พระวิหารวัดราชประดิษฐ แหล่งรวมพระพุทธรูป “จำลอง” องค์สำคัญ สมัยรัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,098 บาท ซื้อที่ดิน 2 ไร่ 298 ตารางวา บริเวณทิศเหนือของพระราชวังสราญรมย์ ซึ่งเคยเป็นสวนกาแฟในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อสร้างวัดราชประดิษฐ  ให้เป็น “ที่มั่น” ของคณะสงฆ์ธรรมยุต ด้วยวัดหลวงธรรมยุตส่วนใหญ่เคยเป็นพระอารามหลวงมหานิกายมาก่อน ทรงห่วงใย “ศิษย์หลวงเดิม” หรือบรรดาพระสงฆ์ธรรมยุตที่พระองค์ทรงสอนมาจะไม่มีที่อาศัย

ที่วิหารหลวง วัดราชประดิษฐ จึงเป็นแหล่งรวม “พระพุทธรูปจำลอง” องค์สำคัญ

พระพุทธรูปที่เลือกจำลองนั้น เป็นพระพุทธรูปองค์สําคัญซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อมใสสักการะ เป็นพิเศษ ดังนี้

(องค์หลัง) พระพุทธสิหังคปฏิมากร พระประธารของวัดราชประดิษฐ (องค์หน้า) พระพุทธสิหังคปฏิมากรน้อย ภาพจากราชประดิษฐพิพิธทรรศนา)

พระพุทธสิหังคปฏิมากร  พระประธานของวัดราชประดิษฐ ประดิษฐานภายในบุษบกใหญ่ พระพุทธสิหังคปฏิมากร ทรงหล่อจําลองขนาดใหญ่กว่าองค์จริงจากพระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) สมเด็จพระบวรราช เจ้ามหาสุรสิงหนาททรงเชิญมาจากเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2338

พระพุทธสิหังคปฏิมากรน้อย พระประธานองค์น้อย ประดิษฐานตรงหน้าพระประธานด้วยกัน ภายในบุษบกใหญ่ มีขนาดองค์ย่อมกว่าประมาณ 1 ใน 3  ไม่พบหลักประวัติการสร้าง แต่ภาพถ่ายเก่าในสมัยรัชกลที่ 5 พระพุทธรูปองค์นี้ตั้งอยู่หน้า พระพุทธสิหังคปฏิมากร (องค์ใหญ่) เคียงข้างด้วยพระอัครสาวกนั่งพับเพียบ คือ พระสารีบุตรทางด้านขวาและพระโมคคัลลานะทางด้านชาย ของพระประธาน

เดิมนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาประดิษฐาน ด้วยทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใส แต่ทรงพระราชปรารภว่าพระพุทธสิหิงค์เคยประดิษฐานในพระราชวังเป็นที่สูงศักดิ์ อยู่แล้วไม่ควรเชิญมาประดิษฐานที่วัด จึงมีโปรดเกล้าฯ ให้ช่างจำลองมาประดิษฐานแทน แล้วถวายพระนามว่า “พระพุทธสิหังคปฏิมากร” โดยที่ใต้พระพุทธอาสน์ของพระพุทธสิหังคปฏิมากรยังเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ด้านหลังพระประธานเป็นบุษบกติดผนัง ประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ เรียงจากด้านขวาของพระประธาน ได้แก่ พระพุทธชินราชน้อย, พระพุทธชินศรีน้อย และ พระศรีศาสดาน้อย ทั้งหมดประดิษฐานในบุษบกน้อย ติดกับผนังด้านหลังพระประธาน

รัชกาลที่ 4 ทรงหล่อ พระพุทธชินราชน้อย พ.ศ. 2400, พระศรีศาสดาน้อย พ.ศ. 2406, พระพุทธชินราชน้อย พ.ศ. 2409 สุดท้ายได้เชิญมาประดิษฐานร่วมกันในพระวิหารวัดราชประดิษฐ

การหล่อจำลองพระพุทธรูปในหมวดพระพุทธชินราชของพระองค์ถือได้ว่า เป็นทั้งการฟื้นฟูความสำคัญของพระพุทธรูปเหล่านี้ขึ้นใหม่ และทั้งเปลี่ยนแปลงโลกทรรศน์จากเดิมที่เคยจำลองพระพุทธรูปจากความสำคัญ และความศักดิ์สิทธิ์มาเริ่มให้ความสำคัญกับ “ความงาม”

ดังที่ทรงสรรเสริญว่า “พระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีสองพระองค์นั้น งามแหลมแก่ตามากกว่าพระพุทธรูปใหญ่น้อยบันดามีในแผ่นดินสยามทั้งปากใต้ฝ่ายเหนือ แลตลอดการนานมาถึง 900 ปีมีผู้เลียนแบบปั้นเอาอย่างไปมาก มายก็หลายตำบล จะมีพระพุทธรูปที่คนเป็นอันมากดูเห็นว่าเป็นดีเป็นงามกว่าพระพุทธชินราช และพระพุทธชินศรีสององค์นี้ไปไม่มี”

นอกจากนี้ที่แท่นแว่นฟ้าด้านหน้าบุษบกพระประธานเป็นที่ตั้งของ พระนิรันตราย ในครอบแก้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหล่อจําลองจากพระนิรันตรายในพระบรมมหาราชวังเพิ่มเรือนแก้วประกอบ เพื่อพระราชทานยังพระอารามหลวงธรรมยุต 18 พระอาราม พระนิรันตรายองค์ที่ประดิษฐานอยู่นี้เป็นองค์จําลอง ส่วนองค์จริงที่พระราชทาน มาทางวัดนําไปเก็บรักษาไว้เพื่อความปลอดภัย


ข้อมูลจาก :

พิชญา สุ่มจินดา. ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา, วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ตุลาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2563