ผู้หญิงขี่ช้างออกศึกอีกคนหนึ่งในตํานานของอุษาคเนย์?

ภาพ จิตกรรม สงครามยุทธหัตถี ระหว่าง นางพรหมจารี กับ พระเจ้ากาวินทราช
ภาพจิตกรรมสงครามยุทธหัตถีระหว่างนางพรหมจารีกับพระเจ้ากาวินทราช (ภาพจาก หนังสือวัดภูมินทร์และวัดหนองบัว, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ)

ย้อนมองไปในประวัติศาสตร์ เมื่อกล่าวถึง “ผู้หญิงขี่ช้างออกศึก” ใครๆ ก็นึกถึง เรื่อง พระสุริโยทัย ที่พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ บันทึกไว้ว่า “…สมเด็จพระองค์มหเสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าเศึกเถิ่งสิ้นพระชนม์กับคอช้าง…”

การขี่ช้างออกศึกของผู้หญิงสมัยโบราณในยามศึกนั้น เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในอุษาคเนย์-ดินแดนที่หญิงมีอำนาจบารมีเทียบเคียงผู้ชาย ในดินแดนที่ขาดแคลนไพร่พลแรงงานอย่างยิ่งแ ต่ช้างมีอยู่มากมาย “ผู้หญิงขี่ช้างออกศึก” นอกเหนือจาก พระสุริโยทัย คือใคร

ประสาท พาศิริ ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความของเขาที่ชื่อว่า “ผู้หญิงขี่ช้างออกศึกไม่ธรรมดาที่ธรรมดา” (ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2545) ไว้ดังนี้


ผู้หญิงสมัยก่อนเป็นควาญช้างกับท้ายช้าง และควบคุมช้างร่วมทําสงคราม รูปเขียนเรื่องมหาเวสสันดร กัณฑ์นครกัณฑ์ ในสมุดข่อยเรื่องไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2542)

ในชีวิตประจำวันผู้หญิงขี่ช้างเพื่อเดินทางบุกป่าฝ่าดงจึงเป็นเรื่องปกติ เพราะช้างเป็นพาหนะที่หาได้ง่ายในสมัยนั้นและขี่ง่ายกว่าขี่ม้ามากนัก

ขอยกเอาตอนหนึ่งของเรื่องท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ซึ่งเป็นโคลงดั้นลาว ตอน “ท้าวฮุ่งยกพลไปตีเมืองประกัน” มาใช้อ้างอิงประกอบ

ในตอน “ท้าวฮุ่งยกพลไปตีเมืองประกัน” นี้แล ที่มีผู้หญิงขี่ช้างออกมาทำศึกกับท้าวฮุ่งอย่างไม่กลัวตาย

…………..

เพื่อเป็นการปูพื้นความเข้าใจ ใคร่ขอคัดย่อเรื่องท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ช่วงก่อนเกิดศึกเมืองประกันมาพอสังเขป ดังนี้

ท้าวฮุ่ง หรือท้าวเจือง เป็นลูกของขุนจอมธรรม เจ้าเมืองสวนตาล หรือเมืองนาคอง เมื่อขุนจอมธรรมถึงแก่กรรมลง ผู้เป็นแม่ทัพพร้อมชาวเมืองสวนตาลจึงตั้งท้าวเจืองผู้เป็นพี่ของท้าวฮุ่งให้เป็นเจ้านครแทนพ่อ ส่วนท้าวฮุ่งให้เป็นอุปราช

วันหนึ่งท้าวฮุ่งขี่ช้างเดินทางไปยังที่ห่างไกล ได้เห็น นางง้อม ลูกสาวนางเม็ง ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงเครือ…ท้าวฮุ่งนึกรักนางง้อมจึงแต่งให้เถ้าแก่ไปขอ แต่ค่าสินสอดแพงมาก อันเป็นอุปสรรคขวางกั้นความรัก ท้าวฮุ่งจึงลักลอบเข้าหานางง้อมจนสมหวังในความรัก

ในเวลาเดียวกันนั้นยังมี ท้าวแองกา เป็นคนเชื้อชาติแกว อยู่เมืองคำวัง ท้าวแองกาเป็นหลานของท้าวกว่า ซึ่งเป็นเจ้าเมืองปะกัน ภายหลังที่พ่อถึงแก่กรรมแล้วท้าวแองกาได้เป็นเจ้าเมืองคำวัง และปรารถนาจะแต่งงานกับสาวงาม ท้าวทราบว่ามีสาวงามนางหนึ่งชื่อว่า นางอั้ว เป็นลูกสาวของขุนซึ่ม เจ้าเมืองเงินยาง จึงได้แต่งทูตไปขอ แต่ขุนซึ่มไม่ตกลง ทั้งยังบอกว่าจะให้นางอั้วแต่งงานกับท้าวฮุ่งผู้เป็นหลาน

ท้าวแองกาทราบข่าวจากทูตของตนแล้วก็รีบไปบอกท้าวกว่าผู้เป็นน้าที่เมืองปะกัน ท้าวกว่าโกรธมาก จึงแต่งให้ทูตกลับไปเจรจาอีก โดยสั่งว่า ถ้าไม่ยอมตกลงก็ให้ป้องกันเมืองไว้ดีๆ ต่อมาทั้งสองก็ยกกำลังมาตีเมืองเงินยางดังที่ลั่นวาจาไว้

กองทัพของท้าวซึ่มต้านทานกำลังของท้าวแองกาไม่ไหว จึงส่งสารไปเชิญท้าวฮุ่งผู้เป็นหลานชายให้นำกำลังมาช่วย ท้าวฮุ่งได้จัดกองทัพจากเมืองสวนตาลไปช่วย

ขณะเดียวกัน นางง้อมชู้ของท้าวฮุ่งอยู่เมืองเชียงเครือ ก็จัดกองทัพอันประกอบด้วยช้าง 20 ตัวไปช่วยเช่นกัน

เมื่อกองทัพของท้าวฮุ่งและกองทัพของนางง้อมไปถึงเมืองเงินยาง ได้บุกโจมตีกำลังของท้าวแองกาที่ล้อมเมืองอยู่ จนทัพฝ่ายหลังแตกกระจัดกระจาย

วันรุ่งขึ้นท้าวฮุ่งนำกำลังออกกวาดล้างศัตรูจนราบคาบ ท้าวกว่าเจ้าเมืองปะกันและแม่ทัพสำคัญๆ ของท้าวแองกาเสียชีวิตในสนามรบ ท้าวแองกาก็ถูกจับได้

………….

เช้าต่อมาท้าวฮุ่งก็ยกพลเข้าตีเชียงบาน เขตแดนของเชียงบานติดต่อกับแดนของศรีทน เขมร และห้อ (ลาวหนองแส) เชียงบานถูกตีแตกในตอนเช้าของวันนั้นเอง มีบางพวกที่หนีไปได้ได้ไปบอกเมียของท้าวกว่าที่เมืองปะกันว่า ท้าวกว่าผู้ผัวตายในการสงครามเสียแล้ว

เมื่อเมียท้าวกว่าทราบว่าผัวตายเสียแล้ว และท้าวฮุ่งกำลังยกพลมาตีเมืองปะกัน นางกว่าก็สั่งเรียกประชุมเพื่อจัดกำลังพลออกต้านทานกองทัพท้าวฮุ่งทันที

………….

ในขณะที่บรรดาเหล่ามุขมนตรี สนมกำนัล และญาติพี่น้อง ต่างพากันทัดทานว่า พวกท้าวฮุ้งนั้นเก่งกล้าเราหรือจะไปเอาชนะเขาได้ แม้แต่ท้าวกือเมือง ท้าวกว่าก็ยังสิ้นพระชนม์ไป…ทุกฝ่ายต่างพากันเหนี่ยวรั้งนางไว้

…………

นางกว่าได้ฟังแล้วแทนที่จะคล้อยตามกลับให้แค้นเคืองกล่าวว่า ผัวตายอยู่กลางทุ่งเชียงล้านทำไมจะมายอมจำนนไหว้วอน ยอมตกเป็นสินส่วยอย่างนั้นหรือ นางไม่เกรงจะต้องชนช้างแต่อย่างใด…

เราเกิดมาหนเดียวจะขอตายตามผัวไป ขอให้อยู่ดีทางนี้เถิดนางจะชนช้างสู้ แล้วนางก็สั่งลาญาติพี่น้อง ลูกหลาน และแม้นว่านางสิ้นชีพกลางสนามรบให้พากันไปเมืองตุมวาง พึ่ง “แมนเมืองล้าน” โน่น ว่าแล้วนางก็ให้เตรียมหมู่ช้างกำลังพลให้พร้อม

เมื่อนั้น   นางกว่าให้คล้อยๆ คึดเคียด   กำมือ

ผัวตายเต็งไฮ่นา   เชียงล้าน

สังมา   ยอมมือไห้ขอวาน   สินส่วย สันนี้

ยินบ่หย้านชนช้าง   ท่อใย

…………

รุ่งเช้านางจัดกระบวนทัพ บอกกับพวกไพร่พลว่า เราจักร่วมแรงร่วมใจกัน แม้นว่าฝูงผีฟ้าจะลงมาพร้อมกับท้าวฮุ่งก็จะใช้หอกทิ่มแทงให้ตาย แม้นว่าแถนลงมาช่วยก็จะไม่กลัวชนช้าง

นางเก็บเครื่องเซ่นไหว้ผัวแล้วก็แต่งองค์ทรงเครื่องก้าวขึ้นช้างที่ชื่อ “สิงห์ทอง” มีทหารเดินนำและตามหลังมากมายอยู่ทุกด้าน

เมื่อนั้น   ผลควรแก้วเก็งญา   นางกว่า

เมี้ยนเครื่องห้องเมือฟ้า   สู่ผัว

สะพาดนิ้วสวยสอด   สมมณี

แยงบัวปักปิ่นแหวน   ประดับเกล้า

นางก็   ลีลาขึ้นสิงห์ทอง   ทวนย่าง

พลมากเค้าหลังหน้า   ซู่ภาย

………..

ฝ่ายท้าวฮุ่งนั้นเล่าก็ตั้งทัพรอท่า และเตือนให้ไพร่พลพร้อมระวังอยู่แล้ว

แล้วศึกเมืองปะกันก็เริ่มขึ้น เป็นการสู้รบที่ดุเดือด เมื่อนางกว่าเห็นว่าทหารของนางกำลังเพลี่ยงพล้ำนางก็ไสช้างออกช่วยชน

การสู้รบดำเนินไปอย่างพัลวันประจันหน้า ไพร่พลล้มตายเต็มทุ่ง เลือดนอง

คนตายเพียงคือขอน   กลางไฮ่

คึ่งๆ พื้นนากว้าง   ทุ่มนอง

เมื่อนางกว่านำช้างออกหน้าไพร่พล เถ้าจ่าซ้อน-แม่ทัพคนหนึ่งของท้าวฮุ่งเห็นได้ที ก็ไสช้างเขาต่อชนช้างสิงห์ทองของนางกว่า เสียงช้างร้องสนั่นไปทั่ว

เมื่อนั้น   บุญกันแก้วเก็งญา   นางกว่า

ย้ายหมู่ช้างเมือหน้า   ข่มพล

เถ้าจ่าซ้อนเห็นง่าย   ดูดี

ไสพลายโสมต่อชน   ชูเข้า

งาฮีผู้สิงห์ทอง   นางกว่า

ช้างเพรียกฮ่องสะเทียนท้น   ทั่วนา

…………

การสู้รบดำเนินไปจนกระทั่งนางกว่าได้แทงถูกแขนเถ้าจ่าซ้อน แม่ทัพคนอื่นๆ ของฝ่ายท้าวฮุ่งจึงต้องเข้ามาช่วยรุม เป็นเหตุให้เกิดชุลมุนฝุ่นตลบมืดฟ้ามัวดิน มองไม่เห็นว่าใครเป็นใคร

สว่าๆ เบื้องเจืองฮุง   ฮุมเอา

ขุนซาย   กวนเก็งญาลวดเลย   ตกช้าง

โสมเฉลาเมี่ยนมรณา   ละดาบ

ไพร่พ่องง้างดูหน้า   บ่ใช่ชาย

เขาจึ่ง   เงือดดาบกล้าแยงแม่น   ตัดคอ

มันนี้   นางเมืองหมายมุ่งจอม   ใจกล้า

ทมๆ ฟ้อนยอหัว   เหิมโห่

เวียงแตกพร้อมตะวันซ้าย   ชั่วแลง

ด้วยเหตุคับขันพัลวันดังนี้ นางกว่าจึงเสียท่า พลัดตกช้างถึงแก่สิ้นชีวิต พวกไพร่พลของท้าวฮุ่งบางคนพลิกดูหน้าจึงรู้ว่าไม่ใช่ผู้ชาย

อย่างไรก็ตามดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมของการสู้ศึก ผู้แพ้จะถูกตัดศีรษะ ทหารของท้าวยุ่งจึงตัดศีรษะของนางไป

และแล้วเมืองปะกันก็แตกในเย็นวันนั้นนั่นเอง

นี่แหละคือเรื่องราววีรกรรมของนางกว่า ผู้หญิงที่ขี่ช้างออกศึกอีกคนหนึ่งในตำนานของอุษาคเนย์ อันน่าจะเป็นเรื่องไม่ธรรมดาที่ธรรมดา…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2565