ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เจดีย์ประธาน วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความงดงามด้านสถาปัตยกรรม และโดดเด่นด้วยขนาดของเจดีย์ จึงเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ประวัติของเจดีย์องค์นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในตำนาน “พระพุทธเจดีย์สยาม” ว่า สร้างขึ้นในสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
เจดีย์ประธาน วัดใหญ่ชัยมงคล สร้างขึ้นในสมัยไหนกันแน่?
รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ในผลงานเล่มล่าสุดของเขา “อโยธยาก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ระบุว่า เจดีย์วัดนี้ สถาปนาใน พ.ศ. 1906 ในรัชกาล สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 1893-1912)
ลักษณะ เจดีย์ประธาน วัดใหญ่ชัยมงคล มีความคล้ายคลึงกับเจดีย์วัดพระแก้ว เมืองสรรคบุรี ซึ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 18-19 อีกทั้งแผนผังของวัดแห่งนี้มีเจดีย์ขนาดใหญ่เป็นประธาน มีพระอุโบสถอยู่ด้านหน้า และมีพระวิหารอยู่ด้านหลัง เจดีย์ประธานมีระเบียงคดวงล้อมรอบ สะท้อนระบบการวางแผนผังที่สืบทอดมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
นอกจากนี้ ที่มุมทั้งสี่ที่ลานประทักษิณบนเจดีย์ประธาน มีสถูปจำลองประดับ ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับสถูปจำลองสำริด ที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 พบในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี
“อนึ่ง องค์ระฆังของเจดีย์ประธานองค์นี้ก่อเป็นโพรงไปจนถึงบัลลังก์ ลักษณะการก่อแบบนี้ชวนให้นึกถึงยอดพระปรางค์ขนาดใหญ่ที่เป็นโพรงไปจนถึงยอดพระปรางค์ ยกตัวอย่างเช่น พระปรางค์วัดราชบูรณะ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
“ดังนั้น หลักฐานการก่อยอดเป็นโพรงก็พอที่จะเป็นร่องรอยให้เห็นว่า ช่วงการสร้างวัดใหญ่ชัยมงคล หรือก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาก็คือ ผู้คนในช่วงนั้นจะต้องคุ้นเคยกับการก่อโครงสร้างรูปแบบที่พัฒนาการจากยอดพระปรางค์” รุ่งโรจน์ อธิบาย แล้วบอกอีกว่า
เพราะฉะนั้น เจดีย์ประธานนี้ ก็ควรอยู่ในรัชกาล สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งถ้าเชื่อว่า เจดีย์องค์นี้สร้างในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2133-2148) ก็ชวนให้สงสัยว่า กรุงศรีอยุธยาที่มีสงครามต้องรบทัพจับศึกกับพม่าเป็นระยะ ตั้งแต่คราวศึกพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ พ.ศ. 2091 ที่พระสุริโยทัยสวรรคตบนคอช้าง เรื่อยมาจนถึงคราวสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135 ซึ่งสงครามทั้งสองครั้ง มีผลต่อการสูญหายของประชากรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างอย่างมาก
“สมเด็จพระนเรศวรจะทรงได้กำลังพลจากไหนมาก่อสร้างเจดีย์ใหญ่ขนาดนี้ และที่สำคัญคือราชการสงครามหลังสงครามยุทธหัตถียังมีอีกหลายครั้งที่ยังต้องเกณฑ์ไพร่” รุ่งโรจน์ตั้งคำถาม
อ่านเพิ่มเติม :
- อโยธยากับอยุธยา “คนละเมืองเดียวกัน” : รถไฟความเร็วสูงผ่าซีกเมืองอโยธยา (ไม่ผ่ากลาง)
- ทำไม “อโยธยา” ถึงเป็นเมืองที่ถูกบังคับให้สูญหาย?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. อโยธยาก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2567