ย้อนดู ที่มาพระประธานวัดราชประดิษฐ ทำไมเป็น “พระพุทธสิหังคปฏิมากร”

พระพุทธสิหังคปฏิมากร
พระพุทธสิหังคปฏิมากร พระประธานของ วัดราชประดิษฐ

“พระพุทธสิหังคปฏิมากร” พระประธานของวัดราชประดิษฐ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทรงหล่อจำลองจาก “พระพุทธสิหิงค์” ที่เดิมทรงมีพระราชประสงค์จะเชิญมาเป็นพระประธานของวัด

หากมีเหตุให้เปลี่ยนพระราชหฤทัย 

พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของไทย พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 กล่าวว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จไปช่วยเชียงใหม่รบพม่า “เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ถวายพระพุทธรูปสิหิงค์ เป็นพระศักดิ์สิทธิ์สำหรับเมืองเชียงใหม่ลงมา” และประดิษฐานอยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคล (ปัจจุบัน คือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธสิหิงค์อย่างยิ่ง มีพระราชประสงค์จะเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาเป็นพระประธานของวัดราชประดิษฐ วัดที่ทรงสร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อให้เป็น “ที่มั่น” ของคณะสงฆ์ธรรมยุต

แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า พระพุทธสิหิงค์เคยประดิษฐานในพระราชวังเป็นที่สูงศักดิ์อยู่แล้วไม่ควรเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัด จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อจำลองพระพุทธสิหิงค์ขยายขนาดใหญ่กว่าองค์จริงถวายพระนามว่า “พระพุทธสิหังคปฏิมากร” เชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานของวัดราชประดิษฐ

หาก พระพุทธสิหังคปฏิมากร และพระพุทธสิหิงค์ ก็มีความเหมือนที่แตกต่างกันอยู่

พระครูวินัยธร อารยพงศ์ อารยธมฺโม แห่งวัดราชประดิษฐ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงหล่อจำลองพระพุทธสิหังคปฏิมากร ได้ไม่ผิดเพี้ยนไปจากพระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่เป็นต้นแบบ ด้วยทรงเอาพระราชหฤทัยใส่แม้กระทั่งการปรับปรุงรายละเอียดเล็กน้อย ทว่าในการหล่อจำลองมีการปรับแก้พุทธลักษณะจากต้นแบบ (พระพุทธสิหิงค์) ให้พระที่หล่อใหม่ (พระพุทธสิหังคปฏิมากร) คมชัดแลดูมีมิติยิ่งขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่าง เช่น

  • การเพิ่มบัวกระจังใบเทศรองรับพระรัศมีเปลวให้มีความคมชัดและทำช่องสำหรับฝังอัญมณี
  • การนำระบบขันเกลียวมาใช้ยึดพระรัศมีกับพระเศียรให้มั่นคงยิ่งขึ้น
  • พระเกตุมาลาดูกลมกลืนกับพระเศียร ขณะที่พระพุทธสิหิงค์จะเรียวขึ้นเป็นกระพุ่ม อาจเป็นการปรับให้ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปธรรมยุตที่ไม่นิยมท่าพระเกตุมาลา
  • พระพักตร์ดูเรียวกว่าพระพุทธสิหิงค์ซึ่งมีพระพักตร์ค่อนข้างแป้น
  • พระวรกายแลดูผึ่งผายและอวบอิ่มกว่าพระพุทธสิหิงค์ และพระอูรุ (ต้นขา) ชันขึ้นกว่าพระพุทธสิหิงค์
  • เส้นขอบจีวร และสังฆาฏิ คมชัดกว่าพระพุทธสิหิงค์

ฯลฯ

นอกจากนี้ น่าสังเกตว่า พระนามพระพุทธสิหังคปฏิมากร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์จะพ้องเสียงกับพระนามของ “พระพุทธสิหิงค์” ดังที่สิหิงคนิทาน อธิบายว่าเพราะ “มีลักษณะท่าทางเหมือนราชสีห์ จึงเรียกชื่อว่า พระสิหิงค อีกนัยหนึ่งลักษณะท่าทางของราชสีห์เหมือนลักษณะ ท่าทางของพระผู้มีพระภาคจึงเรียกว่า สิหิงค” 

แล้ว ยังมีความหมายว่า พระพุทธปฏิมากรอันมีพระวรกายดุจราชสีห์ (สีห+อังค คือ สิหิงค) ซึ่งเป็น 1 ใน 32 ของมหาปุริสลักขณะ ลำดับที่ 17 ของพระพุทธองค์ที่กล่าวไว้ในพระปฐมสมโพธิกถา ของนิกายเถรวาท คือ “สีหปุพฺพฑฺฒกาโย ส่วนพระวรกายเบื้องหน้าดั่งกึ่งกายเบื้องหน้าแห่งราชสีห์” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก พิชญา สุ่มจินดา. ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา. จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสวันพระบรมราชสมภพครอบรอบ 208 ปี (วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555) และคล้ายวันสวรรคต (วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2567