ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ฝรั่งเศส เป็นชาติหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่หลังเกิดการปฏิบัติ พ.ศ. 2231 “สมเด็จพระเพทราชา” เสด็จขึ้นครองราชย์ โดยมี หลวงสรศักดิ์ ช่วยว่าราชการเรื่องต่างๆ ชะตาชีวิตของชาวฝรั่งเศส รวมทั้ง บาทหลวงฝรั่งเศส ที่เคยมีเสรีในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ เป็นอย่างไร?
กำพล จำปาพันธ์ บอกเล่าไว้ใน Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์ (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า ช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของฝรั่งเศสในอยุธยาดำรงอยู่ในเวลาอันสั้น เมื่อเกิดการปฏิวัติปราบดาภิเษกโดยกลุ่ม พระเพทราชา และ หลวงสรศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2231 ข้อตกลงเรื่องการค้าและการทหารถูกยกเลิกไป กองทหารฝรั่งเศสที่ป้อมเมืองบางกอกถูกบังคับให้ออกจากอยุธยา ถึงขั้นทำสงครามเพื่อขับไล่กองทหารส่วนนี้
แต่แม้กองทหารฝรั่งเศสจะเหลือจำนวนพลน้อยลงกว่าเมื่อแรกเข้ามามากก็ตาม ผลการสู้รบอย่างยืดเยื้อก็ไม่มีทีท่าจะยุติลง สุดท้าย สมเด็จพระเพทราชา ที่เพิ่งขึ้นครองราชสมบัติก็แสดงพระเมตตา โดยการปล่อยตัวชาวฝรั่งเศสที่ถูกจับกุมระหว่างทรงยึดอำนาจ เปิดการเจรจายุติสงครามกับกองทหารฝรั่งเศสที่ป้อมบางกอก และพระราชทานเรือให้กองทหารฝรั่งเศสกลับไปประเทศ
หลัง พ.ศ. 2231 การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ยังอนุญาตให้ทำได้อย่างเสรีเหมือนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คณะบาทหลวงฝรั่งเศส จึงยังคงอยู่มาถึงเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนมากเหมือนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็ตาม นั่นก็เพราะว่า คณะบาทหลวงได้เคยแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า นอกจากเผยแผ่ศาสนา พวกเขายังมีบทบาทด้านอื่น เช่น การนำเข้าเทคโนโลยี การแพทย์และการสาธารณสุข ที่บาทหลวงมีบทบาทอย่างมากต่อการรักษาโรคระบาดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และในสมัยสมเด็จพระเพทราชา
แม้ทางการจะอนุญาตให้บาทหลวงเผยแผ่ศาสนาได้อย่างเสรี แต่ก็ถูกจำกัดด้วยวัฒนธรรมและระบบเจ้าขุนมูลนาย เมื่อไม่สามารถทำให้ไพร่หลุดพ้นจากการถูกเกณฑ์แรงงานได้ การเข้ารีตจึงไม่มีความหมาย ทั้งยังเพิ่มภาระให้คนเข้ารีตอีกด้วย แต่การบวชเป็นพระในพุทธศาสนานั้นตรงกันข้าม บุคคลนั้นจะได้รับอนุญาตให้ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน จึงมีผู้บวชเป็นพระจำนวนมากในสมัยอยุธยา
การเผยแผ่ศาสนาของคณะบาทหลวงคริสต์ นับตั้งแต่สมัย สมเด็จพระเพทราชา เป็นต้นมา จึงจำกัดวงอยู่แต่ในหมู่ชุมชนต่างชาติ ที่เป็นประชากรลูกผสมระหว่างชาวยุโรปกับชนพื้นเมือง และชาวเวียดนาม เขมร ลาว จีน มอญ ที่อพยพเข้ามา
อ่านเพิ่มเติม :
- เล่าเรื่อง พระเพทราชา ได้ราชสมบัติแบบตกกระไดพลอยโจน?
- นาทีชีวิต “ท้าวทองกีบม้า” หลังพระเพทราชายึดอำนาจ นางหาเลี้ยงชีพ-เอาตัวรอดมาอย่างไร?
- “หลวงสรศักดิ์” เหตุใดเมื่อขึ้นครองราชย์ ผู้คนถึงเรียกขานว่า “พระเจ้าเสือ”
อ้างอิง :
กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. (2566). Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2566