ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“มองโกล” ถือเป็นนักรบบนหลังม้าที่ยิ่งใหญ่ และได้ชื่อว่าเป็นจักรวรรดิที่แผ่อำนาจขยายดินแดนไปหลายพื้นที่ทั่วโลก แล้วเหตุใด “มองโกล” ถึงต้องส่งนายทหารกว่า 20,000 นาย เพื่อทำการบุก “ล้านนา” ?
หลังจากมองโกลสามารถยึดราชวงศ์ซ่งใต้ได้สำเร็จ ก็สถาปนาบ้านเมืองของตนเองขึ้นมา คือ “ราชวงศ์หยวน” ก่อนที่จะรุดหน้ารุกรานพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อแผ่ขยายอำนาจให้มากขึ้นไปอีก หนึ่งในนั้นคือ “ยูนนาน” เนื่องจากยูนนานเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้กองทัพอันยิ่งใหญ่ของมองโกลสามารถเข้ายึดพื้นที่ต่อ ๆ ไปที่คาดหวังไว้ นั่นคือบริเวณตอนบนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อเข้ายึดพื้นที่ยูนนานได้เรียบร้อยแล้ว มองโกลก็ตั้งกองกำลังของตนเองที่นั่น และปรับระบบการปกครองของยูนนานให้เข้าที่เข้าทาง ก่อนจะเริ่มแผนการส่งกองทัพไปโจมตีพุกาม (เหมียนก๊ก) อันนัม ทั้งยังมีการวางแผนจะเข้ายึดครองล้านนา (ปาไป่สีฟู่)
จน ค.ศ. 1284 ราชวงศ์หยวนก็ตัดสินใจส่งกองทัพทั้งหลายไปตีล้านนาเป็นครั้งแรก ทว่าเมื่อเดินทางถึงเชอหลี่ (สิบสองปันนา) เมืองเล็ก ๆ ที่ติดอยู่ชายแดน และเป็นเขตสำคัญที่ติดต่อกับล้านนาและพม่า กลับเกิดเรื่องขึ้นก่อน เนื่องจากหลักฐานปรากฏว่าปู้หลู่เหอต๋า (แม่ทัพ) ได้นำทหารม้ากว่า 300 นายไปเกลี้ยกล่อมให้เชอหลี่สวามิภักดิ์ แต่เจ้าเมืองไม่ยินยอมและเกิดศึกระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม เชอหลี่พ่ายแพ้ และจำนนต่อราชวงศ์หยวน
ขณะเดียวกัน “พระญามังราย” (สะกดตามเอกสารอ้างอิง) ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่กำลังแผ่ขยายอำนาจของตนเอง ตั้งแต่เชียงรายไปจนถึงเมืองฝาง ก่อนจะพบว่าราชวงศ์หยวนกำลังกรำศึกรุกรานพื้นที่ทางตอนเหนืออยู่ พระองค์จึงจำเป็นต้องขยายอำนาจลงทางใต้ และยึดครองเมืองหริภุญชัยได้สำเร็จใน ค.ศ. 1292
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์หยวนวางแผนจะส่งกองทัพไปตีล้านนา
ทว่า กุบไลข่าน ผู้นำมองโกล กลับสิ้นพระชนม์ในปี 1294 เสียก่อน เตมูร์ข่านจึงได้ขึ้นปกครองต่อ และในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงหยุดการขยายอาณาเขต และสร้างสันติภาพกับรัฐเพื่อนบ้านแทน ไม่ว่าจะเป็น ไดเวียด จามปา เป็นต้น
ทั้งยังมุ่งเน้นปรับการปกครองด้านการทหารและการเมืองเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ยูนนานส่วนใหญ่ก็ยอมการปกครองของราชวงศ์มองโกลนี้แล้ว
แต่เมืองอย่าง “เชอหลี่” กลับไม่เป็นเช่นนั้น เชอหลี่ยังเป็นพื้นที่ซึ่งราชวงศ์นี้ต้องการให้อยู่ในอำนาจอยู่ ถึงขั้นตั้งกองทัพเพื่อปกครองเมืองอย่างใกล้ชิด เพราะดินแดนเล็ก ๆ แห่งนี้เป็นพื้นที่สำคัญในการติดต่อล้านนาและพม่า
ด้านพระญามังรายก็ย้ายถิ่นฐานไปสร้างเมืองเชียงใหม่ และต่อมาเป็นอาณาจักรล้านนา อยู่ทางทิศตะวันออกของพม่า ทิศตะวันตกของลาว ทิศใต้ของเชอหลี่ และทิศเหนือของสุโขทัย
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้พระญามังรายต้องพยายามปกป้องรัฐของตนเอง โดยร่วมมือกับเมืองละแวกใกล้เคียง ต้านการรุกรานของราชวงศ์หยวน
ราชวงศ์หยวนจึงต้องส่งกองกำลังไปปราบอย่างเด็ดขาด เพราะมองโกลมีความคิดว่าการยึดล้านนาเอาไว้ในอำนาจ จะทำให้ชายแดนสงบสุข ทั้งยังดึงอำนาจจากพม่าและลาวได้
แม้จะมีเสียงต่อต้านจากขุนนางในราชสำนักจีนว่าไม่จำเป็นต้องทำเช่นนี้ เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในดินแดนห่างไกล ควรจะใช้คนไปเกลี้ยกล่อมแทนก็ตาม แต่ก็ไม่สำเร็จผล
ค.ศ. 1301 ราชวงศ์หยวนได้เตรียมไพร่พลไปบุกเมืองล้านนากว่า 20,000 นาย ดังปรากฏอยู่ในเอกสาร ปาไป่สีฟู่-ปาไป่ต้าเตี้ยน ของ วินัย พงศ์ศรีเพียร และคณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยใน เอกสารภาษาจีน ว่า “ส่งหลิวเซิน เหอล่าไต้ เจิ้งโย่วนำทหารสองหมื่นนายไปปราบปาไป่สีฟู่”
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ มองโกล ต้องส่งนายทหารกว่า 20,000 คนไปทำศึกที่ล้านนา
ทว่าขณะนั้นราชวงศ์หยวนรับศึกหลายด้าน ทั้งกบฏในยูนนาน การทำสงครามกับพม่า จึงทำให้เสียกำลังพลไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อการทำศึกที่ล้านนาด้วยเช่นกัน
ท้ายที่สุด การไปตี “ล้านนา” ในครั้งนี้ก็ต้องเป็นอันพ่ายแพ้ไป
อ่านเพิ่มเติม :
- “เยลูฉู่ไฉ” รัฐบุรุษมองโกล ผู้พาชนเผ่าเร่ร่อนลงจากหลังม้าแล้วปกครองแผ่นดินจีน
- จักรวรรดิมองโกล หลังสิ้น “เจงกิสข่าน”
- การค้าเป็นเหตุ! เจงกิสข่านนำทัพม้าบดขยี้แดนตะวันตก สู่การเปิดฉากใหม่จักรวรรดิมองโกล
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.silpa-mag.com/history/article_89353
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567