“คาถาชินบัญชร” คาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” หรือ “หลวงพ่อโต” ไม่ได้แต่ง?

หลวงพ่อโต คาถาชินบัญชร คาถาชินบัญชรมาจากไหน
ภาพหลวงพ่อโต จาก : wikicommon

คาถาชินบัญชรมาจากไหน? “สมเด็จพระพุฒาจารย์” หรือ “หลวงพ่อโต” แต่งจริงหรือไม่?

“คาถาชินบัญชร” เป็นพระคาถาที่เมื่อคนพูดถึงขึ้นมาก็จะต้องนึกถึง “สมเด็จพระพุฒาจารย์” (โต พฺรหมฺรํสี) หรือ “หลวงพ่อโต” เนื่องจากเป็นพระคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีไว้บริกรรมและปลุกเสกพระเครื่องชื่อดังมากมาย อีกทั้งยังเป็นคาถาที่หลายคนเชื่อว่าช่วยให้แคล้วคลาดจากภัยอันตราย จนเข้าใจกันว่า “หลวงพ่อโต” คือผู้แต่ง “คาถาชินบัญชร” ขึ้น

แล้วความจริงเป็นอย่างไร ใครคือผู้ริเริ่ม “คาถาชินบัญชร” กันแน่?

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

บทความ “เล่าเรื่องเมือง (ศรี) ลังกา คาถาชินบัญชรมาจากไหน?” โดย ลังกากุมาร พระนิสิตบัณฑิตวิทยาลัย สถาบันบาลีและพุทธศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยแกลาณียะ ศรีลังกา ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดและน่าสนใจ ว่า

คาถาชินบัญชรมีหลายข้อสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดกันแน่ บางคนก็กล่าวว่าแต่งขึ้นในสมัยอาณาจักรดัมพเดณิยะ (พ.ศ. 1779-1803) บางคนก็บอกว่ามีมาตั้งแต่อาณาจักรคัมโปละ (พ.ศ. 1884-1958) หรือไม่ก็อาณาจักรแคนดี (พ.ศ. 2134-2358)

แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ แต่สิ่งที่หลายคนเห็นตรงกันคือคาถาชินบัญชร รับความเชื่อมาจาก “พุทธศาสนา ลัทธิมหายานแบบตันตระ” ซึ่งเชื่อมโยงกับ “เทพนาถะ” เทพเจ้าในความเชื่อดังกล่าว ที่เป็นที่พึ่งทางใจให้กับชาวบ้านในขณะที่บ้านเมืองอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันสงฆ์หรือกษัตริย์ ในช่วงอาณาจักรคัมโปละ (พ.ศ. 1884-1958) และพุ่งทะยานสุดขีดในช่วงอาณาจักรโกฏเก (พ.ศ. 1954/1958-2140)

ลังกากุมาร สันนิษฐานว่า ผู้แต่งคาถาศักดิ์สิทธิ์นี้ คือ “โตฏะคามุเวศรีราหุละ” จอมปราชญ์แห่งยุคโกฏเก ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนความเชื่อเรื่อง “เทพนาถะ” เทพที่ได้รับความนิยมมากในสมัยอาณาจักรคัมโปละ ให้แพร่หลายไปทั่วพื้นที่ 

ทั้งยังรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการทำพิธีกรรมบูชาสรรเสริญเทพนาถะด้วยตนเอง และแต่งคัมภีร์หลายเล่มเพื่อสรรเสริญพระองค์ร่วมกับบรรดาศิษย์ เช่น คัมภีร์โกกิลสันเดศยะ, คัมภีร์ติสรสันเดศยะ เป็นต้น

ทว่าทุกอย่างยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากปัจจัยแวดล้อมเท่านั้น เพราะยังไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ผู้เขียนก็ได้ให้เหตุผลว่า เหตุที่ทำให้เชื่อว่า “โตฏะคามุเวศรีราหุละ” เป็นผู้แต่ง “คาถาชินบัญชร” เพราะดังนี้…

“น่าเสียดายว่าไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถ้าศึกษาปัจจัยแวดล้อมสามารถยืนยันว่าคาถาชินบัญชรเกิดขึ้นในยุคท่านแน่นอน ด้วยเหตุว่าเทพนาถะเป็นคติความเชื่อของมหายานแบบตันตระ คาถาที่แต่งสำหรับสวดสรรเสริญจะกล่าวถึงการอ้อนวอน

อีกทั้งอัญเชิญพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกทั้งปวงมาปกปักรักษาคุ้มครองแลป้องกันผู้บนบานกราบไหว้ตามคติลิทธิตันตระที่เน้นมนตราเป็นจุดเด่น

เมื่อค้นตามคัมภีร์หลากหลายต่างสรุปเป็นแนวเดียวกันว่าเทพนาถะเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดสมัยพระสังฆราชศรีราหุละนี้เอง

เพราะจากนั้นไม่นานเกาะลังกาก็ตกอยู่ในสภาพวุ่นวายแตกแยก ทั้งศึกภายในคือชาวสิงหลทำสงครามห้ำหั่นกันเอง อีกทั้งศึกภายนอกคือโปรตุเกสก็เข้ามารุกรานครอบงำ”

แล้วคาถาชินบัญชรเข้ามาเผยแพร่ที่ไทยได้อย่างไร?

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมรํสี)

เรื่องนี้ ลังกากุมารกล่าวว่า 

“หลักฐานในคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์บอกว่า มีพระสงฆ์จากล้านนาประเทศ ๒๕ รูป มีพระมหาธัมมคัมภีร์และพระมหาเมธังกรเป็นหัวหน้า ได้เดินทางมาศึกษาพระธรรมวินัยและอุปสมบท ณ อาณาจักรโกฏเก ภายใต้ความดูแลของพระสังฆราชวนรัตนเถระและความอุปถัมภ์ของกษัตริย์ลังกา

ก่อนอำลาอุปัชฌาย์เดินทางกลับดินแดนมาตุภูมิ ได้จาริกแสวงบุญกราบไหว้สถานที่สำคัญทั่วเกาะลังกา แลเมื่อเดินทางกลับล้านนาบ้านเกิด ได้อารธนาพระลังการ่วมเดินทางมาด้วย ๒ รูป กล่าวคือ พระมหาวิกกรมพาหุ และพระมหาอุตตมปัญญา

ความเป็นไปได้ก็คือพระสงฆ์ไทยล้านนาน่าจะมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระสังฆราชโตฏะคามุเวศรีราหุละ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะจอมปราชญ์นามอุโฆษ และผู้อุทิศชีวิตเผยแผ่ลิทธิบูชาเทพนาถะ หรือาจจะมีโอกาสร่วมสัมผัสพิธีกรรมสวดสรรเสริญเทพนาถะ เพราะวิชัยพาหุปิริเวณะเป็นสถาบันการศึกษาสงฆ์ที่โด่งดังสูงสุดยุคนั้น

พระคาถาชินบัญชรน่าจะติดตามพระสงฆ์ไทยกลับล้านนาคราวนั้นเอง”

จากหลักฐานดังกล่าวจึงอนุมานได้ว่าคาถาชินบัญชรน่าจะแต่งขึ้นในสมัยยุคโกฏเก โดยพระสังฆราชโตฏะคามุเวศรีราหุละ 

แต่ก็มีอีกความเห็นหนึ่ง (ซึ่งอ้างอิงจากหลักฐานก่อนหน้าเช่นกัน) ที่คิดว่าไม่ใช่พระสังฆราช แต่เป็น “ศรีรามจันทรา” หรือศิษย์ของพระสังฆราช ก็เป็นได้ 

เนื่องจากหากดูลักษณะของคาถาแล้ว เป็นคาถาที่ต้องแต่งด้วยไวยากรณ์สูง ซึ่งลูกศิษย์ผู้นี้ก็เปี่ยมไปด้วยความสามารถเรื่องกาพย์กลอน จนแต่งกลอนสรรเสริญเทพนาถะเป็นที่ยกย่องไปทั่วฟ้า อย่าง “วรตรัตนากรปัญจิกา” ได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567