“ธนาคารแห่งประเทศไทย” เกิดขึ้นเมื่อไหร่? ทำไมตั้งที่วังบางขุนพรหม?

วังบางขุนพรหม ที่ทำการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธนาคารกลาง
วังบางขุนพรหม (ภาพจากข่าวสด https://www.khaosod.co.th/economics/news_375342)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ธนาคารกลาง มีบทบาทในการกำกับดูแลสถาบันการเงินต่างๆ ของไทย มีความพยายามจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2431 สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ไม่สำเร็จ ให้หลังอีกกว่า 5 ทศวรรษ ถึงมาก่อตั้งได้ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป พิบูลสงคราม โดยมี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐาน มีที่ทำการอยู่ ณ วังบางขุนพรหม

ย้อนไปเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 “คณะราษฎร” ที่มี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร ได้มอบให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้จัดร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้น เสนอต่อผู้ก่อการคณะราษฎร ในเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ได้กล่าวถึงการจัดตั้ง “ธนาคารชาติ” ไว้หลายตอน แต่พระยามโนปกรณ์ฯ กับรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย

ต่อมา พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้นำกำลังทหารและพลเรือนยึดอำนาจรัฐอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงนี้มีการเคลื่อนไหวที่จะให้มีธนาคารชาติขึ้นอีก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จึงได้หารือกับ นายเจมส์ แบ็กซ์เตอร์ ที่ปรึกษาทางการคลังของรัฐบาลไทยในขณะนั้น

แต่นายแบ๊กซ์เตอร์ให้ความเห็นว่า ยังไม่สมควรแก่เวลาที่จะจัดตั้ง “ธนาคารกลาง” ขึ้นในขณะนั้น

ต่อมา พระยาสุริยานุวัตร รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของพันเอกพระยาพหลฯ ซึ่งเคยมีความเห็นให้ตั้งธนาคารชาติขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2446 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ได้มีหนังสือถึงพระยาพหลฯ เสนอโครงการธนาคารชาติ และได้ส่งบทความลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เป็นระยะ หลังจากนั้นก็มีอีกหลายคนที่สนับสนุนจะให้มีธนาคารชาติขึ้น

ความคิดในการจัดตั้งธนาคารชาติเป็นรูปเป็นร่างในรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รื้อฟื้นเรื่องธนาคารชาติมาดำเนินการ  พร้อมกับโอน ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยันต์ อธิบดีกรมศุลกากร มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายไทยของกระทรวงการคลัง (แต่ก่อนมีแต่ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ)

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ให้ นายดอลล์ ที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศของกระทรวงการคลัง เป็นผู้ร่างกฎหมายจัดตั้งธนาคารชาติ และมอบหมายให้ ม.จ. วิวัฒนไชย ทรงดำเนินการต่อ

ในที่สุดได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเตรียมจัดตั้งธนาคารชาติไทย พ.ศ. 2482 ต่อนายกฯ โดยมีหนังสือด่วนที่ น. 724/2482 ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2482

เหตุที่ต้องรีบเตรียมจัดตั้ง ธนาคารชาติไทย เนื่องจากสภาพการสงคราม เพราะประเทศอังกฤษมีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ในประเทศไทยก็มีผู้ไปถอนเงินจากธนาคารเป็นจำนวนมาก ทำให้ฐานะของธนาคารทรุดโทรมลงไป การตั้งธนาคารชาติขึ้นก็เพื่อมุ่งหวังจะให้เกิดความมั่นคงในการเงิน และช่วยส่งเสริมให้เครดิตของประเทศได้หมุนเวียน รวมทั้งเป็นการจัดระเบียบเงินตรา รักษาทุนสำรองเงินตรา ทำหน้าที่เป็นธนาคารของรัฐ และเป็นธนาคารแห่งธนาคารทั้งหลายในราชอาณาจักรต่อไปด้วยนั่นเอง

เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ พร้อมทั้งหลักการและเหตุผลก็เห็นชอบด้วยหลักการ จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีการพิจารณา แล้วแก้ไขร่างใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น “ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย”

หลังจากนั้น ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎรและออกมาเป็นพระราชบัญญัติประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย พุทธศักราช 2482” มีทุนตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยจ่ายจากผลกำไรแห่งทุนสำรองเงินตราและผลดอกเบี้ยอันเกิดแต่ทุนสำรองเงินตรา และจากเงินคงคลัง

สถานที่ตั้งสำนักงานในระยะแรกได้อาศัยอยู่ที่กรมบัญชีกลาง ต่อมาจึงขยับขยายไปใช้ตึกสองชั้นริมกำแพงพระบรมมหาราชวังข้างประตูวิเศษไชยศรี (ด้านซ้ายมือ) มีพนักงานทั้งหมด 18 คน (โอนจากกรมบัญชีกลางไปช่วยงานชั่วคราว 8 คน) เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483

ธนาคารแห่งประเทศไทย ในสถานการณ์สงคราม

ต่อมาเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาในเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ และยกกองทัพเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในภาวะจำยอมต้องรวมอยู่ในกลุ่มซึ่งญี่ปุ่นขนานนามว่า “วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียบูรพา”

แผนการสำคัญอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น คือ จัดตั้ง “ธนาคารกลาง” ขึ้นในประเทศต่างๆ ที่ยึดครองได้ แม้ประเทศไทยจะเป็นพันธมิตรก็ถูกยื่นข้อเสนอให้จัดตั้ง “ธนาคารกลาง” ขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่เงินตรา โดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ เป็นชาวญี่ปุ่น

ขณะนั้น สำนักงานธนาคารชาติไทยเพิ่งดำเนินการได้ปีเศษ ธุรกิจที่กระทำยังเป็นส่วนน้อยของงานของ “ธนาคารกลาง” และยังไม่มีผู้ใดคิดมาก่อนว่าถึงเวลาที่จะจัดตั้งธนาคารชาติแล้ว แต่เมื่อได้รับข้อเสนอเช่นนี้ หากรีรออยู่ญี่ปุ่นก็จะเข้ามาใช้อำนาจควบคุมการเงินของประเทศ

รัฐบาลจึงตัดสินใจแก้ปัญหา โดยรับสมอ้างว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการจัดตั้ง “ธนาคารกลาง” อยู่แล้ว และลงมือดำเนินการอย่างรีบเร่ง โดยมอบให้ ม.จ. วิวัฒนไชย ทรงร่างกฎหมายขึ้นเพื่อที่จะประกาศใช้โดยเร็วที่สุด ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว จึงทรงร่าง “พระราชบัญญัติธนาคารชาติแห่งประเทศไทย” ขึ้น และนำเสนอนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485

คณะรัฐมนตรีรับหลักการ และแก้ไขชื่อเป็น “พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย” สภาลงมติให้ประกาศพระราชบัญญัติได้เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2485

พิธีเปิด ธนาคารแห่งประเทศไทย มีขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ณ อาคารที่ทำการธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด ถนนสี่พระยา (ที่ปิดกิจการลงเนื่องจากเป็นธุรกิจของชนชาติคู่สงคราม) เนื่องจากสำนักงานธนาคารชาติไทยในบริเวณพระบรมมหาราชวังมีพื้นที่คับแคบ และการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นไปโดยรีบด่วน จึงต้องเช่าอาคารของธนาคารฮ่องกงฯ จากคณะกรรมการควบคุมและจัดการกิจการหรือทรัพย์สินของคนต่างด้าว ไปพลางก่อน โดยมี ม.จ. วิวัฒนไชย เป็นผู้ว่าการ

จากวังหลวง ถึง วังบางขุนพรหม

เมื่องสงครามมหาเอเชียบูรพาใกล้จะยุติลง ก็เป็นเวลาที่จะต้องคืนตึกที่ทำการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เจ้าของเดิม เพราะญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธนาคารกลาง จึงจำเป็นต้องแสวงหาที่ทำการแห่งใหม่ โดยได้ขอเช่า “วังบางขุนพรหม” จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่วังบางขุนพรหม เมื่อวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2488 ขณะนั้นมีพนักงานประมาณ 300 คน

หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี ปัญหาในด้านความไม่พอเพียงของสถานที่ที่ใช้ปฏิบัติงานก็เริ่มปรากฏ ประกอบกับเห็นว่า ธนาคารควรจะมีที่ดินเป็นของตนเอง จึงเริ่มแสวงหาที่ที่มีความเหมาะสมใหม่ ซึ่งมีผู้เสนอขายหลายราย

ในที่สุด คณะกรรมการธนาคารได้พิจารณาว่า ไม่มีที่ใดจะเหมาะสมยิ่งไปกว่าวังบางขุนพรหม และควรจัดซื้อที่ดินซึ่ง พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ เสนอขายด้วย เพื่อจะได้ใช้เป็นที่ตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร

มีเหตุประจวบเหมาะคือ ในขณะนั้นกรมประชาสัมพันธ์ได้เสนอขอเช่าบ้านมนังคศิลา เพื่อใช้เป็นที่ทำการใหม่ กรมบัญชีกลางกับกรมธนารักษ์ได้ติดต่อขอเช่าจากธนาคารแห่งเอเชียฯ แต่ธนาคารประสงค์จะขายไม่ต้องการให้เช่า กระทรวงการคลังไม่มีงบประมาณที่จะจัดซื้อได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเสนอขอเป็นผู้ซื้อบ้านมนังคศิลาเสียเอง แล้วมอบให้กระทรวงการคลัง เพื่อใช้เป็นที่ทำการแห่งใหม่ของกรมประชาสัมพันธ์ โดยแลกเปลี่ยนกับวังบางขุนพรหม

ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของวังบางขุนพรหมทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2532


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2567