
ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
14 กุมภาพันธ์ ปี 2024 นอกจากเป็น วันวาเลนไทน์ ยังเป็นวันสำคัญของ “อินโดนีเซีย” นั่นคือ วันเลือกตั้งทั่วไป เพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ รวมถึงการเลือกผู้นำสูงสุดของประเทศ หรือประธานาธิบดีด้วย หลังจากที่ นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียหมดสิทธิลงเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งประเทศอินโดนีเซียครบ 2 สมัย ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว
เราทราบดีว่า อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประชาคมอาเซียน ที่สำคัญคือ อินโดนีเซียมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากถึง 205 ล้านคน ที่สามารถเข้าคูหาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้ [1] และนี่ถือเป็นการเลือกตั้งของประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียและสหรัฐอเมริกา
อินโดนีเซียมีประชากรมากถึง 278 ล้านคน หรือราว 3.45% ของประชากรทั้งโลก [2] เป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากอินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งในจำนวนประชากรทั้งหมดของอินโดนีเซีย เป็นชาวมุสลิมประมาณ 241 ล้านคน [3] คิดเป็น 13% ของประชาชาติมุสลิมทั่วโลก ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ว่าง่าย ๆ คือ นี่คือการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลกนั่นเอง
หลังประกาศเอกราชจากเนเธอแลนด์เมื่อ ค.ศ. 1945 ซูการ์โนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย เขาพยายามนำระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามาปกครองประเทศตั้งแต่ปี 1945 – 1965 โดยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกในปี 1955 แต่การรัฐประหารโดยนายพลซูฮาร์โต ทำให้อินโดนีเซียถูกปกครองโดยผู้นำเผด็จการที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่กว่า 32 ปี กระทั่งเขาถูกขับไล่โดยการเรียกร้องของประชาชนในปี 1997
หลังจากนั้นอินโดนีเซียมีการปฏิรูปการเมืองเรื่อยมาจนนำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง และบังคับใช้ครั้งแรกในปี 2004 มีประธานาธิบดีจากเสียงของประชาชนโดยตรงคนแรกคือ นายซูชิโล บัมบัง ยูโดโยโน ก่อนมาเป็นนายโจโก วิโดโด
สำหรับการเลือกตั้ง 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่อินโดนีเซียมีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีถึง 3 คน โดยมีผู้ที่ “นำโด่ง” จากโพลสำรวจเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา คือ นายปราโบโว ซูเบียนโต วัย 72 ปี หัวหน้าพรรค Gerindra
ซูเบียนโต ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลประธานาธิบดีวิโดโดมาก่อน ที่สำคัญเขายังมี นายกิบรัน รากาบูมิง รากา นายกเทศมนตรีเมืองซูราการ์ตา วัย 36 ปี บุตรชายคนโตของประธานาธิบดีวิโดโด ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย จึงไม่เกินจริงนักหากจะบอกว่า แคนดิเดตฝั่งนี้มีประธานาธิบดีวิโดโดสนับสนุนเต็มที่
ส่วนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 2 คน คือ นายกันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง วัย 55 ปี ตัวแทนจากพรรค Democratic Party of Struggle (พีดีไอ-พี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอินโดนีเซีย กับ นายอานีส บาสเวดาน อดีตผู้ว่ากรุงจาการ์ตา วัย 54 ปี ผู้มีจุดยืนที่ตรงข้ามกับวิโดโด เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ไม่รับปากว่าจะเดินหน้าโครงการย้ายเมืองหลวงอินโดนีเซียจากกรุงจาการ์ตาไปยังนุสันตาราที่วิโดโดเริ่มโปรเจกต์ไว้
อย่างไรก็ตาม กฎหมายเลือกตั้งอินโดนีเซียมี “ความพิเศษ” คือเงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องมีคะแนนโหวตมากกว่า 50% จึงถือว่าชนะการเลือกตั้ง หากไม่มีใครได้คะแนนโหวตเกินครึ่ง จะมีการเลือกตั้งรอบที่ 2 และผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงน้อยที่สุดจะถูกคัดออกสำหรับการเลือกตั้งรอบต่อไป
แต่จากกระแส ผลโพล และสื่อหลายสำนัก วิเคราะห์ไปทางเดียวกันว่า นายปราโบโว ซูเบียนโต คงผ่านเงื่อนไขนี้ได้ และ “ปิดจ็อบ” ด้วยการเลือกตั้งเพียงรอบเดียว เดี๋ยวเราคงได้รู้ผลกัน…
อ่านเพิ่มเติม :
- การต่อสู้ของซูการ์โน บุรุษกู้ชาติแห่งอินโดนีเซีย แต่ถูกกลบฝังให้ลืม
- เดวี ซูการ์โน จากสาวทำงานในคลับ สู่สตรีหมายเลข 1 อินโดนีเซีย
- 30 สิงหาคม 1999 ชาวติมอร์ตะวันออกแห่ลง “ประชามติ” ปลดแอกจากอินโดนีเซีย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
[1] https://www.matichon.co.th/foreign/indepth/news_4422130
[2] https://www.worldometers.info/world-population/indonesia-population/
[3] https://www.statista.com/statistics/374661/countries-with-the-largest-muslim-population/
อัจจิมา แสงรัตน์. (2566). การรวมกลุ่มในรัฐสภาเพื่อกิจกรรมทางการเมืองของรัฐสภาอินโดนีเซีย. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า. (PDF Online)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567