ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา, พันธวัช นาคสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
ในยุคที่กระแสไฟฟ้าเป็นศูนย์รวมการคิดค้นและพัฒนาเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ความทะเยอทะยานและความเชื่อมั่นในระบบไฟฟ้าทำให้ โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) กับ นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) กลายเป็นคู่ปรับคนสำคัญใน “สงครามกระแสไฟฟ้า” หรือ The Current War ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1880-1890 ขณะที่เอดิสันเชื่อมั่นในไฟฟ้ากระแสตรง (DC) เทสลาคือผู้เปิดศักราชของไฟฟ้ากระแสสลับ (AC)
ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากทั้งสองคนที่เคยร่วมงานกันและพอใจความสามารถกันเองมาก่อน อะไรทำให้ทั้งคู่ไม่ลงรอยกัน และเกิดอะไรขึ้นใน สงครามกระแสไฟฟ้า? ทั้งหมดสะท้อนวิธีสู่ความสำเร็จของเอดิสัน และความเป็นอัจฉริยะผู้ถูกลืมของเทสลาท่ามกลางเรื่องของผลประโยชน์เป็นอย่างดี
เทสลา เคยทำงานในบริษัท เอดิสัน แมชชีน เวิร์ก (Edison Machine Works) ของเอดิสัน ที่นิวยอร์กเมื่อ ค.ศ. 1884 ด้วยตำแหน่งวิศวกร ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้ลูกจ้างและช่างใช้เป็นที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาแข่งขันในตลาดจนพัฒนาเป็นศูนย์วิจัย เทสลาติดตามเจ้านายผู้กำกับงานจากบริษัทเดิมในปารีสซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของ Edison Machine Works มาที่นิวยอร์ก ขณะนั้นกำลังมีการวางโครงสร้างระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ในเมืองอยู่ เขาจึงมีส่วนในการติดตั้งและแก้ปัญหาหลายอย่างเพื่อปรับปรุงระบบไฟและเครื่องปั่นไฟ (generator)
ช่วงแรกเทสลาประทับใจเอดิสันมาก เพราะเอดิสันมีการศึกษาไม่สูงแต่สามารถประสบความสำเร็จในงานไฟฟ้าที่ต้องอาศัยความรู้เชิงเทคนิคสูง เอดิสันเองก็ค่อนข้างพอใจสติปัญญาและความความสามารถของเทสลา แต่ทั้งคู่มีแนวทางที่แตกต่างกัน คือ เอดิสันเป็นนักประดิษฐ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานผ่านการลองผิดลองถูก ขณะที่เทสลาคำนวณทุกปัจจัยและแก้ปัญหาก่อนการลงมือทำจริง อีกประการคือความเชื่อมั่นในไฟฟ้ากระแสตรงและกระแสสลับ ซึ่งเวลานั้นงานด้านไฟฟ้าเป็นการถกเถียงไม่จบสิ้นระหว่าง 2 กระแสที่มีข้อดีข้อเสียในตัวเอง พวกเขาจึงอยู่คนละขั้วในทางปฏิบัติ
หลังร่วมงานกันประมาณครึ่งปี มีครั้งหนึ่งเอดิสันพูดกับเทสลาว่าจะยอมให้เงิน 50,000 ดอลลาร์ (แปลงค่าเงินในยุคนั้น คิดเป็น 1,700,000 บาท) หากเทสลาสามารถพัฒนาไดนาโมไฟฟ้ากระแสตรง (DC Dynamo) ให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น เทสลารับข้อตกลง เขาพัฒนาและปรับปรุงสิ่งประดิษฐขึ้นใหม่เรียกว่าแทบจะยกแผง และแก้ไขจุดบกพร่องในงานชิ้นเดิมซึ่งเป็นโจทย์ของเอดิสันอย่างหมดจด ปรากฏว่านอกจากจะไม่ได้เงินตอบแทนใด ๆ จากเอดิสันแล้ว ประโยคที่เทสลาได้รับกลับมาคือ “เทสลา นายคงไม่เข้าใจอารมณ์ขันของคนอเมริกันสินะ”
เชื่อว่าเทสลาคงแค้นฝังใจต่อเอดิสันนับแต่นั้น เขาลาออกจากห้องวิจัยบริษัทซึ่งเจ้าของกิจการไม่ซื่อตรงต่อเขา พร้อมมุ่งพัฒนางานประดิษฐ์ของตนเองอย่างเต็มตัว และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสงครามไฟฟ้าของทั้งคู่
ช่วงปลาย ค.ศ. 1886 เทสลาได้พบกับ โรเบิร์ต เลน (Robert Lane) และเบนจามิน เวล (Benjamin Vale) ผู้เชี่ยวชาญการจัดตั้งบริษัทกับการหาประโยชน์ทางการเงินจากสิ่งประดิษฐ์และสิทธิบัตร ทั้งสองตกลงสนับสนุนด้านการเงินแก่เทสลาและดูแลเรื่องผลประโยชน์ในสิทธิบัตร
พวกเขาทั้งสามจึงตัดสินใจจัดตั้ง เทสลา อิเล็กทริก คอมปานี (Tesla Electric Company) ขึ้นใน ค.ศ. 1887 แบ่งผลกำไรกันลงตัวเทสลาได้ไปหนึ่งในสามอีกหนึ่งในสามเป็นของเลนกับเวลส่วนที่เหลือเป็นกองทุนสำหรับการพัฒนาพวกเขาได้สร้างห้องแล็บให้กับเทสลาในนิวยอร์กสำหรับประดิษฐ์และพัฒนาอุปกรณ์ชนิดใหม่ของเทสลา
ปีเดียวกันนั้น เทสลาพัฒนามอเตอร์เหนี่ยวนำ (Induction Motors) ให้สามารถทำงานกับไฟฟ้ากระแสสลับได้สำเร็จ โดยตัวมอเตอร์เหนี่ยวนำได้สร้างแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเลือกใช้ระบบไฟฟ้ากระแสสลับให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการไฟฟ้าอย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังไม่มีมอเตอร์ที่มีประสิทธิภาพดีพอ ไฟฟ้ากระแสสลับจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม
ต่อมาบริษัท เวสติงเฮาส์ อิเล็กทริก (Westinghouse Electric) ของจอร์จ เวสติงเฮาส์ (George Westinghouse) นักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ได้ซื้อสิทธิบัตรระบบกระแสไฟฟ้าสลับของเทสลาด้วยราคา 1 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งจ้างเทสลาเป็นที่ปรึกษา เพื่อนำไปสร้างโรงไฟฟ้ากระแสสลับแข่งกับบริษัท เอดิสัน เยเนอรัล อิเล็กทริก (Edison General Electric) ของเอดิสันที่ใช้ระบบไฟฟ้ากระแสตรง และเป็นผู้ครองตลาดอันดับต้น ๆ อยู่ในขณะนั้น จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกระแสไฟฟ้า
ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ระบบไฟฟ้าของฝ่ายตนเองชนะและขึ้นเป็นที่หนึ่งของกิจการด้านไฟฟ้า โดยฝ่ายเอดิสันพยายามใช้ปฏิบัติการเชิงจิตวิทยา ชี้นำผู้ใช้ให้เห็นข้อเสียของไฟฟ้ากระแสสลับที่อันตรายถึงแก่ชีวิต มีการจำลองเหตุการณ์ด้วยการเอาไฟฟ้ากระแสสลับช็อตสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่สุนัข แมว ม้า ไปจนถึงช้าง และถ่ายภาพยนตร์ออกเผยแพร่ ต่อมายังได้ประดิษฐ์เก้าอี้ไฟฟ้าที่ใช้ประหารชีวิตคน เพื่อให้ผู้คนกลัวไม่กล้าใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งฝ่ายเวสติงเฮาส์ที่มีเทสลาเป็นผู้ออกแบบระบบ จำต้องแสดงให้เห็นข้อดีของไฟฟ้ากระแสสลับที่เหนือกว่า เพราะมีประสิทธิภาพสามารถส่งไฟฟ้าได้ไกลกว่ามาก ราคาถูกกว่ามาก และไม่ได้เป็นอันตรายมากอย่างที่อีกฝ่ายโจมตี
ต้น ค.ศ. 1890 “สงครามกระแสไฟฟ้า” หรือ The Current War เริ่มเข้าสู่ช่วงคดเคี้ยวและยากลำบาก เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาประสบกับสภาวะถดถอยทางด้านการค้าและการเงิน ส่งผลให้บริษัทเวสติงเฮาส์ อิเล็กทริก และบริษัทเอดิสัน เยเนอรัล อิเล็กทริก ที่กำลังแข่งขันติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้าทั่วสหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาด้านการเงิน ทั้งสองฝ่ายจึงใช้วิธีควบรวมกิจการบริษัทอื่น ๆ เพื่อความอยู่รอดของบริษัท
บริษัทของเอดิสัน รวมกับบริษัททอมสัน–ฮิวสตัน (Thomson-Houston) ที่เป็นคู่แข่งสำคัญของเวสติงเฮาส์ อิเล็กทริก กลายเป็นบริษัทเยเนอรัล อิเล็กทริก (General Electric) ซึ่งสร้างความท้าทายครั้งใหญ่ต่อการแข่งขันครั้งนี้ บริษัทของเวสติงเฮาส์ จึงตอบโต้ด้วยการเร่งขยายธุรกิจของตนด้วยอัตราการเติบโตที่สูงมาก จนได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างหนัก ทำให้ต้องควบรวมกิจการกับบริษัทขนาดเล็กหลายแห่ง เช่น บริษัทยู.เอส. อิเล็กทริก (U.S. Electric) และบริษัทคอนโซลิเดท อิเล็กทริก ไลท์ (Consolidated Electric Light) กลายเป็นบริษัทเวสติงเฮาส์ อิเล็กทริก แอนด์ แมนูแฟคเจอริง (Westinghouse Electric and Manufacturing)
จนกระทั่ง ค.ศ. 1893 เกิดเหตุการณ์สำคัญที่กลายเป็นจุดตัดสินสงครามกระแสไฟฟ้าว่าใครจะเป็นผู้ชนะ คือ งานนิทรรศการ World’s Columbian Exposition ที่เมืองชิคาโก เป็นงานระดับโลกครั้งแรกหลังมีระบบส่องสว่างด้วยไฟฟ้า เพื่อฉลองครบรอบ 400 ปีที่โคลัมบัสพบดินแดนใหม่ (ทวีปอเมริกา) มีผู้ร่วมงานถึง 27 ล้านคน
โดยบริษัทของเวสติงเฮาส์ได้ชนะการประมูลระบบไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับงานทั้งหมด จากการเสนอให้ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ ด้วยราคาค่าใช้จ่ายเพียงครึ่งหนึ่งของฝ่ายเอดิสันที่เสนอด้วยระบบไฟฟ้ากระแสตรง จากชัยชนะครั้งนี้ เวสติงเฮาส์และเทสลาก็ได้แสดงถึงประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้ากระแสสลับในการจ่ายไฟให้กับหลอดไฟเกือบหนึ่งแสนดวง ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก เทสลายังได้แสดงเทคโนโลยีใหม่อย่างอื่นอีก เช่น หลอดไฟไร้สาย และหลอดไฟนีออน เป็นต้น
ในปีเดียวกันหลังงานนิทรรศการ บริษัทของเวสติงเฮาส์รับงานสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่น้ำตกไนแองการา (Niagara Falls hydroelectric project) โดยใช้ระบบเดียวกันกับในงานนิทรรศการ ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี ทำให้ระบบไฟฟ้ากระแสสลับกลายเป็นแบบอย่างของระบบไฟฟ้าทั่วโลก ต่อมาบริษัทของเอดิสัน ก็ยอมแพ้ในสงครามกระแสไฟฟ้า และซื้อลิขสิทธิ์ระบบไฟฟ้ากระแสสลับของเทสลาต่อจากเวสติงเฮาส์ ก่อนเปลี่ยนมาทำระบบไฟฟ้ากระแสสลับ ทำให้บริษัทของเวสติงเฮาส์ขึ้นมาเป็นกิจการด้านไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลก
ถือว่าสงครามกระแสไฟฟ้า ซึ่งเกิดการปะทะกันระหว่างสองผู้นำสองแนวคิดคือ โทมัส อัลวา เอดิสัน และนิโคลา เทสลา ไม่ใช่เกิดขึ้นลอย ๆ หรือเผชิญหน้ากันแค่เพียงทฤษฎีและความเชื่อมั่นในระบบกระแสไฟฟ้าเท่านั้น ยังมีเรื่องของผลประโยชน์ การค้า การลงทุน และเล่ห์เหลี่ยมกลโกงมากมายที่นำมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม
ท้ายที่สุด กระแสไฟฟ้าสลับของเทสลาสามารถพิสูจน์ว่าสร้างประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ไมเคิล ฟาราเดย์ พนง.เย็บหนังสือ สู่นักวิทย์ผู้ทำไดนาโม ต้นแบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
- กำเนิด “ดีเซล” เครื่องยนต์ปฏิวัติโลก ฝีมือเด็กชอบรื้อ สาบสูญอย่างลึกลับในบั้นปลาย
อ้างอิง :
John J. O’ Neill. PRODIGAL GENIUS The life of Nikola Tesla นิโคลา เทสลา อัจฉริยะนักฝันผู้เดียวดาย. แปลโดย ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560
Takieng. นิโคลา เทสลา อัจฉริยะเดียวดายผู้สร้างความสว่างไสวให้กับโลกแต่ไร้คนจดจำ. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2562, จาก https://www.takieng.com/stories/8144
Takieng. ทอมัส เอดิสัน พ่อมดนักประดิษฐ์ผู้เปลี่ยนโลกด้วยสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีกว่า 1,000 ชิ้น. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2562, จาก https://www.takieng.com/stories/9140
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2562