ความขมขื่นของ ลิลิอูโอคาลานี ราชินีองค์สุดท้ายของฮาวายยุคเปลี่ยนผ่านอาณาจักร

ลิลิอูโอคาลานี ราชินี ฮาวาย
ภาพถ่ายของราชินีลิลิอูโอคาลานี (ภาพจาก Library of Congress's Prints and Photographs division, ppmsca.53150) บนฉากหลังโปสการ์ดในรูปแบบแผนที่โบราณแสดง 8 เกาะใหญ่ ของหมู่เกาะฮาวาย

ลิลิอูโอคาลานี คือราชินีองค์สุดท้ายของ “ฮาวาย” ยุคเปลี่ยนผ่านอาณาจักร ซึ่งในประวัติศาสตร์ฮาวายนั้น เคยเป็นราชอาณาจักรมีกษัตริย์ปกครองรวมแล้ว 8 รัชกาล (ใน 3 ราชวงศ์) ความเสื่อมทางศาสนา การสูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวฮาวายให้กับศาสนาคริสต์ การเปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบใหม่ รวมกับทรัพยากรอันเป็นที่ต้องการของสหรัฐอเมริกา ทำให้ชะตากรรมของอาณาจักรนี้กลายเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน

ภูมิหลังราชวงศ์ของฮาวาย

ผู้ที่ปกครองฮาวายช่วงแรกคือราชวงศ์คาเมฮาเมฮา โดยพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราชเป็นผู้ที่รวบรวมเกาะทั้งหมดขึ้นเป็นราชอาณาจักรฮาวาย ต้นราชวงศ์ปกครองโดยกษัตริย์โดยตรง หลังจากนั้นเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอาณาจักร มีการเพิ่มตำแหน่ง คูฮีนา นูอี (เปรียบได้กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ให้พระนางคาอาอูบานูขึ้นมามีอำนาจถ่วงดุลอำนาจกษัตริย์ พระนางเป็นผู้ขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ฮาวาย จากเดิมผู้หญิงไม่มีบทบาทในทางการเมืองให้สตรีสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้

ช่วงต้นราชวงศ์ ศาสนาของฮาวายเสื่อมสลายลงไปจากการที่พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 ทำลายวัดและสัญลักษณ์ทางศาสนาของฮาวาย เช่น เทวรูป ศาสนาเดิมถูกทำลายลงเกือบทั้งหมด ถูกแทนที่ด้วยศาสนาคริสต์ซึ่งช่วงหลังจากนี้จะส่งผลต่อสังคมฮาวายอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือเมื่อศาสนาใหม่เข้าสู่จิตใจของชาวพื้นเมืองและกษัตริย์ได้แล้ว ชาวฮาวายได้ละทิ้งวิถีชีวิตดั้งเดิมที่มีระบำฮูลา กระดานโต้คลื่น

การพนันและอิทธิพลของศาสนาใหม่ยังเข้าไปมีอิทธิต่อการปกครอง ทำให้กษัตริย์ยอมลดอำนาจลง และมีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ. 2383 (ค.ศ. 1840) ที่ทำให้กษัตริย์ฮาวายอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เมื่อเริ่มมีแนวความคิดในกรรมสิทธิ์ที่ดินเกิดขึ้นในฮาวาย ชาวต่างชาติมีสิทธิ์ซื้อที่ดิน ที่ดินของฮาวายตกอยู่ในมือชาวต่างชาติ พวกนี้เริ่มพัฒนาการปลูกอ้อยในฮาวายส่งออกไปยังสหรัฐฯ เล่าขานกันว่าในเวลานั้น บริษัทผลิตน้ำตาล 5 แห่งในฮาวายตกเป็นของชาวอเมริกันทั้งหมด และแนวความคิดในการรวบรวมฮาวายเข้ากับสหรัฐฯ ก็ก่อตัวหลังจากนี้เป็นต้นไป

ภายหลังจากพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 5 เสด็จสวรรคตโดยที่ไม่ได้ระบุองค์รัชทายาทไว้ เมื่อมาพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2407/ค.ศ. 1864 บ่งชี้ว่าให้สภานิติบัญญัติดำเนินการเลือกตั้ง ผลปรากฏว่า วิลเลียม ลูนาลิโล พระนัดดาของพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช ชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้น พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์โดยผ่านกระบวนการแบบประชาธิปไตยเป็นพระองค์แรก และยังถือว่าเริ่มต้นราชวงศ์ใหม่ด้วย แต่ทรงครองราชย์ได้ปีเศษก็เสด็จสวรรคต

กษัตริย์ ๘ พระองค์แห่งฮาวาย และช่วงเวลาที่ครองราชย์
๑. พระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช (พ.ศ. ๒๓๓๘/ค.ศ. ๑๗๙๕ – พ.ศ. ๒๓๖๒/ค.ศ. ๑๘๑๙)
๒. พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๖๒/ค.ศ. ๑๘๑๙ – พ.ศ. ๒๓๖๗/ค.ศ. ๑๘๒๔)
๓. พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖๗/ค.ศ. ๑๘๒๔ – พ.ศ. ๒๓๙๗/ค.ศ. ๑๘๕๔)
๔. พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๙๘/ค.ศ. ๑๘๕๕ – พ.ศ. ๒๔๐๖/ค.ศ. ๑๘๖๓)

การเลือกตั้งกษัตริย์จึงเกิดขึ้นอีกหน ท้ายที่สุดเป็นเจ้าชายคาลาคาอูอาคว้าชัย แต่ฟากราชินีเอมมา มเหสีของกษัตริย์คาเมฮาเมฮาที่ 4 ปรากฏผู้สนับสนุนพระนางที่ไม่พอใจผลก่อจลาจลขึ้น พระเจ้าคาลาคาอูอา ต้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และอังกฤษให้ส่งเรือรบมาช่วยจนความวุ่นวายสงบลง

ช่วงกลางของราชวงศ์กษัตริย์เริ่มเจอปัญหาการรวมฮาวายเข้ากับสหรัฐฯ การที่ฮาวายเป็นประเทศอิสระกำไรจากการส่งออกน้ำตาลสำหรับพ่อค้าในฮาวายจึงลดลงจากการที่ต้องเสียภาษีนำเข้าน้ำตาล ชาวตะวันตกในฮาวายที่เป็นกลุ่มส่งออกน้ำตาลจึงคิดที่จะรวมฮาวายเข้ากับสหรัฐฯ โดยกดดันให้กษัตริย์ฮาวายทำการค้าเสรีกับสหรัฐฯ เพื่อส่งน้ำตาลไปขายโดยไม่ต้องเสียภาษี หลังจากนี้ฮาวายก็เชื่อมสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มากขึ้น ภายหลังกษัตริย์ฮาวายเริ่มหมดอำนาจลงก่อนถูกผนวกเข้ากับสหรัฐฯ สิ้นสุดอาณาจักรฮาวายในสมัยราชินีพระนามว่า ลิลิอูโอคาลานี (Liliʻuokalani) พระขนิษฐาของกษัตริย์คาลาคาอูอา

๕. พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖/ค.ศ. ๑๘๖๓ – พ.ศ. ๒๔๑๕/ค.ศ. ๑๘๗๒)
๖. พระเจ้าลูนาลิโล (พ.ศ. ๒๔๑๖/ค.ศ. ๑๘๗๓ – พ.ศ. ๒๔๑๗/ค.ศ. ๑๘๗๔)
๗. พระเจ้าคาลาคาอูอา (พ.ศ. ๒๔๑๗/ค.ศ. ๑๘๗๔ – พ.ศ. ๒๔๓๔/ค.ศ. ๑๘๙๑)
๘. พระนางลิลิอูโอคาลานี (พ.ศ. ๒๔๓๔/ค.ศ. ๑๘๙๑ – พ.ศ. ๒๔๓๖/ค.ศ. ๑๘๙๓)

ราชินี ลิลิอูโอคาลานี

ลิลิอูโอคาลานี ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2381 (ค.ศ. 1838) ในตระกูลราชวงศ์คาเมฮาเมฮา เชื้อพระวงศ์ของฮาวาย พระบิดาและมารดาของพระองค์เป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์คาเมฮาเมฮาที่ 3 เป็นราชนิกุลที่ได้รับการศึกษาสูง ชื่นชอบประเพณีดั้งเดิมของฮาวาย และเป็นขนิษฐาของกษัตริย์คาลาคาอูอา (ชื่อกษัตริย์พระองค์นี้คนไทยพอจะรู้จักบ้าง เพราะเคยเสด็จมาเยือนสยามในสมัยรัชกาลที่ 5) ช่วงเวลาที่พระนางประสูติ ชาวฮาวายหันไปนับถือศาสนาคริสต์เกือบทั้งหมด ระบำส่ายสะโพกแบบฮาวายก็เป็นสิ่งต้องห้ามไปเสียแล้ว

สำหรับพระเจ้าคาลาคาอูอาเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรฮาวาย พระองค์เสด็จฯ มาเยือนสยามในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน พ.ศ. 2428/ค.ศ. 1881 ระหว่างการเสด็จประพาสรอบโลกเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ

กลับมาที่ราชินี ลิลิอูโอคาลานี ภายหลังได้เป็นราชินีปกครองฮาวายต่อจากพระเชษฐาใน พ.ศ. 2434 (ค.ศ. 1891) ในรัชสมัยของพระองค์ ฮาวายอยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลง ภายหลังขึ้นครองราชย์ พระนางพยายามเรียกร้องสิทธิให้คนฮาวาย พระนางมีท่าทีแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้คนฮาวายมีสิทธิเลือกตั้ง และให้มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสภาสูงและคณะรัฐมนตรีโดยไม่ผ่านสภานิติบัญญัติ ซึ่งท่าทีการลบล้างอิทธิพลของชาวอเมริกันในรัฐบาล ทำให้อาจถูกนักประวัติศาสตร์บางส่วนมองว่าพระนางกระหายอำนาจ

หลังครองราชย์ได้ 2 เดือน พระองค์ยังต้องเจอปัญหาที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิในการส่งออกน้ำตาลโดยปลอดภาษี ทำให้คนตะวันตกที่ส่งออกน้ำตาลเสียผลประโยชน์จึงคิดรวมฮาวายเข้ากับสหรัฐฯ ประกอบกับความพยายามของพระองค์ในการเรียกร้องและร่างรัฐธรรมนูญที่คืนอำนาจให้กับกษัตริย์และชาวฮาวายดังที่กล่าวข้างต้น เรื่องนี้ทำให้ผู้เสียประโยชน์ยิ่งมองว่าต้องดึงสหรัฐฯ ให้ผนวกฮาวาย

ช่วง ค.ศ. 1893 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เมื่อรัฐมนตรีเชื้อสายอเมริกัน 2 นายในคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระนางมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า เพื่อแจ้งเรื่องประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นำความไปแจ้งให้กลุ่มนิยมการผนวกดินแดน เหตุการณ์นี้จึงนำไปสู่จุดเปลี่ยนการล้มราชบัลลังก์สิ้นสุดการปกครองของกษัตริย์ฮาวายที่ใช้เวลาเปลี่ยนผ่านเพียง 4 วัน

วันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1893 ประชาชนชาวฮาวายได้รับฟังประกาศสิ้นสุดระบบการปกครอง โดยมีกษัตริย์เป็นพระประมุข

ภายหลังราชินี ลิลิอูโอคาลานี ทรงขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลประเทศต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นผล ประชาชนผู้สนับสนุนพระราชินีเริ่มรวบรวมอาวุธวางแผนโค่นล้มรัฐบาลสาธารณรัฐฮาวาย และฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตย มีแผนจู่โจมวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1895 แต่แผนไม่ประสบผลอีก ช่วงเวลา 2 สัปดาห์หลังจากนั้น กลุ่มผู้สนับสนุนถูกกวาดล้าง

เวลาต่อมา พระนางต้องลงพระปรมาภิไธยในหนังสือสละราชบัลลังก์ และมอบอำนาจปกครองให้รัฐบาลของสาธารณรัฐฮาวายแบบถาวร แถมรัฐบาลยังนำพระนางขึ้นศาลทหารต่ออีกต่างหาก

ศาลตัดสินว่าพระนางมีความผิดข้อหาปกปิดการกบฏ รับโทษปรับ 5,000 เหรียญสหรัฐ ทำงานหนักเป็นเวลา 5 ปี ภายหลังโทษทำงานหนักถูกยกเลิกเหลือเพียงกักตัวในพระราชวัง และห้ามติดต่อบุคคลภายนอก

ต่อมาใน ค.ศ. 1896 ประชาชนยื่นหนังสือขออภัยโทษ พระนางจึงได้อิสรภาพในสถานะประชาชนตามรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐฮาวาย พระนางลิลิอูโอคาลานีเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1917 ด้วยพระชนมายุ 79 พรรษา ก่อนที่ฐานทัพฮาวายจะถูกถล่มโดยญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

ถึงแม้ ลิลิอูโอคาลานี จะเป็นราชินีองค์เดียวและองค์สุดท้ายที่ปกครองฮาวาย สิ่งที่ทำให้เรารำลึกถึงพระองค์คือมรดกที่พระองค์ทิ้งไว้อันแสดงถึงประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวฮาวาย

พระองค์นิพนธ์เพลง Aloha ‘Oe ฝากวิถีความเป็นฮาวายทิ้งไว้ในบทเพลงนี้ บทเพลงนี้เป็นเพลงฮาวายแท้ๆ คนส่วนใหญ่รู้จักเพลงนี้ผ่านภาพยนตร์ “บลู ฮาวาย” ที่แสดงโดยเอลวิส เพรสลีย์ เพลงนี้เมื่ออำลากันนั้นสื่อความหมายถึง “อำลาชั่วคราว” ลาจนกว่าจะพบกันใหม่ ฝากความเศร้าเคล้าความหวังเอาไว้ในหัวใจ

ปล. ค.ศ. 1959 สหรัฐฯ ตั้งหมู่เกาะฮาวายเป็นรัฐที่ 50 ของประเทศ ต่อมา ใน ค.ศ. 1993 รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบิล คลินตัน กล่าวคำขอโทษชาวฮาวายอย่างเป็นทางการในวาระครบรอบ 100 ปีล้มราชบัลลังก์ฮาวาย และมีการชำระความเข้าใจข้อมูลสาเหตุของเหตุการณ์กันใหม่หลังข้อมูลช่วงแรกคลาดเคลื่อน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช. เพลงของโลกและของเรา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.

วิลาส นิรันดร์สุขศิริ. “ราชอาณาจักรฮาวาย บทเรียนแห่งการสูญแผ่นดิน สิ้นชาติ ขาดกษัตริย์ (ตอนที่ 1)” ใน วารสารศิลปวัฒนธรรม ปี 33 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2555.

______. “ราชอาณาจักรฮาวาย บทเรียนแห่งการสูญแผ่นดิน สิ้นชาติ ขาดกษัตริย์ (ตอนที่ 2)”. ใน วารสารศิลปวัฒนธรรม ปี 33 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2555.

______. “‘กษัตริย์ฮาวาย’ เสด็จฯเยือนสยามหวังยลช้างเผือก ทั้งคณะติดใจ ‘ไวน์แห่งปะการัง’ ที่ทำให้คิดถึงบ้าน”.  ใน วารสารศิลปวัฒนธรรม ปี 33 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2562