เกิดอะไรกับ “ไหกระเทียม” เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงรับสั่งใช้ถมพื้น วัดราชประดิษฐ

หลุมขุด ใต้ฐานพระวิหาร วัดราชประดิษฐ พบเศษอิฐ ตุ่มสามโคก ไหกระเทียม
หลุมขุดทดสอบใต้ฐานพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ พ.ศ. 2554 พบเศษอิฐ, ตุ่มสามโคก และไหกระเทียม เรียงซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ (ภาพจากหนังสือราชประดิษฐพิพิธทรรศนา)

ความรู้หนึ่งของผู้คนสมัยโบราณที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ คือการใช้ซุงต้นใหญ่ปูเป็นฐานรองรับน้ำหนักอาคาร แต่นอกจากซุงแล้ว ในอดีตยังเคยใช้วัสดุอื่นๆ อีกด้วย เช่น ไหกระเทียม, ตุ่มสามโคก ฯลฯ โดยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศบอกบุญราษฎรว่า ราชการต้องการ “ไหกระเทียม” ที่ทำจากดินเมืองจีนมาถมพื้นที่วัดราชประดิษฐ

ทางการยินดีรับไหกระเทียมที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ หรือไหกระเทียมที่ชำรุด เพื่อนำไปถมพื้นวัดราชประดิษฐ ผู้ใดมีไหกระเทียมที่ทำจากดินเมืองจีนที่กินกระเทียมดองหมดแล้ว แทนที่จะใช้ใส่กะปิ, น้ำปลา, ปลาร้า ฯลฯ สามารถนำไหกระเทียมดังกล่าวมาร่วมทำบุญ หรือนำมาขายให้ในทางการก็ได้ หรือจะนำมาแลกบัตรเข้าชมละครที่จะจัดขึ้นก็ได้

หนังสือ ป้าป้อนหลาน หม่อมเจ้าหญิง ดวงจิตร จิตรพงศ์ ตอน “เรื่องวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” ลงประกาศไว้ดังนี้

“ประกาศแผ่พระราชกุศล บอกข้าวบิณฑ์ไหกระเทียมถมพื้นวัดราชประดิษฐ์

ฎีกาแผ่กุศลมาถึงท่านทั้งหลายทั้งปวงผู้มีศรัทธา วัดราชประดิษฐ์พระอารามหลวงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นใต้จังหวัดสนามทหารตึกดินเก่านั้น มีพระราชประสงค์จะถมพื้นฐานนอกพระวิหาร พระเจดีย์ให้สูงกว่าพื้นดินเดิม 4 ศอกเศษ ให้งามเหมือนพระอารามในแขวงเมืองกรุงเก่า แต่ครั้นจะถมด้วยดินและทราย กลัวจะหนักรากเซทรุดไป

จึงต้องพระราชประสงค์ไหกระเทียม ที่เป็นดินมาจากเมืองจีนจะเอามาถมพ้นให้เบาราก เพราะดินไหกระเทียมแข็งไม่ผุเปื่อย เหมือนดินตุ่ม ใครมีไหกระเทียมแตกร้าวอยู่ก็ดี ดีอยู่ก็ดี ถ้ามีศรัทธาก็ให้เอามาทูลเกล้าถวายเพิ่มพระราชกุศล ฤาถ้าจะขายก็จะพระราชทานราคาให้อันละ 2 อัฐ 3 อัฐ การ

ประกาศนี้เป็นบอกข้าวบิณฑ์เรี่ยไรไหกระเทียมอย่างเดียว ไม่เรี่ยไรเงินทองอะไร กําหนดจะมีละครรับข้าวบิณฑ์ไหกระเทียมวันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์เดือนอ้ายขึ้นเก้าค่ำ สิบค่ำ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ผู้จะมาดูละครให้หาไหกระเทียมมา ถ้าหาไหกระเทียมไม่ได้ก็ให้หาไหเล็กไหน้อย ขวด ถ้ำชา กระถางแตกๆ เสียๆ บรรดาที่เป็นของมาแต่เมืองจีน ฤาตุ่มเล็กๆ ที่ไม่แตกร้าว เป็นเครื่องถมที่ได้ มาส่ง แล้วจึงจะได้ดูละคร

จะเอาไหกระเทียมเรียบเรียงถมที่ชานพระวิหารพระเจดีย์วัดราชประดิษฐ์ฤาชานกุฏิ นั้นเพื่อให้เบาราก ใครอย่าตื่นลือไปว่าจะฝังเงินฝังทอง เงินทองถึงมีก็ไม่ฝังเลย จะจ้างคนทํางาน การวัดวาอารามรั้ววังบ้านเมือง ถนนหนทางฤาแจกจ่ายพระราชวงศานุวงศ์และผู้มีความชอบที่ควรจะได้รับพระราชทาน และบําเพ็ญพระราชกุศลแจกจ่ายแก่สมณพราหมณาจารย์คนชราพิการต่างๆ ดีกว่า

ไม่ต้องกลัวศึกเสือเหนือใต้อะไร ไม่ได้คิดซ่อนเร้นใคร จะเอามาฝังเสียทําไม อย่าลือไปผิดๆ แล้วคิดขุดวัดให้ยับเยินเปล่าเลย ทําบุญจริงๆ ไม่ ว่าเท็จไว้ดอก ใครไม่เชื่อเวลาถมไหกระเทียมก็มาด้อมมองดูเอาเถิด คงจะเห็นแต่ไหเปล่าๆ ทั้งนั้น ไม่มีเงินทองเลย ถึงทํางานการก็ไม่ได้ปิดบังอะไร คนที่ทําการก็ล้วนแต่ลูกจ้างไม่ใช่ คนหลวงไม่เชื่อก็สืบถามเอาเถิด” [จัดย่อหน้า และเน้นคำใหม่ โดยผู้เขียน]

อ่านแล้วนึกถึงอดีตว่าคนไทยคงกินกระเทียมดองจากกินกันมากอยู่ที่เดียว ถึงได้มีไหกระเทียมมากพอที่จะเรี่ยไรมาถมพื้น, นึกถึงวิธีการรีไซเคิลในปัจจุบัน และแน่นอนคือพระอัจฉริยภาพโดยแท้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ไหกระเทียม หรือวิธีการที่จะได้มาซึ่งไหกระเทียม

แต่ความนี้ก็สร้างความสงสัยว่ามีการใช้ “ไหกระเทียม” จริงหรือ

ตอนหนึ่ง ในหนังสือราชประดิษฐพิพิธทรรศนา พิชญา สุ่มจินดา เขียนถึงการติดตามความจริงเรื่องไหกระเทียม เมื่อมีการบูรณะซ่อมแซมวัดแต่ละครั้ง โดยใน พ.ศ. 2501 จึงมีการตรวจดูเรื่องนี้ก็ไม่พบไหกระเทียม ต่อมา พ.ศ. 2541 มีการขุดซ่อมสายล่อฟ้าของปาสาณเจดีย์ ก็พบแต่ “ตุ่มสามโคก” จน พ.ศ. 2554 มีการขุดทดสอบคราวบูรณะพระวิหารหลวงครั้งใหญ่ จึงพบว่าใต้ฐานพระวิหารหลวงมี “ไหกระเทียม” อยู่จริง

“ใต้ฐานพระวิหารชั้นบนมีการใช้เศษอิฐวางอักกันอย่างแน่นหนา ถัดลงไปอีกประมาณ 1.30 เมตร จึงเป็นชั้นของ ตุ่มสามโคก ขนาดกลางๆ วางเรียงติดกันไป และชั้นดินต่อไปต้องขุดลึกลงไปร่วม 2 เมตร จึงพบที่ซ่อนตัวกว่าศตวรรษครึ่งของ ไหกระเทียม ปริศนา ไหกระเทียมที่พบมีสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำอัดทรายไว้แน่น…”

นี่ก็เป็นวิธีอันชาญฉลาดของคนโบราณ ในวันที่เทคโนโลยีทางวิศวกรรมยังไม่ก้าวหน้านัก แต่สามารถจัดการได้อย่างยอดเยี่ยม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หม่อมเจ้าหญิง ดวงจิตร จิตรพงศ์. “เรื่องวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม”, ป้าป้อนหลาน, โรงพิมพ์แห่งจุฬากรณ์มหาวิทยาลัย กันยายน 2541

พิชญา สุ่มจินดา. ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา, วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ตุลาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2563