ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ญี่ปุ่นไม่เพียงรุ่มรวยศิลปิน แต่ยังมี “นักประดิษฐ์” ที่โดดเด่น อย่าง ทะนะกะ ฮิซะชิเงะ ที่ต่อมาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง โตชิบา คอร์ปอเรชัน บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น
ทะนะกะ ฮิซะชิเงะ (Tanaka Hisashige) เกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1799 (พ.ศ. 2342 เทียบแล้วคือในสมัยรัชกาลที่ 1) ที่เมืองคุรุเมะ แคว้นชิกุโงะ วัยเด็กเขาไม่ได้ชื่อฮิซะชิเงะ แต่เป็นเด็กน้อยนามว่า “กิเอะมง” เป็นลูกชายคนโตของทะนะกะ ยะเอะมง (Tanaka Yaemon) ช่างทำหวีหรือทำปิ่นปักผมด้วยกระดองเต่าทะเล
บัญชา ธนบุญสมบัติ เล่าเรื่องราวของนักประดิษฐ์ผู้นี้ ที่ต่อมาคือผู้ก่อตั้ง โตชิบา ไว้ในหนังสือ “Pioneering Minds ก้าว-รุก-บุก-เบิก” (สำนักพิมพ์ SUNDOGS) ว่า กิเอะมงฉายแววนักประดิษฐ์ตั้งแต่เด็ก เพราะตอนอายุ 9 ขวบได้ประดิษฐ์กล่องแป้นหมึก ซึ่งมีกลไกล็อกฝาผิดกล่องด้วยเชือก ซึ่งต้องถูกบิดไปเป็นรูปแบบหนึ่งถึงจะเปิดออกได้ เชื่อกันว่าเขาเรียนรู้จากการอ่าน คะระกุริ-ซูอิ หนังสือพร้อมภาพประกอบแสดงเทคนิคเชิงกลสำหรับสร้างนาฬิกาสไตล์ญี่ปุ่น รวมทั้งตุ๊กตาและของเล่นคะระกุริ หรือของเล่นที่เป็นระบบกลไก
เมื่ออายุได้ 15 ปี มีคนมาขอคำปรึกษาว่าจะทอผ้าให้มีลายดอกได้อย่างไร เขาจึงประดิษฐ์พิมพ์ไม้แกะลาย นำมากดเส้นด้าย จากนั้นนำเส้นด้ายมาย้อมลายแล้วนำไปทอ ผ้าทอที่ได้เรียกว่า “คุรุเมะกะซุริ” แบบมีลวดลาย
บัญชา เล่าต่อว่า กิเอะมงมีอิสระในการทำงานประดิษฐ์ที่เขารัก เพราะเขาขออนุญาตจากพ่อให้น้องชายสืบทอดงานของพ่อแทน ในวัย 21 ปี กิเอะมงเริ่มมีชื่อเสียงเมื่อนำตุ๊กตาหุ่นยนต์คะระกุริออกแสดงในเทศกาลของศาลเจ้าโกะโกะกุ มีทั้งตุ๊กตายกน้ำชาและตุ๊กตายิงธนู ซึ่งยิงได้เข้าเป้าราวมีชีวิต ต่อมาเมื่ออายุ 22 ปี ก็ประดิษฐ์ปืนลมสำเร็จ แต่เมืองคุรุเมะเกรงใจรัฐบาลทหาร จึงสั่งยกเลิกการผลิต
งานของกิเอะมงต้องใช้ทุนรอนจำนวนมาก เขาจึงต้องตระเวนเปิดการแสดงตุ๊กตาหุ่นยนต์เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ และเพื่อหล่อเลี้ยงความรักของเขาที่มีต่องานประดิษฐ์ เขาเปิดการแสดงทั้งที่เกียวโต โอซากา และเอโดะ นานนับสิบปี ทั้งยังประดิษฐ์ตุ๊กตาที่สามารถเขียนตัวหนังสือได้
ชื่อเสียงของเขาเริ่มระบือไกล จนได้รับฉายาว่า “กิเอะมงยอดหุ่นยนต์”
แม้ผู้คนจะให้การยกย่องในฝีมือ แต่กิเอะมงไม่หยุดเรียนรู้ ในวัย 49 ปี เขาฝากตัวเป็นศิษย์ โทดะ มิชิโมะโตะ (Toda Michimoto) สมาชิกตระกูลที่เชี่ยวชาญด้านปฏิทินดาราศาสตร์ กระทั่งอายุ 51 ปี สมเด็จพระจักรพรรดิก็พระราชทานยศ “โอมิทะอิโจ” เนื่องจากเป็นนักดาราศาสตร์ชั้นหนึ่ง
จากนั้นเขาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ฮิซะชิเงะ
ผลงานชิ้นเยี่ยมของฮิซะชิเงะ คือ “มัน-เน็นโดะเก” (Man-nen dokei) ซึ่งเป็นนาฬิกาสูง 63 เซนติเมตร มีหน้าปัด 6 อัน แสดงเวลาทั้งแบบตะวันตกและแบบญี่ปุ่น แสดงวันที่ได้ ทั้งยังมีแบบจำลองการโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ นาฬิกานี้ใช้ระบบไขลาน เมื่อไขลานครั้งหนึ่งจะทำงานได้ 225 วัน
จุดเปลี่ยนในการทำงานของฮิซะชิเงะ เกิดขึ้นในทศวรรษ 1850 เมื่อสหรัฐอเมริกากำลังแผ่อิทธิพลการเมือง เมื่อต้องการค้าขายกับญี่ปุ่นก็ส่งกองเรือรบมาเจรจาให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ นับแต่นั้นเป็นต้นมา งานของฮิซะชิเงะจึงเน้นเทคโนโลยีการทหาร เพื่อปกป้องญี่ปุ่นจากการถูกรุกราน เช่น ประดิษฐ์ปืนใหญ่ให้แคว้นคุรุเมะ ประดิษฐ์เรือกลไฟตามคำร้องขอของแคว้นซะงะ ออกแบบเตาสะท้อนความร้อนสำหรับหลอมโลหะ เป็นต้น
นักประดิษฐ์รายนี้ ยังพัฒนาเครื่องทำน้ำแข็งเครื่องแรกของญี่ปุ่น พัฒนารถจักรยาน รถลาก และเครื่องสีข้าว เพราะเขามักพูดอยู่บ่อยๆ ว่า เทคโนโลยีทั้งหลายควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับผู้คน
บัญชา เล่าในหนังสืออีกว่า ปี 1873 ฮิซะชิเงะที่อยู่ในวัย 74 ปี ยังคงมีไฟในการทำงาน เขาได้รับเชิญจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้ไปยังโตเกียว เพื่อสร้างโทรเลขที่โรงงานขนาดเล็กของกระทรวง จากนั้นในราวปี 1875 เขาย้ายไปอยู่ย่านกินซา และเช่าพื้นที่ชั้นสองของวัด เพื่อใช้เป็นโรงปฏิบัติงาน ที่นี่เองที่ต่อมากลายเป็นบริษัท Tanaka Seisakusho (Tanaka Engineering Works) โรงงานผลิตอุปกรณ์โทรเลขแห่งแรกของญี่ปุ่น
งานของฮิซะชิเงะในช่วงนี้ นับว่ามีคุณูปการสำคัญกับญี่ปุ่นก็ว่าได้ เพราะช่วยวางโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
ฮิซะชิเงะในวัย 82 ปี ถึงแก่กรรมในปี 1881 ลูกชายบุญธรรมของเขารับช่วงดูแลโรงงานต่อ แต่ต่อมาบริษัทประสบปัญหาการเงิน ธนาคารมิตซุยซึ่งเป็นผู้ให้เงินกู้จึงเข้ายึด และเปลี่ยนชื่อเป็น Shibaura Seisakusho (Shibaura Engineering Works) ในปี 1893
เข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ในปี 1939 Shibaura Seisakusho ควบรวมกับบริษัท Tokyo Denki เป็นบริษัทใหม่ชื่อ Tokyo Shibaura Denki (Tokyo Shibaura Electric) ช่วงแรกเรียกชื่อย่อแบบไม่เป็นทางการว่า Toshiba แต่ในปี 1978 บริษัทเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการ เรียกว่า Toshiba Corporation ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ ที่เสียชีวิตจากงานทดลอง
- เอดิสัน VS เทสลา เรื่องจริงในสงครามทฤษฎีกระแสไฟฟ้า The Current War สู่ Tesla
- “ออปเพนไฮเมอร์” บิดาแห่งระเบิดปรมาณู ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
บัญชา ธนบุญสมบัติ. Pioneering Minds ก้าว-รุก-บุก-เบิก. กรุงเทพฯ : SUNDOGS, 2566.
Hisashige Tanaka(1799-1881). https://museum.seiko.co.jp/en/knowledge/inventors_04/
Hisashige Tanaka. https://toshiba-mirai-kagakukan.jp/en/history/toshiba_history/hisashige.htm
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567