ตามดู “พ่อตา-แม่ยายของยุโรป” ศูนย์กลางแห่งราชสำนักยุโรป

ภาพเครือข่ายราชวงศ์ยุโรปโดยมี (1) สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย (2) พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 7 (3) ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 (4) พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 (5) จักรพรรดินีเยอรมัน (ภาพสะสมจาก ไกรฤกษ์ นานา)

ในอดีตสมาชิกพระราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรปเชื่อมโยงถึงกันอยู่เป็นนิตย์ ความเอื้ออาทรระหว่างพระบรมวาศานุวงศ์ที่เกิดจากความผูกพันทางเครือญาติ ที่แม้จะแข่งกันในทางการเมืองอย่างเอาเป็นเอาตายก็ตาม แต่เพราะความผูกพันของญาติพี่น้องร่วมสายโลหิต ก็ทำให้มีความเคารพยำเกรง และถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แม้ว่าบางครั้งจะไม่แสดงออกต่อสาธารณชน

หลายครั้งพระราชพิธีและงานสโมสรที่จัดขึ้นตามราชสำนักต่างๆ เช่น งานอภิเษกสมรส, งานเฉลิมพระชนมพรรษา, งานฉลองสิริราชสมบัติ, งานฉลองคริสต์มาส ฯลฯ ราชนิกุลทั้งหลายที่เชื้อเชิญมามหาสมาคม ความสมัครสมานสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูล และอุปถัมภ์ค้ำชูกันและกัน

ระบบเครือญาติอันใกล้ชิดนี้เกิดจากการสืบสันตติวงศ์ของเจ้านายวงศ์ใหญ่ๆ 2 สายที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอยู่ ได้แก่ ราชวงศ์อังกฤษ และราชวงศ์เดนมาร์ก

ราชวงศ์อังกฤษ หรือราชวงศ์วินด์เซอร์ องค์ประธานของราชวงศ์คือ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย พระนางทรงเป็นประมุขของประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และทรงครองราชย์ยาวนานถึง 63 ปี (ค.ศ. 1838-1901) ซึ่งยาวนานที่สุดในโลกขณะนั้น

เครือข่ายราชวงศ์จากสายของพระนางเริ่มจากการที่ทรงอภิเษกสมรส กับเจ้าชายจากเยอรมัน (Princes Albert) ทำให้พระราชโอรสและพระราชนัดดาของควีนมีความผูกพันกับเยอรมนีอย่างเหนียวแน่น

ความสัมพนธ์ดังกล่าวแนบแน่นยิ่งขึ้นเมื่อ พระราชธิดาของพระนางองค์หนึ่ง คือ Princess Victoria ทรงอภิเษกกับกษัตริย์เยอรมัน (Kaiser Frederick III) ทรงมีตำแหน่งเป็น “จักรพรรดินีแห่งเยอรมนี” ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดพระราชโอรสเป็นไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ผู้ยิ่งใหญ่

นอกจากนี้พระราชธิดาอีกองค์หนึ่งของพระนางพระนามว่า Princess Alice ก็ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายเยอรมันอีกองค์หนึ่งคือ Duke of Hesse มีพระราชธิดาด้วยกันคือ Princess Alexandra ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระมเหสีของ Czar Nicholas II แห่งรัสเซีย ทรงพระนามว่า Empress Alexandra Feodorovna

ปิตุลาองค์หนึ่งของควีนก็เป็นกษัตริย์แห่งเบลเยียม (King Leopold II)

แล้วควีนยังมีพระราชนัดดาอีกถึง 4 พระองค์ เสวยราชย์ขึ้นเป็นกษัตริย์ของยุโรป ได้แก่ จักรพรรดิรัสเซีย (Czar Nicholas II), กษัตริย์โปรตุเกส (King Carlos I), กษัตริย์อังกฤษ (King George V), กษัตริย์สเปน (King Alfonso XIII) แถมยังมีพระราชนัดดาอีกองค์หนึ่ง (Princess Maud) ได้รับสถาปนาเป็นพระราชินีของกษัตริย์นอร์เวย์ (King Haakon VI)

สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย จึงเป็นพระญาติผู้ใหญ่อันดับ 1 ของราชสำนักยุโรป มีสมญานามแบบไม่เป็นทางการว่า “แม่ยายของยุโรป”

ส่วนพระญาติผู้ใหญ่อันดับ 2 ของยุโรป คือ ราชวงศ์เดนมาร์ก องค์ประธานของพระราชวงศ์คือ พระเจ้าคริสเตียนที่ 9 (King Christian IX) เจ้าของสมญานามว่า “พ่อตาของยุโรป” จากการที่พระราชธิดา 2 พระองค์ ทรงได้รับสถาปนาเป็นพระราชินีอังกฤษ (Queen Alexandra) และจักรพรรดินีรัสเซีย (Empress Marie Feodorovna) นอกจากนี้พระราชโอรสองค์หนึ่งยังได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งกรีซ (King George I) (Rev. H.N. Hutchison. The Gustave Rolin-Jaequemynsand the Making of Modern Siam. White Lotus, 1996.)

ราชวงศ์อังกฤษและเดนมาร์กมีความสำคัญขึ้นเป็นศูนย์กลางของราชสำนักยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษที่มีสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย เป็นองค์ประธานเชื่อมโยงราชวงศ์เยอรมนีและรัสเซียเข้าด้วยกัน


ข้อมูลจาก

ไกรฤกษ์ นานา. “เบื้องหลัง ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมัน 150 ปี (ตอนจบ) ข้อบกพร่องของไกเซอร์, ใน” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564