ไมเคิล ฟาราเดย์ พนง.เย็บหนังสือ สู่นักวิทย์ผู้ทำไดนาโม ต้นแบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ไมเคิล ฟาราเดย์ ผู้ประดิษฐ์ ไดนาโม ต้นแบบ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ภาพถ่ายไมเคิล ฟาราเดย์ (Public Domain) ฉากหลังเป็นภาพวาดแล็บของไมเคิล ฟาราเดย์ ภาพจาก The life and letters of Faraday โดย Michael Faraday (Public Domain)

ไมเคิล ฟาราเดย์ พนง.เย็บหนังสือ สู่นักวิทย์ผู้ทำไดนาโม ต้นแบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ในบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือที่ทำให้การใช้ชีวิตของคนยุคต่อมาง่ายดายขึ้น ชื่อของ “ไมเคิล ฟาราเดย์” (Michael Faraday) เป็นอีกหนึ่งชื่อที่มีบทบาทไม่แพ้นักวิทย์ชื่อก้องโลกรายอื่น เขาเป็นนักเคมีและนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษผู้ค้นพบการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าและประดิษฐ์ “ไดนาโม” ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ในปัจจุบัน

ไมเคิล ฟาราเดย์
ไมเคิล ฟาราเดย์ ทศวรรษ 1850 (ภาพโดย Materialscientist ใน Wikimedia Commons)

ไมเคิล ฟาราเดย์ เกิดเมื่อ 22 กันยายน ค.ศ. 1791 เขาเป็นลูกชายช่างเหล็ก ครอบครัวมีฐานะยากจนจึงทำให้ฟาราเดย์ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น เมื่ออายุได้ 14 ปี เขาออกมาเป็นพนักงานเย็บหนังสือใช้ชีวิตอยู่กับอาชีพนี้ถึง 7 ปี ฟาราเดย์ สนใจวิทยาศาสตร์อย่างมาก แม้เขาไม่ได้ศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปแต่เขาพยายามเรียนรู้ อ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย และเข้าฟังบรรยายทางวิทยาศาสตร์อยู่หลายต่อหลายครั้ง เขาสนใจการบรรยายของของ ฮัมฟรีย์ เดวี (Humphry Davy) ศาสตร์ตราจารย์ด้านเคมีที่ราชสมาคมลอนดอน

ปี 1812 ฟาราเดย์เขียนจดหมายถึงเดวี เพื่อขอทำงานเป็นผู้ช่วย แต่ถูกปฏิเสธ ปีต่อมาเดวีถึงรับเขาเข้าทำงาน ระยะแรกเขาเป็นคนคอยรับใช้เดวี ภายหลังได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเดวีในราชสมาคม

ปี 1814 ฟาราเดย์ติดตามเดวีไปทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้เดินทางไปหลายประเทศในยุโรป ทั้งฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลีและเบลเยียม การเดินทางครั้งนี้ทำให้ฟาราเดย์ได้พบกับนักวิทยาศาสตร์หลายคน เช่น วอลตา อองเดร-มารี แอมแปร์

เมื่อพวกเขากลับสู่ลอนดอนในปี 1815 ฟาราเดย์ เริ่มทำงานด้านวิทยาศาสตร์ในราชสมาคม โดยวิเคราะห์ดินที่ใช้ในการทำเครื่องปั้นดินเผาของบริษัทเวดจ์วูด วิเคราะห์ดินปืนของบริษัทอิสต์อินเดีย รวมถึงศึกษากระบวนการทางอุตสาหกรรมที่โรงหล่อโลหะแห่งแคว้นเวลส์

ปลายปี 1820 เขาได้ข่าวที่น่าตื่นเต้นของนักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์กชื่อฮันส์คริสเตียน เออร์สเตด ผู้สร้างแบตเตอรี่ไฟฟ้าแบบวอลตาอิก โดยการใส่กรดเจือจางในภาชนะ 20 ชุด และต่อกันเป็นวงจรด้วยแผ่นทองแดงและสังกะสี จากนั้นก็เชื่อมขั้วหนึ่งของอุปกรณ์นี้เข้ากับลวดยาวและวางมันบนเข็มทิศที่ขนานกับเข็ม เมื่อเอาปลายอีกด้านหนึ่งของลวดสัมผัสกับด้านตรงข้ามของแบตเตอรี่ เข็มทิศก็แกว่งไปทางทิศตะวันตก แต่ถ้าวางลวดใต้เข็มทิศ เข็มจะกระดิกไปทางตะวันออก

เดวีและฟาราเดย์ได้ทำการทดลองซ้ำตามที่เออร์สเตด สาธิตไว้ และฟาราเดย์แสดงให้เห็นว่าการใช้เครื่องมือแบบหยาบๆ โดยใช้ปรอทและจุกไม้ก๊อกจะทำให้เกิดไฟฟ้าในเส้นลวดที่หมุนรอบแม่เหล็ก หรือทำให้แม่เหล็กหมุนรอบลวดที่มีไฟฟ้าได้ เขาได้ประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้าขึ้นมา เขาทำลวดเป็นวงแล้วนำไปต่อกับแบตเตอรี่ มันก็จะกลายเป็นแม่เหล็กอ่อนๆ เมื่อเขาพันลวดเป็นขด แรงดูดจากแม่เหล็กจะแรงขึ้นโดยอยู่ภายในตรงกลางขดลวด

ปี 1821 เขาได้ตีพิมพ์ผลงานของเขาคือ “การหมุนของแม่เหล็กไฟฟ้า” (หลักการที่อยู่เบื้องหลังมอเตอร์ไฟฟ้า) และทำการวิจัยเพิ่มเติม ต่อมาในปี 1826 เขาได้ใช้ราชสมาคมเป็นที่บรรยายในเรื่องที่เขาศึกษาในทุกเย็นวันศุกร์ ช่วงนั้นนับเป็นเวลาสร้างชื่อให้เขาจากการบรรยาย

ปี 1831 ฟาราเดย์พบว่า เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลในวงจรวงหนึ่ง กระแสนี้จะเหนี่ยวนำให้มีไฟฟ้าไหลในอีกวงจรหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กันได้ หรือเมื่อเคลื่อนแท่งแม่เหล็กผ่านเข้าออกในบริเวณตรงกลางของขดลวด จะมีกระแสไฟฟ้าไหลในขดลวดนั้น ทั้งๆ ที่ขดลวดกับแม่เหล็กไม่มีวัสดุใดเชื่อมต่อถึงกันเลย โดยเราเรียกการค้นพบนี้ว่า “การเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า” (Electromagnetic Induction) ซึ่งเป็นหลักการที่อยู่เบื้องหลัง หม้อแปลงไฟฟ้า และ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า การค้นพบวิธีผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการเหนี่ยวนำนี้นับว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของ “ไมเคิล ฟาราเดย์”

การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก เป็นการเปลี่ยนจากความอยากรู้เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทรงพลัง เพราะการค้นพบนี้เป็นหลักการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทุกเครื่องในโลก แม้น้อยคนนักที่จะรู้จักฟาราเดย์ แต่สิ่งที่เขาค้นพบนั้นกลับเป็นส่วนสำคัญของการกำเนิดไฟฟ้าที่เราใช้ประโยชน์กันในปัจจุบัน ดังเช่น การสร้างทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าของเจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ ก็ได้แนวทางมาจากการค้นพบของฟาราเดย์

นอกจากนี้ ฟาราเดย์ยังมีส่วนร่วมในการคิดคำศัพท์เกี่ยวกับไฟฟ้าที่เราคุ้นเคย เช่น electrode, electrolyte, cation, cathode, anion ทั้งนี้ ผลงานของเขายังมีอีกมากแต่ไม่โด่งดังเท่ากับผลงานด้านเคมีไฟฟ้า เช่น การพบเบนซินเมื่อเขาอายุได้ 34 ปี

ไมเคิล ฟาราเดย์ Royal Institution
ฟาราเดย์ (ยืนอยู่หลังโต๊ะ) กำลังบรรยายต่อสาธารณชนที่สถาบัน Royal Institution ในปี 1856

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1840 สุขภาพของเขาแย่ลง จึงทำวิจัยได้น้อยลงตามไปด้วย กระทั่งวันที่ 25 สิงหาคม 1867 “ไมเคิล ฟาราเดย์” เสียชีวิตลงในวัย 75 ปี ศพของเขาถูกนำไปฝังที่ไฮเกตทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Michael Faraday (1791-1867). BBC. Online. สืบค้นจาก http://www.bbc.co.uk/history/historic_figures/faraday_michael.shtml. (เข้าถึงวันที่ 17 ก.พ. 63).

จอร์จ จอห์นสัน. วัลลี สุวจิตตานนท์ แปล. วิทยาศาสตร์อัจฉริยะ 10 การทดลองที่แสนมหัศจรรย์ The Ten Most Beautiful Experiments. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2555.

สุทัศน์ ยกส้าน. สุดยอดนักฟิสิกส์โลก. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2554.


ปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 16 กันยายน 2566