เจ้าชายอัลเบิร์ต “ผู้พรากรอยยิ้ม” ไปจากควีนวิกตอเรีย

เจ้าชายอัลเบิร์ต ควีนวิกตอเรีย
เจ้าชายอัลเบิร์ต และควีนวิกตอเรีย ในพระราชพิธ๊อภิเษกสมรส

ควีนวิกตอเรีย (ค.ศ. 1819-1901) รัชกาลของพระองค์นับเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ซึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของควีนวิกตอเรียก็คือ “เจ้าชายอัลเบิร์ต” พระราชสวามีของพระองค์ ซึ่งเป็นที่รักยิ่ง

เจ้าชายอัลเบิร์ต (ค.ศ. 1819-1861)เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการปกครองคน จึงมีส่วนช่วยประสานงานกับรัฐบาล และเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องสำคัญๆ แทนควีนวิกตอเรีย ตลอดจนนำพาประเทศผ่านวิกฤติการณ์ทางการเมืองไปได้หลายครั้งหลายหน ฯลฯ

วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1861 เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์โดยปราศจากคำอำลา ด้วยพระชนมายุเพียง 42 พรรษา หมอหลวงสรุปสาเหตุของการสิ้นพระชนม์ว่าเกิดจากไข้ไทฟอยด์ และหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ขณะที่นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าอาการประชวรเป็นผลมาจากการทรงงานหนัก

การจากไปของ เจ้าชายอัลเบิร์ต สั่นคลอนราชบัลลังก์อังกฤษอย่างยิ่ง

ควีนวิกตอเรียเสียศูนย์ และทำใจไม่ได้กับเรื่องร้ายที่ขึ้น ผลักดันให้ควีนกลายเป็นคนเงียบขรึม เก็บเนื้อเก็บตัว และไม่ทรงแย้มพระสรวล (ยิ้ม) อีกเลย

นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า “…ตลอด 20 ปีของการใช้ชีวิตคู่ ควีนและพระสวามีช่วยกันกอบกู้ราชบัลลังก์อันเอียงเอนให้มั่นคงอีกครั้ง…เจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นทุกอย่างในชีวิตของควีน เป็นพระสวามี เพื่อนสนิท คนคอยปรับทุกข์ ที่ปรึกษา เลขานุการ และองคมนตรีพร้อมสรรพในคนๆ เดียว ไม่มีสักเรื่องเดียวที่ควีนทรงเป็นกังวลแต่เจ้าชายอัลเบิร์ต ไม่ทราบ แม้เรื่องจุกจิกที่ราษฎรอย่างเราคาดไม่ถึง เช่น ควรจะใส่พระมาลา (หมวก) แบบไหนออกงาน

เป็นเวลาถึง 10 ปีภายหลังการเสวยราชย์ ควีนทรงพระครรภ์อย่างต่อเนื่องแบบหัวปีท้ายปี เจ้าชายอัลเบิร์ต ต้องกลายเป็นตัวแทนของควีนในการทำหน้าที่ต่างๆ ที่กษัตริย์พึงกระทำเมื่อพระราชินีต้องดูแลครอบครัว แต่คนส่วนใหญ่ก็มองข้ามกันหมด จะรู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อไม่มีเจ้าชายอัลเบิร์ตแล้วแต่ราชการแผ่นดินก็ต้องดำเนินต่อไป

ควีนยังทรงทำใจไม่ได้แม้เจ้าชายอัลเบิร์ตจะจากไปมากกว่า 2 ปีแล้ว พระนางก็ยังทรงซึมเศร้าเหมือนเดิมถ้าเป็นเรือก็เป็นเรือที่ขาดหางเสือ พระนางตรัสว่า ‘การสูญเสียอัลเบิร์ตไปเหมือนแล่เนื้อออกจากกระดูกของฉัน’ แล้วยังตรัสด้วยความรันทดว่า ‘คงไม่มีใครอยากเรียกฉันว่าพระราชินีอีกแล้ว’

ควีนทรงมีท่าที่ว่าจะไว้ทุกข์ให้เจ้าชายอัลเบิร์ตไปจนตลอดชีวิต ยิ่งนานวันเข้าพระอาการก็ยิ่งหนักขึ้นกับภาวะซึมเศร้าอย่างไม่สิ้นสุด ไม่ใช่พระนางองค์เดียวที่ต้องเผชิญชะตากรรม แต่พระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ก็ต้องรับรู้ความทุกข์นี้ด้วย ภายในวังจึงไม่มีใครกล้าแต่งชุดสดใสและต้องอำพรางตนเองไว้กับความหม่นหมอง…

แม้นว่าเจ้าชายอัลเบิร์ตจะสิ้นพระชนม์ไปหลายปีแล้วแต่ควีนก็ยังไม่คลายความโศกเศร้า ด้านนอกวังเกิดกระแสต่อต้านของประชาชน ประมาณปี ค.ศ. 1869 นักการเมืองฝ่ายค้านปลุกระดมมวลชนเรียกร้องให้ควีนทรงสละราชสมบัติ ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในพระราชินีและมีการรณรงค์ให้ปลดพระนางออกจากตำแหน่ง

ความรู้สึกจากภายนอกวังทวีความรุนแรงขึ้นถึงขนาดมีคนดักประทุษร้ายควีนบนรถม้าพระที่นั่งเมื่อเสด็จฯ ออกมานอกวังเหตุการณ์สะเทือนใจนี้ทำให้ราษฎรรู้สึกสมเพชเวทนาแม่หม้ายผู้ตกอับขึ้นมาจับใจ ทุกฝ่ายเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแก้ไขปัญหา ทำให้ควีนกลับมาดำเนินชีวิตอย่างคนปกติอีกครั้ง”

ค.ศ. 1874 นายดิสราเอลลี่ (Disraeli) ได้รับเลือกตั้ง เขาคือนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ควีนวิกตอเรียทรงสนับสนุน เป็นผู้เกลี้ยกล่อมให้ควีนคิดได้ในที่สุด ทำให้ควีนตั้งพระสติได้และหันมาประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เองอีกครั้ง ด้วยสีหน้าอมทุกข์จนวันสุดท้ายของพระชนมชีพ

คลิกอ่านเพิ่ม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ไกรฤกษ์ นานา. “ความลุ่มหลงของควีนวิกตอเรีย จุดอ่อนของดินแดนอาทิตย์ไม่ตกดิน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567