“เยลูฉู่ไฉ” รัฐบุรุษมองโกล ผู้พาชนเผ่าเร่ร่อนลงจากหลังม้าแล้วปกครองแผ่นดินจีน

เยลูฉู่ไฉ มองโกล เจงกิสข่าน
เยลูฉู่ไฉ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ในสมัย “เจงกิสข่าน” และทายาทรุ่นแรก ๆ พวกมองโกลเป็นชาตินักรบผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการพิชิตดินแดน แต่พวกเขายังเป็นเพียงชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน ภูมิปัญญาด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมค่อนข้างหลัง แม้จะบุกเบิกเข้าไปในเขตที่ราบภาพกลางของจีนได้ แต่ก็ต้องพบปัญหาว่า จะปกครองดินแดนเหล่านี้อย่างไร? เพราะแต่เดิมถนัดแต่การปล้นชิง บุคคลที่มีบทบาทในการช่วยเหลือชาวมองโกลเรื่องนี้คือ ขุนนางชาวคีตันผู้หนึ่ง นามว่า “เยลูฉู่ไฉ”

เยลูฉู่ไฉ (Yelü Chucai) เกิด ค.ศ. 1190 ในตระกูล เยลู (Yelü) อันสูงส่ง เป็นเชื้อสายราชวงศ์เหลียว ของชาวคีตัน (Khitan) หรือชี่ตัน ราชวงศ์ที่เคยปกครองตอนเหนือของจีน แต่เวลานั้นสิ้นอำนาจไปแล้ว เยลูฉู่ไฉเป็นบุตรของเยลูหลี่ หลานรุ่นที่ 8 ของจักรพรรดิเหลียวไท่จู่ หลังจากราชวงศ์เหลียวล่มสลาย ตระกูลของเยลูได้กลายมาเป็นข้าแผ่นดินในราชวงศ์จินของชาวหนี่เจิน ส่วนผู้โค่นล้มราชวงศ์เหลียวก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือชาวหนี่เจินนั่นเอง

เยลูหลี่นั้นมีลูกตอนแก่ การเกิดมาของเยลูฉู่ไฉจึงสร้างความยินดีแก่ตระกูลอย่างมาก ขณะเดียวกันเวลานั้นชาวมองโกลเริ่มคุกคามราชวงศ์จินแล้ว สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงและลางบอกเหตุการล่มสลายของอาณาจักรจินชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เยลูหลี่จึงพูดกับผู้คนด้วยความปลงอนิจจังว่า “ลูกคนนี้เป็นม้าพันธุ์ดีของครอบครัวเรา จะต้องกลายเป็นบุคคลที่ยอดเยี่ยมในอนาคต แต่น่าเสียดายที่จะต้องไปทำงานให้กับคนต่างชาติต่างราชวงศ์”

เยลูฉู่ไฉเติบโตอย่างมีคุณภาพอย่างที่บิดาปรารถนา เขาเป็นคนขยัน หมั่นศึกษาหาความรู้ เป็นบัญฑิตผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การแพทย์ การเสี่ยงทาย-พยากรณ์ รอบรู้ทั้งลัทธิเต๋า ปรัชญาขงจื๊อ และเขายังเป็นพุทธศาสนิกชนด้วย

ปี 1211 เจงกิสข่านเริ่มเปิดฉากโจมตีอาณาจักรจิน ราชนิกูลชาวคีตันยังคงภักดีต่อราชวงศ์จิน พวกเขาผนึกกำลังกับชาวหนี่เจินต้านกองทัพมองโกล แต่เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อย ๆ กองทัพมองโกลรุกคืบกวาดกลืนดินแดนเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง จักรพรรดิจินเสวียนจงจึงย้ายเมืองหลวงลงใต้เพื่อลี้ภัยพวกมองโกล ส่วนเยลูฉู่ไฉเป็นแม่ทัพตรึงกำลังรักษาเมืองหลวงเก่า คือ นครเยี่ยนจิง (ต่อมาคือเป่ย์จิง หรือปักกิ่ง) กระทั่งปี 1215 เยี่ยนจิงถูกมองโกลตีแตก เยลูฉู่ไฉจึงหลบลี้หนีไปซ่อนตัวอยู่ที่วัดพุทธแห่งหนึ่ง

สงครามระหว่างมองโกลกับราชวงศ์จินยังดำเนินต่อไป ส่วนเจงกิสข่านนึกขึ้นได้ว่าตระกูลเยลูคงอยากจะแก้แค้นให้บรรพชนของตนเอง จึงสั่งให้ควานหาราชนิกูลคีตันที่เหลืออยู่ทั่วทุกสารทิศ ทำให้กิตติศัพท์ของเยลูฉู่ไฉได้ทราบไปถึงเจงกิสข่าน

ปี 1218 เยลูฉู่ไฉ ในวัย 28 ปี มีโอกาสได้พบกับเจงกิสข่าน ข่านมองโกลเสนอตำแหน่งขุนนางให้เขา พร้อมบอกว่าจะแก้แค้นแทนเขาและราชวงศ์เหลียวที่ต้องสิ้นบ้านสิ้นเมืองเพราะพวกหนี่เจิน แต่เยลูฉู่ไฉตอบกลับว่า “ท่านข่าน… ทั้งปู่ข้า บิดาข้า พวกเขาล้วนเป็นข้ารับใช้ราชวงศ์จินทั้งสิ้น จะให้ข้าตัดสินระหว่างท่านข่านหรือบิดาว่าคนใดคนหนึ่งเป็นศัตรูได้อย่างไร” ทัศนคติและการโต้ตอบดังกล่าวสร้างความประทับใจแก่เจงกิสข่านอย่างยิ่ง จึงเก็บราชนิกูลคีตันไว้เป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดนับแต่นั้น

เจงกิสข่าน
เจงกิสข่าน ปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิมองโกล จากสมุดภาพรวมภาพจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงไทเป

จากภูมิปัญญา ความรู้ ความสามารถ บุคลิกสุขุม แต่ตรงไปตรงมา และการวางตัวอย่างน่ายกย่องของเยลูฉู่ไฉ เขากลายเป็นที่โปรดปรานของเจงกิสข่านทันที และก้าวหน้าไปถึงตำแหน่งราชครูผู้คอยอบรมบรรดาบุตรชายของเจงกิสข่าน แต่เมื่อเขาถูกคนสนิทอีกคนของเจงกิสข่าน ซึ่งเป็นช่างทำธนู พูดจาถากถางว่า “ประเทศชาติต้องการทหารและนายพล ปัญญาชนอย่างเยลูฉู่ไฉนี้จะมีประโยชน์อะไร?”

เยลูฉู่ไฉสวนกลับทันควัน “ทำธนูยังต้องใช้ช่างทำธนู การปกครองประเทศจะไม่ใช้บุคคลที่มีความสามารถด้านการปกครองประเทศได้อย่างไร” เจงกิสข่านได้ฟังยิ่งรู้สึกเคารพในตัวเขามากยิ่งขึ้น

เยลูฉู่ไฉมักบรรยายความรู้ด้านดาราศาสตร์และภูมิศาสตร์ให้เจงกิสข่านฟังเสมอ โดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัยโรคที่เขาสร้างความเชื่อมั่นต่อท่านข่านอย่างมาก อีกคุณูปการของเยลูฉู่ไฉคือการโน้มน้าวให้เจงกิสข่านละเลิกแนวคิดการฆ่าเชลยศึกหลังจบสงคราม ซึ่งเป็นค่านิยมของชาวมองโกล เขาให้เหตุผลว่า บรรดาเชลยที่เป็นชาวบ้าน-ชาวนาทั้งหลาย คนพวกนี้ไม่ใช่ขุนศึกหรือแม่ทัพของศัตรู ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ควรให้พวกเขาทำมาหากินต่อไป แล้วเก็บภาษีจากพวกเขาแทน เป็นผลให้เจงกิสข่านออกนโยบายเก็บภาษีเป็นเงิน ผ้าไหม ผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งนั่นสร้างความมั่งคั่งแก่ราชสำนักมองโกลตามลำดับ

เมื่อสิ้นเจงกิสข่าน เยลูฉู่ไฉยังคงรับราชการเป็นขุนนางระดับสูงในราชสำนักโอโกไดข่าน เขานำพระราชพิธีแบบชาวฮั่นมาปรับใช้กับราชสำนักมองโกล ทั้งเสนอให้โอโกไดข่านปฏิรูปการปกครอง แยกอำนาจขุนนางฝ่ายพลเรือน-ฝ่ายทหาร เพราะแต่เดิมมองโกลปกครองด้วยระบบขุนศึก เหล่าแม่ทัพมีอำนาจค่อนข้างสูง แต่ทั้งสองฝ่าย (บู๊-บุ๋น) พร้อมจะแทรกแซงกันได้ตลอดเวลา มีการจัดตั้งขุนนางและเจ้าเมืองประจำตามหัวเมืองน้อยใหญ่ สร้างระบบจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการคัดค้านแผนเปลี่ยนดินแดนของชาวฮั่นให้เป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของชาวมองโกล

ปีที่ 3 ในสมัยของโอโกไดข่าน เยลูฉู่ไฉดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี เขาพยายามผลักดันนโยบายด้านวัฒนธรรมและการศึกษา โดยใช้หลักปรัชญาขงจื๊อปกครองประเทศ เยลูฉู่ไฉเป็นขุนนางผู้เรียกร้องหลายเรื่องเพื่อผู้อื่น มีแรงจูงใจมาตั้งแต่สมัยเจงกิสข่าน เรื่อยมาถึงยุคของโอโกไดข่าน เรื่องการมอบความเมตตาแก่เชลยศึกตลอดจนราษฎรหลากชาติพันธุ์ที่กองทัพมองโกลพิชิตได้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนโอโกไดข่านล้อเลียนว่า “ท่านจะมาร้องขอเวทนาสงสารถึงคนเหล่านั้น (เชลยศึก) อีกแล้วสินะ”

เยลูฉู่ไฉตอบกลับไปว่า “ดินแดนทั้งหลายถูกพิชิตบนหลังม้า แต่ไม่ควรปกครองพวกเขาจากหลังม้า”

จากคำแนะนำของเขา โอโกไดข่านยอมยกเลิกค่านิยมอันรุนแรงนี้ (สังหารประชาชนทั้งหมดหลังยึดเมือง) มีการประเมินคร่าว ๆ ว่า คนจำนวนหลายล้านในเมืองจากดินแดนต่าง ๆ รอดพ้นจากความตายเพราะคำแนะนำของเยลูฉู่ไฉ

ไม่เพียงแต่ชนชั้นแรงงาน เยลูฉู่ไฉมักปกป้องเหล่าบัณฑิต นักปราชญ์ เพราะหลายคนสามารถช่วยราชการผู้นำชาวมองโกลได้ เขาผลักดันให้ลดบทลงโทษที่หนักหนาสาหัสเกินเหตุอันควร ปรับนโยบายบางอย่างที่กดขี่ผู้ใต้ปกครองจนเกินไป การให้คำแนะนำด้านหลักการบริหาร การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของเยลูฉู่ไฉ ทำให้ชนชั้นสูงชาวมองโกลที่เพิ่งเติบโตอย่างพุ่งทะยานเพราะสงคราม ค่อย ๆ ละทิ้งรูปแบบการใช้ชีวิตแบบชนเผ่าเร่ร่อนอันล้าหลัง แล้วนำคำสอนปรัชญาขงจื๊อมาปกครองที่ราบภาคกลางของจีน เป็นผลให้อารยธรรมจีนยังคงถูกเก็บรักษาและพัฒนาต่อไป

มีคำกล่าวว่า หากไม่มีเยลูฉู่ไฉ เจงกิสข่านและลูกหลานอาจเปลี่ยนเมืองน้อยใหญ่และไร่นาในที่ราบจงหยวนของจีนให้กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของชาวมองโกลไปแล้ว โชคดีที่เรื่องนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะอารยธรรมจีนคือรากฐานสำคัญของการสถาปนาราชวงศ์หยวนในสมัยของกุบไลข่าน

หลังรับใช้ราชสำนักมองโกลอยู่กว่า 30 ปี เยลูฉู่ไฉ ถึงแก่กรรมในปี 1244 ด้วยวัย 53 ปี เป็นรัฐบุรุษมองโกล เชื้อสายคีตัน ผู้ทำให้มองโกลสามารถก้าวจากชนเผ่าเร่ร่อนกลายเป็นผู้ปกครองดินแดนที่มากด้วยผู้คนและอารยธรรมระดับสูงได้ เมื่อข่าวการตายของเขาแพร่ออกไป สร้างความเศร้าสลดแก่ทั้งชาวมองโกลและชาวฮั่นอยู่ไม่น้อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หลี่เฉวียน ; เขมณัฏฐ์  ทรัพย์เกษมชัย แปล. (2556). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. กรุงเทพฯ : มติชน.

แจ๊ก เวเธอฟอร์ด; แปลโดย เรือชัย รักศรีอักษร. (2553). เจงกิสข่าน มหาบุรุษผู้เปลี่ยนโลก. กรุงเทพฯ : มติชน.

Tatiana Sletneva. Yelü Chucai’s Movement in the Mongolian Court Described
in Yuanshi. Retrieved August 16, 2023. From http://real.mtak.hu/153919/1/document-11.pdf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2566