ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วัดกระโจม ปัจจุบันอยู่ในสภาพ “วัดร้าง” ตั้งอยู่ริมคูขื่อหน้าหรือแม่น้ำป่าสัก ฝั่งตรงข้ามพระนคร ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เพราะเป็นวัดที่ กรมหมื่นเทพพิพิธ เสด็จฯ ไปทรงผนวช สันนิษฐานกันว่า วัดกระโจม เป็นวัดที่ข้าราชการคนอื่นๆ มาหารือกับกรมหมื่นเทพพิพิธ เตรียมก่อการลับโค่นพระเจ้าเอกทัศน์
อชิรวิชญ์ อันธพันธ์ เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ใน “วัดกระโจม (ร้าง) ค่ายพม่า, กรมหมื่นเทพพิพิธ และตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงทางภูมิสถานของอยุธยา” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2567 ไว้ตอนหนึ่งว่า
วัดกระโจมมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ที่มักควบคู่กับเรื่องเล่าของกรมหมื่นเทพพิพิธ หนึ่งในพระราชโอรสองค์สำคัญในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับกล่าวต้องกันว่า หลังจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร ทรงสละราชสมบัติให้แก่ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ผู้เป็นสมเด็จพระเชษฐาธิราช ก็เสด็จฯ ไปทรงผนวช ประทับ ณ วัดประดู่ กระทั่งเมื่อเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีเสด็จขึ้นราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนาม สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พระราชพงศาวดารก็เล่าต่อว่า “อยู่มาประมาณ ๗ วัน กรมหมื่นเทพพิพิธ เสด็จไปผนวช ณ วัดกระโจม ทรงพระกรุณาสั่งให้ตั้งกรมหลวงพิพิธมนตรี เป็นกรมพระเทพามาตุ”
เหตุที่กรมหลวงเทพพิพิธทรงออกผนวช หลังการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เนื่องจากว่า ทรงเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) ซึ่งนับเป็นฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามกับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์นั่นเอง
ต่อมาไม่นาน ก็มีเหตุให้ชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธต้องพลิกผันอีกครั้ง เมื่อมีข้าราชการเก่าที่สนับสนุน “ขุนหลวงหาวัด” เช่น เจ้าพระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายจุ้ย นายเพ็งจันทร์ มาปรึกษาเจ้าพระกรมหมื่นเทพพิพิธถึงวัดกระโจม จากนั้นก็พากันไปเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระเจ้าอุทุมพร ที่ทรงผนวชอยู่ ณ วัดประดู่
พระเจ้าอุทุมพรตรัสกับบรรดาผู้ก่อการว่า “รูปเป็นสรณะ จะคิดอ่านการแผ่นด้วยนั้นเห็นจะไม่ควร ท่านทั้งปวงเห็นควรประการใดก็ตามจะคิดกันเถิด…”
บรรดาผู้ก่อการเข้าใจว่า พระเจ้าอุทุมพรทรงรับทราบในแผนการ จึงพากันกลับไป แต่หลังจากเจ้าพระกรมหมื่นเทพพิพิธกับคณะขุนนางคิดการใหญ่กลับไปแล้ว พระเจ้าอุทุมพรก็ทรงปริวิตก รีบเสด็จไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทูลว่า “คนเหล่านี้คิดกบฏจะทำการใหญ่ ถ้าเขาทำการสำเร็จ เขาจะมาจับเราเสียด้วย จะยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นครองสมบัติ เราสองคนพี่น้องก็จะพากันตาย”
เมื่อแผนการแตก มีการไล่จับตัวขุนนางที่คิดก่อการ เจ้าพระกรมหมื่นเทพพิพิธทรงหนีออกจากวัดกระโจม แต่ก็ถูกจับได้ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระบรมราชโองการให้เนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธไปยังเกาะลังกา
ต่อมา กรมหมื่นเทพพิพิธกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งในช่วงรอยต่อปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงธนบุรี จนนำไปสู่จุดสูงสุดทางการเมืองคือทรงเป็นเจ้าผู้นำ “ก๊กพิมาย” ก่อนพ่ายแพ้แก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และถูกตัดสินประหารชีวิต
ปัจจุบัน โบราณสถานวัดกระโจม (ร้าง) ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล การเข้าไปสำรวจซากที่เหลือจึงต้องขออนุญาตเจ้าของบ้านเสียก่อน
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ทรงมีพระนามว่า “พระบรมโกศ”?
- เปิดเส้นทางชีวิต “กรมหมื่นเทพพิพิธ” เจ้านายนักการเมืองสไตล์ ไม่ชนะ ไม่ตาย ไม่เลิก!
- ตามรอย “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” จากกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงอังวะ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567