เทคโนโลยีและระบบไพร่ สมัย “พระเจ้าท้ายสระ” ดีกว่า “สมัยพระนารายณ์” จริงหรือ?

พระนารายณ์ พระเจ้าท้ายสระ

สมัย “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” หรือ “พระนารายณ์” เป็นอีกรัชกาลหนึ่งที่มีชาวต่างชาติเข้ามาคบค้าสมาคมกับอยุธยา อีกทั้งยังเข้ามามีบทบาทสำคัญด้านการเมืองเป็นอย่างมาก จึงทำให้หลายคนมองว่าเป็นยุคสมัยแห่ง “วิทยาการ” และ “เทคโนโลยี” เนื่องจากได้รับอิทธิพลหรือแนวความคิดมาจากตะวันตก แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงในสมัย “พระเจ้าท้ายสระ” ซึ่งทรงครองราชย์ภายหลังพระนารายณ์ราว 20 ปี กลับมี “เทคโนโลยี” และ “ระบบไพร่” ที่ดีและทันสมัยกว่า

เรื่องราวนี้ได้รับการเปิดเผยจากนักวิชาการอย่าง กำพล จำปาพันธ์ เจ้าของผลงานล่าสุด “พระเจ้าท้ายสระฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต การเมืองการค้าอยุธยาก่อนเสียกรุงฯ” (สำนักพิมพ์มติชน) ที่ได้มาวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีและระบบไพร่ใน 2 ยุคสมัย นั่นคือ สมัย “พระนารายณ์” และ “พระเจ้าท้ายสระ” ให้ทุกคนฟังไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

“…มันมีหลายอย่างที่เป็นสิ่งใหม่ ที่พระเจ้าท้ายสระทำต่างจากรุ่นก่อนหน้า อันหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลย คือเทคโนโลยี เรื่องเทคโนโลยี ผมฟันธงเลยว่ารุ่นพระเจ้าท้ายสระ เทคโนโลยีสูงกว่ารุ่นพระนารายณ์อีก… เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่คุณจะต่อกำปั่นตะวันตก คุณจะสร้างเรือเพื่อบรรทุกช้างไปขายให้กับอังกฤษ ที่อินเดียใต้ ที่ผ่านทางเมืองมะริด มันไม่ใช่เรื่องง่าย…

รุ่นพระนารายณ์ยังใช้สำเภา ซึ่งสำเภามันไม่มีประสิทธิภาพเท่ากำปั่น แต่คนรุ่นพระนารายณ์ยังอคติกับกำปั่นตะวันตก เพราะว่าพวกนี้ใช้มายึดมายึดเมืองต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่รุ่นพระเจ้าท้ายสระ สำเภาล้าหลังแล้ว…เราต่อกำปั่นตะวันตกดีกว่า อันนี้คือเรื่องหนึ่ง”

ก่อนจะพูดประเด็น “ระบบไพร่” ในสมัยพระเจ้าท้ายสระว่าดีกว่าสมัยก่อนอย่างไร 

เรื่องที่ 2 คือระบบไพร่ เป็นเรื่องใหญ่มาก การเกณฑ์แรงงานเพื่อไปขุดคลองเป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็เป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ยาก สาหัสสากรรจ์ให้กับคนชั้นล่างในสมัยอยุธยาแต่ไหนแต่ไร แต่พอรุ่นนี้ (พระเจ้าท้ายสระ-ผู้เขียน) เขามีระบบในการผ่อนปรนค่อนข้างมากแล้ว 

…คุณไม่ต้องมาอยู่ 6 เดือนเหมือนเมื่อก่อน ขุดเท่านั้นวา เท่านี้วา เสร็จแล้วก็กลับบ้าน แต่ละคนปล่อยกลับบ้านไป ไปอยู่กับลูกกับเมีย ไปทำมาหากินของตัวเอง แล้วมันมีประสิทธิภาพ มันขุดคลองได้เยอะกว่า การที่เขาผ่อนปรนระบบตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลงานออกมาได้ด้อยกว่าเดิม ไม่ใช่ มันกลับทำอะไรที่ยุคก่อนหน้านั้นทำไม่ได้

ตรงคลองมหาชัยเรียกได้ว่านี่ไม่ใช่การขุดคลอง นี่คือการขุดแม่น้ำชัด ๆ ทำได้กว้าง ใหญ่ และลึกกว่า เพื่อที่จะเป็นเส้นทางลัด พอบรรทุกช้างจากอยุธยาลงไป แล้วเขาก็จะไม่ต้องออกอ่าวไทยเหมือนก่อนหน้านั้น เพื่อจะต้องไปเจอคลื่นหรืออะไร  

แล้วเขาตัดจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไปแม่น้ำท่าจีน แล้วเขาก็ไปออกราชบุรี เมืองกาญฯ แล้วก็เมืองมะริด ไปตรงนั้นเลย…

แล้วทีนี้ก่อนหน้านั้น ถ้าคุณต้องออกปากน้ำสมุทรปราการ มันจะทำได้ไม่ทุกฤดูกาล คุณจะต้องเจอลมมรสุม เจออะไรเยอะแยะ ขึ้นกับสภาพอากาศ แต่พอมีคลองมหาชัยเกิดขึ้น คุณสามารถที่จะตัดเข้าไปได้ไม่ว่าฤดูไหน เพราะฉะนั้น คุณก็จะค้าขายได้ตลอดปี 

นี่คือระบบใหม่ที่เกิดขึ้น…ซึ่งอะไรแบบนี้ไม่มีทางที่เกิดขึ้นก่อนหน้า เพราะว่าอยุธยาจะอยู่กับอคติที่มีต่อเทคโนโลยีตะวันตกบ้าง จะอยู่กับเรื่องของการที่จะต้องพาคนมาขุดคลองอยู่ 6 เดือน 8 เดือนบ้าง มันไม่ได้มีการใช้คนตามความสามารถ” กำพลกล่าว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม 2567