ประเด็นสำคัญที่ขัดใจมิชชันนารีมิใช่การชกมวย แต่คือการพนันที่เกี่ยวพันกับการชกมวยอย่างแยกกันไม่ออก

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อกำลังทหารในช่วงราชวงศ์คาเมฮาเมฮาก็คือจำนวนประชากรชาวฮาวายที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากโรคติดต่อที่พ่วงมากับชาวต่างชาติ เมื่อผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ กองทัพเรือของสหรัฐก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ส่วนกองทัพบกก็เหลือกำลังเพียงไม่กี่กองร้อย

การคบหากับชาวต่างชาติเป็นเหตุให้ชาวฮาวายหันไปเอาใจใส่กับความมั่งคั่งทางวัตถุ และไม่ไยดีกับแนวคิดที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นต้นว่า วิถีการเพาะปลูกดั้งเดิมเปลี่ยนไปเป็นการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ความชำนาญในด้านต่างๆ ถูกลืมเลือน ความสำเร็จทางธุรกิจรุกเข้าไปแทนที่ความกล้าหาญในการทำศึก เศรษฐกิจที่เติบโตเป็นเหตุให้กองทัพมีความสำคัญน้อยลง แต่กำลังตำรวจมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะต้องใช้เพื่อระงับกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นบ่อยๆ

เมื่อเวลาผ่านไป กำลังทหารมีจำนวนน้อยลงจนเหลือเพียงกองกำลังอาสาสมัครที่ทำหน้าที่เป็นทหารรักษาพระองค์และราชวงศ์ในงานพิธีและเพื่อยิงสลุตเท่านั้น ไม่มีใครสนใจฝึกซ้อมหรือฝึกอบรมกองกำลังเพื่อทำศึกอีกต่อไป คงมีแต่การฝึกซ้อมเพื่อแสดงและเดินพาเหรดเท่านั้น (ตรงนี้ไม่ได้ประชดใครเลย ข้อมูลเป็นอย่างนี้จริงๆ) ป้อมทหารต่างๆ จึงกลายเป็นป้อมร้างให้แมงมุมสร้างใย

อ่าวเพิร์ล
ภาพวาดอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ ประมาณปี พ.ศ. 2383/ค.ศ. 1840

ชนชั้นสูงหลายคนตกเป็นหนี้ชาวต่างชาติ อันเป็นผลเนื่องมาจากการลงทุนเพื่อเก็งกำไรหรือซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศมากเกินไป เมื่อมีปัญหาทำนองนี้ นายหน้าเงินกู้ชาวต่างชาติก็มักหาทางออกด้วยการกดดันให้รัฐบาลของตัวเองเข้ามาช่วยจัดการ โดยบางครั้งมีการใช้กำลังทหารเข้าขู่แทนการดำเนินการตามครรลองกฎหมายของฮาวาย หลังจากปี พ.. 2363/.. 1820 ชาวต่างชาติในฮาวายมักขอความช่วยเหลือจากเรือรบของชาติตน โดยร้องทุกข์ต่อกัปตันเรือที่นำเรือเข้ามาจอดเทียบท่า เพราะเห็นว่าได้ผลชะงัดกว่า ขณะเดียวกันราชอาณาจักรฮาวายเองก็ไม่มีแสนยานุภาพทางทหารเพียงพอที่จะต้านทานคำขู่จากเรือรบต่างชาติได้

ตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นชัดถึงความจริงข้างต้นได้แก่วิกฤตการณ์ 2 ครั้งในรัชสมัยของพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 เมื่อฮาวายเกิดปัญหากับมหาอำนาจ 2 ประเทศ ซึ่งย่อมเป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกจากจักรวรรดินิยมเจ้าเก่าอย่างอังกฤษกับฝรั่งเศส

ในปี พ.. 2386/.. 1843 เรือรบของอังกฤษเข้ามาเทียบท่าเพราะได้รับแจ้งจากทูตอังกฤษว่า ชาวอังกฤษไม่ได้รับสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมาย กัปตันเรือแจ้งความประสงค์ที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ในทันที แต่เมื่อได้รับคำปฏิเสธ ก็ใช้กำลังบีบบังคับให้พระองค์ทรงสละราชบัลลังก์และยกฮาวายให้อยู่ในความดูแลของอังกฤษ เท่านั้นไม่พอ ยังทำลายธงชาติฮาวายทุกผืนที่อยู่ในสายตา และชักธงอังกฤษขึ้นสู่ยอดเสาแทน ทว่า หลังจากที่ผู้บัญชาการของกัปตันผู้นั้นเดินทางมาตรวจสอบความเรียบร้อยที่ฮาวาย ก็เป็นที่ประจักษ์ว่ากัปตันผู้นั้นกระทำการไปโดยพลการ แม้พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ทรงได้ราชบัลลังก์คืนมา แต่ราชอาณาจักรฮาวายก็ต้องสูญเสียอธิปไตยไปนานถึง 5 เดือน

อีกประมาณ 6 ปีต่อมา ราชอาณาจักรที่น่าสงสารแห่งนี้ก็มีเรื่องกระทบกระทั่งกับฝรั่งเศส ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่มิชชันนารีนิกายโปรเตสแตนต์ในรัชสมัยพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 ไม่หยุดอยู่แค่การสั่งยกเลิกศาสนาดั้งเดิมของชาวฮาวาย แต่ยังรุกคืบไปสั่งห้ามมิให้ผู้ใดนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกด้วย หนำซ้ำยังเนรเทศมิชชันนารีนิกายโรมันคาทอลิกและจับกุมผู้ศรัทธาไปทรมาน ในปี พ.. 2392/.. 1849 เมื่อนายพลคนหนึ่งของฝรั่งเศสเดินทางมายังโฮโนลูลู และทราบเรื่องเข้า ประกอบกับได้รับรายงานจากชาวฝรั่งเศสว่าบรั่นดีจากฝรั่งเศสถูกเรียกเก็บภาษีแพงลิ่ว จึงยื่นข้อเรียกร้อง 10 ประการต่อพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 เมื่อไม่ได้ดั่งใจ ก็ยกกำลังบุกเมืองโฮโนลูลู ทำลายป้อมทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และสร้างความเสียหายแก่อาคารสถานที่ทำการของรัฐบาล ภายหลังการรุกรานจากฝรั่งเศสในครั้งนี้ พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ได้ทรงทำสนธิสัญญากับสหรัฐและอังกฤษ เพื่อถ่วงดุลอำนาจ แต่ก็เป็นเหตุให้ฮาวายมีสภาพเป็นรัฐในอารักขาไปอย่างช่วยไม่ได้

ภายหลังราชวงศ์คาเมฮาเมฮา พระเจ้าลูนาลิโลทรงยกเลิกกองทัพ และอาศัยกองกำลังของสหรัฐในการปกป้องราชอาณาจักรเป็นหลัก แม้ว่าในภายหลัง พระเจ้าคาลาคาอูอาได้ฟื้นฟูกำลังกองทัพขึ้นมาใหม่ แต่ก็มีกำลังไม่เพียงพอที่จะต่อต้านกองกำลังของพรรคมิชชันนารีจนต้องยอมลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับดาบปลายปืนซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

ก่อนจบประเด็นเกี่ยวกับการทหารของฮาวาย ขอยกข้อความในย่อหน้าแรกของระเบียบทหารฉบับปี พ.. 2398/.. 1855 เพื่อช่วยให้เข้าใจว่า ในเวลานั้นทหารของฮาวายเดินหลงทางอย่างไร ข้อความนั้นคือ

ทหารทุกคนในกองทัพควรไปสวดมนต์บ่อยๆ นายทหารระดับสูงได้รับคำสั่งให้ปลูกฝังความศรัทธาต่อคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าในผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน โดยอาศัยคำสั่งอย่างเป็นทางการและการกระทำตนเป็นแบบอย่าง

ระบอบการปกครองที่เปลี่ยนแปลง

ก่อนหน้าปี พ.. 2382/.. 1839 อำนาจของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฮาวายแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ 1. กษัตริย์ 2. คูฮีนา นูอี และ 3. สภาสูง ระบอบการปกครองแบบนี้ทำให้ชาวตะวันตกที่เข้ามาพำนักอาศัยในฮาวายทำอะไรมากไม่ได้ จึงพยายามกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น รัฐบาลของฮาวายพยายามเอาใจชาวตะวันตกพอสมควร แต่ก็ดูเหมือนหากเอาใจอังกฤษ ฝรั่งอีก 2 ชาติ คือ อเมริกาและฝรั่งเศสก็ไม่พอใจ นานวันเข้า พอรัฐบาลฮาวายขยับตัวจะทำอะไรขึ้นมา ก็ปรากฏว่ามีเรือรบต่างชาติเข้ามาจอดค้ำคอรออยู่หน้าอ่าวเสียแล้ว ชาวฮาวายผู้มีการศึกษาคนหนึ่งเคยทำนายอนาคตของฮาวายไว้ว่าเรือของชาวผิวขาวได้มาถึงแล้ว คนฉลาดได้เดินทางมาจากประเทศอันยิ่งใหญ่ ซึ่งท่านไม่เคยพบเห็นมาก่อน พวกเขารู้ว่าเรามีคนน้อยกว่า และอยู่ในประเทศเล็กๆ พวกเขาจะกลืนกินเราจนสิ้น

ในปี พ.. 2383/.. 1840 พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งแบ่งอำนาจการปกครองออกเป็น 3 ฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ฝ่ายบริหารที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ในฝ่ายนิติบัญญัตินั้นประกอบด้วยกษัตริย์ สภาสูง [5] และสภาล่าง (สภาผู้แทน) โดยที่แต่ละฝ่ายมีอำนาจทัดทานกันได้ นับว่านี่เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้สามัญชนมีตัวแทนในสภา นักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่า การก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยครั้งนั้นเป็นการย่างก้าวก่อนเวลาอันสมควร เพราะชาวฮาวายยังไม่มี
ความพร้อมที่จะใช้ระบอบนี้ จึงต้องอาศัยที่ปรึกษาชาวต่างชาติ อันเป็นการเปิดทางให้ชาวต่างชาติเหล่านั้นเข้าไปมีอำนาจในการปกครองประเทศ และนำมาซึ่งผลเสียต่อราชอาณาจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พระองค์ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่งในปี ค.. 1852 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าฮาวายมีการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และให้สิทธิสามัญชนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พร้อมทั้งมีการแบ่งอำนาจปกครองเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญของสหรัฐเป็นต้นแบบ ซึ่งหมายความว่ากษัตริย์มีพระราชอำนาจน้อยลง

รัฐธรรมนูญฉบับดาบปลายปืน

ปี พ.. 2430/.. 1887 ในรัชสมัยของพระเจ้าคาลาคาอูอา เป็นปีที่สงครามแย่งชิงอำนาจการปกครองในฮาวายพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด ในเดือนกรกฎาคม พรรคมิชชันนารีซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคปฏิรูป รู้สึกไม่พอใจกับการปกครองโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทราบมาว่าพระเจ้าคาลาคาอูอาอาจจะทรงฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยแบบเก่าขึ้นมาอีก ซึ่งเท่ากับเป็นการลดอำนาจของพวกตนลง จึงได้จัดตั้งสมาคมลับขึ้น เรียกว่า สันนิบาตชาวฮาวาย (Hawaiian League) โดยมี นายลอร์ริน เทอร์สตัน [6] และ นายแซนฟอร์ด โดล[7] ร่วมเป็นสมาชิก ทั้งคู่เป็นนักกฎหมายและหลานของมิชชันนารีคณะแรก สมาคมนี้ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 400 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของไร่อ้อยและนักธุรกิจชาวอเมริกัน หลายคนเป็นทายาทของมิชชันนารี และหลายคนเป็นกองทหารอาสาสมัคร ซึ่งรับราชการทหารกับรัฐบาลของฮาวาย

นายลอร์ริน เทอร์สตัน ตัวการสำคัญในการโค่นล้มราชอาณาจักรฮาวาย

วัตถุประสงค์ของสมาคมนี้คือเพื่อยึดครองอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจจากชาวฮาวาย ซึ่งในขณะนั้นมีอยู่ด้วยกันประมาณ 40,000 คน รวมทั้งเพื่อ ปฏิรูป ระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และผนวกดินแดนให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐ โดยเห็นว่าการทำเช่นนั้นเป็นการปลดปล่อยชาวฮาวายให้พ้นจากระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยแบบเก่า ในลักษณะเดียวกันกับที่สหรัฐปลดปล่อยตัวเองจากการปกครองของอังกฤษมาแล้ว ทว่า ในสายตาของชาวฮาวายนั้น คำว่าปฏิรูป ก็หมายถึงกบฏนั่นเอง

สมาคมดังกล่าวใช้ข้ออ้างว่าพระเจ้าคาลาคาอูอาทรงใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย แถมด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าพระองค์ทรงรับสินบนเพื่อให้ชาวจีนค้าฝิ่นได้อย่างเสรี สมาชิกบางคนในสมาคมลับนี้มีความคิดรุนแรงถึงขั้นที่ต้องการบังคับให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติ บางคนเสนอให้มีการลอบปลงพระชนม์ แต่ในที่สุดแล้ว ฝ่ายที่เดินสายกลางมากกว่าหน่อยก็ได้ชัยชนะ โดยตกลงที่จะรักษาราชบัลลังก์ไว้ แต่จำกัดพระราชอำนาจไว้ภายในขอบเขตของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สมาคมนี้บัญญัติขึ้น แต่หากพระองค์ทรงปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ ก็จำเป็นต้องบังคับให้ทรงสละราชสมบัติ

นายแซนฟอร์ด โดล

เมื่อสมาคมดังกล่าวนำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าคาลาคาอูอา พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีใหม่ที่ประกอบด้วยสมาชิกของสมาคมลับนั้น แรกทีเดียวพระองค์ทรงโต้แย้งและต่อต้านรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่เมื่อทรงตระหนักว่าสมาคมดังกล่าวมีกองกำลังรบกึ่งทหารโฮโนลูลูไรเฟิลส์คอยสนับสนุนอยู่ พระองค์จึงทรงยอมจำนนแต่โดยดี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จึงมีชื่อดุเดือดว่า รัฐธรรมนูญฉบับดาบปลายปืน ซึ่งทำให้พระองค์มีพระราชอำนาจน้อยลงมาก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระองค์ครองราชย์แต่ไม่ปกครอง และมีฐานะไม่ผิดกับรูปปั้นหินอ่อนในพระราชวัง

ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดาบปลายปืนนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็ นายลอร์ริน เทอร์สตัน นั่นแหละ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลทำให้อำนาจการปกครองที่แท้จริงตกอยู่ในมือของคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติเท่านั้นที่มีอำนาจถอดถอนรัฐมนตรีได้ หาใช่กษัตริย์อีกต่อไปไม่ ส่วนสภาสูงนั้น บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดไว้ว่า สมาชิกในสภาสูงต้องมาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่แต่เดิมนั้น การแต่งตั้งสมาชิกเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ถึงแม้จะฟังดูดีและเป็นประชาธิปไตย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้มีสิทธิเลือกและผู้สมัครต้องมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์หรือมีรายได้มากถึงระดับที่บัญญัติไว้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นชาวฮาวายเท่านั้น

ฉะนั้น คนต่างด้าวที่เป็นชาวอเมริกันหรือยุโรปจึงมีสิทธิเลือกตั้งเช่นกัน ส่วนชาวเอเชียนั้นไม่มีสิทธิ แม้ว่าได้โอนสัญชาติแล้วก็ตาม แต่ที่เด็ดกว่านั้นคือ พระองค์ต้องทรงแต่งตั้งให้นายลอร์รินเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีกระทรวงนี้มีหน้าที่ดูแลถนนหนทาง ท่าเรือ อ่าว ที่ดินของรัฐบาล การเช่าที่ดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ และคนเข้าเมือง พูดง่ายๆ ก็คือ ควบคุมกิจการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของไร่อ้อย แต่ที่นักการเมืองไทยฟังแล้วคงอยากให้เกิดขึ้นกับตนบ้างคือ หลังจากที่ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใครสมควรเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว ก็เลยยกตำแหน่งนั้นให้นายลอร์รินรับไปด้วยเลย

ต่อมา คณะรัฐมนตรีที่เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังบังคับให้พระเจ้าคาลาคาอูอาทรงแต่งตั้ง นายแซนฟอร์ด โดล เป็นผู้พิพากษาศาลสูง เมื่อเป็นฉะนี้แล้ว คงไม่ต้องสงสัยอีกว่า ราชอาณาจักรฮาวายในเวลานั้นอยู่ในอุ้งมือใคร

(ซ้าย)ประธานาธิบดีเบนจามิน แฮร์ ริสัน, (ขวา) ประธานาธิบดีโกลเวอร์ คลีฟแลนด์

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเหตุให้ชาวฮาวายเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือก
ตั้ง เพราะขณะนั้นชาวฮาวายเป็นเจ้าของที่ดินแค่ 10% จึงไม่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หนำซ้ำ ชาวฮาวายจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็ต่อเมื่อ ยอมสาบานว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับที่น่ารังเกียจนี้เท่านั้น จึงเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนาที่จะลดพระราชอำนาจลง พร้อมกับลิดรอนสิทธิของชาวฮาวาย ทั้งในสนามเลือกตั้งและในสภานิติบัญญัติ ขณะเดียวกันก็เปิดทางให้ชาวผิวขาวและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในฮาวายเข้ากุมอำนาจทางการเมืองและการปกครองได้เกือบเต็มที่ ถ้าพูดตามประสาข่าวพาดหัวเมืองไทยก็ต้องว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับข่มขืนประชาชน

หากไม่มีใครจับตาดูนักการเมืองไทย ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่า ความขยันในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจนำไปสู่เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ได้ แน่นอนว่า วิธีการย่อมต้องซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าหน่อย เพราะขณะนี้เป็นศตวรรษที่ 21 เข้าไปแล้ว หากไม่อำพรางวิธีการเสียเลย ก็คงดูกระไรอยู่

เป็นธรรมดาอยู่เองที่ชาวฮาวายย่อมไม่พอใจที่ตนมีสิทธิในการปกครองน้อยลง และยอมรับไม่ได้ที่พระราชอำนาจถูกลิดรอนลง ดังนั้นชาวฮาวาย ชาวจีน และชาวญี่ปุ่นจึงร่วมกันถวายฎีกา เพื่อขอให้ทรงเพิกถอนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คณะรัฐมนตรียุคปฏิรูปจึงตอกกลับว่าสภานิติบัญญัติเท่านั้นที่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ โดยไม่ใส่ใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เองก็ไม่ได้ผ่านการรับรองจากสภาฯ แต่อย่างใด

พลเมืองส่วนใหญ่ของฮาวายพยายามที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในปี พ.. 2432/.. 1889 หนุ่มลูกครึ่งชาวฮาวายชื่อ รอเบิร์ต ดับเบิลยู. วิลคอกซ์ (Robert W. Wilcox) ได้นำกำลังคน 80 นาย ซึ่งมีทั้งชาวฮาวายและชาวยุโรป พร้อมอาวุธ เดินขึ้นวังอิโอลานี พร้อมด้วยรัฐธรรมนูญฉบับคืนพระราชอำนาจ เพื่อให้พระเจ้าคาลาคาอูอาทรงลงพระปรมาภิไธย แต่พระองค์เสด็จออกจากพระราชวังก่อนหน้านั้น เพราะทรงทราบข่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะคืนพระราชอำนาจให้แก่กษัตริย์ แต่นายรอเบิร์ตต้องการให้เจ้าหญิงลิลิอูโอคาลานี ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพระองค์ เสด็จขึ้นครองราชย์แทน

คณะรัฐมนตรีได้เรียกกองทหารมาสยบกองกำลังดังกล่าว และจับตัวนายรอเบิร์ตไปขึ้นศาล โชคเป็นของนายคนนี้อยู่บ้าง เพราะลูกขุนซึ่งเป็นชาวฮาวายส่วนใหญ่ ลงมติว่านายรอเบิร์ตไม่มีความผิด แต่คือวีรบุรุษ

ในปี พ.. 2433/.. 189o สหรัฐได้ประกาศใช้กฎหมายฉบับหนึ่งที่เรียกกันว่าภาษีศุลกากรแมกคินลีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายวิลเลียม แมกคินลีย์ (ขณะนั้นเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ แต่ต่อมาชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี) ผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองในฮาวาย เพราะเป็นการยกเลิกสนธิสัญญาต่างตอบแทนระหว่างสหรัฐกับฮาวาย ทำให้ประเทศอื่นๆ สามารถส่งน้ำตาลเข้าสหรัฐได้โดยไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

เมื่อพระนางลิลิอูโอคาลานีเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.. 2434/.. 1891 พระองค์ทรงฝืนพระทัยยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับดาบปลายปืนในเบื้องต้น แต่ทรงมีเป้าหมายที่จะเรียกคืนพระราชอำนาจเพื่อให้ชาวฮาวายเป็นผู้กุมบังเหียนในการปกครองอีกครั้ง แน่นอนอยู่เองที่บรรดาผู้สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับดาบปลายปืนย่อมไม่พอใจ ดังนั้นจึงมีการวางมาตรการเพื่อให้แน่ใจว่าพระองค์จะไม่มีพระราชอำนาจมากจนเกินไป

ฉบับหน้า เชิญติดตามอ่านเหตุการณ์ที่นำไปสู่วาระสุดท้ายของราชอาณาจักรฮาวาย

หมายเหตุ เนื้อหาที่นำเสนอในที่นี้เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ยังมีรายละเอียดอีกหลายด้านที่ไม่ได้นำมาเสนอ แต่มีผลกระทบต่อจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ฮาวายด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] คำสะกดภาษาอังกฤษคือ Niihau, Kauai, Oahu, Molokai, Lanai, Kahoolawe, Maui, และ Hawaii ตามลำดับ ชื่อ ภาษาไทยเหล่านี้เขียนตามชื่อที่คุ้นหูคนไทย แต่อาจไม่ถูกต้องตามหลักการออกเสียงภาษาฮาวาย

[2] ในบทความนี้ คำว่า ชาวฮาวาย หมายถึงชาวพื้นเมืองของฮาวายเท่านั้น

[3]  มิชชันนารีหมายถึงกลุ่มนักเผยแผ่ศาสนา ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรในด้านต่างๆ ทั้งนักบวช นักเทศน์ ช่างพิมพ์ แพทย์ ฯลฯ

[4] 1 บาร์เรล เท่ากับประมาณ 159 ลิตร

[5] การสืบทอดตำแหน่งในสภาสูงอาศัยเชื้อสายเป็นเกณฑ์

[6] Lorrin A. Thurston (31 กรกฎาคม .. 2401/.. 1858 – 11 พฤษภาคม .. 2474/.. 1931)

[7] Sanford B. Dole (23 เมษายน .. 2387/.. 1844 – 9 มิถุนายน .. 2469/.. 1926)

[8] William Nevins Armstrong (10 มีนาคม พ.. 2378/.. 1835 – 16 ตุลาคม พ.. 2448/.. 1905) เกิดที่เกาะเมาอี และเสียชีวิตที่วอชิงตัน ดี.ซี. แต่นำศพกลับไปฝังที่ฮาวาย

[9] กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (6 กันยายน พ.. 2381 – 28 สิงหาคม พ.. 2428)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2560