ดราม่าศาสนายุค “พระเจ้าท้ายสระ” เมื่อ “นายเต็ง” นับถือคริสต์ แต่ถูกบังคับให้บวชพระสงฆ์

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ขุนหลวง ท้ายสระ พระเจ้าท้ายสระ ละครพรหมลิขิต
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ในละครพรหมลิขิต (ภาพจาก Facebook: Ch3Thailand)

นายเต็ง หนุ่มอยุธยาสมัย “พระเจ้าท้ายสระ” ผู้นับถือศาสนาคริสต์ แต่ถูก “เจ้าฟ้าพร” ซึ่งเป็นวังหน้า บังคับให้ใช้เท้าเหยียบไม้กางเขน และต้องบวชเป็นพระภิกษุ

หลังจากความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสไม่สู้ดีนักในช่วงปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พอมาถึงสมัย พระเจ้าท้ายสระ ก็มีความพยายามฟื้นสัมพันธ์ระหว่างกันอีกครั้ง ฝรั่งเศสได้กลับเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในอยุธยา แต่ดูเหมือนว่าบาทหลวงฝรั่งเศสกับชนชั้นปกครองอยุธยายังมีเรื่องบาดหมางกันอยู่เรื่อยๆ หนึ่งในนั้น คือเรื่องราวของ “นายเต็ง”

เรื่อง “นายเต็ง” สังฆราชเตเซียเดอเคราเล เป็นผู้บันทึกไว้ ท่านเล่าว่า มีครอบครัวหนึ่ง ผู้เป็นพ่อถึงแก่กรรม ญาติพี่น้องของฝ่ายพ่อมาเก็บทรัพย์สมบัติไปจนหมด แต่ยังให้ลูกชายที่มีชื่อว่า “เต็ง” อาศัยอยู่ในบ้านนั้นต่อไปได้ ส่วนคนที่เป็นภรรยา หรือแม่ของเด็กชายเต็ง กลับถูกญาติพี่น้องของฝ่ายพ่อไล่ออกจากบ้าน

แม่ของเด็กชายเต็งหมดเนื้อหมดตัว ไร้ที่พึ่ง ไม่มีที่อยู่อาศัย จึงไปขอความช่วยเหลือจาก มงเซนเญอร์หลุยส์ ช็องปียง เดอ ซีเซ่ หรือ สังฆราชแห่งซาบูล ผู้นำของบาทหลวงฝรั่งเศสในอยุธยาช่วงนั้น สังฆราชแห่งซาบูลก็รับนางมาดูแลเท่าที่พอจะทำได้

ไม่นานจากนั้น เด็กชายเต็งเกิดอุบัติเหตุตกจากที่สูง จนขาหักแขนหัก แต่ญาติก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไร กลับไล่เขาออกจากบ้านให้มาอยู่กับแม่ แม่ของเด็กชายเต็งก็ไม่มีเงินที่จะรักษาลูกได้ จึงทำหนังสือยกลูกชายให้สังฆราชแห่งซาบูล เพื่อให้ท่านช่วยดูแลรักษาอาการเจ็บป่วย

สังฆราชแห่งซาบูลได้จัดการรักษานานหลายเดือน แม้เด็กชายเต็งจะหายแล้ว แต่ขาและแขนก็ยังไม่มีกำลัง ท่านสังฆราชจึงไปทูลขอตัวเด็กชายเต็งต่อพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งพระองค์ก็พระราชทานให้ตามที่ขอ

เมื่อเด็กชายเต็งอายุได้ 8 ขวบ ก็เริ่มศึกษาด้านศาสนาที่โรงเรียนของชาวคริสต์ แล้วจึงเข้ารีตโดยสมัครใจ ร่ำเรียนนานต่อมาถึง 10 ปี กระทั่งอายุได้ประมาณ 18 ปี นายเต็ง จึงบวชเป็นพระในศาสนาคริสต์ แต่เรื่องนี้กลับทำให้บรรดาญาติของนายเต็งไม่พอใจ!

ญาตินายเต็งทำเรื่องร้องเรียนไปถึง วังหน้า หรือก็คือ “เจ้าฟ้าพร” พระราชอนุชาในพระเจ้าท้ายสระ ให้สังฆราชแห่งซาบูลส่งตัวนายเต็งคืนให้ญาติ วังหน้าพิจารณาแล้วก็ให้เป็นไปตามคำร้องขอของฝ่ายญาติ รับสั่งให้เจ้าหน้าที่มารับตัวนายเต็งไปคืนญาติ

แต่ปรากฏว่า นายเต็งไม่ยินยอม และไปเข้าเฝ้าวังหน้า เมื่อพระองค์เห็นนายเต็งแต่งกายอย่างนักบวชของศาสนาคริสต์ก็กริ้วมาก รับสั่งให้ถอดชุดนั้นออก แล้วให้แต่งตัวอย่างไทย จากนั้นจึงรับสั่งให้เจ้าหน้าที่มาคุมตัวนายเต็งไว้

สองสามวันต่อมา วังหน้าก็รับสั่งให้นำตัวนายเต็งมาเข้าเฝ้า ทรงถามว่า นายเต็งไปเข้ารีตรับถือศาสนาคริสต์ด้วยเหตุใด นายเต็งตอบว่า เพราะเห็นว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ดี วังหน้าจึงถามไปอีกว่า พระเป็นเจ้าของเอ็งจะทำให้เอ็งพ้นมือข้าได้หรือ นายเต็งก็ตอบว่า ได้เป็นแน่ เพราะพระเป็นเจ้ามีอำนาจมาก เมื่อได้ยินคำตอบเช่นนั้น วังหน้าจึงสั่งเฆี่ยนนายเต็ง

นายเต็งทนถูกเฆี่ยนได้เพียง 2-3 ทีก็ร้องว่า จะยอมทำตามรับสั่งของวังหน้าทุกประการ ดังนั้น พระองค์จึงรับสั่งให้นายเต็งเอาเท้าขยี้ไม้กางเขน และให้กราบพระพุทธรูปด้วย นายเต็งก็ยอมทำตามพระประสงค์ ต่อมา เมื่อหายจากบาดแผลที่ถูกเฆี่ยน วังหน้าก็บังคับให้นายเต็งบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ โดยต้องทำการบวชตามประเพณีไทยให้ครบถ้วนทุกประการ

แต่จากบันทึกของสังฆราชเตเซียเดอเคราเล ท่านบอกว่า นายเต็ง พูดอยู่เสมอว่าที่ยอมทำตามคำสั่งวังหน้า นั่นก็เป็นเพราะความกลัว แต่ในใจแท้จริงแล้วยังนับถือพระเยซูอยู่เสมอ

เรื่องทั้งหมดนี้ เป็นบันทึกจากฝ่ายบาทหลวงฝรั่งเศส ซึ่งพวกเขามองว่านี่เป็นการกดขี่บีบคั้นคณะบาทหลวง และกีดกันไม่ให้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ในอยุธยา ในขณะที่เอกสารจากฝ่ายไทย ไม่มีกล่าวถึงเรื่องนี้เลย และท้ายสุด นายเต็งทนการกดขี่ไม่ไหว จึงหลบหนีไปโคชินจีน และใช้ชีวิตในชุมชนคริสตังที่นั่น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กำพล จำปาพันธ์. พระเจ้าท้ายสระฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต: การเมืองการค้าอยุธยาก่อนเสียกรุงฯ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566.

ความกดขี่บีบคั้น ว่าด้วยเรื่องไทยกดขี่บีบคั้นคณะบาดหลวงในเมืองไทย เมื่อ ค.ศ. ๑๗๓๐ (พ.ศ. ๒๒๗๓) สังฆราชเตเซียเดอเคราเล เปนผู้แต่ง. ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๗ เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเจ้าเสือแลแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ภาค ๔. พิมพ์ในงานศพ คุณหญิงผลากรนุรักษ (สงวน เกาไศยนันท์) เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ธันวาคม 2566