ประเทศอื่นๆ ยิงปืนใหญ่ใช้ยิงข้าศึก และรับทูต แต่ไทยยังใช้ปืนใหญ่ “ยิงไล่ผี”

ทหาร ยิง ปืนใหญ่ ไล่ ผี
ภาพจิตรกรรม การยิงปืนใหญ่ไล่ผี ที่วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร อยุธยา (ภาพจาก วิวัฒนาการแห่งศัสตราวุธในกองทัพไทย)

ปืนใหญ่ เป็นอาวุธสงครามที่มีอานุภาพในการทำลายสูง ไทยได้ความรู้เรื่องการผสมดินปืน หรือดินดำ มาจากจีน หรืออินเดีย และมีการนำปืนใหญ่มาใช้ในสงครามตั้งแต่ช่วงสมัยสุโขทัยตอนปลายหรือสมัยอยุธยาตอนต้น

นายพันเอก พระสารสาสน์พลขันธ์ (ยี.อี. เยรินี) ชาวอิตาเลียน เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบกคนแรก เคยบันทึกไว้ว่า สมัยกรุงสุโขทัย ชวาเก็บปืนใหญ่ไทย 2 กระบอก จากการรบกับพวกมัชฌปาหิต ในสงครามตีเมืองชวาเมื่อราว พ.ศ. 1857

สมัยอยุธยาก็มีบันทึกในพระราชพงศาวดาร และพงศาวดาร กล่าวถึงการใช้ปืนใหญ่ในรัชกาลต่างๆ เช่น สมัยพระราเมศวร กองทัพใช้ปืนใหญ่ยิงกำแพงเมืองเชียงใหม่, สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีชาวต่างชาติมาเป็นช่างหล่อปืนใหญ่ ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ส่งปืนใหญ่ 2 กระบอก ที่หล่อในกรุงศรีอยุธยาไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งปืนดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติฝรั่งเศส พ.ศ. 2332, ช่วงเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ปืนใหญ่พระพิรุณ (แสนห่า) ที่กองทัพพม่าตั้งใจนำกลับเมืองอังวะ แต่ขนาดที่ใหญ่ทำให้ลำบากในการขนส่ง จึงจุดไฟระเบิดเสีย

นั่นคือ บทบาทของปืนใหญ่โดยทั่วไปในทางทหาร

นอกจากนี้ ยังมีใช้ปืนใหญ่ในทางการทูต การยิงปืนใหญ่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ซึ่งเป็นการใช้ปืนใหญ่ในพิธีการแบบสากล เพื่อส่งสารระยะไกลว่ามีผู้มาเยือนจากต่างแดนที่เรียกว่า “การยิงสลุต” โดยเป็นการยิงตอบโต้กันแบบไม่เล็งเป้าเข้าหาฝ่ายตรงข้ามระหว่างป้อมเมืองท่ากับเรือของคณะทูต เป็น “ภาษาปืน” แสดงการต้อนรับด้วยไมตรีจิต

แต่ที่แปลกคือ การใช้ปืนใหญ่ “ไล่ผี” 

การ “ยิงปืนใหญ่ไล่ผี” ใช้ในกรณีที่มีโรคระบาด เรียกว่า “พระราชพิธีอาพาธพินาศ” ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 2 แม้ก่อนหน้าไทยจะเคยประสบกับโรคระบาดร้ายแรงอย่างเช่น “โรคห่า” และ “ปืนใหญ่” ก็มีใช้มานานแล้วเช่นกัน แต่ไม่ปรากฏว่ามีการยิงปืนใหญ่ไล่ผี เมื่อเกิดโรคระบาดแต่อย่างใด

แม้พระราชพิธีชื่อ “อาพาธพินาศ” มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเช่นกัน แต่ไม่มีการยิงปืนใหญ่ไล่ผี แล้วเหตุใด พระราชพิธีอาพาธพินาศในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงมีการยิงปืนใหญ่เพื่อขับไล่ผี

เพราะองค์ความรู้ดั้งเดิมของสยาม เกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วยของคน มาจาก 2 สาเหตุ คือ  1. ปัจจัยภายใน เมื่อ “ธาตุทั้งสี่” (ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ) อันองค์ประกอบร่างกายมนุษย์ขาดความสมดุล 2. ปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น การถูกกระทำจากเวทมนตร์คาถา ที่เรียกว่า “โดนของ” แต่หากอาการป่วยนั้นถึงกับลุกลามไปติดคนอื่นๆ ในชุมชน ให้ต้องล้มหมอนนอนเสื่อไปตามๆ กัน ก็จะเชื่อว่าเกิดจากอำนาจของ “ผีห่า” ที่ทรงอิทธิฤทธิ์ ยิ่งระบาดมากเท่าไรก็ยิ่งเชื่อว่ามี “ผีห่า” จำนวนมากตาม

“จดหมายเหตุโหร” ในรัชกาลที่ 2 ระบุว่า “ปีมะโรง จ.ศ. 1182 (พ.ศ. 2363) ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 เวลายามเศษ ทิศพายัพเป็นแสงไฟจับอากาศ โหรดูเคราะห์เมืองว่าร้าย จะมีศึกผีมาแต่ทิศทักษิณ นอกจากนี้ยังมี “จดหมายเหตุโหร” อีกฉบับอยู่ในรายการเอกสารของหอสมุดแห่งชาติ (หสช.)  กล่าวถึงคำทำนายของโหรหลวงในสมัยรัชกาลที่ 2 ทำนองเดียวกันนี้ว่า “เดือน 7 จะมีศึกมาแต่ทิศทักษิณ เปนทัพผีเข้ามาแต่ปากน้ำ

เมื่อเกิดโรคอหิวาต์ระบาดโดยแพร่ลามมาจากมหาสมุทรอินเดีย เข้าเกาะหมาก ปีนัง ไทรบุรี และหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก แล้วมาปากน้ำสมุทรปราการและกรุงเทพฯ ตามลำดับ ผู้คนจึงเข้าใจไปว่าโรคอหิวาต์นั้นคือ “กองทัพผี” ตามคำทำนายของโหรหลวง เมื่อโรคระบาดถูกเข้าใจว่าเป็นกองทัพที่ยกมารุกรานจากภายนอก ดังนั้น การยิงปืนใหญ่จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลตามลักษณะการรับรู้

แต่ การยิงปืนใหญ่ “ไล่ผีคงไม่ใคร่ได้ผล และเป็นที่นิยมเท่าใด”

เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการระบาดของโรคอหิวาต์ ชาวเมืองก็ยังเชื่อว่าเกิดจากสาเหตุเดิมคือ “ผีห่า” แต่รัชกาลที่ 5 ทรงให้รับมือด้วยการแพทย์และสาธารณสุขสมัยใหม่ ไม่ให้จัดยิงปืนใหญ่ไล่ผีดังที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

กรมยุทธการทหารบก โดยกองประวัติศาสตร์ทหาร. วิวัฒนาการแห่งศัสตราวุธในกองทัพไทย. กองทัพบกจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิรราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549.

กำพล จำปาพันธ์. “โรคห่ากับการสร้างนาฏกรรมรัฐ: ทำไมจึง ‘ยิงปืนใหญ่ไล่ผี’ เมื่อโรคอหิวาต์ระบาดในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2363” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2566