ชิน โสภณพนิช ลูกจ้างเรือขนส่งพืชไร่ สู่ผู้สร้างตำนาน “ธนาคารกรุงเทพ”

ชิน โสภรพนิช ธนาคารกรุงเทพ
 (จากซ้าย) โชติ โสภณพนิช, ชาตรี โสภณพนิช, ชิน โสภณพนิช, วิระ รมยะรูป และประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์  ในวันเปิดอาคารสำนักงานใหญ่สีลม (ภาพจาก หนังสือ ชิน โสภณพนิช)

ชิน โสภณพนิช (พ.ศ. 2453-2531) นักธุรกิจผู้ก่อตั้ง ธนาคารกรุงเทพ (ปัจจุบันคือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)) ชินมีชื่อจีนว่า ตั้งเพี๊ยกชิ้ง บิดาชื่อ ตั้งพัน เป็นชาวจีนแต้จิ๋วจากหมู่บ้านซัวอ๋าว ตำบลหับซัว อำเภอเตียเอี้ย มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มารดาชื่อ สุ่น เป็นชาวสวนคนไทย มีภูมิลำเนาอยู่ย่านวัดไทร บางขุนเทียน

กว่าจะเป็น ธนาคารกรุงเทพ ชินก่อสร้างมันขึ้นมาอย่างไร 

หนักเอาเบาสู้

เมื่ออายุประมาณ 4-5 ขวบ บิดาพาชินกลับไปเยี่ยมย่าที่เมืองจีน พร้อมฝากฝังอบรม, เลี้ยงดู และเรียนหนังสือ ซึ่งเป็นธรรมเนียมนิยมที่ครอบครัวจีนโพ้นทะเลปฏิบัติกันในเวลานั้น เพื่อให้ลูกหลานในครอบครัวไม่ขาดจากรากเหง้าเดิม เพราะได้เรียนภาษาจีน โตในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนจีน

เวลา 12 ปี ที่นั่น สำหรับชินไม่ใช่การนั่งเรียนหนังสือสบายๆ แต่ต้องช่วยครอบครัวทำงานต่างๆ  ปลูกผัก ทำนา ฯลฯ หล่อหลอมให้เป็นคนขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ รู้จักทำมาหากิน และทรหดอดทน

ปี 2470 ชินอายุ 17 ปี กลับมาเมืองไทย และเริ่มงานแรกด้วยการเป็นลูกจ้างในเรือรับส่งสินค้าพืชไร่ที่ขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ-อยุธยา ทำอยู่ประมาณ 2-3 เดือน ก็มาเป็นลูกจ้างร้านขายไม้แปรรูปและวัสดุก่อสร้างริมคลองผดุงกรุงเกษม ส่วนกลางคืนก็ไปเรียนภาษาไทยที่ลืมไปจนหมดแล้ว ชินทำงานที่นี่จนเป็นผู้จัดการร้าน หากภายหลังร้านเกิดเพลิงไหม้จึงเลิกกิจการ

เมื่อชินอายุ 26-27 ปี เขาไปทำร้านขายวัสดุก่อสร้าง “เซียมเฮงล้ง” ที่นี่นอกจากจะเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง ยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการร้านอีกด้วย เวลานั้นเซียมเฮงล้งเป็นหนึ่งในร้านค้าวัสดุก่อสร้างชื่อดัง มีเรื่องเล่ากันว่า การก่อสร้างถนนหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า ที่บริษัท คริสเตียนีและนีลเสน (ไทย) จำกัด เป็นผู้รับเหมา ก็ได้มาซื้อวัสดุก่อสร้างทั้งหมดที่เซียมเฮงล้ง

ราวปี 2482 ชิน โสภณพนิช ก้าวขึ้นเป็นเจ้าของกิจการเต็มตัว เขารวบรวมเงินเก็บเช่าตึกแถว 3 ชั้น ใกล้โรงภาพยนตร์พัฒนากร ถนนเจริญกรุง โดยเปิดเป็นร้านค้าที่ขายตั้งแต่วัสดุก่อสร้าง เครื่องเขียน และของเบ็ดเตล็ด ซึ่งเป็นรูปแบบของร้านค้าส่วนใหญ่ยุคนั้น ต่อมาจดทะเบียนเป็น บริษัท เอเชีย จำกัด สินค้าหลักคือ เครื่องเหล็กทุกชนิด

ขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการค้าภายในประเทศออกสู่ภูมิภาค  มีการจัดตั้งบริษัทจังหวัดขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เพื่อรองรับนโยบายของรัฐชินจึงเปิดบริษัทเพิ่มอีก 2 แห่งคือ บริษัทเลขภัณฑ์ขายเครื่องเขียน และบริษัทดีไทยขายเครื่องกระป๋อง โดยบริษัททั้ง 3 ทำทั้งการค้าปลีกและค้าส่งไปพร้อมกัน

ปี 2485 ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 กิจการค้าหลายอย่างชะงักงัน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างจัดเป็นยุทธปัจจัยมีราคาแพงและหาซื้อไม่ค่อยได้ สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน แต่ชินมองเห็นลู่ทางใหม่ๆ เฉพาะอย่างยิ่งคือ การส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าหายากเป็นที่ต้องการ ทำให้สามารถสะสมทุนเพิ่มขึ้น กับธุรกิจค้าทองและแลกเปลี่ยนเงินตราที่เป็นพื้นฐาน ทำให้ชินมีส่วนร่วมในการก่อตั้งธนาคารพาณิชย์

ชิน โสภณพนิช ผู้ก่อตั้ง “ธนาคารกรุงเทพ”

ปลายปี 2487 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติ เพื่อนๆ ชักชวนชินมาร่วมทุนก่อตั้ง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด โดยได้รับอนุมัติดำเนินการในวันที่ 1 ธันวาคม 2487 ด้วยทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท ที่ทำการแรกของธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นตึกแถว 2 ชั้น 2 คูหา เลขที่ 235-237 ถนนราชวงศ์ มุมถนนทรงวาด ปากตรอกอาเนียเก็ง มีพนักงานรุ่นบุกเบิก 23 คน 

คณะกรรมการชุดแรกจำนวน 11 คน ได้แก่ 1. พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) 2. พระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) 3. หลวงรอบรู้กิจ (รอบรู้กิจ ลีลานุช) 4. หลวงบรรณกรโกวิท (บรรณกรโกวิท จักกะพาก) 5. เฉลียว ปทุมรส 6.สวัสดิ์ โสตถิทัต 7. จิตตะเสน ปัญจะ 8. ถวิล มีสมกลิ่น  9. ชิน โสภณพนิช 10. งี่อัน แซ่เจีย 11. ซุยเท้ง แซ่อั๊ง

ช่วงเวลานั้น (พ.ศ. 2485-2488) มีการก่อตั้งธนาคารอื่นๆ ได้แก่ ธนาคารมณฑล จำกัด, ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด และธนาคารกสิกรไทย จำกัด

สิงหาคม 2488 สงครามยุติ กิจการธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบอย่างมาก ธนาคารพาณิชย์ของต่างชาติที่หยุดดำเนินการไปในปี 2485 กลับมาเปิดกิจการใหม่อีกครั้ง และมีการขอเปิดธนาคารพาณิชย์ต่างชาติเพิ่มอีก 2 แห่ง ในปี 2490 คือ ธนาคารสากลพาณิชย์แห่งประเทศจีน และธนาคารภารตะ ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

สำหรับธนาคารกรุงเทพ ผลจากการแข่งขันทำให้ยอดเงินฝาก ณ สิ้นปี 2490 ลดลงอย่างมากเหลือเพียง 19.4 ล้านบาท จากที่ปี 2489 มียอดเงิน 46.8 ล้านบาท นอกจากนี้เงินสดในมือก็ลดลงจาก 29.2 ล้านบาทในตอนครึ่งปี เหลือเพียง 5.1 ล้านบาทในตอนปลายปี

หาก ชิน โสภณพนิช คอมประโดร์ของธนาคารกรุงเทพ ที่กว้างขวางและผูกน้ำใจพ่อค้าและนักธุรกิจจีนในประเทศไทย ทำให้ยอดเงินฝากกลางปี 2491 เพิ่มขึ้นเป็น 28.2 ล้านบาท และ 34.9 ล้านบาท ตอนสิ้นปี 2491

ปี 2492 เกิดสงครามเกาหลี แต่ครั้งนี้สงครามทำให้เกิดความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ และเกิดความต้องการสินค้าต่างๆ จำนวนมาก ในช่วงนี้ ธนาคารกรุงเทพ จึงมีความคิดจะขยายบริการของธนาคารออกสู่ภูมิภาค เพื่อระดมเงินออมสู่ธนาคารให้ได้มากที่สุด

วันที่ 12 พฤษภาคม 2493 ธนาคารกรุงเทพ จึงเปิดสาขาในประเทศแห่งแรกขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายวิระ รมยะรูป เป็นผู้จัดการสาขาคนแรกของธนาคาร

นับแต่นั้นมา ธนาคารกรุงเทพก็เริ่มขยายสาขาออกไปอย่างกว้างขวาง ณ สิ้นปี 2530 ธนาคารกรุงเทพ มีสาขาทั้งหมด 350 แห่ง เป็นสาขาในประเทศ 335 แห่ง และสาขาในต่างประเทศ 15 แห่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สาธิต อุทัยศรี. ชิน โสภณพนิช ในโอกาสเสด็จพระราชทานเพลิงศพ นายชิน โสภณพนิช ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 9 เมษายน 2531.


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม 2567