เพื่อนแท้แบบ จักรพรรดินีเออเจนี กับ ควีนวิกตอเรีย แม่หม้ายผู้ร่วมชะตาชีวิตกันถึง 45 ปี

จักรพรรดินีเออเจนี
ภาพวาด ควีนวิกตอเรีย เสด็จประพาสกรุงปารีส ตามคำทูลเชิญของนโปเลียนที่ 3 จักรพรรดินีเออเจนี เสด็จออกต้อนรับที่โถงภายในพระราชวังแซงต์กลูด์ ทั้ง 2 พระองค์สวมกอดกันอย่างสนิทสนม (ภาพจาก THE ILLUSTRATED LONDON NEWS, 25 Aug. 1855) เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม, มิถุนายน 2557

เพื่อนแท้แบบ จักรพรรดินีเออเจนี กับ ควีนวิกตอเรีย แม่หม้ายผู้ร่วมชะตาชีวิตกันถึง 45 ปี

…ภาพลักษณ์ของ จักรพรรดินีเออเจนี (Empress Eugenie) มักจะถูกบดบังด้วยภาพพจน์ที่ใหญ่กว่าของนโปเลียนที่ 3 อยู่เสมอ เพราะภาพของ “ผู้จัดการ” ยุโรปของนโปเลียนที่ 3 ส่งเสริมให้พระองค์อยู่ภายใต้สปอตไลท์บนเวทีการเมืองที่ร้อนระอุตลอดเวลา ในขณะที่องค์จักรพรรดินี (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า เออเจนี – ผู้เขียน) นั้น เป็นเพียง “แม่บ้าน” ที่ไม่ค่อยมีบทบาทมากนักในสายตาคนภายนอก

ทว่า ตามข้อเท็จจริงแล้วพระนางต่างหากที่เต็มไปด้วยพระราชกรณียกิจคู่ขนานไปกับพระสวามี และก็เป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 ที่เป็นหน้าตาของพระราชบัลลังก์ ผู้ไม่เคยขาดตกบกพร่อง

Advertisement

และบ่อยครั้งที่พระนางยังต้องแบกรับหน้าที่ผู้แทนพระองค์ของพระสวามีในพระราชกรณียกิจมากมายที่ประมุขแห่งฝรั่งเศสไม่สามารถจัดการได้หมดในแต่ละวัน งานใหญ่ๆ ที่เออเจนีต้องปรากฏตัวในฐานะผู้แทนพระองค์ มีอาทิ เป็นประธานในพิธีเปิดคลองสุเอซในประเทศอียิปต์ซึ่งฝรั่งเศสเป็นเจ้ากี้เจ้าการใหญ่ หรือในงานมอบรางวัล ณ งานมหกรรมโลก (ปารีสเอ็กซิบิชั่น) ที่ซึ่งผู้นำโลกชั้นนำมารวมตัวกันมากที่สุดในสมัยนั้น มีอาทิ จักรพรรดิปรัสเซีย รัสเซีย ออสเตรีย รวมถึงสุลต่านแห่งออตโตมัน [4]

แม้แต่งานเลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตสยามในปี ค.ศ. 1561 พระนางก็ไม่ละเลยที่จะสัมผัสมือทักทายราชทูตทุกคน แล้วพระราชทานเลี้ยงน้ำชาพวกท่านอย่างเป็นกันเอง เพื่อจะหาข้อมูลเกี่ยวกับพระเจ้ากรุงสยามด้วยความเอาใจใส่ [4]

งานเลี้ยงรับรองทุกงานของทางราชสำนัก ซึ่งก็มักจะติดตามด้วยงานราตรีสโมสร และการสร้างความบันเทิงให้กับพระราชอาคันตุกะผู้มีเกียรติทุกพระองค์ที่ผ่านมาเยือนปารีสก็ไม่พ้นความรับผิดชอบของพระนางจนเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า ความราบรื่นของงานเป็นฝีมือของแม่บ้านคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของราชสำนักอย่างแท้จริง

จักรพรรดินีเออเจนี เป็นดังเงาติดตามนโปเลียนที่ 3 ไปในการเสด็จประพาสอย่างทางการ และในงานพระราชพิธีน้อยใหญ่ทั้งภายในและต่างประเทศมิได้ขาดจนเป็นที่ร่ำลือว่าการเผชิญหน้าของนโปเลียนที่ 3 กับผู้นำที่ทรงอิทธิพลของยุโรปในภารกิจด้านการเมืองที่ปกติมักจะเคร่งเครียดและหวาดระแวงกัน ถูกทำให้อ่อนโยนและลดความตึงเครียดลงได้ เพราะมีเออเจนีอยู่ด้วยเสมอ [6]

การตามเสด็จประพาสอังกฤษครั้งแรก ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับควีนวิกตอเรีย

จักรพรรดินีเออเจนี (Empress Eugenie)

การปรากฏตัวของ จักรพรรดินีเออเจนี ข้างหลังนโปเลียนที่ 3 ครั้งแรกที่สุดต่อเบื้องพระพักตร์ของควีนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1555 ณ พระราชวังวินด์เซอร์ ประเทศอังกฤษ จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจเลยที่การไปครั้งนั้นมีเหตุผลของ “การเมือง” เคลือบแฝงอยู่มากกว่าการเยี่ยมเยือนกันในภาวะปกติ

กล่าวคือ การมาเยือนอังกฤษของราชวงศ์โบนาปาร์ตครั้งนี้เกิดขึ้นในระหว่างเกิดสงครามไครเมีย โดยที่อังกฤษกับฝรั่งเศสตัดสินใจผนึกกำลังเป็นฝ่ายเดียวกันร่วมรบในคาบสมุทไครเมียเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของรัสเซียเหนือดินแดนบอลข่านและเพื่อรักษาดุลอำนาจของตุรกีที่พวกตนหนุนหลังอยู่ไม่ให้รัสเซียเข้ามาแทนที่ได้ นับเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในภาวะสงครามเป็นการประกาศจุดยืนที่สำคัญบนเวทีการเมืองยุโรปของอังกฤษ-ฝรั่งเศส

สงครามไครเมีย (Crimean War 1853-56) เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับจักรวรรดิออตโตมัน (ตุรกี) ชนวนของสงครามเริ่มขึ้นเมื่อฝรั่งเศสก้าวล่วงให้ตุรกียินยอมให้ฝรั่งเศสเข้าไปคุ้มครองชาวคริสตังในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (ปาเลสไตน์) ซึ่งตุรกีปกครองอยู่ แต่สิทธิ์นี้ดันไปทับซ้อนกับสิทธิ์ดั้งเดิมของรัสเซียที่ตุรกีเคยมอบให้รัสเซียคุ้มครองชาวคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ในดินแดนเดียวกัน รัสเซียจึงบีบคั้นตุรกีให้ยกเลิกการเข้ามาของฝรั่งเศส

ตุรกีหันไปขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ-ฝรั่งเศส ให้แทรกแซงและขัดขวางอำนาจของรัสเซียในคาบสมุทรบอลข่าน และถ้าหากอังกฤษ-ฝรั่งเศสสามารถกีดกันรัสเซียได้ในปัญหานี้ นอกจากฐานะผู้คุ้มครองชาวคริสต์จะเปลี่ยนขั้วมาเป็นฝรั่งเศสแล้ว มหาอำนาจขั้วใหม่ก็จะได้เข้ามามีบทบาทเหนือคาบสมุทรบอลข่าน อันเป็นการตัดกำลังรัสเซีย มิให้เป็นใหญ่ในอาณาจักรต่างๆ รอบทะเลดำได้อีก และล้อมกรอบรัสเซียมิให้มีทางออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้ ซึ่งก็เท่ากับปรับสถานะของชาติมหาอำนาจในยุโรปใหม่หมด

แต่การที่จะทำให้อังกฤษ-ฝรั่งเศสจับมือกันปราบพยศรัสเซียนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากอังกฤษจะต้องยอมลดทิฐิที่เคยเป็นศัตรูกับฝรั่งเศสมาก่อนแล้ว ฝรั่งเศสก็ต้องยอมหันมาคบหาสมาคมกับอังกฤษซึ่งเคยรบชนะตน และสร้างความมัวหมองอย่างแสนสาหัสให้กับฝรั่งเศสจากที่เคยเป็นเจ้ายุโรปมาเป็นผู้ปราชัยตลอดกาล

ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสยังต้องใช้กำลังภายในจากอิทธิพลที่ตนมีในยุโรปเกลี้ยกล่อมให้พันธมิตรเก่าของรัสเซีย ได้แก่ ปรัสเซียและออสเตรีย หันมาล้อมกรอบรัสเซีย และกดดันให้รัสเซียยอมจำนนให้ได้ อันเป็นหนทางเดียวที่จะพิชิตรัสเซียสำเร็จ

ความปรองดองของผู้นำอังกฤษและฝรั่งเศสจึงมีเดิมพันสูงอย่างยิ่ง การพบปะกันครั้งแรกของนโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสและควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษจึงเป็นที่จับตาดูของประชาคมยุโรปที่ไม่เชื่อว่าทั้ง 2 ประเทศจะปลงตก

เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้จำเป็นต้องมีแรงจูงใจและแรงบันดาลใจอย่างใหญ่หลวงที่มิใช่เพราะผลประโยชน์เท่านั้นที่เป็นข้อแลกเปลี่ยน แต่ยังมีเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างแนบแน่นเป็นหลักประกันให้ทั้ง 2 ฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าของ 2 ประเทศนี้ไปตลอดกาล [6]

นักประวัติศาสตร์อังกฤษให้ทรรศนะว่าการที่ราชินีอังกฤษและจักรพรรดิฝรั่งเศสรอมชอมกันได้นั้นต้องอาศัยการโอนอ่อนผ่อนตามและลดตัวลงมาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้ง 2 พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะประนีประนอมกันแทนการแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อกันเช่นในอดีต

นักประวัติศาสตร์ยังตั้งคำถามอย่างไม่แน่ใจว่า อดีตบุรพกษัตริย์อังกฤษอย่างพระเจ้ายอร์จที่ 3 ผู้เคยเป็นคู่อริตลอดกาลของพระเจ้านโปเลียนที่ 1 จะคิดอย่างไร หากทรงทราบด้วยญาณวิเศษว่าพระราชนัดดาของพระองค์ คือควีนวิกตอเรีย ทรงหันไปคบหากับนโปเลียนที่ 3 ด้วยความสมัครใจโดยไม่สนใจความรู้สึกของบรรพบุรุษเลย [6]

เจ้าชายอัลเบิร์ตซึ่งเป็นต้นคิดเกี่ยวกับการแปรพักตร์นี้ เป็นคนแรกที่ออกปากทูลเชิญนโปเลียนที่ 3 ให้เสด็จฯ มาเยือนอังกฤษในฐานะสุภาพบุรุษชาตินักรบเพื่อแสดงเจตจำนงอาสานำทัพในสมรภูมิไครเมียก่อน ในขณะที่พระราชินีอังกฤษจำเป็นต้องสงวนท่าทีและไม่แสดงความต้องการจนออกนอกหน้า

ไฮไลต์ของการเสด็จฯ ครั้งนี้มีสัญญาณเชิงสัญลักษณ์อันชัดเจนอยู่ในท่าทีของควีนที่น้อยครั้งจะแสดงออกมาให้เห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้นำประเทศที่เคยเป็นปฏิปักษ์กันมาก่อนเพราะอยู่กันคนละขั้วการเมือง แต่ก็เกิดขึ้นในงานเลี้ยงต้อนรับพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ในคืนวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1855 ระหว่างการเสด็จฯ มาเยือนของนโปเลียนที่ 3

เหตุการณ์นั้นคือพระราชพิธีประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของราชวงศ์อังกฤษ คือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ การ์เตอร์ (Garter King of Arms for A Knight of The Most Noble Order) แก่นโปเลียนที่ 3 เป็นเกียรติยศ แสดงถึงการยอมรับอย่างสูงที่สุดต่อประมุขผู้ยิ่งใหญ่ทัดเทียมกัน โดยควีนได้พระราชทานจุมพิตที่พระปรางทั้ง 2 ข้างของนโปเลียนที่ 3 และเออเจนีเพื่อแสดงความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้น เป็นภาพแห่งปฏิสัมพันธ์อันแนบแน่น [6]

การตัดสินใจที่จะร่วมหัวจมท้ายของควีนกับนโปเลียนที่ 3 ในปี ค.ศ. 1855 สืบเนื่องมาจากสงครามไครเมียมีผลทางจิตวิทยาให้นโยบายของอังกฤษเปลี่ยนจุดยืนของตนเอง และเป็นเหตุปัจจัยให้ควีนและพระสวามีเสด็จฯ ไปเยือนกรุงปารีสเป็นการตอบแทนในอีก 3 เดือนถัดมา ไม่เพียงทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศแนบแน่นขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้มิตรภาพของทั้ง 2 ราชวงศ์หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในอีกหลายสิบปีต่อมา [3]

จักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศส สันทัดทั้ง “การบ้าน” และ “การเมือง”

ภายหลังกำแพงประเพณีที่เคยกีดกั้นความสัมพันธ์ของ 2 ราชวงศ์พังทลายลง ควีนวิกตอเรียและนโปเลียนที่ 3 ทรงสัญญาต่อกันว่านับจากนี้อังกฤษกับฝรั่งเศสจะติดต่อกันอย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้มิตรภาพที่สร้างขึ้นใหม่จืดจางลงไป

อาจกล่าวได้ว่า ต้นไม้แห่งความผูกพันของ 2 ราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากจำเป็นต้องมีผู้นำราชวงศ์ที่มีใจเด็ดเดี่ยวและประนีประนอมแล้ว คู่ชีวิตของผู้นำทั้งสองยังต้องช่วยรดน้ำพรวนดินให้ต้นไม้ผลิดอกออกใบและให้ผลผลิตอย่างงดงามอีกด้วย ควีนทรงมีเจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นแรงบันดาลใจที่ทรงอานุภาพ ส่วนนโปเลียนที่ 3 ก็มีเออเจนีเป็นแรงจูงใจอย่างวิเศษ

สถานะของเออเจนีดูจะสำคัญขึ้นมาทันทีที่ควีนทรงตอบรับคำเชิญที่จะเสด็จฯ มาเยือนกรุงปารีสเป็นการตอบแทนในอีก 3 เดือนต่อมา เหตุผลของการมาเยือนของควีนแม้ว่าจะมีนัยทางการเมืองแอบแฝงอยู่บ้าง (คือการลงนามในสัญญามิตรภาพ หรือ Treaty of Paris ซึ่งได้ลงพระนามกันจริงในปี ค.ศ. 1856 – ผู้เขียน) แต่ข่าวที่ประกาศออกไปกลับโฟกัสไปที่การมาร่วมในฐานะแขกรับเชิญคนสำคัญในพิธีเปิดงานมหกรรมโลก “Exposition Universelle” ซึ่งจะมีขึ้นกลางเดือนสิงหาคม 1855

การเสด็จฯ มาครั้งนี้ถือว่าเป็นภาพพจน์เชิงสัญลักษณ์เช่นกัน เพราะเป็นการมาของพระราชินีอังกฤษครั้งแรกถึงรังของศัตรูเก่าในภาวะสันติภาพ รัฐบาลฝรั่งเศสได้รับเสด็จควีนไม่น้อยหน้าการกลับมาของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 พร้อมด้วยชัยชนะจากการสงครามในฐานะวีรบุรุษ

แต่ที่ทำให้อ่อนโยนกว่าการมาของกษัตริย์ชาตินักรบ ก็คือการที่รัฐบาลฝรั่งเศสถวายห้องบรรทมของพระราชินีมารีอังตัวเนตผู้โด่งดัง ณ พระราชวังแซงต์กลูด์ (Chateaux De Saint Cloud) ให้เป็นที่ประทับชั่วคราวของควีนอย่างสมพระเกียรติ

อย่างไรก็ตาม แม้นว่าการเสด็จฯ มาเยือนของควีนดูอบอุ่นและสร้างความมั่นใจให้รัฐบาลทั้งสองขนาดไหนก็ตาม แต่ในความรู้สึกลึกๆ ของผู้เกี่ยวข้องแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่ตามมาคือ ฝรั่งเศสกำลังกดดันให้อังกฤษลบภาพและความรู้สึกดีๆ แบบเก่าทั้งหมดออกไป แล้วหันมาสร้างมโนภาพใหม่กับมิตรภาพที่ราชวงศ์โบนาปาร์ตหยิบยื่นให้ แต่ในอีกนัยหนึ่งก็คือ อังกฤษเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากกว่าที่หันมาคบหากับนโปเลียนที่ 3 [6]

เรื่องแรกก็คือผู้นำอังกฤษกำลังถูกบีบให้ห่างเหินจากความใกล้ชิดกับผู้นำปรัสเซีย (เยอรมนี) จากการที่เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของควีนเป็นชาวปรัสเซีย ทำให้ความสัมพันธ์ทางด้านครอบครัวและการเมืองของอังกฤษกับปรัสเซียสนิทสนมกันอย่างมาก

ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าฟ้าหญิงวิกตอเรีย (พระนามเดียวกับควีนวิกตอเรีย เป็นพระราชธิดาองค์โตของควีน บางที่เรียกกันว่า Princess Royal – ผู้เขียน) ยังได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายเฟเดอริกแห่งปรัสเซีย (ต่อมาเสวยราชย์เป็นพระเจ้าเฟเดอริกที่ 3 จักรพรรดิแห่งปรัสเซีย – ผู้เขียน)

แต่ปรัสเซีย (เยอรมนี) นั้นเป็นปฏิปักษ์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ของฝรั่งเศส ความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับนโปเลียนที่ 3 ย่อมทำให้ความสัมพันธ์อังกฤษ-ปรัสเซียมัวหมองลงอย่างช่วยไม่ได้

นอกเหนือจากนั้นความสัมพันธ์ส่วนตัวของควีนวิกตอเรียกับพระเจ้าหลุยส์ฟิลิป กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส (ราชวงศ์ออร์เลอองส์) กำลังถูกกดดันให้เสื่อมทรามลง จากการที่จักรพรรดิฝรั่งเศสองค์ใหม่คือ นโปเลียนที่ 3 (ราชวงศ์โบนาปาร์ต) โค่นล้มราชวงศ์ออร์เลอองส์ลงได้ แล้วสถาปนาตนเองเป็นประมุของค์ใหม่ของฝรั่งเศส พลอยทำให้ควีนต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนแนวร่วมของตนเองด้วยความฝืนใจคล้ายกับการตกกระไดพลอยโจน [3]

นักวิเคราะห์การเมืองวิจารณ์ว่า ความต้องการที่แท้จริงของนโปเลียนที่ 3 ในการดึงอังกฤษเข้ามาเป็นพันธมิตรตลอดกาลของฝรั่งเศส ก็คือการกดดันให้อังกฤษร่วมมือกับตนกำจัดรัสเซียให้หมดอำนาจในคาบสมุทรบอลข่านอย่างถาวร เพื่อฝรั่งเศสจะได้เป็นใหญ่และมีอิทธิพลอย่างแท้จริงในพื้นที่โดยใช้กลเม็ดเด็ดพรายและความสามารถพิเศษในการเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ควีนอังกฤษคล้อยตามความนึกคิดของพระองค์ [6]

แผนของนโปเลียนที่ 3 ก็คือผลักดันให้เกิดประเทศใหม่ในคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งต่อมาก็คือประเทศบัลแกเรีย และประเทศโรมาเนีย ทำให้ดินแดนใน “ยุโรปตะวันออก” เป็นรัฐกันชนระหว่างเขตอิทธิพลของฝรั่งเศสกับรัสเซียตลอดไป

ความทะเยอทะยานนี้เท่ากับทำให้นโยบายเดิมของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ในการเป็นเจ้ายุโรปเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีผลทำให้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นทะเลขนาดใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรปและเป็นหนทางเดียวที่รัสเซียและตุรกีจะเดินเรือออกนอกแผ่นดินใหญ่ได้กลายเป็น “ทะเลสาบฝรั่งเศส” ในบัดดล เท่านี้ก็จะทำให้นโปเลียนที่ 3 ได้ควบคุมและครอบครองจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของยุโรปไว้ในกำมือแต่เพียงผู้เดียว [7]

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่านโปเลียนที่ 3 เพียงลำพังไม่สามารถที่จะเกลี้ยกล่อมควีนวิกตอเรีย (และเจ้าชายอัลเบิร์ตผู้เป็นกุนซือตัวจริงของนโยบายต่างประเทศของอังกฤษ – ผู้เขียน) ให้คล้อยตามความคิดของนโปเลียนที่ 3 ได้เลยถ้ามิใช่เพราะสตรีหมายเลข 1 ของราชสำนักฝรั่งเศสเป็นกลไกสำคัญหนุนหลังทฤษฎีของนโปเลียนที่ 3 ไปสู่เป้าหมายได้ [6]

คุณสมบัติพิเศษของเออเจนี นอกจากจะเป็น “ไอดอล” ของควีน เพราะพระรูปโฉมอันงดงาม และรสนิยมอันทันสมัยสมฐานะสุภาพสตรีหมายเลข 1 จากเมืองแฟชั่นอย่างปารีสแล้ว พระนางยังเป็นที่ปรึกษาลับๆ ของควีนวิกตอเรียที่เข้าถึงพระองค์ได้แนบเนียนกว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ หรือแม้แต่เจ้าชายอัลเบิร์ตพระสวามี ซึ่งเชื่อมั่นตนเองมากเกินไป

ดังปรากฏว่าในระหว่างช่วง “ฮันนีมูน” ของราชสำนักอังกฤษกับฝรั่งเศสดำเนินอยู่นั้น พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซียได้ส่งเจ้าชายคอนสแตนติน พระอนุชาของพระองค์ให้เข้ามาเกลี้ยกล่อมนโปเลียนที่ 3 ให้ยกเลิกแผนสันติภาพระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสเสีย แล้วหันมารอมชอมกับรัสเซียแทน ควีนวิกตอเรียทรงกังวลพระทัยยิ่งนัก จึงได้มีพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์สอบถามเรื่องนี้มายังเออเจนี

เออเจนีได้มีพระราชหัตถเลขาตอบแสดงความคิดเห็นของพระนางว่า ความพยายามดังกล่าวไม่เคยได้รับการตอบรับหรือเห็นด้วยจากนโปเลียนที่ 3 แม้แต่น้อย และความกังวลดังกล่าวจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ภายใต้นโยบายอันเคร่งครัดและจริงจังของนโปเลียนที่ 3 ขอให้ควีนทรงวางพระราชหฤทัยได้ [6]

ท่าทีของพระราชินีอังกฤษ และความรอบรู้เรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองของเออเจนีเป็นข้อมูลจำเพาะบ่งบอกสถานะพิเศษของสตรีหมายเลข 1 ของฝรั่งเศส ส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักอังกฤษกับฝรั่งเศสมีกลไกพิเศษขับเคลื่อนอยู่จนดูเหมือนว่า ความสัมพันธ์นี้มีเหตุผลด้านความรู้สึกและความเห็นอกเห็นใจปนอยู่ด้วย

การจากไปของอัลเบิร์ต ส่งผลให้ควีนว้าเหว่เดียวดาย

ปัญหาต่างๆ ในการบริหารราชการแผ่นดินช่วงต้นรัชกาลของควีนวิกตอเรียได้รับการแก้ไขและบริหารอย่างมีประสิทธิภาพด้วยนโยบายและพระปรีชาสามารถของเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามี การดำรงอยู่ของอัลเบิร์ตทำให้ราชบัลลังก์มั่นคงขึ้น แต่ก็เป็นระยะสั้นๆ เพียง 10 ปีเท่านั้น [2]

ปลายปี ค.ศ. 1861 เจ้าชายก็ล้มป่วยลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ เช้าตรู่ของวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1861 ควีนทรงรุดไปยังห้องบรรทม ณ ที่นั้นหมอหลวงหลายคนเฝ้าอยู่ข้างพระแท่นด้วยสีหน้าไม่สู้ดีนัก ในเวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าชายอัลเบิร์ตก็จากไปโดยปราศจากคำอำลา หมอหลวงสรุปสาเหตุของการสิ้นพระชนม์ว่าเกิดจากไข้ไทฟอยด์ และหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันด้วยพระชนมายุเพียง 42 พรรษา

การที่เจ้าชายอัลเบิร์ตจากไปอย่างกะทันหัน ทำให้ควีนวิกตอเรียเสียศูนย์และทำใจไม่ได้ เป็นที่ทราบกันภายในว่าควีนทรงหลงพระสวามียิ่งนัก ทรงมั่นพระราชหฤทัยในความรักและปรารถนาจะครองรักกันไปอีกนาน ทรงเชื่ออยู่เสมอว่าเจ้าชายอัลเบิร์ตจะมีพระชนม์ยืนยาว เพราะยังหนุ่มแน่นและแข็งแรง ความผิดหวังและอกหักก่อนเวลาอันควรผลักดันให้ควีนกลายเป็นคนเงียบขรึม เก็บเนื้อเก็บตัวและไม่ทรงแย้มพระสรวลอีกเลย

ความกระทบกระเทือนทางจิตใจมีผลโดยตรงต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากควีนทรงขาดประสบการณ์โดยสิ้นเชิง เพราะการปลีกพระองค์ออกจากพระราชกรณียกิจต่างๆ มานานนับ 10 ปี ในระหว่างการเลี้ยงดูพระราชโอรสธิดาถึง 4 พระองค์ ความทุกข์ระทมยิ่งทำให้ทรงปลีกวิเวกจากโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น โดยมีท่าทีว่าไม่ทรงต้องการพบหน้าผู้คนอีก สถานการณ์เช่นนี้ย่อมสั่นสะเทือนสถานภาพของราชบัลลังก์อย่างไม่ต้องสงสัย

นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า “ตั้งแต่อัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ลง พระราชินีก็เก็บพระองค์อยู่แต่ในวัง ราษฎรไม่ได้เฝ้าแหนเป็นเวลาหลายปี เพราะแทบไม่เสด็จลงมาประทับที่ลอนดอนเลย อย่างใกล้เมืองหลวงที่สุดก็ประทับที่วังวินด์เซอร์ ไม่ก็ประทับที่วังบนเกาะไอร์ออฟไวท์ หรือไม่ก็ที่วังในสกอตแลนด์ สร้างความลำบากใจให้แก่เสนาบดี และคณะรัฐบาลเป็นอันมากที่ต้องเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ เป็นระยะทางไกลๆ

วันโลกสลายของพระราชินีคือวันที่พระสวามีสิ้นพระชนม์ พระราชินีแต่งพระองค์ดำมืดไปทั้งพระองค์จนสิ้นรัชกาล ทรงพระมาลาแม่หม้าย มีผ้าดำหรือขาวคลุมพระเศียร ทรงเลิกกีฬาทุกชนิด เลิกกระทำพระองค์อย่างเดิม ไม่มีการสนุกสนาน ทรงเลิกพระสรวล อย่างที่ดีที่สุดก็เพียงแย้มพระโอษฐ์เพียงเล็กน้อย ไม่ทรงยอมพบใครนอกจากพระราชโอรสธิดา พระญาติสนิทบางพระองค์ เลขานุการของเจ้าชาย นางพระกำนัลและข้าราชสำนัก หรืออย่างดีก็เสนาบดีที่มีธุระสำคัญต้องเข้าเฝ้าฯ

นอกจากนั้นแล้ว ไม่เสด็จออกให้ใครได้เห็นเลย งานไม่ว่าจะเป็นราชพิธีก็ดี รัฐพิธีก็ดี ไม่เสด็จเกือบทั้งสิ้น โปรดให้พระยุพราชทรงกระทำหน้าที่แทนพระองค์ จนกระทั่งเมื่อเสด็จรถไฟพระที่นั่งจากพระราชวังวินด์เซอร์ไปออสบอร์น ทางสถานีได้รับคำสั่งให้ต้อนคนไปเสียให้หมดเวลารถไฟพระที่นั่งผ่าน” [2]

เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเคนต์ (ควีนวิกตอเรียในภายหลัง) ภาพเขียนสมัยศตวรรษที่ 19 (ภาพจาก via Wikimedia Commons)

นักวิชาการสายตรงชี้แจงสถานการณ์ที่แท้จริงของพระราชินีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดที่อังกฤษเคยมีว่า

“เมื่อข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเบิร์ตถูกประกาศออกไป คนทั้งประเทศก็ตกอยู่ในภาวะตกตะลึง แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงผลสะท้อนที่จะมีต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะต่อพระราชินีผู้ที่หัวใจแตกสลายตามไปด้วย

การไว้ทุกข์เกิดขึ้นทันทีและไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า ราษฎรทุกหมู่เหล่า ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ต่างใส่ชุดดำไว้อาลัยพ่อของแผ่นดิน มันเป็นความสูญเสียของคนทั้งประเทศ สำหรับคนอังกฤษแล้วเจ้าชายอัลเบิร์ตเปรียบเสมือนพระราชาที่อังกฤษเคยมีและรอคอยที่จะมี

การจากไปของเจ้าชายอัลเบิร์ตพลิกผันชะตาชีวิตของควีนให้ตกต่ำลงสู่ก้นเหวของความทุกข์ระทมขมขึ้น และแปรเปลี่ยนจิตวิญญาณของพระนางไปสุดขั้วจากที่เคยเป็นมาตลอด 20 ปีของการใช้ชีวิตคู่ ควีนและพระสวามีช่วยกันกอบกู้ราชบัลลังก์อันเอียงเอนให้มั่นคงอีกครั้ง

บุคลิกลักษณะส่วนตัวแบบติดดินของเจ้าชายอัลเบิร์ตทำให้ราษฎรเข้าใจราชวงศ์ดีขึ้น ภาพของท่านกำลังแจกของขวัญวันคริสต์มาสแก่พระราชโอรสธิดา และภาพเจ้าชายอัลเบิร์ตหยอกล้อกับพระราชินีแบบไม่มีพิธีรีตองทำลายกำแพงชนชั้นและความเจ้ายศเจ้าอย่างของชาวราชสำนักที่ราษฎรเอื้อมไม่ถึงมาก่อน

เมื่ออาการช็อคจากข่าวการสิ้นพระชนม์บรรเทาลง คำถามที่ติดตามมาคือ ควีนจะทรงใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรหลังจากนี้? และจะทรงตัดสินใจได้เองหรือถ้าปราศจากเจ้าชายอัลเบิร์ต?

เจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นทุกอย่างในชีวิตของควีน เป็นพระสวามี เพื่อนสนิท คนคอยปรับทุกข์ ที่ปรึกษา เลขานุการ และองคมนตรีพร้อมสรรพในคนๆ เดียว ไม่มีสักเรื่องเดียวที่ควีนทรงเป็นกังวลแต่เจ้าชายอัลเบิร์ตไม่ทราบ แม้เรื่องจุกจิกที่ราษฎรอย่างเราคาดไม่ถึง เช่น ควรจะใส่พระมาลา (หมวก) แบบไหนออกงาน

เป็นเวลาถึง 10 ปีภายหลังการเสวยราชย์ ควีนทรงพระครรภ์อย่างต่อเนื่องแบบหัวปีท้ายปี เจ้าชายอัลเบิร์ตต้องกลายเป็นตัวแทนของควีนในการทำหน้าที่ต่างๆ ที่กษัตริย์พึงกระทำเมื่อพระราชินีต้องดูแลครอบครัว แต่คนส่วนใหญ่ก็มองข้ามกันหมด จะรู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อไม่มีเจ้าชายอัลเบิร์ตแล้ว แต่ราชการแผ่นดินก็ต้องดำเนินต่อไป

ควีนยังทรงทำใจไม่ได้แม้เจ้าชายอัลเบิร์ตจะจากไปมากกว่า 2 ปีแล้ว พระนางก็ยังทรงซึมเศร้าเหมือนเดิม ถ้าเป็นเรือก็เป็นเรือที่ขาดหางเสือ พระนางตรัสว่า ‘การสูญเสียอัลเบิร์ตไปเหมือนแล่เนื้อออกจากกระดูกของฉัน’ แล้วยังตรัสด้วยความรันทดว่า ‘คงไม่มีใครอยากเรียกฉันว่าพระราชินีอีกแล้ว’

ควีนทรงมีท่าทีว่าจะไว้ทุกข์ให้เจ้าชายอัลเบิร์ตไปจนตลอดชีวิต ยิ่งนานวันเข้าพระอาการก็ยิ่งหนักขึ้นกับภาวะซึมเศร้าอย่างไม่สิ้นสุด ไม่ใช่พระนางองค์เดียวที่ต้องเผชิญชะตากรรม แต่พระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ก็ต้องรับรู้ความทุกข์นี้ด้วย ภายในวังจึงไม่มีใครกล้าแต่งชุดสดใส และต้องอำพรางตนเองภายใต้ความหม่นหมองเพื่อเอาใจเสด็จแม่ รูปหมู่ที่ถ่ายทุกครั้งควีนจะทรงผินพระพักตร์ไปที่รูปของอัลเบิร์ตเหมือนคนขาดความมั่นใจ

การยึดติดกับความพ่ายแพ้ของโชคชะตา เริ่มไม่มีเหตุผลและยืดเยื้อออกไป สร้างความลำบากใจให้ชาววังทั่วไป โดยเฉพาะคณะรัฐบาลที่แสดงความหงุดหงิดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะควีนไม่ทรงสนใจไยดีกับเหตุการณ์บ้านเมืองทั้งที่เป็นความรับผิดชอบโดยตรง

แม้นว่าเจ้าชายอัลเบิร์ตจะสิ้นพระชมน์ไปหลายปีแล้วแต่ควีนก็ยังไม่คลายความโศกเศร้า ด้านนอกวังเกิดกระแสต่อต้านของประชาชน ประมาณปี ค.ศ. 1869 นักการเมืองฝ่ายค้านปลุกระดมมวลชนเรียกร้องให้ควีนทรงสละราชสมบัติ ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในพระราชินีและมีการรณรงค์ให้ปลดพระนางออกจากตำแหน่ง ความรู้สึกจากภายนอกวังทวีความรุนแรงขึ้นถึงขนาดมีคนดักประทุษร้ายควีนบนรถม้าพระที่นั่งเมื่อเสด็จฯ ออกมานอกวัง

เหตุการณ์สะเทือนใจนี้ทำให้ราษฎรรู้สึกสมเพชเวทนาแม่หม้ายผู้ตกอับขึ้นมาจับใจ ทุกฝ่ายเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแก้ไขปัญหา ทำให้ควีนกลับมาดำเนินชีวิตอย่างคนปกติอีกครั้ง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1874 นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ควีนทรงสนับสนุนชื่อ นายดิสราเอลลี (Disraeli) ได้รับเลือกตั้งเขามีบทบาทเป็นผู้เกลี้ยกล่อมให้ควีนคิดได้ในที่สุด ภายหลัง 14 ปีของการทอดทิ้งภาระหน้าที่และราชบัลลังก์ไปอย่างไม่ไยดี เพราะขาดสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจคือเจ้าชายอัลเบิร์ต

การแทรกแซงของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทำให้ควีนตั้งพระสติได้และหันมาประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เองอีกครั้ง แต่ภายใต้สีหน้าหม่นหมองแบบคนอมทุกข์ทั้งโลกไว้ ตราบจนวันสุดท้ายของพระชนมชีพ” [2]

จักรพรรดินีเออเจนี และ นโปเลียนที่ 3
ภาพถ่าย นโปเลียนที่ 3, จักรพรรดินีเออเจนี และพระราชโอรส ราว ค.ศ. 1858 ไฟล์ Public Domain

สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย การกลับมาของเพื่อนรัก

อีก 10 ปี ภายหลังการจากไปของเจ้าชายอัลเบิร์ต บุคคลที่เคยสร้างความประทับใจให้ควีนและพระสวามีกำลังหวนคืนมาหาพระนางพร้อมกับอดีตที่จะกลับมาเตือนความทรงจำเก่าๆ ของพระสวามีในห้วงเวลาที่น่าจดจำที่สุดในชีวิต

ความถดถอยของราชวงศ์โบนาปาร์ตบนอีกฟากฝั่งของผืนแผ่นดินยุโรปเกิดขึ้นจากความทะเยอทะยานของนโปเลียนที่ 3 เอง และจุดบอดของเกียรติภูมิของพระองค์ก็เป็นผลมาจากความพยายามที่จะสั่งสมอำนาจ ซึ่งกลายเป็นดาบสองคมย้อนกลับมาประหัตประหารพระองค์ในบั้นปลาย [3]

ความเสื่อมของนโปเลียนที่ 3 เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1868 ในระยะเดียวกับที่เกิดการปฏิวัติขึ้นในสเปน ซึ่งทำให้พระราชินีอิซาเบลลาที่ 2 (Queen Isabella I) ต้องทรงลี้ภัยไปประทับที่ฝรั่งเศส ราชบัลลังก์สเปนจึงว่างลง ทำให้ต้องมีการสรรหาประมุของค์ใหม่

ในจังหวะนั้น บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) อัครมหาเสนาบดีปรัสเซียได้วางแผนโดยใช้ปัญหาการสืบราชบัลลังก์สเปนยั่วยุให้ฝรั่งเศสเข้าสู่สงครามกับปรัสเซีย โดยการเสนอชื่อเจ้าชายเลโอโปลด์ (Prince Leopold) พระญาติของพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 (King Wilhelm I) กษัตริย์แห่งปรัสเซียให้ขึ้นเป็นประมุขของสเปน

เมื่อพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ทรงทราบเรื่องก็ทรงประท้วงอย่างรุงแรง เพราะไม่ทรงต้องการให้อิทธิพลของปรัสเซียปิดล้อมฝรั่งเศสอยู่ทางด้านใต้ (สเปน) และทางตะวันออก (ปรัสเซีย) จึงส่งราชทูตไปเรียกร้องให้ปรัสเซียเลิกล้มความตั้งใจที่จะแทรกแซงการเมืองในสเปน พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ทรงปฏิเสธและทรงมีโทรเลขถึงบิสมาร์ค เพื่อเล่าเหตุการณ์ให้ทราบ

บิสมาร์คถือโอกาสดัดแปลงโทรเลขฉบับนี้ โดยตัดต่อเนื้อความว่าฝรั่งเศสข่มขู่ปรัสเซีย และนำโทรเลขที่ต่อเติมนั้นไปลงหนังสือพิมพ์เพื่อปลุกกระแสรักชาติในหมู่รัฐเยอรมัน โทรเลขฉบับนี้สร้างความเข้าใจผิดให้ปรัสเซียและฝรั่งเศส จนกลายเป็นชนวนของสงครามฟรังโก-ปรัสเซียในที่สุด ซึ่งเป็นไปตามแผนของบิสมาร์ค พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ซึ่งทรงตกหลุมพรางของบิสมาร์ค ประกาศสงครามทันทีและกรีธาทัพเข้าประชิดพรมแดนปรัสเซียเพื่อกำราบความอหังการ์ของบิสมาร์ค

วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1870 กองทัพฝรั่งเศสนำโดยพระเจ้านโปเลียนที่ 3 เป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในการรบที่เมือง เซ-ดง (Sedan) กองทัพฝรั่งเศสกว่า 100,000 คน ถูกล้อมไว้อย่างหมดทางสู้ในวันรุ่งขึ้นเวลาเช้า 8 นาฬิกา นโปเลียนที่ 3 ทรงขอพบบิสมาร์คนอกรอบ ณ กระท่อมปลายนาแห่งหนึ่งเพื่อเจรจา “หย่าศึก”

บิสมาร์คได้แนะนำแกมบังคับให้นโปเลียนที่ 3 ทรงยอมแพ้แบบไม่มีเงื่อนไข โดยสัญญาว่าจะไม่ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ นโปเลียนที่ 3 ทรงถูกจับกุม ณ จุดนั้น ก่อนจะเสด็จออกมาจากกระท่อมปลายนา

นโปเลียนที่ 3 ทรงมอบเงินเหรียญ 20 ฟรังก์ 4 เหรียญ ให้แก่หญิงชาวนาชื่อ มาดามฟูแนซ เป็นค่าป่วยการ พร้อมกับตรัสว่า “นี่อาจเป็นการต้อนรับครั้งสุดท้ายที่ฉันได้รับบนผืนแผ่นดินฝรั่งเศส”

นโปเลียนที่ 3 ทรงถูกควบคุมมามอบตัวเบื้องหน้าพระพักตร์พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ทรงสารภาพด้วยพระสุรเสียงอันสั่นเครือว่ามันเป็นการตัดสินพระทัยผิดพลาดของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว หลังจากที่มติของมหาชนสร้างความกดดันให้ต้องประกาศสงครามทั้งที่ทรงตระหนักว่าฝรั่งเศสไม่อยู่ในสภาพพร้อมรบ ทรงยื่นพระแสงดาบให้กษัตริย์ปรัสเซียด้วยพระหัตถ์ที่สั่นเทา ขณะที่พระหัตถ์อีกข้างหนึ่งเช็ดน้ำพระเนตรที่ไหลออกมาแบบไม่รู้พระองค์

ทางการปรัสเซียได้จัดเตรียมที่คุมขังไว้ในเขตแดนตน โดยจัดให้ใช้เส้นทางเสด็จผ่านไปทางเบลเยียม เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกองทัพฝรั่งเศสที่กำลังระส่ำระสายเหมือนผึ้งแตกรัง ถึงกระนั้นก็ยังพบกองทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกปลดอาวุธแถวชายแดน ทันทีที่เห็นขบวนรถไฟพระที่นั่งผ่านมา ทหารฝรั่งเศสพากันชูกำปั้นและร้องด่าประจานเจ้าเหนือหัวของตนจนฟังไม่ได้สรรพ และเมื่อรถไฟจอดพักที่ชายแดนนั้น ทรงได้ยินเสียงเด็กขายหนังสือพิมพ์ตะโกนบอกหัวข่าวล่าสุดว่า “จักรวรรดิล่มแล้ว จักรพรรดินีหนีไปได้”

แม่ทัพคนหนึ่งบันทึกเหตุการณ์ว่า ทันทีที่เออเจนีทรงทราบข่าวความพ่ายแพ้ของกองทัพ ก็มีพระดำรัสอย่างฉุนเฉียวว่า “ไม่, ฉันไม่เชื่อว่าองค์จักรพรรดิจะยอมจำนน พระเจ้านโปเลียนไม่เคยยอมแพ้ใคร! พระองค์อาจจะสิ้นพระชนม์ในสนามรบ ฉันรู้ว่าพวกแม่ทัพต้องการปิดบังฉัน” แต่พอตั้งพระสติได้ก็ทรงอุทานต่อไปว่า “ทำไมพระองค์ไม่ทรงปลิดชีพตัวเอง? ทำไมพระองค์ไม่ทรงฝังตัวเองไว้ใต้กำแพงเมืองเซ-ดง? พระองค์ไม่ทรงละอายพระทัยบ้างเชียวหรือที่ทรงทิ้งความขายหน้าไว้ให้องค์รัชทายาท!”

เมื่อข่าวความปราชัยมาถึงปารีส ตอนเย็นของวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1870 ฝูงชนราว 200,000 คน รวมตัวกันที่หน้าพระราชวังดุยเลอรีส์ (Palais des Tuileries) กลางกรุงปารีส เสียงเพลงชาติดังกระหึมไปทั่ว พร้อมกับเสียงตะโกนโหวกเหวกว่า “สาธารณรัฐจงเจริญ” “ฝรั่งเศสจงเจริญ” “จักรพรรดิจงพินาศ”

ขณะที่ชุลมุนอยู่นั้น เออเจนีซ่อนตัวอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของหัวหน้าองครักษ์ และนางสนมเท่านั้น “ฉันไม่กลัวตาย แต่ฉันไม่ต้องการให้พวกมันทำบัดสีต่อร่างของฉัน” หัวหน้าองครักษ์ทูลเชิญให้เสด็จออกไปทางด้านหลังของวังที่เชื่อมต่อกับพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

เมื่อถึงด้านหลัง รถม้าที่จอดรออยู่ก็นำพระนางทะยานออกไปในทันทีทันใด พระนางทรงคิดถึงนายแพทย์ อีแวนส์ (Dr. Thomas Evans) ชาวอเมริกันผู้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ก่อนใครเพื่อน

หลังจากนี้ 2 วัน หมอกช่วยพาพระนางเล็ดลอดออกนอกกรุงปารีส บ่ายหน้าไปทางเมืองโดวิลล์ (Deauville) ริมฝั่งทะเลเหนือ แผนก็คือพระนางจะทรงข้ามเรือไปยังฝั่งประเทศอังกฤษ

ไม่ต้องสงสัยว่า แผนการลี้ภัยในอังกฤษได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนจากพระสหายเก่า คือ ควีนวิกตอเรียตั้งแต่ต้น ราชวงศ์โบนาปาร์ตมั่นใจว่ามิตรภาพที่นโปเลียนที่ 3 ทรงผูกพันไว้กับราชวงศ์อังกฤษสมัยที่ยังรุ่งเรืองเป็นสิ่งที่วางใจและพึ่งได้ในยามยาก

ทันทีที่เล็ดลอดไปถึงอังกฤษ เออเจนีทรงเช่าคฤหาสน์ขนาดย่อมหลังหนึ่งไว้ต้อนรับพระสวามี ตั้งอยู่ท่ามกลางชนบทอันร่มรื่นของเมืองชิสเซิลเฮิร์สต์ (Chislehurst) ในมณฑลเคนต์ (Kent) ชื่อคฤหาสน์แคมเดนเพลซ (Camden Place) ซึ่งเป็นของนายสโตรด (Nanthaniel Strode) ทนายความชาวอังกฤษ แต่หลายกระแสว่าเป็นพระสหายเก่าของนโปเลียนที่ 3 ในราคา 500 ปอนด์ต่อปี

นักประวัติศาสตร์อังกฤษยังอ้างว่า นโปเลียนที่ 3 ทรงเคยพำนัก ณ สถานที่นี้ตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์ การเสด็จฯ กลับมาที่นี่จึงคล้ายกับกลับมาเยี่ยมบ้านเก่าที่พระองค์ทรงคุ้นเคยเป็นอย่างดี (ใน พ.ศ. 2557 แคมเดนเพลซเป็นที่ตั้งของชมรมนักกอล์ฟ เรียก Chislehurst Golf-Club – ผู้เขียน)

20 มีนาคม ค.ศ. 1871 พระเจ้านโปเลียนที่ 3 เสด็จฯ ถึงอังกฤษ และเสด็จฯ ตรงไปพบกับเออเจนีและพระราชโอรสที่แคมเดนเพลซ ส่วนพระราชวังอันโอ่อ่าใหญ่โตหรูหรา และเป็นที่ใฝ่ฝันของกษัตริย์จากทั่วโลก บัดนี้ลดสภาพลงเป็นคฤหาสน์เล็กๆ ที่มีไม่กี่ห้อง จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ทรงมีห้องบรรทมที่ตกแต่งสไตล์ขุนนางอังกฤษผู้สมถะที่สุด และห้องทำงานขนาดจิ๋วที่เพียงเอื้อมพระหัตถ์ก็สามารถหยิบเอกสารทุกชิ้นที่ต้องการได้

ควีนวิกตอเรียทูลเชิญให้พระสหายเก่าพร้อมด้วยครอบครัวไปเยือนถึงพระราชวังวินด์เซอร์ในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา สำหรับพระราชินีอังกฤษแล้ว มันเต็มไปด้วยความรู้สึกแห่งมิตรภาพและความทรงจำเก่าๆ ที่ทั้ง 2 ราชวงศ์ เคยสนิทสนมกลมเกลียวกันมาตั้งแต่ครั้งที่ทรงเคยทูลเชิญราชวงศ์โบนาปาร์ตให้มาเยือนอังกฤษเพื่อมาร่วมในงานมหกรรมโลก ค.ศ. 1855 ทั้งยังเป็นโอกาสให้รำลึกถึง “อัลเบิร์ต” พระราชสวามีสุดที่รัก ผู้คุ้นเคยกับราชวงศ์โบนาปาร์ตไม่น้อยไปกว่าพระนาง [1]

แต่ภาพแห่งอดีตที่ทุกพระองค์คุ้นเคยกันก็จะดำเนินอยู่แค่ชั่วคราวเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น และนโปเลียนที่ 3 ก็จะติดตามเจ้าชายอัลเบิร์ตไปในไม่ช้าเช่นกัน

ปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1872 เซอร์กัล (Sir William Gull) แพทย์ประจำพระองค์ของควีนวิกตอเรีย และเซอร์ทอมสัน (Sir Henry Thomson) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะถูกเรียกตัวด่วนให้ไปถวายการตรวจนโปเลียนที่ 3 เป็นเวลา 3 เดือนแล้วที่พระอาการภายในไม่เป็นปกติ

คณะแพทย์ชาวอังกฤษวินิจฉัยว่าทรงมีก้อนนิ่วขนาดใหญ่เท่าเมล็ดอินทผลัมในกระเพาะปัสสาวะ อันที่จริงพระอาการประชวรเลวร้ายลงในระหว่างสงคราม ถึงขนาดที่ทรงพระดำเนินกะเผลกตลอดเวลา และสันนิษฐานกันว่าเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ทรงบัญชาการรบอย่างไร้ประสิทธิภาพ

คณะแพทย์ชาวอังกฤษทูลแนะนำให้ผ่าตัดทันที และหมอทอมสันก็ย้ายเข้ามาประจำอยู่ที่แคมเดนเพลซ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1873 การผ่าตัดครั้งแรกแพทย์สามารถสลายขนาดของก้อนนิ่วลงบางส่วน แต่ยังต้องผ่าตัดอีกเป็นครั้งที่ 2 ในอีก 4 วันต่อมา ควีนวิกตอเรียมีพระราชเสาวนีย์ให้แพทย์ทูลถวายรายงานทุกชั่วโมงนับจากนั้น

ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1873 หมอทอมสันก็ได้ทูลถวายรายงานโดยระบุว่า พระอาการทรุดหนักลงจนน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และในเช้าวันที่ 9 มกราคม ภายหลังการผ่าตัดเป็นครั้งที่ 3 และ ครั้งสุดท้ายนั้น ราชสำนักอังกฤษก็ได้รับโทรเลขด่วนว่า “ทุกอย่างยุติลงแล้ว” นโปเลียนที่ 3 เสด็จสวรรคตด้วยพระอาการสงบในเวลา 11.14 น. ควีนวิกตอเรียมีพระราชหัตถเลขาถึงเออเจนี เพื่อปลอบประโลมพระนางในยามนี้ด้วยถ้อยคำอ่อนโยนแบบคนหัวอกเดียวกันและด้วยสรรพนามที่เป็นกันเองว่า “น้องสาวที่รักของฉัน” [1]

การจากไปของนโปเลียนที่ 2 ทำให้ควีนวิกตอเรียและเออเจนีตกอยู่ในฐานะแม่หม้ายหลวงที่มีชะตากรรมคล้ายกัน นับจากนี้จะต้องใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขอยู่ด้วยกันตลอดไป [2]

เพื่อนแท้ในบั้นปลายพระชนมชีพ

นโปเลียนที่ 3 ทรงใช้ชีวิตเยี่ยงเจ้านายตกอับภายหลังถูกโค่นล้มราชบัลลังก์ โดยจำต้องระหกระเหินลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 2 ปี แต่ภายหลังการสวรรคตลงโดยกะทันหันก็ทรงทิ้งให้เออเจนีกลายเป็นแม่หม้ายลูกติดมีชีวิตอยู่ไปวันๆ พร้อมด้วยพระราชโอรสองค์เดียวคือ เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียน

เออเจนีทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเจ้าชายหลุยส์เป็นอย่างดี โดยคาดหวังว่าในวันหนึ่งข้างหน้าจะได้กลับไปยังฝรั่งเศสเพื่อทวงบัลลังก์คืน

เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียน เติบใหญ่ต่อมา และได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกตามขัตติยราชประเพณี แต่ด้วยเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เจ้าชายหลุยส์ก็มีอันต้องสิ้นพระชนม์ลงอีกองค์อย่างไม่คาดฝันด้วยเงื้อมมือของคนป่าพื้นเมืองในแอฟริกา ขณะออกลาดตระเวนตามภารกิจของนายทหารอังกฤษ ในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1879 ทอดทิ้งให้พระราชชนนี (เออเจนี) ประสบความวิปโยคต่อไปตามลำพังในอังกฤษ

เพื่อเป็นการเรียกขวัญเพื่อนรักที่ทนทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ภายหลังปี ค.ศ. 1879 ควีนวิกตอเรียได้ทรงอ้อนวอนให้เออเจนีรักษาสถานะเดิมอันสูงส่งเป็นพระราชินีเคียงข้างพระนางเรื่อยไปในการออกมหาสมาคม บางทีจะบรรเทาความทุกข์โศกลงได้บ้าง แต่เออเจนีก็ปฏิเสธความหวังดีนั้น เพราะพระนางถ่อมตัวเกินไปที่จะตีเสมอผู้มีพระคุณ โดยยังคงเรียกควีนว่า “ฝ่าพระบาท” อย่างติดปาก และเรียกตัวเองว่า “เกล้ากระหม่อม” อย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่ควีนทรงเรียกเออเจนีว่า “เสด็จน้อง” อย่างไม่ถือพระองค์

ถึงเวลานั้นผู้คนในสังคมอังกฤษต่างพากันยอมรับความเจียมพระองค์ของเออเจนีด้วยความเห็นอกเห็นใจ และไม่มีใครสงสัยในพระเมตตาของควีนแม้แต่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเออเจนีครองพระองค์ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย มิได้แสดงความเย่อหยิ่งกับฐานะอันสูงส่งของจักรพรรดินีที่ทรงเคยได้รับการเคารพยกย่องไปทั่วยุโรปก่อนหน้านั้น

จักรพรรดินีเออเจนี (Empress Eugenie)

อาจกล่าวได้ว่าเออเจนีเป็นผู้ปลอบประโลมจิตใจพระราชินีอังกฤษให้คลายความเศร้าโศกและความว้าเหว่ได้ดีกว่าผู้ใดในหมู่ชาวราชสำนักในสมัยนั้น และทั้ง 2 พระองค์ต่างก็ยอมรับในชะตาชีวิตของกันและกัน โดยต่างฝ่ายต่างเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของอีกคนหนึ่งไปจนกระทั่งสิ้นรัชกาล

ควีนวิกตอเรีย มีพระชนมายุเพียง 42 พรรษา เมื่อเจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ เสด็จสวรรคตลงในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1901 ขณะมีพระชนม์มากถึง 82 พรรษา

ส่วนเออเจนีก็ทรงสูญเสียพระสวามีไปเมื่อพระชนมายุ 50 พรรษา ทว่า ทรงครองชีวิตอยู่ต่อมาจนพระชนมายุมากถึง 96 พรรษา ในปี ค.ศ. 1920 หมายความว่า แม่หม้ายหลวงทั้ง 2 พระองค์เป็นคู่ทุกข์คู่ยากร่วมชะตากรรมเดียวกันนานถึง 45 ปี ในโลกแห่งความวิปโยค [6]

นานกว่าการครองชีวิตคู่กับพระราชสวามีของแต่ละพระองค์หลายเท่าตัว ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ทรงมีชีวิตอันหดหูใจนี้ การเมืองยุโรปเปลี่ยนกลับไป กลับมาจากหน้ามือเป็นหลังมือ อังกฤษสูญเสียอาณานิคมที่เคยมีในสมัยของควีนไปจนหมดสิ้น ส่วนฝรั่งเศสก็ยกเลิกระบอบกษัตริย์ กลายเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมที่ชิงชังสถาบันอันยิ่งใหญ่ของตนไปตลอดกาล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] ไกรฤกษ์ นานา. “200 ปีชาตกาลนโปเลียนที่ 3 งานใหญ่ที่ไม่ได้จัด,” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ สิ่งที่เรารู้ อาจไม่ใช่ทั้งหมด. สำนักพิมพ์มติชน, 2552.

[2] __________“ความลุ่มหลงของควีนวิกตอเรีย จุดอ่อนของดินแดน อาทิตย์ไม่ตกดิน,” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ 4. นนทบุรี : ส.เอเซียเพรส, 2556.

[3] “ทำไมคนฝรั่งเศสจึงปิดบังประวัติศาสตร์ตัวเอง?” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ 4. นนทบุรี : ส.เอเซียเพรส, 2556.

[4] วิกฤติและโอกาสของรัตนโกสินทร์ในรอบ 150 ปี. สำนักพิมพ์มติชน, 2550.

[5] เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์. “ปรมานุสติ,” ใน ดรุณศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3. สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2544

[6] Aronson, Theo, QUEEN VICTORIA and the BONAPARTES. London : Casses & Company
Ltd., 1972.

[7] Bierman, John. NAPOLEON III AND HIS CARNIVAL EMPIRE. New York : St. Martin’s Press, 1988.

[8] LE MONDE ILLUSTRÉ, Paris, 6 July 1861.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ชีวิตอาภัพควีนวิกตอเรีย เพื่อนแท้ราชินีผู้ยิ่งใหญ่ เป็นแม่หม้ายร่วมชะตากรรม” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2565