ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ในประเทศไทยมีวัดที่ใช้คำว่า “สถิตมหาสีมาราม” เพียงไม่กี่แห่ง เท่าที่ทราบคือ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ทำไมวัดทั้งสองจึงใช้ “สถิตมหาสีมาราม” ระหว่าง “มหาสีมา” กับ “สีมา” ที่ต่อท้ายชื่อวัดอื่นต่างกันอย่างไร
เริ่มจากคำว่า “สีมา” ก่อน พจนานุกรม ฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายไว้ดังนี้ 1. เขต, แดน 2. เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ มักทำด้วยแผ่นหินหรือหลักหินเป็นต้น เรียกว่า ใบพัทธสีมา, ใบสีมา หรือ ใบเสมา ก็ว่า
ส่วนความเป็นมาการผูก “พัทธสีมา” นั้น พิทยา บุนนาค นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีมา อธิบายว่า เกิดขึ้นจากพระเจ้าพิมพิสารทูลพระพุทธเจ้าว่า พระสงฆ์ควรกำหนดวันประชุมพร้อมเพรียงกัน เพื่อความสามัคคีในหมู่คณะ จึงทรงกำหนดพื้นที่เขตในการทำสังฆกรรมโดยสงฆ์ เรียกว่า “พัธสีมา” ด้วยการ “สมมติสีมา” คือ การตกลงกำหนดขอบเขตในการทำสังฆกรรมให้เป็นรูปธรรม โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า “นิมิต” (คือ เครื่องหมาย ต่อมาได้พัฒนาเป็นใบสีมา)
ในยุคแรกๆ นิมิตใช้ธรรมชาติเป็นตัวกำหนด ต่อมาจึงทรงกำหนดเขตสีมาไม่ให้กว้างเกินกว่า 3 โยชน์ และการกำหนดกฎเกณฑ์ภายหลังก็ซับซ้อนขึ้น จนกระทั่งภายหลังสงฆ์ทั้งหลายได้กำหนดเขตพัทธสีมาเองให้เล็กลง เพื่อความสะดวกในการประกอบสังฆกรรม
ต่อมามีการกำหนดพัทธสีมาเขตใหญ่ ไว้ในพัทธสีมาเขตย่อย เรียกว่า “ขัณฑสีมา” ส่วนเขตใหญ่ที่ขัณฑสีมาสอดไส้อยู่ เรียกว่า “มหาสีมา” และเพื่อไม่ให้สีมาทั้ง 2 “ระคนกัน” จึงต้องกำหนดแนวกันชนระหว่างเขตทั้ง 2 เรียกว่า “สีมันตริก” ดังนั้น บรรดา “สีมาคู่” ที่พบในประเทศไทยและกัมพูชา สีมาแผ่นใน คือ นิมิตกำหนดเขตขัณฑสีมา ส่วนสีมาแผ่นนอกเป็นนิมิตกำหนดเขตมหาสีมา และช่องว่างระหว่างสีมาทั้ง 2 เรียกว่า สีมันตริก
ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” ท้ายนามวัดราชประดิษฐฯ บอกถึงสีมาเขตของพระอารามแห่งนี้ว่า “มหาสีมา” ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ผูกขึ้นเมื่อปี 2408 โดยขุดหลุมฝังแนวเขตครอบคลุมทั้งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส จนเกือบทั่วทั้งพระอาราม
ลักษณะของสีมาเขต หรือ “นิมิต” ของวัดราชประดิษฐฯ เป็น “เสามีมา” ทำจาก “หินครก” หรือ “หินแกรนิต” จำนวน 8 หลัก มียอดเป็นสีมาทรงเครื่องตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 บนระนาบเสาจารึกเป็นอักษรขอม ภาษาบาลี และภาษาไทย ทรงเรียกว่า “นิมิตรมหาพัทธสีมา” เพื่อกำหนดเขตวิสุงคามสีมาของวัดราชประดิษฐฯ ให้เป็นส่วนตัดขาดจากพระราชอาณาเขตถวายเฉพาะคณะสงฆ์ธรรมยุตที่จะมาอาศัยในวัดเท่านั้น ดังคำโคลงจารึกว่า
วัดราชประดิษฐฯ นี้ เป็นของ
สงฆ์เหล่าธรรมยุติครอง จึ่งได้
สงฆ์เหล่าอื่นอย่าปอง มาอยู่ เลยนา
สมเด็จมกุฏราชไท้ สั่งไว้แม่นยำฯ
การผูกมหาสีมาของวัดราชประดิษฐฯ เริ่มด้วยการ “ทักนิมิต” คือ ให้พระสงฆ์ยืนสวดผูกสีมาประจำหลุมนิมิตแต่ละหลัก โดยทักนิมิตตั้งแต่ด้านทิศตะวันออกเรื่อยไปจนครบทั้ง 8 ทิศ เพื่อสมมติให้นิมิตทั้งหมดเป็น “นิมิตรมหาพัทธสีมา” ของวัด
นอกจากนี้ยังมีเสาอีก 2 ต้นวางอยู่ที่ศูนย์กลางของวัดประกบกันจนเป็นเสาเดียว บนยอดสร้างเป็นบุษบกศิลาโปร่งเปิดไว้ทั้ง 4 ทิศ สำหรับเป็นที่สังเกตการณ์ทักนิมิตตามจารึกบนเสา และคงมีหน้าที่เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างเขตพุทธาวาสกับสังฆาวาสไปในตัว จารึกบนเสาสีมากลางของวัดแสดงข้อพึงปฏิบัติในการทำสังฆกรรมของหมู่สงฆ์ในวัด ซึ่งอิงอยู่กับการผูกพัทธสีมาแบบนี้ไว้ว่า
พัทธสีมาวัดนี้ รวบรัด
ผูกรอบครอบทั้งวัด หมดสิ้น
เสานิมิตรแสดงชัด ทั้งแปด ทิศนา
มีเขตรตัดเป็นชิ้น นอกข้างบูรพาฯ
… …
สังฆกรรมทำได้ทั่ว ทั้งวัด นี้นา
แต่ว่าจำประฎิบัติ ถี่ถ้วน
ชุมนุมภิกษุบรรพสัษย์ ให้หมด เจียวนา
ทวารทั่วทุกทิศล้วน ปิดแล้วจึงกะ(ทำ)ฯ
คำโคลงจารึกข้างต้นยังแสดงให้เห็นว่า การผูกมหาสีมาวัดราชประดิษฐฯ ได้ดำเนินตามรอยครั้งพุทธกาลว่า การทำสังฆกรรมของสงฆ์ในเขตพัทธสีมาเป็นเรื่องที่ “ต้องกระทำ” และ “โดยพร้อมเพรียงกัน” ดังเป็นที่ทราบกันดีในหมู่สงฆ์ของวัดว่า เวลาทำสังฆกรรมต้องลง “ให้หมด เจียวนา” แถมยังต้องปิดประตูวัด มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดก้าวล่วงเข้ามาในพัทธสีมาด้วย
พิทยา เคยกล่าวไว้ว่า สีมาเขตวัดราชประดิษฐฯ ถือเป็นสีมาเขตที่สมบูรณ์แบบที่สุดในพระราชอาณาจักร ทั้งที่มีมาในอดีตและปัจจุบัน และแสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ของรัชกาลที่ 4 ในการกลับไปยึดแบบธรรมเนียมดั้งเดิมครั้งพุทธกาลที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก กำหนดโดยสงฆ์ มีหลักเขตหรือนิมิต คือ เสาศิลาล้อมไว้ทุกทิศกว้างยาวไม่เกิน 3 โยชน์
ส่วน วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี 2412) ที่ใช้ “สถิตยมหาสีมาราม” ต่อท้ายชื่อเช่นกันนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า “เมื่อสร้างวัดราชบพิธ เจริญรอยวัดราชประดิษฐหมดทุกอย่าง ตบกระทั่งทำมหาสีมาและชื่อวัดให้คล้ายกัน”
อ่านเพิ่มเติม :
- ไหกระเทียม ถมพื้นวัดราชประดิษฐฯ รัชกาลที่ 4 รับสั่งให้บอกบุญราษฎร
- วัดราชประดิษฐฯ กับปริศนาสร้อยชื่อ ที่แม้แต่ “กรมดำรง” ยังยอมแพ้
- พระคาถามงคลอันวิเศษ ณ พลับพลาเปลื้องเครื่อง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
พิชญา สุ่มจินดา. ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา. จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสวันพระบรมราชสมภพครบรอบ 208 ปี (วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555) และคล้ายวันสวรรคต (วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 2555.
ประสิทธิ์ ขันธีวิทย์. “มหาสีมา” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 10 จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. 2542.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2567